หกมีดหมอประเวศสะบั้นกรอบกู้วิกฤติ


การแยกส่วนทำให้ไม่มีชีวิต เหมือนเราชำแหละวัวออกเป็นชิ้นๆ ทำให้วัวตาย ดังนั้น การพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงกัน เราต้องเชื่อมต่อให้มีชีวิต อย่างพระไตรปิฎกก็เป็นการคิดแบบเชื่อมโยง คิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ใช่เรื่องตายตัว

บทความโดย ศ.นพ.ประเวศ  วะสี
จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปีที่ 59 ฉบับที่ 18274 วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หน้า 5

         ความตายของเพื่อนมนุษย์ ระบบการบริการสุขภาพต้องมีความเป็นพิเศษที่จะเป็นการค้าไม่ได้ ขาดความเป็นธรรมไม่ได้และขาดหัวใจของความเป็นมนุษย์ไม่ได้ ...
 
         ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เน้นให้เห็นถึงหัวใจบริการสุขภาพของบุคลากรทางสาธารณสุข ในการประชุมวิชาการเรื่อง ระดมพลังสร้างระบบสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ให้เต็มทุกอำเภอ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

         เสียงเน้นย้ำนั้น อยู่ท่ามกลางพยาบาล และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เดินทางมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551

         อาจารย์เปิดปาฐกถา ด้วยการชี้ให้เห็นวิกฤติของประเทศไทย 5 อย่างคือ วิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมือง วิกฤติสิ่งแวดล้อม วิกฤติทางสังคม และวิกฤติความล้มเหลวในกลไกของรัฐ

         วิกฤติทั้ง 5 แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่อาจารย์บอกว่า แก้ไม่ได้แล้วถ้าจะแก้ไขก็ต้องลงลึกเข้าไปถึงจิตใจผู้คน

         วิกฤติที่แก้ได้ ถ้าจะมีก็แต่ด้านสุขภาพ สิ่งนี้ล้มเหลวไม่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับทุกคน

         นอกจากล้มเหลวไม่ได้แล้ว อาจารย์ยังตั้งความหวังว่า อยากเห็นระบบสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ทั่วประเทศ  และบอกว่าพลังของมนุษย์แท้จริงมีมากมาย เพราะเหตุใด มนุษย์จึงไม่เผยพลังออกมาแสดงว่ามีกำแพงที่มองไม่เห็นอยู่ใช่หรือไม่ แล้วเราจะทำลายมันได้อย่างไร ก่อนรู้แนวทางทำลาย รู้จักตัวที่มาสกัดกั้นพลังของมนุษย์เสียก่อน ซึ่งก็คือโครงสร้างทางอำนาจด้านการเมือง ระบบราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา

         เพื่อให้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไป อาจารย์แนะว่า เราต้องตัดอคติจากตัวตน มองโลกตามความเป็นจริง รวมกลุ่มพบปะพูดคุยกัน หาทางออกให้กับปัญหาร่วมกัน แม้จะเป็นคนละหน่วยงานก็ตาม

         การรวมกลุ่มอาจเป็นเครือข่าย

        
สังคมไทยเรามีชุมชนกว่า 7,000 ชุมชน 70,000 หมู่บ้าน ถ้าจะสนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหวในการสร้างสุขภาพชุมชนให้เดินหน้าเต็มที่สร้างหัวใจของความเป็นมนุษย์ได้เต็มพื้นที่ และสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น

         ถ้าเราสามารถร่วมมือกันผลักดันได้ ก็จะมีเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมาย

        วิธีการทำลายกำแพงตัวสกัดกั้นพลังมนุษย์ 6 ประการ ซึ่งเสมือนคมมีด 6 คม เพื่อใช้สะบั้นกรอบความคิดเดิม ๆ เพื่อกู้วิกฤติ

         ประการแรกคือ วิธีคิด
        
โลกเราต้องการวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้าคิดแบบเดิมมนุษยชาติจะไม่รอด    
        
ความที่ยกมาเป็นแนวคิดของ โรเบิร์ต ไอสไตน์ อาจารย์บอกว่าปัจจุบันมนุษย์เรามักคิดแบบแยกส่วน เรื่องเศรษฐกิจก็คิดเอาเงินเป็นตัวตั้งเรื่องสุขภาพ ก็เอาโรคมาเป็นตัวตั้ง การศึกษา ก็เอาวิชาการมาเป็นตัวตั้งแล้วยังแยกเอาวิชาการออกจากชีวิตอีกด้วย

         การคิดแบบแยกส่วน ทำให้ก้าวไปสู่ทางตัน ทำให้โลกวิกฤติ เพราะเมื่อมองอะไรแบบแยกส่วน ก็จะเห็นเป็นส่วน ๆ ไม่เห็นภาพรวม เห็นได้จากระบบการศึกษา ที่แยกเป็นคณะ เป็นส่วน ๆ ไป ด้วยเหตุนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยทำนโยบายสาธารณะไม่เป็น

         การแยกส่วนทำให้ไม่มีชีวิต เหมือนเราชำแหละวัวออกเป็นชิ้น ๆ ทำให้วัวตาย ดังนั้น การพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงกัน เราต้องเชื่อมต่อให้มีชีวิต อย่างพระไตรปิฎกก็เป็นการคิดแบบเชื่อมโยงคิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ใช่เรื่องตายตัว

         ประการที่ 2 การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน
         สังคมไทยเราไม่ใช่สังคมให้เกียรติคนยากจน ทั้งที่แท้จริงเรื่องนี้เป็นศีลธรรมขั้นพื้นฐาน เรามักนับถือกันที่ยศถาบรรดาศักดิ์ ในระบบสุขภาพ แพทย์ก็คิดว่าตนเองมีศักดิ์ศรีสูงกว่าคนไข้ จึงไม่ฟังคนไข้ ไม่อธิบายคนไข้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว การสื่อสารมันไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่มันเป็นเรื่องของศีล
ธรรม
         “คนไข้ถ้าเจอสายตาเป็นมิตรของหมอก็จะได้กำลังใจ หายไข้ได้ง่ายขึ้นแต่ถ้าโดนตวาด การรักษาก็จะยากขึ้น”

         ประการที่ 3 การเคารพความรู้ในตัวตน
         “เรามักเคารพแต่ความรู้ในตำรา จริง ๆ ความรู้ในตัวตนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความรู้จากตำราเป็นเรื่องที่มีฐานมาจากวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ในตัวตนมาจากความชำนาญของแต่ละคน ดังนั้น การใช้ความรู้ที่มาจากฐานทางวิทยาศาสตร์ จะต้องเอาความรู้ในตัวตนไปประกอบด้วยจะทำให้เกิดคุณค่ามากขึ้น”

         ประการที่ 4 การสร้างเจดีย์จากฐาน
         การทำงานใด ๆ ถ้าเราพัฒนาจากฐานที่มั่นคง การงานของเราก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้ แต่เรามักจะทำกันที่ยอด ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เรามักทิ้งรากฐาน ทอดทิ้งท้องถิ่นไป เท่ากับเราทำลายรากฐาน แล้วยังเอาเงินของฐานไปให้กับคนส่วนน้อยอีก บ้านเมืองจึงวุ่นวายไปหมด
ตัวอย่างคือ “มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีไหมที่มองชุมชนท้องถิ่นถ้ามหาวิทยาลัยสนใจชุมชนจริง ๆ ชุมชนก็จะเข้มแข็ง บ้านเมืองก็จะไม่เกิดปัญหา”

         ประการที่ 5 การใช้ใจ นำความรู้ตาม
         เรามักให้ความรู้นำ แล้วเอาใจตาม เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดทั้งโลก เพราะความรู้จะต้องซอย ต้องแยกว่า รู้อะไร สาขาอะไร แยกย่อยไปหมด ความรู้รวมกันไม่ได้ แต่ถ้าเราเอาใจนำ เราจะร่วมกันได้ เพราะเรามีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์อยู่แล้ว

         ถ้าเราเอาใจนำได้ เราก็จะสามารถดึงเอาความรู้มาช่วยเพื่อนมนุษย์เราจะกระตือรือร้น ขวนขวายหาความรู้ ทำให้เราพัฒนาศักยภาพของตนขึ้นมาได้ อย่างที่โรงพยาบาลราชบุรี เขามีความกระตือรือร้น เพื่อพัฒนาตนเองได้ดี
         “ถ้ามัวแต่แยกกันว่า พยาบาลด้านนั้น พยาบาลด้านนี้ ก็จะไม่เกิดพลัง แต่ถ้ารวมกันเป็นพยาบาลไทยใจเพื่อเพื่อนมนุษย์หรือพยาบาลไทยหัวให้พระโพธิสัตว์ล่ะ”

         ประการที่ 6 ความเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ
         เรามักใช้ความเป็นทางการมากำหนดการทำงาน แล้วเราก็ไม่สามารถจัดการได้อย่างเป็นธรรม จริง ๆ แล้วความไม่เป็นทางการ ใหญ่กว่าความเป็นทางการ แต่เราก็คิดว่ามันไม่ถูกต้อง อย่างการพูดคุยก็ต้องเป็นทางการ
         “เอาเข้าจริง เราพูดกันเวลากินข้าว เวลาเข้าห้องน้ำ เราก็ได้อะไรที่มีคุณค่ามากมาย เพราะมันเป็นวิถีธรรมชาติของมนุษย์”

         อาจารย์เน้นว่า “ถ้าเรารู้เท่าทันตัวเรา เราก็จะรู้ว่าความไม่เป็นทางการนั้นมีคุณค่า และมาก่อนความเป็นทางการ อย่างเราจะทำความดีเราไม่จำเป็นต้องไปขออนุมัติจากใคร ทีคนทำความชั่วยังไม่เห็นจะต้องขออนุมัติจากใครเลย”

         ถ้าเราหลุดจากกรอบเหล่านี้ได้ เราก็จะพบศักยภาพในตัวเรามากมาย เพื่อนำมาสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามต่อไป

         วิบูลย์  วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 171462เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2008 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • อาจารย์ครับ
  • มีหนังสือชื่อ พุทธธรรมกับสังคม
  • ของสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • ท่านอาจารย์หมอ ประเวศ วะสีเขียน
  • คาดว่าได้ข้อมูลครับ ทุกบริบทครับ
  • ขอบคุณครับ
  • เรื่องดีๆ ก็ต้องช่วยกันเผยแพร่ครับ
  • ผมไปคุยกับใคร หรือสอนนิสิต..ผมก็จะให้แนวทางแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ ๕ อย่าง ว่าจะต้องเริ่มจากตัวเรา ตามแนวคิดของท่านอาจารย์หมอประเวศ...
  • ผมเขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว ที่นี่ http://gotoknow.org/blog/beesman/163242

ขอบคุณทั้งท่าน อ.วิบูลย์ อ.ขจิต และ อ. Beeman มากนะคะ เรื่องที่ อ. หมอประเวศท่านพูด แม้จะฟังซ้ำกี่ครั้ง ดิฉัน ก็ชอบฟัง ชอบอ่านอยูดี ไม่เคยเบื่อ และเพื่อเตือนใจตนบ่อยๆ

    แวะมาเอาสาระเข้าสมองเจ้าค่ะ สุขสันต์วันสงกรานต์เจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท