บทสารคดี “องค์กรที่มีชีวิต”


เป็นระบบการทำงานที่เอื้อให้เราเรียนรู้ - เกื้อให้ค้นพบ - หนุนให้เรานำศักยภาพของความเป็นมนุษย์ออกมาสร้างสรรค์ รวมพลังเราทุกคนร่วมกันสร้างระบบบริการสุขภาพมีชีวิต ที่มีทั้งปัญญาและความรัก เต็มหัวใจ

บทสารคดีวิดีทัศน์ที่นำเสนอในการเปิดประชุม 9th HA National Forum เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551

สร้างสรรค์โดย บริษัทจินตนาการ

 

ไม่น่าเชื่อว่า ระบบโรงพยาบาลที่เราทำงานกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน บริหารจัดการอยู่บนฐานวิธีคิดของระบบอุตสาหกรรมแบบจักรกล

 

โดยการแบ่งงานซับซ้อนออกเป็นงานย่อยๆ แยกส่วนออกจากกัน แบ่งบุคลากรให้มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะด้าน พิจารณาประเมินประสิทธิภาพของระบบจากการตรวจวัดเชิงปริมาณ สั่งการและตัดสินใจโดยรวมศูนย์อำนาจขึ้นสู่ระดับบนทีละระดับชั้น คนทำงานถูกลดค่าลงเป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะความรู้ความชำนาญเท่าที่จำเป็นกับหน้าที่งาน ผู้ป่วยเป็นเพียงผู้รับบริการที่ผ่านเคลื่อนเข้ามาบนสายพานและผ่านออกไปเป็นเพียงจำนวนนับของความป่วยไข้ในกลุ่มโรค

 

ทุกวันจึงมีคนทุกข์เพิ่มขึ้นจากการทำงานตายตัวในระบบ หมดความสุขในการทำงานประจำในแต่ละวัน เกิดคำถามใหญ่-เรามีทางเลือกอื่นที่จะสร้างระบบงานที่สอดคล้องกับความมีชีวิต มีองค์กรที่ตั้งอยู่บนหลักการเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของเราไหม?

 

องค์กรมีชีวิต

 

ในระบบธรรมชาติที่พัฒนามาก่อนนับหมื่นล้านปี มีความสัมพันธ์ย่อยๆ เกิดจากความว่าง ค่อยๆ ก่อรูปเชื่อมโยง จากความสับสนและการจับสุ่ม จากโอกาสความเป็นไปได้และความบังเอิญ ผ่านกาลเวลา ผ่านหลายล้านรอบของความเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เกิดเป็นจักรวาล กลายเป็นระบบสุริยะ โลก และระบบสิ่งมีชีวิต

 

มีหน่วยย่อยหลากหลายชนิดเกิดขึ้นพร้อมศักยภาพใหม่ในการกระทำและกำหนด สร้างปฏิสัมพันธ์ใหญ่เปลี่ยนแปลงระบบธรรมชาติแบบก้าวกระโดด

 

400 ล้านปีมาแล้วสิ่งมีชีวิตประเภทแมลงเกิดขึ้นและปรับตัวจนอยู่รอดมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากระบบการบิน การมองเห็น การแลกเปลี่ยนอากาศ-อาหารกับสิ่งแวดล้อม-แล้ว ระบบการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ เป็นวิวัฒนาการสำคัญที่น่าสนใจน่าศึกษา

 

ในรังแข็งแรงที่สร้างขึ้นโดยสิ้นเปลืองวัสดุน้อยที่สุด มีผึ้งอาศัยอยู่ด้วยกันนับหลายหมื่นตัว ใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืนไม่ขัดแย้ง

 

นอกจากนางพญาแล้วผึ้งส่วนใหญ่เป็นผึ้งงานที่ทำหน้าที่หลากหลายอย่างขันแข็ง ตั้งแต่สร้างรัง ดูแลตัวอ่อน จนถึงออกไปหาอาหาร ผึ้งงานปรับบทบาทไปทำงานแตกต่างได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีใครสั่ง นี่คือระบบที่มีการจัดการภายในตัวเอง

 

ดูตัวอย่างจากการหาอาหารของมด ทุกเช้าจะมีทีมสำรวจลาดตระเวนออกไปหลายทิศทาง มดงานที่เหลืออยู่ในรังต่างก็ทำหน้าที่ของตนไป จนทีมนักสำรวจกลับมา สื่อสารกับมดงานอื่นด้วยการสัมผัส ดมกลิ่นกัน มดงานจำนวนหนึ่งก็จะเปลี่ยนหน้าที่กลายเป็นมดหาอาหาร เดินตามกันไปช่วยกันออกแรงขน กลิ่นตัวที่ติดมาจากภายนอกกระตุ้นให้พวกที่อยู่ภายในกระตือรือร้นออกไป ตัวที่เหลืออยู่คอยดูทีมหาอาหาร-ถ้ากลับมาไว แสดงว่าปลอดภัย แหล่งอาหารอยู่ใกล้และมีปริมาณมาก ก็จะติดตามออกกันไปช่วยกันขน ทำให้ได้อาหารกลับมาเลี้ยงมดทั้งรังหลายแสนตัวได้อย่างพอเพียง เป็นระบบจัดการที่มีประสิทธิผล ดำเนินการไปได้เองไม่มีการสั่งการ ไม่มีหัวหน้ามดมาคอยออกคำสั่ง เป็นความสำเร็จในการปรับตัวเพื่ออยู่รอดของมดกว่า 12,000ชนิดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมตลอดเวลา140 ล้านปีที่ผ่านมา

 

เพียงมดตัวหนึ่งหรือแมลงเล็กๆตัวหนึ่งซึ่งดูไม่ค่อยฉลาดมีเพียงรหัสคำสั่งง่ายๆที่ฝังอยู่ภายใน สร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันซ้ำๆ เกิดกลายเป็นพฤติกรรมซับซ้อนเมื่อรวมกันเป็น

กลุ่มใหญ่ นี่คือปัญญารวมฝูง หรือภูมิปัญญารวมหมู่ที่วิวัฒน์ขึ้นมาในระบบธรรมชาติ

 

ภูมิปัญญารวมหมู่

 

ร่องรอยของวิวัฒนาการนี้ยังคงพบได้จนถึงกำเนิดมนุษย์เมื่อ 35,000 ปีที่ผ่านมา เซลล์แต่ละเซลล์ (ยังคง) ทำหน้าที่เป็นหน่วยย่อยที่สมบูรณ์ในตัวเอง ดำเนินกิจกรรมของชีวิตอย่างอิสระทั้งสร้างพลังงานแลกเปลี่ยนแร่ธาตุอาหารกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเก็บรักษาและใช้ประโยชน์จากรหัสพันธุกรรมของชีวิต

 

เซลล์เม็ดเลือดแดงที่กระจายตัวอยู่ในกระแสเลือดซึ่งซึมซ่านไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญในฐานะแมสเซนเจอร์รับและส่งสารอาหาร ฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อต่างๆ ออกซิเจนคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ รวมถึงของเสียต่างๆ ด้วยการวิ่งไหลวนไปทั่วร่างไหลเวียนไปทั่วทุกจุด เป็นส่วนหนึ่งของระบบสื่อสารภายใน เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเซลล์ใกล้ไกล แลกเปลี่ยนข่าวสารกับภายนอก ทำให้แต่ละเซลล์รู้ว่าไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อจุดหมายเฉพาะเซลล์อีกต่อไป รวมกันเข้าเป็นระบบอวัยวะที่ทำงานประสานกับระบบอื่นสร้างเป็นองค์รวมของสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการสูงสุดในสายหนึ่ง เป็นมนุษย์ผู้มีสติปัญญา เกิดการพัฒนาข้ามพ้นจากพรมแดนทางกายภาพ มีจิตวิญญาณ มีเจตจำนงอิสระสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมได้มากมายแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีมือทำงานได้ดี มีตามองเห็นได้หลายมิติ มีสมองไว้เรียนรู้ มีจิตใจเข้าถึงคุณค่าของความดีความงาม และความรัก

 

นี่คือชีวิตพิเศษสุดที่เราน่าจะฝากความหวังไว้ได้ว่า จะเป็นผู้สร้างระบบความสัมพันธ์-ระบบการทำงานร่วมกันที่นอกจากจะเพื่อไปบรรลุเป้าหมายดี ยังควรจะเป็นระบบที่เอื้อให้ค้นพบศักยภาพของความเป็นมนุษย์และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เป็นองค์กรมีชีวิตที่เกิดจากชีวิตดีเล็กๆแต่ละชีวิต รวมพลังกันเข้า

 

บทเรียนดีที่ รพ.ละงู

 

สถานบริการขนาดเล็กอย่างโรงพยาบาลละงูวันนี้มีกำลังคนทำงานมากมายและหลากหลายอย่างน่าทึ่ง

 

ลองมาดูที่ห้องยา เห็นความกระตือรือล้นจดจ่อรับผิดชอบงานตรงหน้าของแต่ละคน ก็แทบจะแยกไม่ออกว่านี่คือการทำงานเป็นอาชีพหรืองานอาสากันแน่

 

สิ่งนี้เกิดขึ้นได้  เพราะโรงพยาบาลละงูเปิดประตูกว้าง ชวนเพื่อนๆ จากบ้านข้างๆ เข้ามาร่วมกันทำสิ่งดี จึงมีคนใจดีอาสามาช่วย พี่วาริสมาวันนี้มารับหน้าที่ช่วยเข็นเตียงผู้ป่วยที่ว่างอยู่ พี่สมจิตรเวียนมาช่วยเตรียมเครื่องมือที่ห้องกายภาพ พี่จอยเอาประสบการณ์แม่ลูกสองมาให้กำลังใจและช่วยนวดแม่รุ่นน้องท้องแก่ ส่วนมูเราะห์สมัครใจใช้เวลาว่างนอกเวลาเรียนมาเป็นบรรณารักษ์อาสา จัดหนังสือ บริการค้นหา ช่วยเหลือเพื่อนพี่ป้าน้าอา เป็นพลังกายและใจของชาวจิตอาสาที่ผสานผสมเป็นเนื้อเดียวกับเหล่าเจ้าหน้าที่-ขยับเคลื่อนโรงพยาบาลให้พัฒนาไป รพ.ละงูในวันนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงโรงซ่อมสุขภาพเสีย แต่เป็นเวทีสร้างสุขภาพดี ที่มีความหมายลึกซึ้งถึงระดับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

 

ผอ. ทุกคนเนี่ยมีเมล็ดพันธุ์ความดีอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว ซึ่งจะรอโอกาสที่จะทำให้เบิกบานหรือว่าโตขึ้นมาเมื่อไหร่เท่านั้นเอง นะครับ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีพื้นที่ให้เขาออกมาแสดง / มันก็สามารถที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีนี้ก็งอกงามเป็นต้นไม้ที่สวยงาม แล้วก็ทำให้คนอื่นร่มเย็นได้มากขึ้น นะครับ

 

เป็นการปลูกต้นไม้ที่ไม่ต้องรอเวลาชื่นชม เพราะความดีมีรากหยั่งลึกอยู่ในทุกชุมชนขนาดเล็กอย่างที่นี่ ต่อเนื่องกันทุกสัปดาห์ รพ.ละงูจัดเวทีสนทนา ชวนอาสาสมัครจิตอาสามา แบ่งปันเรื่องเล่า เพราะความดีมีเรื่องราวเป็นเรี่องยาวเชื่อมโยง มีจุดเริ่มมีแรงบันดาลใจ มีสัมผัสงดงามระหว่างคนกับคน จึงไม่แสดงผลเป็นจำนวนนับ แต่สร้างผลเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ กิจกรรมสุนทรียสาธกกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ข้อมูลความรู้ดีๆไหลเวียนไปทั่วทุกองคาพยพของทั้งองค์กร เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เข้าสู่ใจคนทำงานทั้งระบบ

 

พี่ห่อ เรามีจิตใจที่อ่อนโยน มีความเป็นคนให้กับคนมากขึ้นน่ะค่ะ

น้อง คือการทำงานทุกสิ่งทุกอย่างน่ะค่ะ ไม่ต้องไปหวังสิ่งตอบแทนนะคะ คือถ้าเราทำแล้วเรารู้สึกดี เรารู้สึกว่าทำสิ่งนั้นเนี่ย ทำให้เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือสังคมได้จริงๆ ก็ควรทำค่ะ

พี่จิ๋ม แล้วก็ที่สำคัญค่ะ เราต้องทำตัวเราให้เป็นประชาชนไปด้วย เอาใจเราเนี่ยไปอยู่กับเขาด้วยค่ะ มันถึงจะได้ตรงนั้น อย่ามอง อย่าแบ่งชนชั้นว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่นะคะ

พี่ห่อ เราคือคนคนนึงที่จะต้องช่วยเหลือกันในสังคมงัย

จิตรา มองคนไข้เหมือนกับว่าเป็นพี่เป็นน้องน่ะค่ะ // ทำให้ดีที่สุด ทำเหมือนกับญาติเรา // ความรู้สึกดีๆ อยากจะให้เกิดกับ / ทุกๆ คนที่มารับบริการที่เราน่ะค่ะ

 

เพราะที่นี่คือพื้นที่ดีที่สุดที่หนึ่ง ที่เราจะเรียนรู้เพื่อเข้าถึงความจริงของชีวิต มีทั้งทุกข์และสุขเกิดขึ้นท่ามกลางความงามของการก่อเกิด

 

แม้ในยามทุกข์ยากที่สุดของชีวิต มนุษย์คนหนึ่งยังคงแบกความหวัง ความฝัน ด้วยเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานจะได้พบกับชีวิตใหม่ ผู้มาพร้อมกับพลังแห่งความรัก งดงามที่สุดเท่าที่หัวใจเคยสัมผัส

 

แม้จะเป็นมือที่เคยถ่ายแรง แบ่งรับความทุกข์มาแล้วหลายชีวิต แต่ทุกครั้งคือการเริ่มต้นใหม่

ไม่เพียงใช้ความรู้ช่วยกันทำให้ชีวิตน้อยๆ ได้คลอดอย่างปลอดภัย หลายมือเหล่านี้ยังคงส่งผ่านความรักและความปรารถนาดี ช่วยกันทำความฝันและจินตนาการงดงามของผู้เป็นแม่ เกิดได้เป็นจริง

 

เสียงป๊ะบัญญัตร้องอะซาน

คือชีวิตที่เกิดใหม่ ท่ามกลางความดีงาม ซึมซับจิตวิญญาณประณีตอ่อนโยน ส่งผ่านมาจากทุกสัมผัสเมตตาของผู้ให้

คือชีวิตใหม่ที่เป็นดอกผลงดงามและงอกงามอยู่ในชุมชนแห่งการช่วยเหลือแบ่งปัน ผู้พร้อมจะสืบทอดคุณค่าของหน้าที่ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน สืบต่อความงามของภารกิจนี้ ยืนนานสืบไป

 

ป๊ะ คำว่าอาซาล // คำแรกของการละหมาด // เขาให้มาทำความดี / ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

พี่จอย ใครๆ ก็ทำได้ / อยู่ที่ใจ ถ้าเราอยากจะทำ อยากจะช่วยเขา

จิตรา ได้ช่วยเพื่อนแล้วรู้สึกว่าสบายใจ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า

 

เป็นพื้นที่เล็กๆ ในระบบซับซ้อนที่เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กๆได้เรียนรู้อุดมคติสูงสุดในการทำงาน จึงค้นพบศักยภาพภายในของตนและคนอื่นๆ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์สิ่งดีสิ่งใหม่ขยับเคลื่อนไปทั้งองค์กร  เป็นทางออกเป็นคำตอบเป็นวิถีทางคืนชีวิตให้กับคนทำงาน สร้างองค์กรมีชีวิตจากพลังของคนทำงานที่ค้นพบความสุขจากการมีชีวิต

 

พี่ห่อ มีความสุขแล้วก็อยากจะทำมากขึ้น เพราะรู้สึกว่า / มันได้ช่วยคนแบบ...มากขึ้นน่ะ

น้อง คือถ้าเกิดเราทำงาน แล้วเรา / ใช้หัวใจในการรักษาน่ะค่ะ / เขาสามารถดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาน่ะค่ะ

จิตรา เราก็คือได้ทำบุญ ได้ทำกุศลกับเพื่อนมนุษย์ของเราน่ะค่ะ

น้อง ได้รับความพอใจ ความสุขใจค่ะ

ผอ. ก้อนหินก้อนนึงเวลาโยนไปในน้ำ มันก็กระเพื่อมไปใช้มั้ยครับ มันอาจจะกระทบบางส่วน บางสิ่ง นะครับ เพราะฉะนั้นนี่ก็เช่นกัน ถ้าเรามีรพ.อย่างนี้หลายๆ โรง ก้อนหินมันก็จะกระเพื่อมมากขึ้น คลื่นมันก็จะใหญ่มากขึ้น ก็ทำให้สังคมขับเคลื่อนได้มากขึ้น

 

หลายชีวิตที่ รพ.ลำพูน

 

นี่คือน้องปอย เด็กหญิงวัย 6 ขวบซึ่งเป็นโรคต่อมใต้สมองผิดปกติ ต้องเข้าออกรพ.เป็นประจำ คืนนี้มีไข้สูงมาก พ่อกับแม่จึงพามาตอนสี่ทุ่ม

 

หลังจากแพทย์ห้องฉุกเฉินวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นปอดอักเสบ และส่งต่อเข้า ICU  เพื่อใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังทุกระบบที่มีความเสี่ยง..

 

ผ่านการดูแลจนทุกคนคลายใจลงแล้ว คืนนี้น้องปอยนอนหลับอย่างอุ่นใจ เพราะแม่ได้รับอนุญาตให้นอนเฝ้าลูกได้

 

อารียา เขาก็มีกฎระเบียบของเขานะ ICU แรกๆเราก็ปรับตัวไม่ค่อยได้แบบว่า บางทีเราเลิกงานมา 2 ทุ่ม เราอยากจะดูลูก เขาก็บอกว่าหมดเวลาเยี่ยมเราก็ไปขอเขา เขาก็ให้เข้า /ช่วงพักหลังๆนี่เขาก็เปิดโอกาสให้เลย บอกว่า แม่จะมาเวลาไหนก็ได้ ถ้าคิดถึงลูก แต่ให้แม่ไปทำงาน

พรพรรณ์ จับลูก อุ้มลูกได้ เดี๋ยวนี้อนุญาต แบบว่าใส่เครื่องช่วยหายใจก็อุ้มได้ คิดว่าพ่อกับแม่จะช่วยให้ลูกหายป่วยเร็วกว่าเราอีก ถ้ามีพ่อกับแม่เพิ่มขึ้นมา

 

แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ แต่การดูแลผู้ป่วยของรพ.ลำพูนกลับมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริง โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ

 

ศรีวรรณ เหมือนเรารู้ว่า ผู้ป่วยเขาต้องการกำลังใจจากญาติ /ที่ลำพูนเราเองนี่ มีนิคมอุตสาหกรรม ญาติของบางคนเขาจะทำงาน/ เพราะฉะนั้นบางช่วงเข้าเยี่ยมตามเวลาไม่ได้ ตรงนี้เราก็ยืดหยุ่นให้

อัลจนา คืองานบริการทุกอย่าง เราต้องคิดว่า คนไข้ ญาติคนไข้คือตัวเรา เราต้องเอาใจเราไปใส่ของเขา

ศรีวรรณ ที่ ICU ของเราจะขอโทรศัพท์ญาติไว้ นอกจากว่าญาติมาให้เยี่ยมข้างเตียงอย่างใกล้ชิดแล้ว ก็จะโทรศัพท์แจ้งญาติเป็นระยะๆ ถ้าอาการเปลี่ยนแปลง/  เพื่อว่าให้ญาติคลายความวิตกกังวล เขาจะได้ทำงานประจำเขาได้ตามปกติน่ะค่ะ

ที่ตึกเด็ก ก็ใช้วิธีคิดในการทำงานจากฐานเดียวกัน ดูแลลูกอย่างดีพร้อมๆกับดูแลใส่ใจแม่เหมือนญาติมิตร

 

นุชนาฎ เรามาคิดว่าถ้าเป็นลูกเรา เราก็อยากมาดูแลลูกเรา อยากจะเห็นหน้าลูกเราบ่อยๆนะคะ /กฎระเบียบเราจะยืดหยุ่นค่อนข้างมาก/ ผู้ปกครองสามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา /เมื่อก่อนเนี่ยเป็นเตียงเล็กๆ สำหรับเฉพาะเตียงลูก แต่ตอนหลังเนี่ยเราปรับหมด เราเอาเตียงเล็กออกหมดเลย ปรับเป็นเตียงใหญ่เพื่อให้แม่กับลูกได้นอนด้วยกัน / เพราะฉะนั้นกฎระเบียบบางอย่างเราสามารถยืดหยุ่นได้ แล้วก็ผู้บริหารก็เอื้อนะคะ แล้วก็ไม่ได้เข้มงวดอะไร แล้วแต่เราจะบริหารจัดการ แต่ก็ต้องให้ได้มาตรฐาน/ก็คือไม่มีภาวะติดเชื้อเพิ่มขึ้น

 

เมื่อทุกคนสามารถคิด ตัดสินใจลงมือทำด้วยความรู้และความรัก สิ่งดีๆจึงเกิดขึ้น  ไม่เฉพาะกับผู้มารับบริการเท่านั้น  ในส่วนผู้ให้บริการเองก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเช่นกัน

 

ที่ห้องคลอด ได้เกิดนวัตกรรมระบบการจัดเวรใหม่ หลังจากทุกคนเผชิญกับปัญหาหนักร่วมกันมา

 

ดรณีย์ จำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเรื้อรัง ก็คือการขึ้นเวรที่ต่อเนื่องกันในระยะที่ยาวนาน ความอ่อนล้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ศรีเพลิน ช่วงก่อน เรื่องขึ้นเวรอะไรไม่มีปัญหาเลย พออายุขึ้นเลข 4 ไม่ไหวแล้ว/คือจะหลับค่อนข้างจะยาก

รุณภวรรณ พอหลังคลอดลูกเนี่ยค่ะ มีภาระที่ต้องเลี้ยงดู แล้วก็ /ถ้าเราขึ้นเวรตามปกติ คือมาตอนสี่โมงปุ๊ปนี่ ก็จะขาดคนดูแลลูกที่บ้านไปเลย

ดรณีย์ ก็เลยลองมาคุยกันว่าเรามาปรับเรื่องเวรมั๊ย

อัจฉรา ก็เลยชวนกันมาคิดว่า จะหาวิธีไหนที่จะปรับชีวิตส่วนตัวให้มันสมดุลกับงานมากที่สุด

 

ผลจากการพูดคุย ทำให้เกิดข้อค้นพบว่าถ้าซอยเวรบ่ายออกเป็น 2 กะ เป็นเวรบ่ายแรกและบ่ายหลัง  จะช่วยแบ่งเบาปัญหาและตอบโจทย์ชีวิตของคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า

 

รุณภวรรณ แบบใหม่ก็ดีค่ะ คือมันเอื้อต่อเรา

ศรีเพลิน อย่างที่เลือกบ่ายแรกผลดีคือเรื่องนอนหลับ คือหลับได้ดีขึ้น

รุณภวรรณ พออยู่บ่ายหลัง/ช่วงหัวค่ำก็จะมีเวลาอยู่กับครอบครัว ดูแลลูกที่บ้าน

แววตาระหว่างเดือนที่ปฏิบัติงานอยู่นี่นะคะ พี่เขาจะคอยถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง ขึ้นเวรแล้วเหนื่อยไหม ขึ้นเวรแล้วเป็นอย่างไร คนในครอบครัวรู้สึกอย่างไร มีผลอะไรไหม แล้วก็อยากจะปรับเปลี่ยนตรงไหนไหม พี่เขาจะถามเรื่อยๆ ซึ่งก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี คืออย่างน้อย เราก็มีส่วนร่วมในการที่จะแสดงความคิดเห็นในตารางเวร ซึ่งมันเป็นวิถีชีวิตของเรา

 

เพราะตารางเวร คือตัวกำหนดตารางชีวิตของทุกคน การมีส่วนร่วมกันปรับจัดระบบการทำงานให้สมดุลย์กับชีวิตมากขึ้น นำไปสู่ความพึงพอใจและความสุขในการทำงานมากขึ้น พร้อมๆกับเกิดสิ่งดีอีกมากมายตามมา

 

รุณภวรรณ เป็นการเอื้อซึ่งกันและกัน เพราะว่าแต่ละคนนี่ก็ไม่เหมือนกัน

บวรรัตน์ ก็ดีน่ะค่ะ คือว่ามันทำให้จัดการกับชีวิตของเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้น คนอื่นอาจจะมีภาระครอบครัว อาจจะมีลูกเล็กๆ กลับไปก็อาจจะได้เจออยู่ไม่ใช่ว่า กลับไปเที่ยงคืนลูกหลับไปหมดแล้ว

แววตา ก็ทำให้บรรยากาศการทำงานดี

ศรีเพลิน พออย่างนี้ก็แฮ๊ปปี้ ขึ้นเวรอย่างนี้ก็แฮ๊ปปี้

อัจฉรา ก็รู้สึกการทำงานมีความสุข เกิดความรัก ความสามัคคีในหน่วยงานมากขึ้น

ดรณีย์ มันจะส่งผลดีต่อคนไข้ คือน้องเขาจะมี เจ้าหน้าที่เขาจะมีพลังที่จะดูแลต่อคนไข้มากขึ้น เพราะว่าในเรื่องความกังวลในเรื่องส่วนตัวลดลง จะมีการดูแลคนไข้ที่ดีขึ้น เอื้ออาทรต่อคนไข้ดีขึ้น

 

เพราะเชื่อว่ารหัสภารกิจพื้นฐานที่ธรรมชาติฝากฝังไว้ในตัวเรา คือสำนึกดีต่อตัวเองและคนอื่น องค์กรมีชีวิตจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนใช้หัวใจแก้ปัญหา ให้คนตัวเล็กๆเลือกวิถีทาง สร้างระบบที่ดีต่อทุกคน เพื่อก่อผลสำเร็จเป็นความสุขร่วม

 

เพราะมีชีวิต ทั้งคนและองค์กรจึงเติบโตและงอกงามไปด้วยกัน

 

อัจฉรา คือเราอาจจะประเมินว่า คนไข้ชมเรา ทำไมเราดูร่าเริงจังแกรู้สึกเป็นกันเองกับเรามากขึ้น แล้วก็เล่าปัญหาหรือว่ากล้าที่จะบอกเราว่า เขากลัวอะไรในห้องคลอด และเราสามารถเข้าถึงตัวเขาได้มากขึ้น ถ้าเรามีสีหน้าแจ่มใสให้ความเป็นกันเองกับเขาแล้วท่าทางเรามีความสุข เขาจะกล้าที่จะเข้ามาหาเรา

อารียา รพ.ลำพูนคือน้ำใจนี่มีมาก

ทวีศรี มีความรู้สึกที่ดีกับการดูแลของคุณหมอแล้วก็ของรพ.ลำพูนด้วย ที่เขาให้

ทิพย์สุดา ให้คำแนะนำ ดูแลลูกเฮา ทุกอย่างเลย

ประภาศรี ประทับใจ รู้สึกประทับใจ

หมายเลขบันทึก: 171867เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2008 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ จากระบบงานขนาดเล็ก ที่อาจจะไม่สามารถสื่อแทนความหมายขององค์กรมีชีวิตอย่างที่เราหวังได้ทั้งหมด ในวันนี้อาจจะยังไม่มีองค์กรมีชีวิตสมบูรณ์แบบให้เห็น แต่นี่คือข้อค้นพบดีที่เราค้นพบไปพร้อมๆกัน เพราะฝันไกลฝันดีคือสิ่งที่เราจะต้องร่วมกันสร้าง เริ่มจากผลดี-ผลสำเร็จเชิงประจักษ์ที่ส่องประกายฉายออกมาเป็นความสุขของคนเล็กๆ รวมกันมาจากหลายพื้นที่ สานกันเข้าสั่งสมเป็นทุนหนุนฝันอุ่นเป็นก้อนใหญ่ไว้ฝันต่อ

จินตนาการไกลถึงการเปลี่ยนแปลงระบบแบบอุตสาหกรรมกลไก พลิกกลับขยับเคลื่อน ปลุกให้ฟื้นขึ้น เกิดเป็นชีวิตใหม่ กลายเป็นระบบการทำงานที่เอื้อให้เราเรียนรู้-เกื้อให้ค้นพบ-หนุนให้เรานำศักยภาพของความเป็นมนุษย์ออกมาสร้างสรรค์ รวมพลังเราทุกคนร่วมกันสร้างระบบบริการสุขภาพมีชีวิต ที่มีทั้งปัญญาและความรัก เต็มหัวใจ

ชอบจังเลยค่ะอ่านแล้วประทับใจมากๆเลยค่ะ.... ถ้าเป็นได้อย่างนี้เกือบทุกองค์กรทั่วประเทศไทย.....ประเทศไทยคงเป็นประเทศที่น่าอยู่มากๆแน่นอนเลย....

เรียนท่านอาจารย์หมออนุวัฒน์ ตัวอย่างเล็กๆ เพื่อเป็นพลังใจในการพัฒนาสู่โรงพยาบาลคุณภาพครับ

เข้ามาชื่นชมด้วยค่ะ

จะมีมดงานตัวเล็กๆซักกี่ตัวในโรงพยาบาลใหญ่ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ ผ.อ.อนุวัติ เห็นหรือไม่เรื่องราวดีๆ ส่วนใหญ่ถูกกล่าวขานในโรงพยาบาลเล็กๆ เท่านั้น ส่วนมดงานในโรงพยาบาลศูนย์ส่วนใหญ่นั้นเมื่อ HA เข้าได้หมดแรงล้มตายไปมากมายค่ะ

ยอมรับว่า “องค์กรที่มีชีวิต” ที่ได้ยินในครั้งนี้ ได้เป็นน้ำเลี้ยงหัวใจที่ดีของมดงานค่ะ อยากให้ อาจารย์มีตัวชี้วัดเป็นคุณภาพชีวิตของมดงานในโรงพยาบาลบ้าง ก่อนที่พวกเราจะหมดแรงตาย ไปก่อนที่ผู้นำในองค์กรจะคิดได้ ทุกวันนี้ ลงเวรดึก 10 - 11โมง

ลงเวรบ่าย ตี 1 - 2 ได้ค่ะ มดงานไม่ได้มีโอกาสไปประชุมหรอกนะคะ เก็บเกี่ยวเอาตาม เว็ป นะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท