ดอกมะลิ...เบ่งบานในใจเราเสมอ


อาชีพอย่างเราช่างโชคดี โชคดีที่ได้ช่วยเหลือ โชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่ดี โชคดีที่ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า โชคดีที่เราได้เป็น “คุณครู”

โดย พ.ญ.สุธาทิพย์  ธรรมชาติ  

โรงพยาบาลนาหม่อม  จังหวัดสงขลา

                                        

            หญิงไทยคู่วัย 42 ปี ประวัติเป็นโรคเบาหวานมาประมาณ 3 ปี  เธอมีนามว่า มะลิ ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาลนาหม่อมและไปรักษาต่อที่สถานีอนามัย แต่รักษาและรับยาไม่ต่อเนื่อง ไม่สม่ำเสมอ  สุดท้ายในเดือนมกราคม ปี 2550 มะลิต้องมาโรงพยาบาลด้วยอาการแขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง หายใจเหนื่อยหอบ จุกแน่นลิ้นปี่ ปรากฏว่าน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ   จึงรับมะลิรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลนาหม่อมเพื่อปรับน้ำตาลและรักษาอาการดังกล่าว  แพทย์วินิจฉัยเป็นโรค Diabetic Keto Acidosis (DKA)  ต่อมามีอาการช็อกและหมดสติ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจส่งต่อโรงพยาบาลศูนย์ นอนรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์เป็นเวลา 1 เดือน แล้วส่งตัวผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลนาหม่อม  เนื่องด้วยอาการผู้ป่วยดีขึ้นและไม่เกิดแผลกดทับใดๆ

แรกรับมะลิกลับมาที่โรงพยาบาลนาหม่อม แขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง เจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ   ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมาก มีแผลติดเชื้อที่รอบๆ อวัยวะเพศ มีอุจจาระออกทางช่องคลอด มีภาวะซีด  ร่างกายผ่ายผอม  ทีมแพทย์พยาบาลโทรปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลศูนย์เรื่องถ่ายอุจจาระทางช่องคลอด แพทย์ทางโรงพยาบาลศูนย์ไม่ได้ทำอะไรต่อ เพียงให้ทำความสะอาดสม่ำเสมอและให้ระวังเรื่องการติดเชื้อ  ทีมแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลนาหม่อมต้องมานั่งคิดร่วมกันว่าจะดูแลอย่างไร ทุกคนก็ลงความเห็นว่ายังไงๆ ต้องทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองให้ได้แม้ใช้เวลานานเท่าไรก็ตาม เรามีความสามารถในการดูแลแผลที่ถือว่ายอดเยี่ยมทำให้ผู้ป่วยหลายคนหายมาแล้วแม้แผลจะเป็นมากขนาดคิดว่าจะต้องตัดขา ตัดนิ้ว ยังหายได้โดยไม่ต้องสูญเสียอวัยวะเลย  พวกเราจึงมั่นใจว่าทำได้แม้จะมีสีหน้าที่บ่งบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ในช่วง 2-3 วันแรกที่มะลิกลับมานอนที่โรงพยาบาลนาหม่อม มะลินอนร้องไห้ตลอด จะพูดก็พูดไม่ได้ จะเขียนก็เขียนหนังสือไม่เป็น มีภาวะซึมเศร้า  เวลาแพทย์ พยาบาลมาดูแลจะร้องให้ตลอด   บางครั้งไม่ยอมให้ความร่วมมือใดๆ จึงปรึกษาพยาบาลจิตเวช  เมื่อพยาบาลจิตเวชผู้ที่มีร่างอวบแบบอบอุ่นมาดูแลมะลิ พยาบาลจิตเวชไม่ได้พูดอะไรกับมะลิเลย แค่นั่งนิ่งๆ พูดเพียงเล็กน้อยและจับมือมะลิทั้ง 2 ข้างมากุมนิ่งๆ อยู่สักพักใหญ่ๆ  ทำเช่นนี้ทุกวันเป็นเวลาประมาณ 4-5 วัน  เราเรียกว่ามีการถ่ายทอดพลังกายทิพย์ ทำให้มะลิรู้สึกดีขึ้นอย่างประหลาดจนในทีรู้สึกทึ่งมาก  หลังจากนั้นให้ความร่วมมือในการรักษา ยังร้องไห้อยู่บ้างแต่น้อยลง  

มะลิพยายามสื่อสารว่ากลัวตัวเองไม่หาย กลัวตัวเองพูดไม่ได้ กลัวเดินไม่ได้  สามีก็ไม่ค่อยได้มาดูแลเพราะต้องทำงานรับจ้างหาเงินมาใช้จ่าย  มีเพียงลูกชายคนเดียวอายุเพียง 10 ปี ที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะเป็นห่วงแม่ คอยซักถามแพทย์และพยาบาลตลอดว่าแม่เป็นอย่างไรบ้าง ทำอย่างไรแม่จะหาย   เราเห็นเป็นเด็กที่ฉลาดและกตัญญู   พยายามที่จะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ช่วงนี้แม่ไม่สบาย ยังเดินไม่สะดวก ยังพูดไม่ได้  แต่ไม่เป็นไร แม่ของหนูต้องดีขึ้นถ้าแม่ทำตามที่หมอและพยาบาลบอก  แต่ให้หนูมาเป็นกำลังใจให้แม่ด้วยนะ” 

ดังนั้นทุกครั้งที่พยาบาลสอนมะลิหรือให้การรักษาบางครั้งมะลิจะไม่ยอมบ้าง  แต่ลูกจะช่วยคอยบอกแม่ว่า แม่ทำตามพยาบาลเถอะ  แล้วแม่จะได้หายเร็วๆ ได้กลับบ้าน  จนกระทั่งมะลิมีกำลังใจเพิ่มขึ้น  ลูกชายคนเดียวก็จะคอยมาดูแล ป้วนเปี้ยนใกล้ๆ เตียงแม่ตลอดเวลา  เป็นภาพที่เราเห็นแล้วซึ้งใจ  แม้ผู้ป่วยและญาติเตียงข้างเคียงยังอดสงสารไม่ได้   ส่วนเรื่องที่มีอุจจาระออกทางช่องคลอด ทีมแพทย์และพยาบาลคิดว่าควรทำการเย็บบริเวณช่องคลอด  เมื่อเห็นพ้องต้องกันจึงนำมะลิเข้าห้องผ่าตัดเย็บปิดช่องคลอดและทำความสะอาดทางช่องคลอด  ผลที่น่าพอใจคือไม่มีการติดเชื้อใดๆ ในช่องคลอดเลย  นับเป็นผลงานที่ทำให้เราภูมิใจและมั่นใจในการดูแล

พยาบาลเข้าใจปัญหามะลิอย่างลึกซึ้งและเริ่มศึกษาปัญหาและวางแผนการรักษามะลิอย่างจริงจังด้วยกันทั้งแพทย์ พยาบาล  เริ่มวางแผนดูแลเรื่องการสื่อสารเป็นอับดับ 1 ที่มะลิกลัวว่าพูดไม่ได้   พยาบาลได้ฝึกมะลิโดยให้มะลิหายใจทางจมูกแล้วใช้ผ้าก๊อสมาปิดที่ท่อเจาะคอ  ฝึกให้เปล่งเสียง  พยาบาลจะมาทำให้วันละ 1 ชั่วโมง พูดคุยให้กำลังใจตลอด แม้ไม่ได้รับการพูดกลับมาจากมะลิก็ตาม  พยาบาลก็จะพูดคนเดียวให้มะลิฟังทุกๆ วัน อย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย แล้วเพิ่มเวลามากขึ้นทุกๆ วัน จากวันละครั้งเป็นวันละ 2 ครั้ง จนเป็นวันละหลายครั้ง  จนกระทั่งมีเสียงออกจากคอและปากบ้าง  มะลิดีใจจนร้องให้ ทำให้เราผู้ดูแลน้ำตาซึมไปด้วย  น้ำตาแต่ละครั้งเริ่มเปลี่ยนจากน้ำตาแห่งความซึมเศร้า หมดอาลัยในชีวิต เป็นน้ำตาจากความดีใจและภาคภูมิใจ   

เราก็จะพูดให้สามีเข้าใจปัญหาของมะลิและเริ่มหาเวลามาดูแลช่วงก่อนไปทำงาน  จะมาประมาณ 06.00 น. ของทุกวัน และหลังเลิกงานประมาณ 18.00 น. ของทุกวัน  แล้ววันนั้นในเวรดึก  มะลิก็ดึงท่อที่เจาะคอเอง  พวกเราตกใจและพยาบาลเองเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอาการอะไรหรือเปล่า    มะลิสามารถหายใจเองได้   เมื่อมั่นใจว่าไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน เราก็ถอนหายใจด้วยความโล่งอกและยินดี  และแล้วมะลิก็พูดได้แม้จะช้าบ้างก็ตาม  ทั้งมะลิและสามีพร้อมกับลูกดีใจมากๆ  เราได้เห็นรอยยิ้มแห่งความอบอุ่นและแววตาที่บอกเราว่าขอบคุณ  จนเราอดคิดไม่ได้ว่าแม้เพียงรอยยิ้มกับแววตาที่สื่อมา  สามารถบอกอะไรแทนคำพูดได้ดีจริงๆ  

 ต่อมามีคำถามในทีมตลอดว่า “ทำไมน้ำตาลในเลือดของมะลิสูงอยู่อีก ทั้งๆ ที่เราพยายามให้ยา  ควบคุมอาหาร”  จนเราสืบค้นได้ว่าเตียงข้างๆ ทั้งผู้ป่วยและญาติ สงสารพยายามให้อาหารบ้าง ขนมบ้าง  ระหว่างมื้อ  ทำให้เราต้องบอกผู้ป่วยและญาติเตียงข้างเคียงว่าไม่ให้ขนมและอาหารกับมะลิระหว่างมื้อโดยเฉพาะของหวาน เพราะเราพยายามควบคุมอาหารให้มะลิ ไม่เช่นนั้นมะลิก็จะไม่หาย อาจเป็นมากกว่าเดิม   ญาติเตียงข้างเคียงมาไม่ซ้ำกันทำให้บางคนไม่เข้าใจ ยังให้ขนมมะลิอีก มะลิก็กินทุกครั้ง จนพยาบาลต้องเขียนป้ายว่า ห้ามให้อาหารหรือของกิน เนื่องจากผู้ป่วยต้องควบคุมอาหาร  ได้ผลทุกคนเข้าใจ  เราสังเกตว่าน้ำตาลมะลิจะสูงมากช่วงบ่ายและเย็น ทำให้แพทย์ต้องปรึกษาเภสัชกรขอปรับยาเบาหวานที่กินมื้อเช้ามาเป็นมื้อเที่ยงแทนซึ่งได้ผลชัดเจนและควบคุมน้ำตาลได้    

เรื่องต่อมาที่เราต้องดูแลและใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก คือต้องฝึกให้มะลิมีกำลังกล้ามเนื้อที่ดูจะลีบเอามากๆ   ทั้งที่โรงพยาบาลนาหม่อมเป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ เราไม่มีเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด แต่เราพร้อมสวมวิญาณเป็นนักกายภาพบำบัดแบบมือสมัครเล่น  โดยเราคิดว่าจะให้มะลิพยายามตักอาหารเข้าปากตัวเองให้ได้  พยาบาลหัวหน้าตึกก็ไปซื้อลูกบอลแบบยางมาให้มะลิฝึกกำและคลายทุกวัน วันละหลายครั้ง ครั้งละ 15 นาที และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ฝึกส่งลูกบอลยางสลับมือกันบ้าง   เรารอคอยอย่างมีความหวัง เพราะทั้งสามีและลูกก็ช่วยกันฝึกให้มะลิอย่างต่อเนื่อง  และวันหนึ่งมะลิก็พยายามที่จะใช้มือตักอาหารได้บ้าง 2-3 คำ แม้ยังสั่นอยู่มาก  เราก็ให้กำลังใจว่า  มะลิมีความพยายามพูดก็พูดได้แล้ว ส่วนเรื่องตักอาหารเราเชื่อว่ามะลิต้องทำได้  ดูสิ ทั้งสามีและลูกคอยลุ้นอยู่นะ  ต่อมาเราก็พยายามทำถุงทรายถุงละครึ่งกิโล 2 ถุง โดยเอาเชือกมาผูก แล้วให้มะลิถือเชือกยกขึ้นลงทุกวัน  จนกระทั่งมะลิสามารถตักอาหารเองได้หมดถาดทุกวัน  ต่อมาเราก็ฝึกให้มะลิลุกนั่งโดยการประคอง  ต่อมาสอนวิธีให้มะลิสามารถลุกเองได้แม้จะไม่มั่นคง โดยเราก็คอยประคองและให้กำลังใจ สอนวิธีการปฏิบัติทุกๆวัน  ภาพที่เราเห็นทุกครั้งที่มาดูแลมะลิ มะลิจะยกมือไหว้ สวัสดีและขอบคุณพวกเราทุกครั้ง  บางครั้งวันละ 5-6 รอบ จนบางครั้งเราก็ยิ้มๆ ขำๆ ไปด้วย ก็มันทำให้เราชื่นใจไปด้วย คงพยายามโชว์เสียงที่พูดได้ชัดเจนแล้ว

เรื่องที่คิดว่าหนักที่สุดคือการฝึกเดิน เรานำถุงทราย 1 กิโลมาผูกเชือกแล้วให้มะลิใช้เท้าและขายกเชือกที่ผูกถุงทรายขึ้นลงทุกวันๆ  ขณะนี้มะลิก็เป็นมะลิที่ใครๆ ก็รู้จักกันไปทั่วในทีมผู้รักษา  ขั้นต่อมาเราประคองให้มะลินั่งรถเข็นไปชมสวนนอกตึกบ้าง  ต่อมาให้สามีและลูกมาช่วยพยุง มารับมะลินั่งรถเข็นออกไปดูทิวทัศน์นอกตึกผู้ป่วยในบ้าง   ช่วงเวลานี้เราไม่เห็นความเศร้าหมองของมะลิอีกเลย  เราเห็นแต่รอยยิ้มและเสียงทักทาย  และภาพที่เราเห็นจนติดตาคือภาพที่สามีและลูกชายช่วยกันเข็นรถเข็นให้มะลิออกมาชมทิวทัศน์ทุกเย็นหลัง 6 โมงเย็นและทุกเช้าเวลาประมาณ 06.00 น. แล้วสามีต้องไปทำงานรับจ้างที่โรงงาน ส่วนลูกต้องไปเรียน จะเป็นอย่างนี้ไปทุกๆวัน  จนเราเห็นภาพครอบครัวที่อิ่มอุ่น   แม้ลำบากเท่าใดก็ต่อสู้และดูแลไม่ทอดทิ้ง มีกำลังใจที่ดีให้กันและกัน  สามีและลูกดูแลมะลิอย่างดีเยี่ยมอย่างที่เราฝึกและให้ความรู้ความเข้าใจจนเราต้องชมจากใจจริง  เป็นครอบครัวที่น่าประทับใจมากๆ    เรามักจะพูดกันในทีมว่าแม้มะลิจะโชคร้ายที่เป็นแบบนี้แต่มะลิโชคดีที่มีครอบครัวที่อบอุ่น มีสามีที่ดีและลูกชายที่น่ารัก   

เมื่อมาถึงเวลาที่มะลิต้องเริ่มฝึกเดินและทรงตัวเมื่อเราเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อขาและแขนมาพอสมควร โดยเริ่มฝึกยืนเองโดยมีคนประคองและให้เกาะยึด  มีคนช่วยประคอง 2 คน จนกระทั่งมีคนประคองเพียง 1 คน มะลิก็สามารถทรงตัวได้และสามารถนั่งบริหารกล้ามเนื้อขาได้มั่นคงขึ้น  ถึงบทเรียนที่หนักคือพยายามก้าวขาเดิน  เราก็ลุ้นกันตัวโก่งเหมือนฝึกหัดเด็กที่เพิ่งตั้งไข่และฝึกเดิน  จนกระทั่งสามารถใช้ walker ได้เองโดยมีพวกเราคอยเดินเคียงข้างระวังหลังหากเกิดอาการเซหรือป้องกันการล้ม  ระหว่างนั้นเราก็พามะลิมาลองเดินกะลา  “กะลานวดเท้า” ซึ่งเป็นนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงของงานแพทย์แผนไทย สามารถนวดฝ่าเท้าคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งหรือมีอาการชาได้  ทุกวันเราก็จะเห็นสามีประคองมะลิเดินกะลานวดเท้าทุกเช้าและเย็น ก่อนและหลังทำงาน  เวลากลางวันพยาบาลก็พามาเดินไปมาบ้าง เดินกะลาบ้าง ประมาณ 1 เดือน  นับวันความสัมพันธ์ครอบครัวมะลิและทีมดูแลกระชับมากขึ้น มะลิมักจะเรียกทีมที่มาร่วมดูแลว่า “คุณครู”  พอเจอหน้าใครที่เป็นทีมการดูแลรักษาพยาบาล   มะลิจะทักทายว่า “สวัสดีค่ะ คุณครู”  พวกเราก็มักจะบอกว่า  “คุณหมอกับพยาบาล  ไม่ใช่คุณครู”  แม้จะบอกซักกี่ครั้ง มะลิก็ยังเรียกพวกเราว่า คุณครู ทุกครั้งไป   จนพวกเราในทีมกลายเป็น “คุณครู ” ของมะลิไปทุกคน

          และแล้ววันที่มะลิต้องคืนสู่เหย้า  ทีมแพทย์ พยาบาลในหอผู้ป่วย และพยาบาลแพทย์แผนไทยที่ดูแลเรื่อง Home Health Care (HHC) วางแผนการจำหน่าย  ก่อนจำหน่ายเป็นธรรมเนียมที่ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลนานๆ หรือมีภาวะแทรกซ้อนหรือผู้ที่ต้องได้รับการดูแลที่ดีเป็นพิเศษ เราทั้งทีมไปเยี่ยมบ้านก่อนจำหน่ายผู้ป่วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับสมาชิกที่จะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านอย่างเหมาะสมที่สุด  บ้านของมะลิเป็นบ้านลักษณะคล้ายกระท่อมหลังเล็กๆ ยกพื้น ฝาบ้านทำจากไม้ไผ่  หลังคามุงจาก มีบันไดขึ้นบ้าน 4 ขั้น ภายในบ้านแบ่งเป็น 2 ฟาก  ส่วนหนึ่งเป็นที่นอนและเก็บเสื้อผ้า   อีกส่วนเป็นครัวเล็กๆ สำหรับทำกับข้าว อยู่ด้วยกัน 3 คน มะลิ สามีและลูกชาย  ห้องน้ำห้องส้วมอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 100 เมตร  รอบๆ บ้านมีหญ้าขึ้นค่อนข้างรก  จนกระทั่งพนักงานขับรถพูดว่า “พี่ๆ เรามาช่วยกันตัดหญ้าให้มะลิหน่อยดีมั๊ย บ้านจะได้น่าอยู่มากขึ้น”  เราเองฟังแล้วรู้สึกชื่นใจที่น้องมีความคิดที่ดีที่อยากจะช่วย  แต่เราก็ได้พูดคุยกับสามีมะลิให้ช่วยกันจัดสภาพบ้านให้สะอาดและเป็นระเบียบมากขึ้น พร้อมทั้งการตัดหญ้าดูแลสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน  ซึ่งสามีมะลิก็รับปากกับทีมเราจะจัดสิ่งแวดล้อมตามที่แนะนำ   อีก 2 วัน มะลิก็ได้จำหน่ายกลับบ้านด้วยสีหน้าแววตาสดชื่น  พร้อมหน้าพร้อมตาครอบครัว บอกลา “ คุณครู ” ทุกคน   พวกเราก็ไปส่งถึงบ้านเลยทีเดียว  ก่อนกลับก็ร่ำลากันอยู่นาน

มีการติดตามเยี่ยมบ้านต่อเนื่อง  ครั้งแรกในการเยี่ยมบ้านมะลิ สภาพบ้านวันนี้สะอาดและเป็นระเบียบ ไม่มีหญ้ารกเหมือนวันเก่า  เมื่อเราไปถึงบ้านเรียกทักทายมะลิ มะลิดีใจมากยิ้มและแสดงแววตาที่ดีใจสุดๆ จนเราอดหัวเราะไม่ได้  คำแรกที่มะลิทักทายแบบตะโกนดังลั่นว่า “ดีใจจังที่คุณครูมาเยี่ยม”   ตอนนั้นมะลิอยู่บ้านคนเดียว  ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ทำกิจวัตรประจำวันได้บางส่วน  มะลิบอกว่า  กลางวันลูกจะไปเรียน ส่วนสามีไปทำงานรับจ้างที่โรงงาน  มะลิอยู่บ้านช่วยเหลือตนเองได้บ้าง โดยสามีจะเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้มะลิหยิบใช้ได้สะดวกใกล้ๆ ตัว เตรียมอาหารไว้ให้ใกล้ตัว 

เราถามมะลิว่าอยู่บ้านคนเดียวเป็นอย่างไรบ้าง มะลิบอกเราว่า “อยู่ได้ค่ะคุณครู  ตอนเย็นแฟนหนูก็จะกลับมาค่ะ”  เราก็พูดคุยเรื่องความเป็นอยู่  มะลิก็บอกว่า “ดีเพราะสามีก็ดูแลเอาใจใส่ดี  ช่วยหนูฝึกหัดเดินทุกวัน”   แรกๆ ให้เดินกับเครื่องช่วยเดิน 4 ขา  และพยาบาลแนะนำกะลาแบบที่เคยเดินที่โรงพยาบาลวางเรียงที่พื้นและใช้มือจับที่ฝาบ้าน จนกระทั่งมะลิเดินได้คล่องขึ้น  พวกเราก็ตามมาดูแลการรับประทานยาของมะลิ ซึ่งมะลิก็ปฏิบัติได้ถูกต้อง  ได้ย้ำเรื่องการระมัดระวังการหกล้มเพราะต้องขึ้นลงบันได การปฏิบัติตัวถูกต้อง ทุกวันก็ฝึกการบริหารกล้ามเนื้อ  เมื่อเราเห็นแววตาที่สดใส สีหน้าแห่งความดีใจ ตื้นตันใจ เป็นภาพที่พวกเราจำฝังใจก็เป็นมีความสุขที่ยาวนาน มันเกิดขึ้นในใจเรา   

เราได้ถามเพื่อนบ้านมะลิถึงความเป็นอยู่ของมะลิ  ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสามีเอาใจใส่ดีมาก ทุกวันก่อนไปทำงานและหลังจากทำงาน จะมาช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ  ฝึกเดิน จนกระทั่งช่วยเหลือดูแลการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่เอื้อให้มะลิสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุดและสะดวกที่สุด    เป็นน้ำทิพย์ที่ช่วยหล่อเลี้ยงชโลมใจให้มะลิมีความอดทนและพยายามชนะโรคภัยไข้เจ็บ  และเราก็ไปเยี่ยมบ้านมะลิเป็นระยะๆ ตามแผน  มะลิดูดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่เราก็ยังเป็น “คุณครู” ทุกลมหายใจของมะลิ   และวันที่หมอนัดมะลิมาดูอาการและเจาะน้ำตาลในเลือด เป็นภาพที่เราเห็นประจำคือสามีประคองมะลิเดินและนั่งรถเข็นรอหมอตรวจ  หมอและทุกคนร้องทักทายมะลิ คำที่มะลิทักทายกลับมาคือ “คุณครูคะหนูดีขึ้นมากเลย”  สามีก็บอกอาการว่าเริ่มเดินได้ดีแล้ว  ซึ่งสามีมะลิทำราวให้มะลิเดินกะลาคล้ายแบบโรงพยาบาล  และระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเป็นที่พอใจต่อผู้รักษา  มะลิในวันนั้นที่เราเจอเป็นดอกมะลิที่เบ่งบานและสดชื่นพร้อมรับวันใหม่ในวันนี้และยังคงเบ่งบานในใจเราตลอดไป                                                  

เป็นความรู้สึกที่ยากจะบอกใครได้ว่า สิ่งที่พวกเราได้ทำให้ใครคนหนึ่งที่คิดว่าชีวิตนี้หมดความหมาย หมดคุณค่า ท้อแท้ทั้งตนเอง ผู้ที่รักและผู้ที่อยู่รอบข้าง  ถ้าเพียงแต่เราใส่ใจ ให้ใจ การดูแลศึกษาชีวิตผู้นั้นให้ลึกซึ้ง  เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีในตำราหรือในพจนานุกรมใดๆ  คุณค่าที่เราได้คือความอิ่มเอมใจ คือความสุข  และทำให้เกิดการท้าทายที่จะให้ผู้ป่วยทุกราย ครอบครัว และญาติ  ปลอดภัยที่สุดและสามารถกลับไปใช้ชีวิตที่มีคุณค่าต่อไป   เราคิดว่าอาชีพอย่างเราช่างโชคดี โชคดีที่ได้ช่วยเหลือ โชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่ดี โชคดีที่ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า โชคดีที่เราได้เป็น “คุณครู”

           

หมายเหตุ

โรงพยาบาลนาหม่อม จ.สงขลา เป็นโรงพยาบาล 1 ใน 15 แห่ง ที่ได้รับ Humanized Healthcare Award จาก ศ.นพ.ประเวศ วะสี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 ในการประชุม HA National Forum ครั้งที่ 9

คณะกรรมการพิจารณาซึ่งไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลมีความประทับใจในทีมงานของโรงพยาบาลอย่างมาก

ผลงานชิ้นสุดท้ายที่คุณหมอสุธาทิพย์ได้ทิ้งไว้พวกเราในระบบบริการสุขภาพเป็นที่ระลึก คือภาพวิดีทัศน์ประกอบคำบรรยายโดยคุณหมอเอง ในชื่อเรื่อง "ดอกมะลิ... เบ่งบานในใจเราเสมอ"  ซึ่ง พรพ.ได้นำขึ้นฉายก่อนที่จะมีการมอบรางวัล Humanized Healthcare Award

ขอให้คุณหมอจงสถิตย์อยู่ในแดนอันเป็นสุขชั่วนิรันดร์ 

ขอให้เรื่องเล่านี้เป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเราในระบบบริการสุขภาพที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่เพื่อนร่วมชาติ

หมายเลขบันทึก: 171826เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2008 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 03:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอยกย่องและชื่นชมทีม "คุณครู" ที่ทำให้มะลิได้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง...หลังจากเกิดวิกฤติจากโรคร้าย....

ขอยกย่องและชื่นชมอีกครั้ง....สำหรับทีมบริการสุขภาพที่มีบริการด้วยใจ....จริงๆ....

ขอให้คุณหมอจงสถิตย์อยู่ในแดนอันเป็นสุขชั่วนิรันดร์ 

ขอให้เรื่องเล่านี้เป็นแรงบันดาลใจแกทีมงานในระบบบริการสุขภาพที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่เพื่อนร่วมชาติ

ด้วยคนค่ะ

ขอยกย่องและชื่นชมทีม "คุณครู" ที่ทำให้มะลิได้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง...หลังจากเกิดวิกฤติจากโรคร้าย....

ขอยกย่องและชื่นชมอีกครั้ง....สำหรับทีมบริการสุขภาพที่มีบริการด้วยใจ....จริงๆ....

ขอให้คุณหมอจงสถิตย์อยู่ในแดนอันเป็นสุขชั่วนิรันดร์ 

ขอให้เรื่องเล่านี้เป็นแรงบันดาลใจแกทีมงานในระบบบริการสุขภาพที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่เพื่อนร่วมชาติ

ด้วยคนค่ะ

ขอร่วมไว้อาลัย ชื่นชมในความสำเร็จ และ เป็นกำลังใจให้ชาวรพ.นาหม่อมสืบสานงาน humanized health care สืบต่อไปคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท