กิเลส


กิเลส พุทธทาส ธรรมะ

                                                                   กิเลส
คำว่า กิเลส แปลว่า สิ่งที่เศร้าหมอง หรือ เครื่องทำให้เกิดความเศร้าหมอง มีความหมาย ๓ อย่าง คือ

ให้เกิดความสกปรก หรือ เศร้าหมองอย่างหนึ่ง
ให้เกิดความมืดมิดไม่สว่างไสวอย่างหนึ่ง
ให้เกิดความกระวนกระวายไม่มีความสงบอีกอย่างหนึ่ง

เพื่อให้เข้าใจง่าย ท่านแบ่งชั้นกิเลสเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นละเอียดหรือชั้นใน
อย่างหนึ่ง, ชั้นกลางอย่างหนึ่ง, ชั้นหยาบหรือชั้นนอก อย่างหนึ่ง

ที่เป็นชั้นใน หมายถึงชั้นที่นอนนิ่งอยู่ในสันดานอย่างเงียบๆ จนกว่าจะมีอารมณ์มา
กระทบ จึงจะปรุงขึ้นเป็นกิเลสชั้นกลางที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต หรือเป็นกิเลสชั้นหยาบ
ที่ทะลุออกมาปรากฏเป็นกิริยาต่างๆ ที่ชั่วร้ายภายนอก ตัวอย่างกิเลสชั้นละเอียดที่
เป็นภายในมีชื่อเรียกว่า อกุศลมูล มี ๓ อย่าง

คือ โลภะ-ความโลภ, โทสะ-ความโกรธ ประทุษร้าย, โมหะ-ความหลง หรือ ที่มีชื่อเป็นอย่างอื่นอีกมากชื่อ  แต่โดย
ใจความแล้ว ได้แก่ กิเลสที่ยังสงบอยู่ภายใน จนกว่า ได้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องจนเกิดความรู้สึกอยากได้รุนแรง รบกวนอยู่ในใจ พลุ่งพล่านอยู่ด้วยความอยาก หรือ พลุ่งพล่าน อยู่ด้วยความโกรธแค้นเกลียดชัง หรือ พลุ่งพล่านอยู่ด้วยความโง่สงสัย กระวนกระวายอยู่ในใจ

เป็นกิเลสชั้นกลางเรียกชื่อว่า นิวรณ์ มี ๕ อย่าง คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา. ถ้าความปรุงแต่งไม่หยุดอยู่แต่เพียงเท่านั้น ก็จะทะลุออกมา ทางกาย ทางวาจา เป็นการกระทำด้วยเจตนา
เช่น การล่วงละเมิดในทางกาม การฆ่าเขา เบียดเบียนเขา การพูดเท็จ ตลอดจนการดื่มน้ำเมา เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า กิเลสหยาบ

 ถ้าพิจารณากันอีกทางหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ตัวกิเลสที่แท้นั้น คือ กิเลสชั้นใน หรือ ชั้นละเอียดนั่นเอง ส่วนอีก ๒ ชั้นที่เหลือ เป็นเพียงกิริยาอาการของกิเลสชั้นในที่แสดงออกมา มากกว่าที่จะเป็นตัวกิเลสเอง
แต่โดยเหตุที่ท่านเพี่งเล็งถึงตัวความเศร้าหมองมืดมัวและไม่สงบ ท่านจึงจัดกิริยา
อาการของกิเลสอย่างนั้นทั้ง ๒ ชั้น ว่าเป็นตัวกิเลสโดยตรงอีกด้วย เช่นกิริยาอาการ
ที่เรียกว่า กามฉันทะ หรือ พยาบาทนั้น ทำให้มโนทวาร หรือ ใจเศร้าหมอง และ
กิเลสในการล่วงละเมิดในกาม และการพูดเท็จ เป็นต้นนั้น ทำให้กายและวาจาเศร้า
หมอง ในทำนองเดียวกันกับที่กิเลสชั้นละเอียดได้ทำให้สันดานพื้นฐานส่วนลึกของ
ใจเศร้าหมอง ในที่สุดเราก็จะได้เป็นคู่ๆ กันดังนี้

๑. กิเลสชั้นละเอียด ทำให้สันดานเศร้าหมอง
๒. กิเลสชั้นกลาง ทำให้มโนทวารเศร้าหมอง
๓. กิเลสชั้นหยาบ ทำให้วจีทวารและกายทวารเศร้าหมอง

กิเลสชั้นละเอียด ซึ่งได้กล่าวแล้วเรียกว่า อกุศลมูล ในที่นี้ มีเพียง ๓ อย่าง แต่ในที่อื่นมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น และจำแนกออกไปมากกว่า ๓ อย่าง ตัวอย่างเช่น แทนที่จะจำแนกเป็น โลภะ โทสะ โมหะ ก็จำแนกเป็น กามราคะ ปฏิฆะ ทิฎฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชา รวมเป็น ๗ อย่าง และเรียกว่า อนุสัย แต่ในที่สุด
เราก็เห็นได้ว่า กามราคะ ความกำหนัดในกาม และ ภวราคะ ความกำหนัด ในความมีความเป็น ในที่นี้ ได้แก่ โลภะ หรือ ราคะ นั่นเอง ปฏิฆะ ในที่นี้ ก็คือ โทสะนั่นเอง

ส่วน ทิฎฐิ วิจิกิจฉา มานะ อวิชชา ทั้ง ๔ อย่างนี้ สรุปลงรวมได้ในโมหะ
จึงยังคงเหลือเพียง โลภะ โทสะ โมหะ อยู่นั่นเอง แม้จะจำแนกให้มากออกไปกว่า
นี้ เช่น เป็น สังโยชน์ ๑๐ ก็ทำนองเดียวกัน คือ อาจจะย่นให้เหลือ เพียง ๓ ได้
ดังกล่าว หากแต่ว่า เป็นเรื่องละเอียดเกินภูมิ ของผู้เริ่มศึกษา จะงด ไม่กล่าวถึง

 

อ้างอิง

http://www.buddhadasa.com/rightstudydham/kires.html

หมายเลขบันทึก: 171250เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2008 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท