ADLI


Approach - Deployment - Learning - Integration

          รู้จัก ADLI เป็นครั้งแรกจากการเข้าร่วมอบรมเรื่อง TQA เมื่อนานมาแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรมันมากนัก และก็คิดว่ามันก็แค่แนวทางหลักการการนำเสนอรายงานเท่านั้น ผ่านมาหลายปีพบคำนี้อีกครั้งเพราะว่า ม.ช.ใช้แนวทาง TQA มาดำเนินการควบคู่ไปกับการประกันคุณภาพการศึกษา ถึงแม้ว่าวันนี้ก็จะยังไม่ค่อยเข้าใจ ADLI เหมือนเดิม(ฮา) แต่ด้วยความสดของข้อมูลที่เพิ่งได้มา ก็เลยคิดว่านำมาถ่ายทอดไว้ก่อนกันลืม แล้ววันหน้าวันหลังมีโอกาสก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจมันต่อไป
          จากการอบรมเรื่อง TQA ล่าสุด เมื่ออาจารย์ท่านหนึ่งถามวิทยากรว่าแนวทางการตรวจรายงาน TQA จะเป็นอย่างไร วิทยากรก็เดินไปที่กระดานไวท์บอร์ดแล้วเริ่มบรรยายใหัฟังว่า เมื่อ TQA เป็นการพยายามจัดการบริหารงานอย่างเป็นระบบไปทั้งหมดด้วยกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้เข้ามาดูการบริหารแบบทั้งหมด (Total Management) จึงจะดูให้เห็นกระบวนการ ADLI นี้เอง ซึ่ง ADLI นั้นมาจาก


          1. Approach : เป็นการพิจารณาว่าหน่วยงานมีวิธีเข้าหาและเผชิญหน้ากับข้อมูลสารสนเทศต่างๆ โดยใคร เมื่อใด ทำไม ที่ไหน อะไรบ้างและอย่างไร ซึ่งเมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องของการเลือก จัดระดับความสำคัญ และจัดจำแนกประเภทของข้อมูลและสิ่งที่จะดำเนินการ ว่าองค์กรกำหนดและจัดวางความสัมพันธ์กับสิ่งนั้นอย่างไร
          วิทยากรได้แนะนำต่อว่า Approach ที่ดีต้องเป็น Systematic Approach ซึ่งความเป็นระบบ (Systematic) นั้นในหลักการเบื้องต้นก็จะต้อง
                    1. มีข้อกำหนดที่ชัดเจน หรือกำหนดได้ (Definable)
                    2. ทำซ้ำได้ (Repeatable)
                    3. ตรวจวัดได้ (Measurable)
                    4. คาดการณ์ผลจากสิ่งที่ทำได้หรือพยากรณ์ผลได้ (Predictable)

          2. Deployment : องค์กรนำข้อมูลจาก Approach ไปใช้อย่างไร หรือนำไปส่งต่อและถ่ายทอดต่อบุคลากรเพื่อให้ช่วยกันดำเนินการอย่างไรบ้าง

          3. Learning : องค์กรมีการทบทบวนปรับปรุง Approach/Deployment อย่างไร

          4. Integration : องค์กรบูรณาการสิ่งที่ทำอยู่กับส่วนงานอื่นๆ อย่างไรบ้าง
          ในท้ายที่สุดท่านวิทยากรก็เฉลยว่า ADLI ก็คือวงจร PDCA (Plan - Do - Check - Act) อย่างที่เราๆ คุ้นเคยในสายงานการประกันคุณภาพนั่นเอง ถ้าจะให้ดูพิเศษหน่อยคือการบูรณาการ ซึ่งหากพิจารณาแนวทางการจัดทำข้อมูล TQA ก็จะพบว่าองค์ประกอบ 7 ข้อตั้งแต่ผู้นำ บุคลากร ลูกค้า ผลลัพธ์ ทั้งหลายจะต้องดำเนินการไปอย่างเชื่อมโยงถึงกัน อธิบายกันและกันได้ในนัยของการบูรณาการนี้เอง
          ตัวอย่างของการนำ ADLI มาใช้ในการติดตามระบบงานที่วิทยากรยกให้เห็นก็คือ
          Approach : คณะกำหนดวิสัยทัศน์พันธกิจขึ้นมาได้อย่างไร ใครมีส่วนร่วมบ้าง ทำไมถึงกำหนดเช่นนั้น มีปัจจัยอะไร ฯลฯ
          Deployment : คณะถ่ายทอดวิสัยทัศน์พันธกิจนั้นไปสู่บุคลากรให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างไร มีแผนปฏิบัติการอย่างไรเพื่อรองรับวิสัยทัศน์พันธกิจของตน
          Learning : คณะมีการทบทวน ปรับปรุง วิสัยทัศน์พันธกิจรวมถึงแผนปฏิบัฏิบัติการอย่างไรบ้าง
          Integration : คณะเชื่อมโยงการดำเนินงานในแต่ละปัจจัยเข้ากับวิสัยทัศน์พันธกิจ และแผนปฏิบัติการต่างๆ อย่างไร
          นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่มีการพูดถึงเล็กๆ น้อยๆ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องไม่ลืมที่จะไปดูแนวคิดของ ADLI เป็นหลักให้รอบด้านครบทุกๆ เรื่อง และดูให้ครอบคลุมในทุกปัจจัยของ TQA เพราะเมื่อเห็นภาพสิ่งที่มันดำเนินอยู่ในองค์กรอย่างรอบด้านเชื่อมโยงถึงกันจริงๆ แล้ว เราก็จะสามารถ(อย่างน้อยก็)ดำเนินกิจกรรมขององค์กรให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมตามเงื่อนไขปัจจัยทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำสำคัญ (Tags): #adli#tqa
หมายเลขบันทึก: 172663เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2008 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท