งานวิจัยที่(ใคร)ไร้จริยธรรม


คนมีอำนาจคือคนกุมอำนาจ คนไร้อำนาจ ไร้ตำแหน่ง เหมาะสมแก่การเป็น "เหยื่อ"

ผมเป็นคนเล่นเข็ม เล่นผง (เฮโรอีน) เพื่อนมันมาชวนไปตรวจเลือดว่าจะได้ตังค์เราก็ไป ได้ตังค์จริง 300 แต่พอผลเลือดออกมาว่าผมติดเอดส์ โครงการวิจัยมันก็ถีบหัวส่ง บอกแค่ให้ดูแลสุขภาพและไปหายากินซะ...

เพื่อนหนูเขาก็เล่นเข็มมานาน เคยติดคุกก็หลายครั้ง ดูเขาก็แข็งแรงดี แต่พอไปตรวจเลือดกับโครงการ...เพราะเขาให้เงินแต่พอรู้ผลว่าติดเชื้อ (HIV) มันก็ทรุดเร็วมากเพราะทำใจไม่ได้ กลัวคนรังเกียจ ร่างกายอ่อนแอลงมาก ไม่นานก็ตาย...

คำบอกเล่าทั้งสองประโยคข้างต้นเป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวความรู้สึกของผู้คนที่ (ถูกจัดให้) อยู่ในอีกมิติหนึ่งของสังคมภายใต้การตีตร0าว่า ขี้ยา และ ผู้ติดเชื้อ ที่ผู้เขียนได้ร่วมถอดบทเรียน หลายต่อหลายครั้ง ทำให้เป็นการตอกย้ำถึงกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ถูกชี้นำโดยชนชั้นกลางและชนชั้นปกครองมาโดยตลอด โดยที่กลุ่มคน (ที่ถูกทำให้เป็น) ชายขอบ แทบจะไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยเฉพาะ การวิจัย ที่ผลของมันถูกใช้เป็นเข็มทิศ เป็นเครื่องมือชี้นำ หรือแม้แต่เครื่อง ชี้ชะตากรรม ของคนในสังคมระดับล่างมานักต่อนัก ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มคนที่เป็นก้นบึ้งของชายขอบสังคมประเภท 2 in 1 หรือทั้ง ใช้ยาและติดเชื้อ บางคนซ้ำร้ายซ้ำหนักกว่า ทั้ง เป็นแรงงานต่างชาติ-กลุ่มชาติพันธุ์ ใช้ยา ติดเชื้อแถมบางคนซ้ำร้ายต้องขายบริการทางเพศเพิ่มอีก

เพราะอะไร ?  เมืองไทยมีการวิจัยมาร้อยแปดพันเก้า ใช้งบแต่ละโครงการมากมาย พอวิจัยเสร็จกลับเอาไปตั้งอยู่บนหิ้งตามหอสมุดให้คนไม่กี่คนได้อ่านหรือใช้ประโยชน์ ทั้งนี้โดยนัยยะของการวิจัย หรือ Reserch  มีพื้นฐานพื้นฐานทางศัพท์บาลีคือ วิจโย หรือ ปัญญา ดังนั้นการวิจัยจึงเป็นการสร้างการเรียนรู้เพื่อเกิดกระบวนการทางปัญญา พูดกันให้ง่ายขึ้นก็คือ การเปลี่ยน ปัญหา ให้เป็น ปัญญา  แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามันเป็นการสร้างปัญญาแก่ผู้วิจัย โดยที่ไม่แก้ (กลับยิ่งเพิ่ม) ปัญหาให้ผู้ถูกวิจัย นั้นเป็นกระบวนการวิจัยที่ถูกต้องในทางปฏิบัติ มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการวิจัยในคน ที่จะต้องมีจริยธรรมกำกับอย่างเข้มงวด ตามหลักการสากล  กฎหมายและ ระเบียบปฏิบัติภายในประเทศไทย ได้แก่  คำประกาศเฮลซิงกิ  แนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนโรคเอดส์ ของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ  (UNAIDS)   รัฐธรรมนูญแห่งสหราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นต้น  ที่ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ  กระบวนการ  ในการวิจัยในคน ที่หากต้องดำเนินการวิจัย     โดยใช้กลุ่มประชากรที่มีโอกาสในการปกป้องตนเองน้อยในสังคม (Voiceless) เช่น  ผู้ต้องขัง นักโทษในเรือนจำ  ผู้ใช้ยาเสพติด  เป็นต้น   โดยต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัย   ตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนโครงการ   จนกระทั่งจบโครงการ เพื่อเป็นหลักประกันว่ากระบวนการวิจัยนั้น เป็นไปโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรี  ความเป็นมนุษยชน และสิทธิมนุษยชน อันจะส่งผลให้ งานวิจัยนั้นได้รับการยอมรับ และมีประสิทธิภาพ  หากแต่ว่า จริยธรรมเป็นเรื่องนามธรรม  ผู้เขียนขอยกกรณีตัวอย่างประกอบสัก 2  กรณี ต่อไปนี้

โครงการหนึ่ง เป็นโครงการวิจัยยาต้านไวรัส (HIV) ที่มีการวิจัยประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ ยา Tenofovir โครงการดังกล่าวเป็นการทดลองร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร คือสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทยสหรัฐ ด้านสาธารณสุข โดยจะทำการทดลองกับอาสาสมัครที่เป็นผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด (IDU : Injection Drug Users) ซึ่งมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ จำนวน 1,600 คน เป็นกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดที่รับบริการสารทดแทนยาเสพติด         (เมทาโดน) ในคลินิกบำบัดยาเสพติดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสถิติน่าสนใจพบว่าในกรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งสิ้น 91,560 คน     ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 78.84 รองลงมาคือติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นร้อยละ 11.65 (พบในเพศชายร้อยละ 11.27 และเพศหญิงร้อยละ 0.38) ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาร้อยละ 4.44 ติดเชื้อเอชไอวีจากการรับเลือดร้อยละ 0.03 และไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงร้อยละ 5.05 สาเหตุส่วนใหญ่ในการติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้ยาเสพติดเกิดจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ซึ่งการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันของผู้ใช้ยาชนิดฉีดมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีสูงถึง 100% นั้นหมายถึงหากมีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับคนอื่นเพียงแค่ครั้งเดียวก็อาจทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ในขณะที่โอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์มีเพียงแค่ 1% เท่านั้น ซึ่งตามรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดของประเทศไทยไม่เคยลดลงเลยกว่า 10 ปี (ข้อมูลจากกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร : 31 ตุลาคม 2547)  จึงกลัวว่าจะมีผลให้ผู้ใช้ยาไม่สามารถตัดสินใจโดยอิสระที่จะเข้าร่วมหรือปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการทดลองเนื่องจากเกรงใจ หรือ ด้วยแรงจูงใจจากค่าเดินทางหรือค่าชดเชยการเสียเวลา ดังที่ เบน(นามสมมุติ):ชายอายุ 27 ปี ได้กล่าวกับผู้เขียนตอนหนึ่งว่า ผมเข้าร่วมโครงการเพราะเจ้าหน้าที่ ที่ศูนย์ที่ผมไปรับยาทุกวันเขาชวนแกมบังคับ เราก็กลัวเขาจะตัดยาเลยเข้าร่วมแต่ก็ได้ตังค์อีกต่างหาก แต่ผมมีลูกมีเมีย ลูกก็ยังเล็กผมไม่รู้ว่ายาที่ผมได้กินมันยาจริงหรือยาปลอม เพราะมันเหมือนกัน ตอนนี้ผมยังไม่ติดเชื้อแต่ถ้าอีกหน่อยผมติดเชื้อหล่ะลูกผม เมียผม พ่อแม่ผมเขาจะเป็นยังไง หรือถ้ายามันดีจริง ไอ้ช่วงที่วิจัยเขาก็ให้กินฟรี แต่ถ้าหมดโครงการวิจัยแล้วพวกผมคนใช้ยาจะเอาปัญญาที่ไหนมาซื้อยากินหล่ะ...  แต่ทว่าการดำเนินโครงการวิจัยนี้ยังไม่ไปถึงไหนก็ถูกเบรกกลางอากาศ กลางเดือนสิงหาคมปี 2548 เครือข่ายผู้ใช้ยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)ได้ยื่นหนังสือแกมประท้วง ณ ศาลาว่าการกรุงเทพฯ จนกระทั่งมีการชะลอโครงการและส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิ ฯ และ  คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน พิจารณากระบวนการวิจัยใหม่ทั้งหมดทั้งนี้ต้องยอมรับในการให้ความสนใจและร่วมต่อสู้ของภาคเอกชน หลายองค์กร อาทิเช่น Access,กพอ. ,เครือข่ายผู้ใช้ยา,เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ  โดยสรุปประเด็นฟ้องร้องคณะทีมวิจัย ดังนี้

1.       คณะวิจัยฯ  ไร้จริยธรรมในการทดลองที่เป็นการวิจัยในคน กล่าวคือเป็นการผลักภาระความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ไปยังกลุ่มผู้ใช้ยาชนิดฉีด ที่เป็นกลุ่มที่เข้าถึงยากและไม่เข้าถึงข้อมูลทางสังคมทุกด้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้มีความเสี่ยงยิ่งขึ้น

2.       ประเด็นการใช้ ยาจริง  ยาหลอก  ในการวิจัยฯ อาจทำเกิดความเข้าใจผิดต่ออาสาสมัครที่เข้ารับการทดลอง โดยบางคนเข้าใจเองว่าหากทานยาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องป้องกันด้วยวิธีอื่น  เท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่กลุ่มอาสาสมัคร  และตัวยาเองเป็นยาที่ได้ผ่านการรับรองจาก อย. แล้วว่าปลอดภัย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาหลอกในการทำการวิจัยฯ

3.       ประเด็นการใช้ศูนย์บำบัดยาเสพติดของ กทม.  เป็นสถานที่รับ  และคัดกรองอาสาสมัครทำให้ตัวอาสาสมัครต้องอยู่ในภาวะกดดัน  ยากแก่การปฏิเสธ

อีกโครงการหนึ่ง เป็นโครงการวิจัยภายใต้การกำกับของสถาบันการศึกษาชื่อดัง มีวัตถุประสงค์เพื่อหาอัตราและปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มผู้ใช้ยาชนิดฉีดหรือ IDU ที่เริ่มทำในภาคเหนือมีสมมุติฐาน(จากฐานคิดใครก็ไม่รู้) โดยสรุปใจความว่า การที่ IDU ได้รับความรู้ จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อ HIV  ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ(หนูทดลอง) ต้องเป็นผู้ใช้ยาชนิดฉีด จะมีการตรวจเลือดหาเชื้อก่อน หากผลเลือดเป็นบวกก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้หากตรวจเลือดผ่านก็จะกลายสภาพที่ถูกเรียกให้หรูว่า อาสาสมัคร และหลายคนก็จะกลายเป็น แกนนำ เพื่อหาจำนวน IDU มาเพิ่มตามจำนวนที่โครงการขอทุนไว้ โดยทั้งอาสาสมัครและแกนนำมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ ค่าตอบแทน  ซึ่งจำนวน IDU ที่โครงการต้องการมีตัวเลขสูงมาก (หลังสงครามยาเสพติดผู้ใช้ยาถูกกำจัด ถูกจับกุม ยิ่งทำให้เกิดการหลบเร้นมากกว่าเดิม) วิธีการวิจัยมีการจำแนกกลุ่ม IDU เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง แล ะกลุ่มควบคุม กลุ่มหนึ่งปล่อยไปใช้ชีวิตตามปกติ ปล่อยให้ผจญกับความเสี่ยงเต็มที่ ทั้งทางเข็ม ทางเพศ ตามสบาย ในขณะที่อีกกลุ่มมีกระบวนการนำมาอบรม ให้ความรู้ อาทิเช่น ความรู้เรื่องโรคเอดส์ การป้องกัน การดูแล ฯลฯ หลังจากนั้น 3 6 เดือนก็จะมีการนัดมาตรวจเลือดหาเชื้อพร้อมกับรับค่าตอบแทนด้วย จุดนี้เองที่หลายคนมองว่า แม้แต่เด็กประถมยังรู้ผลการวิจัยล่วงหน้าได้เลย ว่ากลุ่มที่ได้รับความรู้ย่อมติดเชื้อน้อยกว่า    โอม เป็นอีกหนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการวิจัยกล่าวกับผู้เขียนเมื่อถูกทวงถามเรื่องจริยธรรม ประโยคหนึ่งว่า มันเป็นความสมัครใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย จะถือว่าเอาเงินมาล่อก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่การบังคับแต่เรื่องจริยธรรมงานวิจัยมีคณะกรรมการกำกับอยู่ เราพูดมากก็ไม่ได้ พูดไปเขาก็จะให้ออกจากงาน ตกงานอีก สำหรับผลการวิจัยไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะทางโครงการฯ มีหน้าที่แค่สรุปผลตามวิธีวิจัยส่งให้แหล่งทุนต่างประเทศ ซึ่งคงอีก 5 ปี ที่เขาจะเอาจะผลมาคุยกับทางรัฐบาลไทย แต่ทุกอย่างตอนนี้ถือว่า เป็นความลับ...  แต่ถึงผลจะออกมาอย่างไรนั้น ผู้เขียนเองก็ขอเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ใคร่จะเชื่อมั่นในผลวิจัยได้อย่างสนิทใจเท่าใดนัก ทั้งนี้จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โครงการดังกล่าว รวมถึงกลุ่ม IDU ที่เข้าร่วมโครงการโดยเฉพาะ แนท อายุ 21 ปี ผู้หญิงที่ใช้ยาชนิดฉีด ที่กล่าวว่า หนูเข้าร่วมโครงการเพราะมีคนมาชวน บอกว่าไปแล้วได้ตังค์แต่ต้องมีการตรวจเลือดก่อน แล้วพวกเราที่ใช้ยาก็จะบอกต่อกันว่าไปตรวจเลือดแล้วได้ตังค์ อย่างน้อยก็ 300 บาทถึงมันจะไม่มากแต่สำหรับเงินบาทเดียวของคนใช้ยามันก็มีค่า พอเราบอกต่อกันคนที่ไม่เคยใช้เข็มเลยแต่บางคนก็เป็นคนสูบ บางคนก็เป็นเด็กกาว (ดมกาว) หรือก็เด็กขายทั้งชายหญิง(ขายบริการ) อยากได้ตังค์ก็ชวนกันไปแต่ต้องมีเทคนิค เช่นบางคนก็เอาเข็มหรือไม้จิ้มฟันแทงแขนแทงขาให้เป็นรอยเหมือนฉีดยา มีการสอนกันนิดหน่อยถ้าเขาถามยังไงจะตอบยังไง แค่นี้ก็ได้ตังค์ละบางโครงการเขาจะตรวจเลือดคนที่เป็นแฟนกันว่าทำไมอีกคนเป็นแต่อีกคนไม่เป็น(ผลเลือดต่าง) เขาเอาทั้งหญิงชายและคู่เกย์กระเทย บางคนก็ไม่ได้เป็นแฟนกันจริง ๆ เป็นเพื่อนหรือคนรู้จักกันก็ชวนกันไปหลอกเจ้าหน้าที่เอาว่าคบกันเป็นแฟนเขาก็เชื่อและให้ตังค์มา...   นี่แหละที่ทำให้ผู้เขียนไม่มีความเชื่อมั่นในผลการวิจัย ในเรื่องจำนวนผู้ใช้ยา หรือผู้ติดเชื้อ เนื่องจากมันยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นองค์ประกอบเชิงซ้อนอยู่อีกมากมาย ในประเด็นเรื่องจริยธรรมผู้เขียนมีข้อคิดเห็นหลายประการ ดังนี้  1) โครงการวิจัยไม่มีกระบวนการให้การปรึกษาก่อน หลังตรวจเลือดเท่าที่ควร ซึ่งหากพบว่ามีผลเลือดเป็นบวก เจ้าหน้าที่มีเพียงแค่ ให้คำบอกกล่าวไปดูแลรักษาตนเองให้ดีทำนองว่าติดเชื้อแล้วไม่ตายง่าย ๆ  ถ้าไปหายา(ต้านไวรัส)กิน บางคนทำใจไม่ได้ บางคนกลัวอับอาย กลัวคนรอบข้างรังเกียจ....ท้ายที่สุดอาการก็ทรุด 2) ขาดกระบวนการส่งต่อตามความต้องการของผู้ใช้ยา เช่น บางคนต้องการที่จะบำบัด บางคนต้องการที่จะตรวจหาระดับปริมาณเม็ดเลือดขาว (CD 4)  ปรากฏว่าทางโครงการไม่มีงบประมาณ ไม่ประสานหน่วยงานอื่น ๆ ให้ เหมือนประหนึ่งว่า เมื่อคุณไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็เป็นเรื่องของคุณที่ต้องดำเนินการเอง 3) การใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดคนเข้าร่วมโครงการตนนั้น ส่งผลต่อการทำให้องค์กรที่ทำงานด้านอื่น ๆ ทำงานยากขึ้น เนื่องจาก การคาดหวังค่าตอบแทนจากคนทำงาน หรือองค์กรอื่นโดยเฉพาะองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรอื่น ๆ  ที่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำงานยากขึ้น  4)  การป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้ใช้ยาชนิดฉีดที่ได้ผลนอกเหนือจากการให้ข้อมูลความรู้ คือต้องมีการแจกหรือและเข็มสะอาด ตามแนวทางการลดอันตราย (Harm Reduction)  แต่ติดอยู่ที่กฎหมายและทัศนคติของคนที่มองว่า เป็นการสนับสนุนให้ใช้ยา และสวนทางกับนโยบายของไทย และสหรัฐฯ


ข้อเสนอแนะ

·    ผู้วิจัย : มีจุดแข็งในด้านการวิเคราะห์ แต่ไม่รู้ปัญหาดี ไม่มีหน้าที่ทำด้านอื่นที่นอกเหนืองานวิจัย  ควรหันมามองเรื่องจริยธรรมการวิจัย ในคน อย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่หวังเพียงแค่เงินงบประมาณวิจัยจำนวนมหาศาล แล้วเอาเงินไปปิดปาก คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน เพื่อให้ตนเองได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ นำมาซึ่งชื่อเสียง เกียรติยศจนละเลยเรื่องของ คุณค่า ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ของผู้ถูกทดลอง ที่สำคัญควรมีการให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ให้ชุมชนและบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอนและหากเป็นไปได้ควรมุ่งเน้นใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ไม่เพียงแต่ร่วมเป็นแค่ผู้ถูกทดลอง หรือกลุ่มเป้าหมายที่ถูกนำเสนอเพื่อขอทุน

·    ผู้ถูกวิจัย :เป็นคนอยู่กับปัญหา รู้ปัญหาลึกซึ้ง แต่ขาดกระบวนการวิเคราะห์และการระดมทรัพยากร ต้องพยายามที่จะเรียนรู้และรับรู

หมายเลขบันทึก: 173120เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2008 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
คนเคยเป็นกรรมการ

ขอแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นหน่อยครับ

1. คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเป็นกรรมการที่แต่งตั้งและดำเนินการตามมาตรฐาน ICH GCP (ฉบับภาษาไทย หน้า 11-14 (http://dmsic.moph.go.th/download/ICH_GCP_ThaiVer.pdf?PHPSESSID=c7e77d41d40bc82c5aa7) และ CIOMS โดยอิงหลักจริยธรรมวิจัยพื้นฐานที่แสดงใน Belmont report จึงเชื่อได้ว่าการพิจารณาโครงการวิจัยด้านจริยธรรมยอมรับได้

2. การให้เงิน 300 บาท แก่อาสาสมัคร ไว้เป็นค่าเดินทางและค่าอาหาร ถ้าไม่ให้เลยก็จะดูไม่ยุติธรรมเพราะต้องเสียเวลาและเสียค่าพาหนะมา แต่ถ้าเห็นว่ามีรูปแบบอื่นแทนให้เงินก็น่าจะให้ข้อแนะนำได้

3. การที่อาสาสมัครจะเข้าโครงการได้นั้น ผู้วิจัยต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัยอย่างครบถ้วน ทั้งลักษณะโครงการ วัตถุประสงค์ ความเสี่ยง ประโยชน์ที่จะได้รับ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นเอกสารมอบให้กับอาสาสมัครอ่านทบทวนให้เข้าใจ และเมื่อเข้าใจดีแล้ว จึงจะลงนามใน “ใบยินยอม” ในเอกสารจะมีข้อความที่ระบุว่า อาสาสมัครจะเข้าหรือไม่เข้าโครงการก็ไม่มีผลต่อการรักษาที่จะได้รับตามปกติ การตรวจ HIV ก็ต้องมีข้อมูล pre- และ post-counselling และถ้าเลือดบวกก็ต้องระบุว่าจะช่วยเหลืออาสาสมัครให้ได้รับการรักษาอย่างไร ดังนั้นจึงเป็นที่น่าแปลกใจว่าอาสาสมัครไปเจาะเลือดโดยไม่ได้รับเอกสารชี้แจงข้อมูล คณะกรรมการเองก็ไม่สามารถไปติดตามตรวจสอบวิธีการที่ใช้ในการเชิญอาสาสมัครได้ทุกที่

4. การวิจัยขึ้นหิ้งเป็นสำนวนที่ใช้กันมานาน แต่ในธรรมชาติไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซนต์ การผลิตงานวิจัยที่ไปใช้ประโยชน์ได้อาจมีสัก 15% แล้วค่อย ๆ เพิ่มไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการจดสิทธิบัตรยิ่งยาก จดแล้วไม่มีคนซื้อก็มี การผลิตบัณฑิตก็ต้องสอนให้เขาวิจัยเป็นก่อน เมื่อเขาเป็นมืออาชีพแล้ว งานวิจัยเขาจึงมีคุณภาพดีพอที่จะไม่ขึ้นหิ้งครับ

เรียนคุณเคยเป็นกรรมการ

ขอบคุณครับที่ได้มาแลกเปลี่ยนกัน เป็นการดีที่ทำให้สังคมเห็นภาพเรื่องการวิจัยในมนุษย์กว้างขึ้น แต่ผมเองขอย้ำว่าต้องมองภาพจากหลายๆ มุมมิเช่นนั้นเราจะถูกอวิชชาครอบงำ บทความที่เขียนขึ้น มองจากด้านล่างขึ้นไป มองจากวิถีชีวิตและสภาพจริงของผู้ที่ถูกวิจัยครับ มันเลยอาจจะแรงสำหรับคนที่อยู่บนโต๊ะทำงาน อยู่ในห้องแล๊ป หรืออยู่ในบอร์ดไปบ้าง ไม่ว่ากันนะครับ

ขอสันติสุขจงอยู่กับทุกท่าน

อยากเสนอแนะว่า ชีวิตเรา เราควรดูแลตัวเราเอง เราไม่ต้องไปไว้ใจใคร โดยเฉพาะคนที่มีมูลเหตุจูงใจในเรื่องเงิน ผลประโยชน์ หน้าตา ค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ถ้ามองดูแล้ว ใครบ้างล่ะที่ไม่มีกิเลสหวังผลประโยชน์ การวิจัยนั่นแหละอาจเป็นตัวการ เงินแค่วันละ 300 บาท กับเงินค่าล้างจานวันละ 50 บาท อย่างหลังน่าจะดีกว่านะ เพราะเราไม่ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย การใช้ยา อันที่จริง ความรู้สึกว่าตนอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มียา นั่นคิดว่าเป็นอุปปาทาน ทุกอย่างอยู่ที่ใจ เราต้องแยกแยะว่าอะไรดีอะไรไม่ดีต่อร่างกายเรา จากความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราเอง การวิจัยในต่างประเทศก็มีปัญหามากมาย ท่านอาจเคยดูในสารคดีที่เจ้าหน้าที่ทำการติดเชื้อซิฟิลิสคนจำนวนหลายหมื่นคนทั่วภูมิภาคหนึ่งของประเทศมหาอำนาจแห่งหนึ่งในโลกตะวันตกเมือเกือบ 40 ปีก่อน โดยที่อาสาสมัครที่โดนกระทำไม่ทราบว่าตนจะถูกกระทำเช่นนั้น การกระทำดังกล่าวเพียงเพื่อทดลองว่าคนที่ใช้วัคซีนกับคนที่ไม่ใช้วัคซีน ใครจะมีชีวิตและอายุขัยเป็นเช่นไรหลังจากติดเชื้อ องค์กรที่ขึ้นชื่อดังกล่าวก็มาทำงานวิจัยลักษณะนี้ในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะการวิจัยด้านประชากรและคุณภาพชีวิต และการติดเชื้อเอดส์ เป็นต้น สิ่งที่พูดในเอกสารที่เขาให้อาสาสมัครลงนามนั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริงหรอก คนที่แถลงกับอาสาสมัครก็เป็นพยาบาลที่มีจิตวิทยาเหนือชั้นด้วย ทุกอย่างเป็นการ set up ขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างจริงๆ อย่งน้อยก็เพื่อให้การชักจูงคนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมีจำนวนมากพอที่จะดำเนินโครงการ ดังนั้น เขารู้ว่าโครงการจะล้มไม่ได้ แล้วก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ควรเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ใครจะรู้ได้ว่า หลังจากที่คุณลงนามรับทราบ (เอกสารอาจมีถ้อยแถลงที่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าโครงการจะไม่ทำอะไรมิดีมิร้ายกับคุณโดยที่คุณไม่ทราบและไม่ยินยอม เขาเพียงแต่เขียนว่า อาสาสมัครยินยอมเข้าร่วมโครงการและจะให้ความร่วมมือในการตอบคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ เป็นต้น โดยมากเอกสารนั้น เขาไม่ให้คุณอ่านด้วยซ้ำ คุยกับพยาบาลโรคจิตที่นั่งยิ้มๆให้ แล้วก็เซ็นชื่อแค่นั้นแหละ คุณก็กลายเป็นหนูตะเภาดีๆให้เขาลองยาหรือลองเชื้อไปเลย) และเข้าร่วมโครงการแล้ว เขาจะไม่ทำการติดเชื้อคุณในช่วงที่เขาตรวจร่างกายคุณ โดยเฉพาะถ้าการตรวจนั้น เป็นการเก็นตัวอย่างเลือด หรือการทำ swap หรือป้ายเอาเชื้อ ต่างๆ จากลิ้น หรืออวัยวะเพศของคุณ ตอนที่เขาเตรียมไม้ป้าย คุณก็ไม่เห็นตอนที่เขาแกะกล่องออกมา ไม่รู้ว่าเขาเอาไปป้ายอะไรมาก่อนที่จะป้ายที่ร่างกายคุณ เป็นต้น โดยทั่วไป การติดเชื่ออะไรก็แล้วแต่ มันก็ไม่ง่าย ถ้าร่างกายปกติดี มีสุขภาพ แต่คนเรา การทำงานหนัก หรือการเป็นหวัด ขาดการพักผ่อน ก็สามารถทำให้การได้รับเชื้อเพียงน้อยนิด กลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้สักวัน อีกอย่างที่หลายๆควรทราบก็คือ นักวิจัยหลายๆคนในโลกนี้ ที่ไม่สามารถทำงานตามหลักจรรยาบรรณได้นั้น เพราะอัจฉริยภาพทำให้เป็นโรคจิตก็เป็นได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอก แต่มีแน่ที่ดันทุรังเพราะ obsession ในผลที่ตนคาดการณ์ไว้ และโมหะจริต และโลภะจริตต่างๆ คนพวกนี้ ก็ไม่ได้ดีเด่ไปกว่าคนอื่นๆหรอก เป็นแค่สาขาอาชีพของเขา วิถีการหาเงินของเขานั่นแหละ บางอย่างที่บางคนทำลงไปนั้น อาจแย่กว่าการต้องขายบริการทางเพศเสียอีก มิหนำซำยังมีคนมาให้คำนิยามโสเภณีว่าเป็นหญิงบริการ อันที่จริงโสเภณีน่าจะหมายความรวมถึงพวกนักวิจัยที่ยอมทำสกปรกไร้จริยะธรรมเพื่อแลกกับผลประโยชน์ตอบแทนด้วยนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท