การคิดเชิงกลยุทธ์


การคิดเชิงกลยุทธ์

ความหมายของกลยุทธ์

                กลยุทธ์ มีความหมายเหมือนคำว่ายุทธศาสตร์ เดิมใช้ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับการรบ  มาจากภาษาอังกฤษว่า  strategy  ใช้ครั้งแรกในวงการทหารและการทำสงคราม  หมายถึง  ศิลปะในการวางแผนยุทธศาสตร์และการบัญชาการรบเพื่อเอาชนะศัตรู มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ว่า    stratēgia  หมายถึง  การบัญชาการกองทัพด้วยจุดหมายต้องการพิชิตศัตรู

                การใช้คำทั้งสองคำนี้ในภาษาไทยอาจใช้สลับกันไปบ้าง  แต่ให้เข้าใจไว้ร่วมกันว่า  กลยุทธ์และยุทธศาสตร์มีความหมายเหมือนกัน             คือถ้าหากเราพูดถึงแผนการรบ           เราจะใช้คำว่า

 แผนยุทธศาสตร์  ต่อมามีการนำการวางแผนยุทธศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการบริหารธุรกิจ  ซึ่งเรามักจะนิยมใช้คำว่า  กลยุทธ์  มากกว่า  ยุทธศาสตร์ 

                ดังนั้น  กลยุทธ์  หมายถึง  วิธีการหรือแผนการคิดที่คิดขึ้นอย่างรอบคอบ  มีลักษณะเป็นขั้นเป็นตอน  มีความยืดหยุ่นพลิกแพลงได้ตามสถานการณ์  มุ่งเพื่อเอาชนะคู่แข่งขันหรือเพื่อหลบหลีกอุปสรรคต่าง ๆ จนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

                ตัวอย่างกลยุทธ์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น

                ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน     การมีกลยุทธ์จะช่วยในการหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา  และช่วยไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

                ในการนำชีวิตสู่ความสำเร็จ  การมีกลยุทธ์จะช่วยในการหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อไปถึงเป้าหมาย  เช่น  กลยุทธ์การอ่านหนังสือได้เร็วและมีประสิทธิภาพ  กลยุทธ์การบริหารเวลา  เป็นต้น

O ความหมายของการคิดเชิงกลยุทธ์ O

          การคิดเชิงกลยุทธ์  (Strategic Thinking)  จัดเป็นพื้นฐานความสามารถทางการคิดประการหนึ่งของมนุษย์

                การคิดเชิงกลยุทธ์  หมายถึง  ความสามารถในการหาวิธีการหรือทางเลือกที่ดีที่สุด  ภายใต้สภาวะต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

ลำดับขั้นตอนการคิดเชิงกลยุทธ์

                              ขั้นที่ 1  การกำหนดเป้าหมายที่ต้องการจะไปให้ถึง

                                ขั้นที่ 2  การวิเคราะห์และประเมินสถานะ

                                ขั้นที่ 3  การหาทางเลือกกลยุทธ์

                                ขั้นที่ 4  การวางแผนปฏิบัติการ

                                ขั้นที่ 5  การวางแผนคู่ขนาน

                                ขั้นที่ 6  การทดสอบในสถานการณ์จำลอง

                                ขั้นที่ 7  การลงมือปฏิบัติการ

                                ขั้นที่ 8  การประเมินผล

... การคิดเชิงกลยุทธ์มีลักษณะเป็นกระบวนการคิด  เกิดขึ้นเมื่อมี  เป้าหมาย  บางอย่างที่ต้องการทำให้สำเร็จ  เช่น  ได้รับสิ่งที่ต้องการ  ชนะการแข่งขัน  ทำให้ปัญหาหมดไป  เป็นต้น  การจะบรรลุเป้าหมายต้องมีการกำหนดทางเลือกที่คิดว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด  โดยการวิเคราะห์และประเมินสถาน  ซึ่งประกอบด้วย  การประเมินกำลังความสามารถของตนเอง  (การรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตนเอง)  การประเมินสิ่งแวดล้อม  (การรู้จักคู่ต่อสู้ (ถ้ามี) คือการรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของคู่ต่อสู้  การรู้โอกาสและอุปสรรค)  การคาดการณ์อนาคตที่อาจเกิดขึ้น  (การรู้ความไม่แน่นอนของอนาคต)  จากนั้นจึง  หาทางเลือกกลยุทธ์  ที่คิดว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด  เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่วางไว้  แล้วเริ่ม  การวางแผนปฏิบัติการ  เป็นการชี้ให้เห็นถึงวิธีการต่าง ๆ ที่จะทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้างจึงจะไปถึงเป้าหมาย  เป็นการปิดช่องว่างระหว่างสถานะปัจจุบันกับสถานะเป้าหมาย  และใช้  การวางแผนคู่ขนาน  คือการหามาตรการต่าง ๆ ให้เป็นทางเลือกที่หลากหลาย  เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน  เช่น  การมีแผนหลักเป็นแผน A  แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะใช้แผน B  หรือแผน C เป็นต้น  แต่ทั้งนี้ทุกแผนจะอยู่ภายใต้เป้าหมายที่ได้วางไว้

การทดสอบในสถานการณ์จำลอง  เป็นการทดสอบแผนการดำเนินงานในสนามทดลอง  โดยการจำลองเหตุการณ์ที่สร้างขึ้นตามแผนที่วางไว้  เพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์  และดูความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ช่วยให้ทีมงานมีความมั่นคง  ไม่ตื่นตระหนกกับเหตุบังเอิญต่าง ๆ เพราะได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว    เมื่อผ่านขั้นตอนทั้ง 6 ขั้นตอนที่กล่าวข้างต้นแล้ว  ขั้นตอนต่อไปคือ  การลงมือปฏิบัติการ  ถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด  เพราะจะต้องดำเนินการอย่างมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์  ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับแผนที่ได้กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า  แต่เป็นการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่ได้เผชิญ  เพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนด  ขั้นตอนสุดท้ายคือ  การประเมินผล  เป็นการประเมินว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่  หรือเข้าใกล้เป้าหมายเพียงใด  เป็นการตรวจสอบผลสำเร็จ  หรือผลล้มเหลว (ถ้ามี) ที่เกิดขึ้น  หากพบว่ามีผลล้มเหลวเกิดขึ้น  จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ต่อไป ... 

 

การคิดเชิงกลยุทธ์

เป็นอีกหนึ่งมิติการคิดที่สำคัญอย่างยิ่ง

ที่เราทุกคนควรเรียนรู้

และนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต

ทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหา

การตัดสินใจ  และการวางแผน

เพื่อบรรลุเป้าหมาย  ความสำเร็จในอนาคต

 

              อย่างไรก็ตามการคิดเชิงกลยุทธ์ก็ยังเป็นแค่แนวทางหรือวิธีการภายในซึ่งยังไม่ได้กระทำออกมา สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับนักบริหารแล้วคือการกล้าตัดสินใจตามความเชื่อหรือข้อมูลตามวิธีการคิดเชิงกลยุทธ์นั้น...

 

หมายเลขบันทึก: 171454เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2008 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีคะ คุณThongchai

ห่างหายจาก GotoKnow.org ไปนานเลยนะคะ ดีใจคะ ที่วันนี้กลับมาเขียนบล็อกแล้ว หากพอมีเวลา แวะมาบ่อยๆ นะคะ :)

เรื่องบริหารเนี่ย มันใกล้ตัวจริงๆนะครับ

ใช้ได้กับชีวิตประจำวันเลย

ในการทำงานก็เหมือนกัน การวางแผน วางกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญมาก

ขอบคุณนะจ๊ะสำหรับบันทึกดีๆ การคิดไม่พอต้องลงมือปฏิบัติด้วยแล้วเราก็จะได้เรียนรู้ว่าที่คิดไว้มันดีหรือไม่

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ เป็นประโยชน์มาก ๆ เลย ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคนเขียนยังเขียนบล็อกอยู่อีกไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท