ห้องจินตนาการ (สำหรับวัยรุ่น)


พัฒนาการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ

ขออภัยที่หายจากการแลกเปลี่ยนบน  Web  ไปเสียนาน  เนื่องจากไปทำวิจัย  เรื่อง  การพัฒนาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ห้องจินตนาการ  (สำหรับวัยรุ่น)  เป็นเวลาเกือบ  1  ปี  ซึ่งขณะนี้ได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว  จึงได้นำบทคัดย่อขึ้นมาเพื่อร่วมกันชี้แนะนะคะ

บทคัดย่อ

ชื่องานวิจัย            :           รายงานการพัฒนาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ห้องจินตนาการ (สำหรับวัยรุ่น)

ชื่อผู้วิจัย                 :              นางเฉลิมลักษณ์  เต็มภาชนะ

                การวิจัยครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ห้องจินตนาการ  (สำหรับวัยรุ่น)  และพัฒนาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ห้องจินตนาการ  (สำหรับวัยรุ่น)  ทั้งด้านกายภาพ  ด้านการบริการ  และด้านการจัดกิจกรรม  กลุ่มตัวอย่าง  ได้แก่  ผู้ใช้บริการห้องสมุดประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่มีอายุ  13  -  25  ปี  ผู้นำเยาวชนที่เป็นตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช   และผู้ใช้บริการห้องจินตนาการ   เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่  แบบสังเกต  แบบสัมภาษณ์  ประเด็นหัวข้อเรื่องในการจัดประชุมสัมมนา  และจัดกลุ่มชวนคิด  ชวนคุย  เทปบันทึกเสียง  เอกสาร  และกล้องดิจิตอล  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS/PC+ เพื่อหาค่าร้อยละ  (Percentage)  ค่าเฉลี่ย (Mean)  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)  การแจกแจงความถี่  และการเขียนบรรยายความเชิงพรรณนา  เมื่อได้แนวทางในการพัฒนาแล้วนำมาจัดทำโครงการพัฒนาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ห้องจินตนาการ (สำหรับวัยรุ่น)  ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ  และประเมินผลการพัฒนา โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน  4  ขั้นตอน  คือ  1)  ศึกษาบริบทของห้องจินตนาการ  โดยการศึกษาจากเอกสาร  และจากสภาพจริง 2)  สำรวจความต้องการของผู้ใช้บริการ  โดยการสัมภาษณ์ผู้ใช้บริการ  จำนวน  50  คน  จัดประชุมสัมมนาผู้นำเยาวชนที่เป็นตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช  จำนวน  10  คน  จัดกลุ่มชวนคิด  ชวนคุย      ผู้ใช้บริการห้องจินตนาการ จำนวน  10  คน  เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาห้องจินตนาการ  3  ด้าน  คือ  ด้านกายภาพ ด้านการบริการ  และด้านการจัดกิจกรรม 3)  ดำเนินโครงการพัฒนาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ห้องจินตนาการ  (สำหรับวัยรุ่น)   ทั้ง  3  ด้าน   ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ  4)  ประเมินผลการพัฒนาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ด้านอัตราเพิ่มของผู้เข้าใช้บริการจากสมุดทะเบียนสถิติผู้เข้าใช้บริการห้องจินตนาการ  ด้านคุณลักษณะของผู้เข้าใช้บริการ  จากการสังเกต  และสัมภาษณ์พูดคุยแบบไม่เป็นทางการ  และด้านความพึงพอใจของผู้ใช้บริการห้องจินตนาการ  จากแบบประเมินความพึงพอใจ  จำนวน  75  คน

ผลการศึกษา  พบว่า 

               1.  การศึกษาบริบทของห้องจินตนาการ  (สำหรับวัยรุ่น)  ด้านกายภาพ  พบว่า  ห้องจินตนาการมีขนาด  5 x 8  เมตร  บรรยากาศค่อนข้างมืดทึบ  อากาศร้อนอบอ้าว  สีเก่าไม่สดใส      ครุภัณฑ์เก่าไม่เหมาะสม  ด้านการบริการ  พบว่า  มีสื่อน้อยไม่หลากหลาย  และไม่เพียงพอกับความต้องการ  ด้านการจัดกิจกรรม  พบว่า  มีการจัดกิจกรรมเป็นครั้งคราว  ยังไม่มีแผนการจัดที่แน่นอน  ส่วนในด้านบริบทของผู้ใช้บริการ  พบว่า  ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง  อยู่ในช่วงอายุ  13  -  25  ปี  ใช้บริการในการนั่งทำการบ้าน  อ่านหนังสือ  และทำโครงงาน

  2.  การสำรวจความต้องการของผู้ใช้บริการ  ด้านกายภาพ  พบว่า  ควรจัดบรรยากาศให้มีสีสันสดใสสวยงาม  มีชีวิตชีวา  มีการจัดสวนหย่อม  ประดับภาพฝาผนัง  จัดที่นั่งอ่านให้สบาย  และจัดสัดส่วนในการให้บริการอย่างชัดเจน  ด้านบริการ  พบว่า  ควรจัดบริการสื่อทุกประเภทให้ทันสมัย  หลากหลาย  และเพียงพอกับความต้องการ  และด้านการจัดกิจกรรม  พบว่า  ควรจัดกิจกรรมความรู้ด้านเพศศึกษา  ยาเสพติด  การประกวดวาดภาพ  เล่นเกมแจกรางวัล  ให้รางวัลยอดนักอ่าน  ให้ความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม

  3.  การดำเนินโครงการพัฒนาการเรียนรู้ ตามอัธยาศัย  ห้องจินตนาการ  (สำหรับวัยรุ่น)    การพัฒนาด้านกายภาพ  พบว่า  มีสีสันสดใสสวยงาม  ร่มรื่นมีชีวิตชีวา  จัดสวนหย่อม  ประดับตกแต่งฝาผนังด้วยภาพ  ปูพื้นห้องด้วยพรมน้ำมัน  เพิ่มแสงสว่าง  เพิ่มพัดลมให้มีอากาศถ่ายเทดีขึ้น  จัดครุภัณฑ์ให้มีขนาดกะทัดรัด  สีสันสวยงาม  จัดที่นั่งอ่านให้สบาย  และรู้สึกอบอุ่นสะดวกสบายเหมือนนั่งอยู่ในบ้านของตนเอง  การพัฒนาด้านการบริการ  พบว่า  มีสื่อเพิ่มขึ้น  มีความความหลากหลาย  ทันสมัยและเพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ  แบ่งพื้นที่การบริการเป็น  4  ส่วน คือ ส่วนสาระเรียนรู้  ส่วนบริการวารสารและบันเทิง  ส่วนบริการดูหนังฟังเพลง  ส่วนบริการคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง  และการพัฒนาด้านการจัดกิจกรรม  พบว่า  จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน  จัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  จัดกิจกรรมส่งเสริมจินตนาการและความคิดในเชิงสร้างสรรค์  และจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิต   

4.  ผลการประเมิน  ด้านอัตราการเพิ่มของผู้ใช้บริการ  พบว่า  มีผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวน  645  คน  คิดเป็นร้อยละ  86  ค่าเฉลี่ยด้านความพึงพอในภาพรวม  พบว่า  อยู่ในระดับมาก  ( = 4.03)  เมื่อพิจารณาในรายด้าน  พบว่ามีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก  โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้  ด้านการจัดกิจกรรม  ( = 4.07)  ด้านกายภาพ  ( = 4.04)  และด้านการบริการ  ( = 3.99)  ตามลำดับ  ส่วนด้านคุณลักษณะของผู้ใช้บริการ  พบว่า  ผู้ใช้บริการมีคุณลักษณะเป็นคนดี  ปฏิบัติตามกฎระเบียบของห้อง  เป็นคนมีความสามารถมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ  และเป็นคนมีสุข  ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 171748เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2008 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท