เล่าเรื่องเมืองหงสา(๙): KM ระหว่างทาง (ขอชมเชยท้าวจันสะง่า)


องค์ความรู้มีอยู่ทุกที ในทุกทั่วตัวคนจริงๆครับ

ในการออกพื้นที่เก็บข้อมูลพบปะพี่น้องในป่าเขาเมืองหงสา ผมอาศัยรถพร้อมพนักงานขับรถจากส่วนกลางของโครงการ ซึ่งมีอยู่หลายคันหลายประเภทแล้วแต่เขาจะจัดให้ จนจำหน้าพนักงานขับรถที่เปลี่ยนหน้ามารับไม่หวาดไม่ไหว แต่ก็ต้องพูดคุยสร้างความคุ้นเคยไว้เพราะบางครั้งก็ไปกันเพียงสองคน ก็ได้อาศัยพึ่งพิงอ้ายน้องสารถีนี่แหละคอยดูแล คอยปฏิเสธเหล้าที่พี่น้องต่างหยิบยื่นให้รับน้ำใจเสียเกือบทุกบ้าน

ผมชอบที่จะกระโจนขึ้นนั่งคู่คนขับทางตอนหน้าเพราะเห็นวิวกว้างดี และผมก็มักจะสร้างความคุ้นเคย กับอ้ายน้องสารถีได้ง่าย เขาบอกว่า อาจารย์คือ(เหมือน)คนลาว เรามักพูดคุยเรื่องการทำมาหากิน การปลูกการฝังไปตามประสาคนที่ทางบ้านยังทำการเกษตรอยู่ ซึ่งผมก็มักจะถือโอกาสสอดแทรกแนวความคิดให้ทำการเกษตรแบบธรรมชาติ เกษตรยั่งยืน การใช้ปุ๋ยคอก การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ไปตามแนวถนัด

ผมถือว่าเป็นการจัดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างทางครับ  ดังเช่นในคราวที่คุยกับอ้ายจันสะง่า ใครจะนึกว่าคำแนะนำของเขาจะชี้ทางสว่างให้ผมได้มากมาย แทบจะเรียกว่าหมดกังวลไปเปราะหนึ่งทีเดียวครับ

ผมใช้บริการ อ้ายจันสะง่า ไปวิเคราะห์พื้นที่บ้านห้วยดู่ ไปทำงานในวันเสาร์ที่ ๘ มีนาคม ซึ่งเป็นวันหยุดของชาวลาวในวาระ วันแม่ญิงสากลครับ เขายังแถมชดเชยให้ในวันจันทร์ที่ ๑๐ อีกวันหนึ่งด้วย ก็เลยต้องขอโทษขอโพยอ้ายจันฯที่รบกวนในวันหยุด วันนี้ไม่มีตำรวจไปด้วยเพราะเหตุผลวันหยุดเช่นกัน

อ้ายจันสง่า คุยว่าเขาเป็นคนจากเมืองไชยะบุรี มาได้ครอบครัวอยู่เมืองหงสา ไร่นาที่ไชยะฯทิ้งไว้ให้ญาติทำกิน แต่เห็นว่าญาติก็ดูแลไม่ไหวแล้วเพราะสูงวัย เลยมาปรึกษาผมว่าควรปลูกไม้ยืนต้นอะไรดี แนะนำอ้ายไปหลายพืชอยู่ แต่สั่งห้ามไม่ให้ปลูกยาง เพราะเห็นเป็นที่นาเก่าเกรงปัญหาน้ำท่วมขัง

ส่วนผมได้ ปรารภถึงความหนักใจที่ต้องช่วยแก้ไขปัญหาพี่น้องชาวร่อนทองจากพื้นน้ำ แม่น้ำโขง แถบใกล้บ้านอ้ายจันฯ ที่ต่อไปจะไม่ได้ร่อนทองแล้ว เป็นเพราะรัฐบาลลาวได้อนุมัติให้เก็บกักน้ำให้เต็มตลิ่งตลอดปีไว้ผลิตไฟฟ้านั่นเอง

อ้ายจันสง่า ได้จุดประทีปแห่งปัญญา ช่วยแก้ปัญหาหญ้าปากคอกให้แก่ผมด้วยคำแนะนำที่ว่า จะไปยากหยังอาจาน ในช่วงที่เขาปล่อยน้ำก่อสร้าง อาจานกะเอาเปา (กระสอบ) ไปแจกพี่น้อง ให้ขุดเอาตะกอนท้องน้ำที่นำมาร่อนทอง มาตุนไว้สักเรือนละสามคิวห้าคิว แล้วช่วยเขาขนมาไว้บนฝั่ง ให้เขาร่อนได้พอสักสองสามปี สักสามปีเท่านี้ก็พอแล้วครับสำหรับระยะข้ามผ่านนี้ ก่อนที่ผมจะหาอาชีพใหม่ให้เขาได้

ขอบคุณอ้ายจันสง่าจริงๆ ขอบคุณโชคชะตาที่พาให้มาคุยกับอ้ายจันสะง่า

องค์ความรู้มีอยู่ทุกที ในทุกทั่วตัวคนจริงๆครับ การสนทนาช่วยแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ได้จริงๆครับ

นี่เองที่เราจำเป็นต้องมี KM

 

 

หมายเลขบันทึก: 171187เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2008 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อิอิ

  • อ้ายคือคนลาว
  • บ่คือดอก แมนอีหลี

สวัสดีครับ..

ได้อ่านแล้วอยากไปเมืองหงสาครับ อยากไปสัมผัสชีวิต แบบคุณPaleeyon ครับ เขาว่าคนลาวที่ประเทศ พูดคล้ายคนภาคเหนือใช่มั้ยครับ โดยเฉพาะคนไทยใหญ่กับคนลาวที่มีคำพูดคล้ายกันมาก ......ขอบคุณที่ไปเยี่ยมบล็อกครูสุนะครับ

เพิ่งได้มาตามอ่านรวดเดียวหลายตอน ห่างกันไปนาน แต่ก็ทราบว่าคุณเปลี่ยนนั้นชีพจรลงเท้า ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากมาย ทำงานกับชุมชนนั้นทำให้เกิดความประทับมากมาย ซึ่งคงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ยังคงต้องทำงานที่ยากลำบาก(ทั้งใจและกาย)อยู่ต่อไปใช่มั้ยคะ

ภาพน้องแมวอิงไออุ่นจากน้องหมานั้นน่าเอ็นดูเหลือเกินค่ะ

อาจมีโอกาสไปทางอีสานในเร็วๆนี้ค่ะ หากได้ไปจะพาตัวไปมุกดาหาร และอยากข้ามไปสะหวันนะเขตไปดูเขาทำผ้าย้อมคราม ได้ดูในทีวีทึ่งมากๆค่ะ

แถวๆที่บ้านพี่อยู่มีชุมชนที่มีเชื้อสายลาวเหมือนกันตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีวัดแห่งหนึ่งมีเจดีย์แบบอีสาน ทรงอย่างพระธาตุพนมนะค่ะ

ดีจังที่ร่างกายคุณเปลี่ยนสื่อสารให้รู้ว่าช่วงไหนต้องการอาหารแบบใด แสดงว่าเป็นคนละเอียดอ่อน ช่างสังเกต รักษาสุขภาพนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท