บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำและการจดทะเบียนและการขออนุญาต


พระราชบัญญัติบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำและการจดทะเบียนและการขออนุญาต

         บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
                                                            ________
                    มาตรา 23  ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติ
ของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
                    ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

                    มาตรา 24  การทำการประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้อง
เสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้
                                                          

                                            การจดทะเบียนและการขออนุญาต
                                                               _________
                    มาตรา 25  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ผู้มีอาชีพในการประมง
การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุ
ไว้ในท้องที่ใด ๆ มาจดทะเบียนได้ และจะกำหนดให้ผู้มีอาชีพเช่นว่านี้มาขออนุญาตต่อพนักงาน
เจ้าหน้าที่เสียก่อนดำเนินอาชีพเช่นว่านั้น โดยให้เสียค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมตาม
พระราชบัญญัตินี้ก็ได้

                    มาตรา 26  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง
เครื่องมือทำการประมงชนิดหนึ่งชนิดใดในท้องที่ใด ๆ จดทะเบียนการมีไว้ในครอบครองซึ่ง
เครื่องมือนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

                    มาตรา 27  เมื่อมีกรณีจำเป็นแก่ราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอนุมัติ
รัฐมนตรี ข้าหลวงประจำจังหวัดอาจสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือประทานบัตรรายใด ๆ ก็ได้
ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้รับอนุญาตได้รับคืนเงินอากรเฉพาะส่วนที่ต้องเพิกถอน

                    มาตรา 28  บุคคลใดจะใช้เครื่องมือในพิกัดทำการประมงได้ ต่อเมื่อได้รับ
อาชญาบัตรระบุชื่อบุคคลนั้น และเสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว
                    รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องให้รับอาชญาบัตรสำหรับเครื่องมือทำการ
ประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในท้องที่ใด ๆ ก็ได้

                    มาตรา 28 ทวิ* บุคคลใดเป็นเจ้าของเรือ ใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนทำการ
ประมงหรือเพื่อทำการประมง จนเป็นเหตุให้มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ และทำให้
คนประจำเรือหรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ ณ ต่างประเทศ บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้อง
ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิด
จากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ภายใน
สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าว
                    ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งคำวินิจฉัยแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง เพราะไม่พบตัวบุคคล
ดังกล่าวหรือไม่มีผู้ใดยอมรับแทน ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
แล้ว ในเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ส่งคำวินิจฉัยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือปิดคำวินิจฉัยไว้
ในที่เห็นได้ง่าย ณ สำนักงานภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว โดยมีพนักงานฝ่ายปกครอง
หรือตำรวจเป็นพยานในการนั้น
                    *[มาตรา 28 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528]

                    มาตรา 29  เครื่องมือในพิกัดซึ่งได้รับอาชญาบัตรในท้องที่จังหวัดใดแล้ว ถ้าบุคคล
ใดประสงค์จะนำไปใช้ทำการประมงในท้องที่จังหวัดอื่น ซึ่งจะต้องเสียเงินอากรสูงกว่า จะต้องเสีย
อากรเพิ่มเติมให้ครบตามอัตราในท้องที่นั้นเสียก่อนจึงจะใช้เครื่องมือนั้นได้

                    มาตรา 30  บุคคลใดประสงค์จะทำการประมงในที่อนุญาต ต้องขออนุญาตและ
เสียเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้ และเงินซึ่งผู้รับอนุญาตที่จะต้องชำระโดยการว่าประมูล ให้ถือว่า
เป็นเงินอากรตามพระราชบัญญัตินี้
                    รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้นไม่ต้องเสียเงินอากรค่าอนุญาตในที่อนุญาตรายตัว
บุคคลได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว

                    มาตรา 31  ห้ามมิให้บุคคลใดตั้ง หรือปัก หรือสร้างเครื่องมือประจำที่ลงในที่
สาธารณประโยชน์ ส่วนที่จับสัตว์น้ำอื่น ๆ ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการเช่นว่านั้น โดยมิได้
รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

                    มาตรา 32  รัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีเฉพาะภายใน
เขตท้องที่ของตน มีอำนาจประกาศกำหนดได้ดังต่อไปนี้
                    (1) กำหนดขนาดตาและระยะช่องเครื่องมือทำการประมงทุกชนิด กำหนดขนาด
ชนิด จำนวนและส่วนประกอบของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่จับสัตว์น้ำ
                    (2) กำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดย
เด็ดขาด
                    (3) กำหนดระยะที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้ห่างกันเพียงใด
                    (4) กำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ
                    (5) กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนด
วิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว
                    (6) กำหนดชนิด ขนาด และจำนวนอย่างสูงของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง
                    (7) กำหนดมิให้ทำการประมงสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเด็ดขาด

                    มาตรา 33  การโอนประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรและการออกใบแทน
เอกสารเช่นว่านั้น และการสลักหลังอาชญาบัตร เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมผู้มีสิทธิใช้เครื่องมือทำการ
ประมง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้
                    ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรใดซึ่งหมดอายุแล้ว แต่ได้ยื่นคำขอต่ออายุก่อนวันสิ้น
อายุ มิให้ถือว่าการทำการประมง หรือการใช้เครื่องมือนั้นเป็นการกระทำโดยมิได้รับอนุญาตตาม
พระราชบัญญัตินี้ จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งว่าไม่อนุญาต

                    มาตรา 34  ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือทำการใด ๆ ในเครื่องมือประจำที่
ของผู้รับอนุญาต หรือในบริเวณที่ตั้งเครื่องมือเช่นว่านั้น ตามที่คณะกรมการจังหวัดจะได้ประกาศ
กำหนดเขตโดยอนุมัติรัฐมนตรี

                    มาตรา 35  ผู้รับอนุญาตจะต้องนำประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ติดตัว
ไปด้วยเสมอในเวลาไปทำการประมงและต้องนำออกแสดงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจ

                    มาตรา 36  ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติ
ผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร หรือค้างเงินอากรที่เกี่ยวกับ
ประทานบัตร ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตร พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งเพิกถอนประทานบัตร
ใบอนุญาต หรืออาชญาบัตรนั้นเสียก็ได้

                    มาตรา 37  ในขณะใดหรือในท้องที่ใดยังไม่สมควรจะเก็บเงินอากรให้ประกาศ
ยกเว้นโดยพระราชกฤษฎีกา
                    มาตรา 38  โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจยกเว้น งด หรือ
คืนอากรค่าประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตร ให้บางส่วนหรือทั้งหมดตามแต่จะเห็น
สมควร

                    มาตรา 39  โดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผ่อน
เวลาชำระเงินอากรได้ตามที่เห็นสมควร
                    สำหรับเงินอากรที่ค้างนั้น ผู้รับอนุญาตจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละสิบต่อปีของเงิน
อากรและเงินดอกเบี้ยนี้ให้ถือเป็นเงินอากรค้าง

                    มาตรา 40  ถ้าผู้รับอนุญาตค้างชำระเงินอากร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ
ดังต่อไปนี้
                    (1) ประกาศหรือแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตนำเงินอากรที่ค้างมาชำระภายใน
เวลาตามที่เห็นสมควร
                    (2) เมื่อได้ดำเนินการตามอนุมาตรา (1) แล้ว ผู้รับอนุญาตยังเพิกเฉยอยู่ พนักงาน
เจ้าหน้าที่อาจสั่งให้หยุดทำการประมง
                    (3) จัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ผู้รับอนุญาตนำมาวางเป็นหลักประกัน หรือ
จัดการเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระเงินอากรแทนผู้รับอนุญาต เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้คิด
ชำระเงินอากรและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดจนครบ เหลือเท่าใดให้คืนแก่ผู้รับอนุญาตหรือ
ผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี

                    มาตรา 41  เงินอากรที่ค้างชำระนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดและจัดการ
ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้รับอนุญาตแต่พอคุ้มกับเงินอากรที่ค้างชำระ รวมทั้งค่าใช้จ่าย
ในการยึดและการขายทอดตลาด

                    มาตรา 42  ประทานบัตร ใบอนุญาตหรืออาชญาบัตรที่ถูกสั่งเพิกถอนตาม
มาตรา 36 นั้น อากรที่ชำระแล้วจะเรียกคืนมิได้

                    มาตรา 43  กำหนดอายุอาชญาบัตรสำหรับการขออนุญาตและเสียเงินอากรนั้น
ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 31 มีนาคม
                    มาตรา 44  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 43 เพื่อประโยชน์แก่การเก็บอากรโดยอนุมัติ
รัฐมนตรี ให้คณะกรมการจังหวัดมีอำนาจประกาศกำหนดฤดูกาลทำการประมงตามความเหมาะสม
แห่งท้องที่ โดยให้นับเวลาสิบสองเดือนเป็นหนึ่งฤดู และให้ถือระยะเวลาดังกล่าวแล้วเป็นระยะเวลา
สำหรับการขออนุญาตและเสียอากรสำหรับหนึ่งปี

                    มาตรา 45  ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องออกไปตรวจสอบหรือกำหนดที่ตั้ง
เครื่องมือประจำที่ให้แก่ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องมือ ให้ผู้ขออนุญาตจัดหาพาหนะรับและส่งพนักงาน
เจ้าหน้าที่หรือออกค่าใช้จ่ายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่จำเป็นและจ่ายจริงตามแต่ผู้ขออนุญาต
จะเลือก

                    มาตรา 46  ในกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกประทานบัตร ใบอนุญาตและ
อาชญาบัตรไม่ยอมออกเอกสารเช่นว่านั้น ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีได้ โดย
ยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานเช่นว่านั้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำอุทธรณ์นั้นให้
เจ้าพนักงานเช่นว่านั้นเสนอรัฐมนตรีโดยมิชักช้า คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
                                                              หมวด 4
                                                          สถิติการประมง
                                                               __________
                    มาตรา 47  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้ทำการเก็บสถิติการประมงในท้องที่
ใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร

                    มาตรา 48  เมื่อได้มีประกาศตามความในมาตรา 47 แล้ว อธิบดีอาจขอให้ผู้หนึ่ง
ผู้ใดที่มีอาชีพเกี่ยวกับสัตว์น้ำส่งรายการข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิตินั้นได้

                    มาตรา 49  คำขอของอธิบดีนั้น ให้ทำเป็นหนังสือระบุชื่อเจ้าของกิจการผู้จัดการ
หรือผู้แทน และให้กำหนดเวลา สถานที่และวิธีการยื่น
                    มาตรา 50  บุคคลซึ่งได้รับคำขอตามมาตรา 48 ต้องกรอกคำตอบลงในแบบพิมพ์
แสดงรายการข้อความ จำนวนตามที่รู้เห็น พร้อมทั้งลงชื่อกำกับ และจัดการยื่นตามกำหนดเวลา
ณ สถานที่และตามวิธีการที่กำหนดในคำขอ

                    มาตรา 51  ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่
ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีเพื่อการนี้ มีอำนาจเข้าในสถานที่ทำการของผู้รับคำขอในเวลาตั้งแต่
พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อทำการตรวจสอบ จดข้อความจำนวนเกี่ยวกับสถิติการประมง
และให้เป็นหน้าที่ของผู้รับคำขอ หรือผู้แทนตอบคำถาม อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือ
พนักงานเจ้าหน้าที่ในการนี้
 

                                                  ที่มา www.pub-law.net/library/act_fishery.html

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17113เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท