การให้คำปรึกษาฉันเพื่อน


ขอเพียงโอกาสที่จะให้เขาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ
 การใหคำปรึกษาฉันเพื่อน
Peer Counseling
           ได้มีโอกาสฟังบรรยายจากคุณธีรวัฒน์ ศรีปฐมสวัสดิ์ และ คุณสันติ รุ่งนาสวน  จากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการนครปฐม เรื่อง การให้คำปรึกษาฉันเพื่อน ซึ่งจากคำว่า "ฉัน" นั้น จะไม่มี ท์ ซึ่งหมายถึง ฉัน ก็คือตัวเรา กับเพื่อน โดยการให้คำปรึกษาฉันเพื่อนนี้จะเป็นการให้คำปรึกษาของคนพิการกับคนพิการด้วยกัน โดยทั้งผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาจะมีความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เป็นการให้คำปรึกษาแบบบนลงล่าง จะไม่มีการให้คำแนะนำเหมือนกันให้คำปรึกษาทั่วไป แต่จะเน้นให้ผู้รับคำปรึกษานั้นสามารถค้นหาปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งการให้คำปรึกษาฉันเพื่อนนี้ได้เข้ามาในกลุ่มคนพิการไม่นานนัก เพราะเชื่อว่าคนพิการกับคนพิการนั้นสามารถที่จะถ่ายทอด สะท้อนภาพให้คนพิการด้วยกันเข้าใจ และเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากกว่าการให้คำปรึกษาจากคนปกติทั่วไป แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าการให้คำปรึกษาแบบอื่น ๆ จะไม่เหมาะสม ยังสามารถใช้ควบคู่กันได้
  
เป้าหมายของการให้คำปรึกษาฉันเพื่อน 
  • ดึงความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา  เพราะเมื่อคนปกติได้รับความพิการย่อมเกิดความไม่เชื่อมั่น ไม่มั่นใจ กลัวคนอื่นจะเป็นภาระ ซึ่งยิ่งถ้ามีใครมาสงสาร เขาจะรู้สึกแย่ คิดว่าตนเองไร้ความสามารถ ซึ่งในช่วงนี้จะต้องให้ผู้รับความพิการได้พูดระบายออก เห็นต้นแบบ และเปิดโอกาสให้ทบทวนสิ่งต่าง ๆ เพื่อค้นหาแนวทาง และเกิดความเชื่อมั่นที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป คนปกติไม่จำเป็นต้องสงสารคนพิการ เพราะความสงสารจะทำให้เขารู้สึกไม่มีคุณค่า ขอเพียงโอกาสที่จะให้เขาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ และมีคุณค่าเหมือนคนคนหนึ่งได้
  • สร้างความสัมพันธ์ใหม่กับบุคคลอื่นในสังคม คนพิการมักปิดโอกาสตนเองในการจะไปพบเพื่อน จึงควรให้คนพิการได้สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนเก่า พ่อแม่ พี่น้อง ญาติในสังคม และพบปะกับกลุ่คนใหม่ เช่น กับคนพิการด้วยกัน หรือคนอื่น ๆ ในสังคม โดยเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีโอกาสไปพบเพื่อน ญาติพี่น้องไม่ควรห้ามเขา เช่น การบอกว่า "พิการแล้วจะออกไปไหนอีก" แบบนี้จะทำให้คนพิการยิ่งรู้สึกไม่ดีกับตนเอง และจะเก็บตัวมากยิ่งขึ้น
  • สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม  โดยเริ่มจากครอบครัว เปลี่ยนทัศนคติคนในครอบครัว ที่เชื่อว่าคนพิการต้องอยู่เฉย ๆ เปลี่ยนคนในชุมชน เช่น ออกไปทักทายคนในชุมชน ไปตลาด คนก็จะเริ่มคุ้นเคย และเห็นความสามารถ สังคมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น มีทางลาดชันเพื่อคนพิการเพิ่มขึ้น เป็นต้น

 วันนี้ได้ฟังมุมมองหลายด้านและได้มีการซักถามข้อสงสัยกันอย่างชัดเจน  แม้ว่าการเข้าใจผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องยาก หากบางครั้งเราอาจจะไม่ต้องเข้าใจเสียทั้งหมด แต่คอยฟังในสิ่งที่ผู้อื่นได้มีโอกาสพูดหรือต้องการจะบอก และให้เขามีโอกาสได้คิดเองนั้นก็นับว่าได้ช่วยเหลือเขาได้เช่นกัน ซึ่งหลักการนี้ก็สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อีกด้วย

n

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 172383เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2008 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 01:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท