สติปัฏฐาน 4


สติปัฏฐาน 4 ก็คือ ตั้งสติ คือ ความระลึกได้หรือความระลึกรู้ไว้ ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม

                สติปัฏฐาน 4 ก็คือ ตั้งสติ คือ ความระลึกได้หรือความระลึกรู้ไว้ ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม
                ข้อที่พึงระลึกไว้ในกายไว้ คือ ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก ข้อว่าด้วยอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะ ความรู้ในความเยื้องกรายอิริยาบถทั้งสี่นี้และอิริยาบถประกอบทั้งหลาย ข้อว่าด้วยกายนี้จำแนกอกเป็นอาการทั้งหลาย มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ข้อว่าด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ข้อว่าด้วยป่าช้าเก้า คือพิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า แยกออกเป็น 9 ข้อ ตั้งต้นตั้งแต่ ศพที่ตายแล้ววันหนึ่ง สองวันสามวันเป็นต้นไปจนถึงเป็นกระดูกผุป่น

                ตั้งสติพิจารณาเวทนา ก็คือตั้งสติกำหนดเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ทั้งที่มีสามิสคือมีกิเลสเป็นเครื่องล่อให้เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นนิรามิส คือไม่มีเครื่องล่อ หรือเป็นเครื่องนำให้เกิดขึ้น
                ตั้งสติพิจารณาจิต ก็คือตั้งสติกำหนดดูจิตใจนี้ ที่มีราคะความติดใจยินดีหรือปราศจากราคะความติดใจยินดี ที่มีโทสะ ที่มีโมหะความหลงหรือปราศจากโมหะความหลง เป็นต้น
                ตั้งสติพิจารณาธรรม ก็คือตั้งจิตกำหนดดูธรรมะทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในจิต ตั้งต้นตั้งแต่ กำหนดดูนิวรณ์ทั้งห้า คือกิเลสที่เป็นเครื่องกั้นจิต บังเกิดขึ้น กลุ้มรุมจิต มีกามฉันท์ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม พยาบาท ความมุ่งร้ายปองร้าย เป็นต้น กำหนดดูขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กำหนดดูความเกิดของขันธ์ 5 ความดับ ของขันธ์ 5 ตั้งสติกำหนดดูอายตนะภายในทั้ง 6 ที่รับ อายตนะภายนอกทั้ง 6 อายตนะภายในภายนอกที่รับกัน ก็คือ  ตากับรูปที่ประจวบกัน จมูกกับกลิ่นที่ประจวบกัน หูกับเสียงที่ประจวบกัน ลิ้นกับรสที่ประจวบกัน  กายและสิ่งถูกต้องทางกายประจวบกัน  มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวที่ประจวบกัน เกิดสังโยชน์คือความผูกใจ และก็ให้รู้จักความเกิดของสังโยชน์ ความดับของสังโยชน์ และสังโยชน์ที่ดับแล้วจะไม่เกิดขึ้น ตั้งสติกำหนดดูโพชฌงค์ทั้ง 7 มีสติโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้ คือ สติ  ธรรมวิจยโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือ ธรรมวิจัย ความเลือกเฟ้นธรรม เป็นต้น ตั้งสติกำหนดดูอริยสัจทั้ง 4 คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

                สติปัฏฐาน 4 ในบางพระสูตรได้ตรัสอธิบายวิธีปฏิบัติ คือตั้งสติ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ตั้งสติคือความระลึกได้ความกำหนดในกาย ก็คือใน ปฐวีกาย กายที่เป็น ส่วนดิน อาโปกาย กายที่เป็นส่วนน้ำ เตโชกาย กายที่เป็นส่วนไฟ วาโยกาย กายที่เป็นส่วนลม เกสากาย กายที่เป็นส่วนผม โลมากาย กายที่เป็นส่วนขน ฉวิกาย กายที่เป็นส่วนผิว จมฺมกาย กายที่เป็นส่วนหนัง มงฺสกาย กายที่เป็นส่วยเนื้อ นหารูกาย กายที่เป็นส่วนเส้นเอ็น อฎฺฐิกาย กายที่เป็นส่วนกระดูก อฎฺฐมิญฺชกาย กายที่เป็นส่วนเยื่อในกระดูก
                ตั้งสติกำหนดเวทนา ก็คือ ในสุขเวทนา เวทนาความรู้ที่เป็นสุข ทุกข์เวทนา ความรู้ที่เป็นทุกข์
อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ตั้งสติกำหนดเวทนาที่เกิดทาง สัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจาก สัมผัสทางหู เวทนาที่เกิดจาก สัมผัสทางจมูก เวทนาที่เกิดจาก สัมผัสทางลิ้น เวทนาที่เกิดจาก สัมผัสทางกาย เวทนาที่เกิดจาก สัมผัสทางมโนคือใจ
                ตั้งสติกำหนดจิตใจ ก็คือ กำหนดดูจิตที่มีราคะ คือความติดใจยินดี หรือที่ปราศจากราคะคือความติดใจยินดี จิตที่มีโทสะหรือจิตที่ปราศจากโทสะ จิตที่มีโมหะ หรือจิตที่ปราศจากโมหะ
จิตที่ฟุ้งซ่านหรือจิตที่หดหู่ จิตที่ถึงความใหญ่ด้วยเมตตา ภาวนาสมาธิเป็นต้น หรือ จิตที่ไม่ถึงความใหญ่ จิตที่ยิ่ง คือยิ่งด้วยสมาธิปัญญา วิมุตติ หลุดพ้น หรือจิตที่ไม่ยิ่ง จิตที่มีสมาธิหรือไม่มีสมาธิ
จิตที่หลุดพ้นหรือจิตที่ไม่หลุดพ้น
                ตั้งสติกำหนดดูธรรม คือธรรมะที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลหรือที่เป็นกลางๆ อันนอกไปจากข้อที่กล่าวแล้ว ในกายในเวทนาและในจิตทั้งสามข้างต้น

                ทางปฏิบัติสติปัฏฐาน
                ให้ปฏิบัติพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรมทั้งหมดโดยเป็นอนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เกิดดับ
โดยเป็นทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่ตั้งอยู่คงที่ มิใช่โดยเป็นสุข โดยเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน มิใช่เป็นเรา มิใช่เป็นของเรา ไม่ใช่โดยอัตตา คือโดยเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา มีความหน่าย มิใช่มีความเพลิดเพลิน มีความคลายติดใจ มิใช่ติดใจ มีความดับ คือดับตัณหาความดิ้นรนทะยานของใจมิใช่ก่อตัณหา มีความสละวาง มิใช่มีความยึดถือ

                วิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน คือ ภาวนา
                ก็คือ ปฏิบัติทำสติความระลึกได้ หรือ ความกำหนด ทำญาณความหยั่งรู้
ที่เป็นตัวปัญญาให้บังเกิดขึ้นให้มีขึ้นทันในธรรมมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น โดยไม่ให้พลาด ไม่ให้ล่วงเลยเผลอเลอ ในธรรมะที่บังเกิดขึ้นในเวลานั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตั้งจิตกำหนดดูกาย เช่นลมหายใจเข้าออก  ก็หมายถึงว่า กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ที่บังเกิดอยู่ในบัดนี้ หายใจเข้าในบัดนี้ ก็มีสติมีญาณกำหนดรู้ หายใจออกในบัดนี้ ก็มีสติมีญาณกำหนดรู้ มิใช่ว่าเผลอ หายใจเข้าหายใจออกอยู่ในบัดนี้ แต่ว่าจิตมิได้กำหนด หรือกำหนดมิทัน จึงไม่มีสติไม่มีญาณ อยู่ในลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้น

                หน้าที่ของภาวนา
                1. กำหนดให้มีสติ ให้มีปัญญาหรือญาณ กำหนดทันต่อธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น
                2. ให้รวมอินทรีย์ทั้งหลายมาปฏิบัติกิจคือหน้าที่พร้อมกัน ได้รวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ให้มาปฏิบัติหน้าที่กำหนดอยู่ในธรรมมะที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานั้น สุดแต่ว่าจะยกเอา ข้อไหน กายข้อไหน เวทนาข้อไหน จิตข้อไหน ธรรมะข้อไหน ขึ้นมา ก็ให้ทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาปฏิบัติหน้าทีกำหนดรู้พร้อมกัน
                3. นำความเพียรพยายามปฏิบัติ โดยเริ่ม ดำเนิน และก้าวหน้าไปจนบรรลุถึงเป้าหมาย บรรลุถึงความสำเร็จ เป็นสติ เป็นญาณกำหนดรู้อยู่ในธรรมะที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานั้น
                4. ใช้ความเพียรปฏิบัติส้องเสพอยู่ในข้อปฏิบัตินี้เนือง ๆ เสมอ ๆ ให้สม่ำเสมอไม่ทอดทิ้ง
หมายความว่า ให้รับเอาข้อปฏิบัตินี้เข้าไปให้ถึงใจ ให้ตั้งอยู่ในใจ เหมือนอย่างบริโภคอาหาร
ส้องเสพอาหาร บริโภคอาหาร ก็ให้นำเข้าปากเคี้ยวกลืนเข้าไปให้ถึงในท้อง เพื่อย่อยไปเลี้ยงร่างกายให้อิ่มเอิบ ในการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ต้องรับเอาข้อปฏิบัติปฏิบัติกรรมฐานที่ปฏิบัติ ให้เข้าไปถึงใจ ให้ตั้งอยู่ในใจ ให้แผ่ซ่านไปในใจ ดังเช่นที่ให้ปรากฏเป็นปีติเป็นสุข เป็นผลที่ได้รับ

คำสำคัญ (Tags): #สติปัฏฐาน 4
หมายเลขบันทึก: 171076เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2008 01:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ได้ ล่วงพ้นความโศกและความรำพันคร่ำครวญได้ ดับทุกข์และโทมนัสได้ บรรลุอริยมรรคเพื่อเห็นแจ้งพระนิพพานได้ หนทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ

๔ ประการนั้นมีอะไรบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้

 

 

 

๑) พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ

๒) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เสมอ

๓) พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอ

๔) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เสมอ

เธอพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมอย่างมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เป็นอีกประการหนึ่ง
 

กายานุปัสสนา - อานาปานบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างไรภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ คือภิกษุในพระศาสนานี้ ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

  • เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
  • เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
  • เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
  • ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจออก
  • ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
  • ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจออก
  • ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาวก็รู้ชัดว่าเราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้นก็รู้ชัดว่าเราชักสั้น แม้ฉันใดภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

  • เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
  • เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
  • ย่อมสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจออก
  • ย่อมสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
  • ย่อมสำเนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจออก
  • ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
     

กายานุปัสสนา - อิริยาปถบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือภิกษุ…

  • เมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน
  • เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน
  • เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง
  • เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน
  • หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยกิริยาท่าทางอย่างใดๆ ก็รู้ชัดกิริยาท่าทางอย่างนั้นๆ
     

กายานุปัสสนา - สัมปชัญญบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัว

  • ในการก้าว ในการถอย
  • ในการแล ในการเหลียว
  • ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก
  • ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร
  • ในการฉัน การดื่ม
  • ในการเคี้ยว การลิ้ม
  • ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ

ย่อมทำความรู้สึกตัว

  • ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น
  • ในการพูด การนิ่ง
     

กายานุปัสสนา - ปฏิกูลมนสิการบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ คือ

  • ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
  • เนื้อ เอ็น กระดูก ไขกระดูก
  • ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย
  • อาหารใหม่ อาหารเก่า (อุจจาระ)
  • ดี เสลด หนอง เลือด
  • เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ ปัสสาวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากสองข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างชนิดคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดีแก้ไถ้นั้นแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไขกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ ปัสสาวะ
 

กายานุปัสสนา - ธาตุมนสิการบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ซึ่งตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่ามีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโคแล้วแบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ซึ่งตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่ามีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
 

กายานุปัสสนา - นวสีวถิกาบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง เหมือนเธอเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า

  • ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด
  • ฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆต่างๆกัดกินอยู่บ้าง
  • เป็นโครงกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่
  • เป็นโครงกระดูก ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่
  • เป็นโครงกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่
  • เป็นกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง
  • เป็นกระดูกมีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์
  • เป็นกระดูกกองเรียงรายอยู่แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไป
  • เป็นกระดูกผุ เป็นจุณแล้ว

เธอน้อมกายนี้แหละมาเปรียบเทียบว่าก็มีอะไรอย่างนั้นเป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนั้น ไม่ล่วงความเป็นอย่างนั้นไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม

  • พิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง
  • พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง
  • พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง
  • พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง
  • พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง
  • พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

เธอย่อมเป็นอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือเข้าไปตั้งสติว่ากายมี ก็เพียงสักว่าเอาไว้รู้ เพียงสักว่าเอาไว้อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฐิเข้าอิงอาศัย และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ
 

เวทนานุปัสสนา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้

  • เสวยสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา
  • เสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา
  • เสวยอทุกขมสุขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา
  • เสวยสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส
  • เสวยทุกขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิส หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส
  • เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส

ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อม

- พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง

- พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง

- พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง

- พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง

- พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง

- พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง

เธอย่อมเป็นอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือเข้าไปตั้งสติว่าเวทนามี ก็เพียงสักว่าเอาไว้รู้ เพียงสักว่าเอาไว้อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฐิเข้าอิงอาศัย และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เสมอ
 

จิตตานุปัสสนา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างไร ภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอได้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

  • เมื่อจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เมื่อจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
  • เมื่อจิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ เมื่อจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
  • เมื่อจิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ เมื่อจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
  • จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
  • เมื่อจิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต เมื่อจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต
  • เมื่อจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า เมื่อจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
  • เมื่อจิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
  • เมื่อจิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น เมื่อจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

ดังพรรณนามาฉะนี้ภิกษุย่อม

  • เฝ้าพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง
  • เฝ้าพิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง
  • เฝ้าพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
  • เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง
  • เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในจิตบ้าง
  • เฝ้าพิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง

เธอย่อมเป็นอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือเข้าไปตั้งสติว่าจิตมี ก็เพียงสักว่าเอาไว้รู้ เพียงสักว่าเอาไว้อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฐิเข้าอิงอาศัย และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอ ฯ
 

ธัมมานุปัสสนา - นีวรณบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างไร ภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ 5 อยู่เสมอได้ ภิกษุในพระศาสนานี้

 

-

เมื่อความพอใจยินดีในกามมีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความยินดีพอใจในกามมีอยู่ภายในจิตของเรา เมื่อความยินดีพอใจในกามไม่มีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความยินดีพอใจในกามไม่มีอยู่ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความยินดีพอใจในกามที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความยินดีพอใจในกามที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความยินดีพอใจในกามที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

- อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความพยาบาทมีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความพยาบาทมีอยู่ภายในจิตของเรา หรือเมื่อความพยาบาทไม่มีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความพยาบาทไม่มีอยู่ภายในจิตของเรา อนึ่งความพยาบาทที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความพยาบาทที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

- อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความง่วงเหงาซึมเซามีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความง่วงเหงาซึมเซามีอยู่ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อความง่วงเหงาซึมเซาไม่มีอยู่ภายในจิตย่อมรู้ชัดว่าความง่วงเหงาซึมเซาไม่มีอยู่ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความง่วงเหงาซึมเซาที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความง่วงเหงาซึมเซาที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความง่วงเหงาซึมเซาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

- อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความฟุ้งซ่านรำคาญใจมีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความฟุ้งซ่านรำคาญใจมีอยู่ภายในจิตของเรา หรือเมื่อความฟุ้งซ่านรำคาญใจไม่มีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความฟุ้งซ่านรำคาญใจไม่มีอยู่ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่เกิดขึ้นแล้วจะ ละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

-

 

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความลังเลสงสัยมีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความลังเลสงสัยมีอยู่ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อความลังเลสงสัยไม่มีอยู่ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าความลังเลสงสัยไม่มีอยู่ภายในจิตของเรา อนึ่ง ความลังเลสงสัยที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความลังเลสงสัยที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ความลังเลสงสัยที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
 

ธัมมานุปัสสนา - ขันธบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีอีกข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เสมอ ด้วยการปฏิบัติอย่างไร ภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เสมอได้ ภิกษุในพระศาสนานี้ พิจารณาเห็นว่า

  • อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
  • อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
  • อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
  • อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
  • อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
     

ธัมมานุปัสสนา - อายตนบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออายตนะภายในและภายนอก ๖ ประการ ด้วยการปฏิบัติอย่างไร ภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออายตนะ ๖ อยู่เสมอได้ ภิกษุในพระศาสนานี้

  • ย่อมรู้จักนัยน์ตา รู้จักรูป รู้จักนัยน์ตาและรูปทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • ย่อมรู้จักหู รู้จักเสียง รู้จักหูและเสียงทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • ย่อมรู้จักจมูก รู้จักกลิ่น รู้จักจมูกและกลิ่นทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • ย่อมรู้จักลิ้น รู้จักรส รู้จักลิ้นและรสทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • ย่อมรู้จักกาย รู้จักสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย รู้จักกายและสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกายทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • ย่อมรู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์ และรู้จักใจและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์ อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
     

ธัมมานุปัสสนา - โพชฌงคบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือโพชฌงค์ ๗ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือโพชฌงค์ ๗ อย่างไรเล่า ภิกษุในพระศาสนานี้

  • เมื่อสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • อีกอย่างหนึ่ง เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าวิริยสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าวิริยสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย วิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อปีติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าปีติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสมาธิสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าสมาธิสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
  • อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
     

ธัมมานุปัสสนา - สัจจบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีข้อปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ทุกขอริยสัจ

 

(ความจริงเกี่ยวกับทุกข์)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ ฯ

ก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆของเหล่าสัตว์นั้น อันนี้เรียกว่าชรา ฯ

ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯ

ก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าโสกะ ฯ

ก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ

ก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯ

ก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯ

ก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯ

ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ

ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ

ก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์

ก็ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์

ก็ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์

ก็ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอขอเราไม่พึงมความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์

ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์

ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์เป็นไฉน อุปาทานขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

ทุกขสมุทัยอริยสัจ

(ความจริงเกี่ยวกับต้นเหตุทุกข์)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน ตัณหานี้อันใดมีความเกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้นั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้

จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้นในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้

(วิญญาณ = ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะคู่นั้นๆประจวบกระทบกัน)

จักขุสัมผัส โสตส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท