safe sex workshop งานให้การปรึกษา สถาบันบำราศนราดูร


เก็บตกจากประชุม “รูปแบบการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย”

วันที่ 17 มกราคม 2549

     มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องรูปแบบการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในโมเดลการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคู่มือการให้การปรึกษาเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับและแพร่เชื้อเอชไอวี/เอดส์ทางเพศสัมพันธ์ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์และคู่สมรส ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันบำราศนาดูรและศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข โดยกลุ่มงานแนะแนวทางการแพทย์และสวัสดิการสังคม ได้รับเกียรติจากวิทยากรของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จากการประชุมได้มีการทำกิจกรรมกลุ่ม แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องเพศในหลายประเด็นซึ่งได้รับความสนใจและความร่วมมือเป็นอย่างดี จากผู้เข้ารับการอบรม
     จากการทำกิจกรรมกลุ่มข้อสังเกตคือ การสื่อสารเรื่องเพศมักมีข้อจำกัดด้วยปัจจัยต่างๆ แม้ในกลุ่มของผู้เข้าประชุมซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้และการปรึกษาทางด้านสาธารณสุขเอง เมื่อต้องพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองในประเด็นนี้กลับไม่กล้าพูด กระดากอาย รู้สึกว่าหยาบคาย พูดไม่ได้เต็มปาก เช่นการเรียกชื่ออวัยวะเพศของผู้หญิงและผู้ชาย ไม่เอ่ยตรงๆใช้วิธีหลีกเลี่ยงเช่นหอ สระ อี หรือ คอ วอ ยอ หรือใช้คำแทนที่น่ารักเช่นจิ๋ม น้องหนู เป็นต้น จากกิจกรรมที่ให้แต่ละคนนึกถึง  ประสบการณ์เรื่องเพศของตนเอง 3 เรื่องเขียนลงกระดาษ ส่วนใหญ่เขียนครบ เมื่อวิทยากรให้เล่าให้สมาชิกในกลุ่มฟัง หลายคนเริ่มลังเลว่าจะเล่าเรื่องของตนเองดีไหม ไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะมองหรือรู้สึกอย่างไรทั้งๆที่สมาชิกล้วนเป็นคนที่รู้จัก สนิทกันมากบ้างน้อยบ้าง หลายคนรอหรือเกี่ยงให้คนอื่นพูดก่อนแล้วค่อยแทรกประสบการณ์ตนเองที่คล้ายๆกันลงไป เพราะเริ่มรู้ว่าไม่ได้มีตนเองคนเดียวที่มีประสบการณ์เช่นนั้น ความกล้าที่จะพูดถึงมีมากขึ้น เช่นประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกถูไถบนรถเมล์ หรือกิจกรรมที่กล่าวถึงวิถีชีวิตทางเพศของแต่ละคน ความต้องการที่แตกต่างกันในเรื่องเพศสัมพันธ์ เหล่านี้ แต่เป็นวิธีการหนึ่งที่สะท้อนให้เราได้ประสบการณ์ตรง เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบต่อการสื่อสารเรื่องเพศได้ชัดเจนขึ้น
     ข้อสรุปในมุมมองของผู้เขียน เห็นว่าการให้การปรึกษาเรื่องเพศเพื่อการใช้ถุงยางอนามัยนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน มีความเป็นส่วนตัวและละเอียดอ่อนมาก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนขาดความรู้เรื่องถุงยางอนามัย,เรื่องโรคเอดส์หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ แต่อยู่ที่การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงรากฐานของปัญหาที่แท้จริง ตามวิถีชีวิตทางเพศของแต่ละบุคคลมากกว่า ต้องอาศัยทักษะและใช้เวลาอย่างมากในการจะทำให้คนมีความตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ปลอดภัยโดยมิได้มุ่งเน้นที่การใช้ถุงยางอนามัยเพียงอย่างเดียว และทัศนคติของผู้ให้การปรึกษาเองในเรื่องนี้ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ควรคำนึงถึงเสมอ ท่านล่ะ มีข้อมูลหรือความคิดเห็นที่แตกต่าง โปรดนำเสนอจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจและผู้ที่ทำงานด้านนี้ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ


 

สาระจากการประชุม
     สิ่งที่ได้จากการประชุมครั้งนี้พอสรุปได้ว่าเป้าหมายของการให้การปรึกษาเรื่องเพศคงไม่ได้มุ่งเพียงเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์หรือผู้รับบริการต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งในการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการรับและแพร่เชื้อเอชไอวี/เอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ แต่ผู้ให้การปรึกษาต้องเข้าใจในผู้รับบริการของเรา เข้าใจถึงรากฐานและวิถีชีวิตทางเพศของเขาเพื่อประเมินถึงปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้เขาไม่ใช้ถุงยางอนามัย ทำอย่างไรให้เขาตระหนัก คือรับรู้และประเมินได้ว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยงในสถานการณ์ใดบ้าง ควรจะป้องกันกับใครหรือตนเองจะปลอดภัยได้อย่างไร 
     การให้การปรึกษาเพื่อให้เกิดการป้องกันการรับและแพร่เชื้อเอชไอวี/เอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ผู้ให้การปรึกษาต้องมีความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์แวดล้อมและปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อดังต่อไปนี้
          1. สถานการณ์ทางเพศของผู้ติดเชื้อในปัจจุบันเป็นอย่างไร การเปลี่ยนความคิด
ความเชื่อที่ว่าคนที่จะติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ต้องสำส่อน ติดได้จากหญิงบริการไม่ใช่คนที่หน้าตาดี การศึกษาดีหรือมีหลายๆอย่างดีแล้วปลอดภัยฯลฯ เป็นว่าทุกคนมีโอกาสรับและแพร่เชื้อเอชไอวี/เอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้หากไม่มีการป้องกัน
          2. ปัจจัยต่างๆที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันเช่น การที่ไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีเนื่องจากไม่เคยตรวจเลือดเอชไอวีมาก่อน  ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อต่อโรคเอดส์ ขาดความรู้เรื่องถุงยางอนามัย ทักษะการต่อรองกับคู่โดยเฉพาะผู้หญิง   ความคิดประชดสังคมโดยการแพร่เชื้อไปเรื่อยๆหรือแม้แต่ความต้องการผู้ดูแลเมื่อตนเองเจ็บป่วยหรือมีภาระที่ต้องรับผิดชอบเป็นต้น
          3.ปัญหาในการสื่อสารเรื่องเพศ ผู้ให้การปรึกษาต้องสร้างความคุ้นเคยให้ตนเองด้วยเพื่อกล้าที่จะพูดคุยเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องคำนึงถึงเสมอว่าผู้รับบริการมีความหลากหลาย ซึ่งอาจมีผลมาจากวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ทัศนคติที่แตกต่างกัน การสร้างความพร้อมในการพูดคุยให้เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มีโอกาสนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อการป้องกันได้
          4.ความแตกต่างในการรับรู้ระหว่างหญิง-ชายในเรื่องเพศ การบอกความรู้สึก ความต้องการทางเพศกับคู่ของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นพูดก่อนในเรื่องเพศของผู้หญิง
          5. ความแตกต่างของรสนิยมทางเพศสัมพันธ์ บางคนชอบความรุนแรง บางคนชอบความนุ่มนวล บางคนชอบแบบปกติ แต่บางคนชอบแบบแปลกๆ หากรสนิยมไม่ตรงกันในคู่ของตน ก็เป็นสาเหตุนำไปสู่การแสวงหาในสิ่งที่ชอบ
          6. ความรู้สึกต่อการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง หากมองเป็นเรื่องผิดปกติหรือน่าอาย อาจทำให้ไม่กระทำซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อการรับและแพร่เชื้อเอชไอวี/เอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
          7. สถานการณ์ที่ทำให้มีโอกาสเกิดเพศสัมพันธ์ การอยู่ตามลำพังสองต่อสอง บรรยากาศในแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
          8. สถานการณ์ที่ทำให้ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ได้เตรียม หรือเตรียมแล้วมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ไม่มีสำรอง การเกิดเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการเตรียมไว้ก่อน
          9.ประสบการณ์ทางเพศในอดีต ที่อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ความต้องการหรือพฤติกรรมทางเพศในปัจจุบัน
     สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นทั้งอุปสรรคและปัจจัยส่งเสริมต่อการใช้ถุงยางอนามัย การเข้าใจในปัจจัยต่างๆเหล่านี้และการยอมรับถึงความหลากหลายในเรื่องเพศ ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ปลอดภัยได้  การให้การปรึกษาเพื่อการมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัยจึงไม่มีรูปแบบตายตัวเนื่องจากวิถีชีวิตทางเพศที่หลากหลาย จะแตกต่างกันไปโดยยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง
     การใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนับเป็นเรื่องยากเพราะต้องใช้กับคู่เพศสัมพันธ์ ดังนั้นอาจต้องวิเคราะห์ไปถึงคู่ของเขาด้วย แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เพียงต้องอาศัยเทคนิค การคุยกันแบบตัวต่อตัว (Individual) มีความต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อหาแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลงรายละเอียดของแต่ละคนให้ลึกถึงรากฐานของปัญหาที่แท้จริง

สรุปโดย นางปัทมาวดี  เติมวิเศษ งานให้คำปรึกษา  สถาบันบำราศนราดูร

นำเสนอโดย พญ.อัจฉรา  เชาวะวณิช

คำสำคัญ (Tags): #safe sex#เอดส์
หมายเลขบันทึก: 17379เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2006 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท