2. มิงกาลาบาเมียนมาร์


สัมผัสพม่าต้นเดือนมีนาคม 2008

           

 

                                        มิงกาลาบาเมียนมาร์

                                                

          ดิฉันขอเรียกประเทศเมียนมาร์ว่าพม่าเพราะคุ้นหู คุ้นปากคนไทยมากกว่า

เมียนมาร์นะคะ กว่าจะได้มีโอกาสไปประเทศเมียนมาร์ก็ต้องรับประทานคุณ

ไม่สมหวัง (แห้ว)หลายครั้ง แต่ด้วยยังมีบุญอยู่ ท้ายสุดเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์

2008 จึงได้มีโอกาสเหินฟ้าด้วยสายการบินต้นทุนต่ำไปประชุมที่ย่างกุ้ง

เครื่องบินออกเดินทางแต่เช้า อากาศดี มองลงมาก่อนเครื่องลงจอดที่สนามบิน

เม็งกะลาโดง  (Mingaladon) ย่างกุ้งเห็นแม่น้ำอิระวดีโค้งคดเคี้ยวไปมา

เครื่องบินใช้เวลาบินราวชั่วโมงเศษก็เดินทางถึงสนามบินย่างกุ้งซึ่งเห็น

ความงามของสถาปัตยกรรมแบบพม่า  สนามบินแห่งนี้เคยได้ชื่อว่าใหญ่โตมาก

ของเอเชียในสมัยหนึ่ง แต่วันนี้บรรยากาศเงียบเชียบมาก ลานบินโล่งๆ

เครื่องจอดแล้ว เราเดินลงทางบันไดเครื่องบินและเดินไปเข้าในตัวอาคารซึ่ง

อยู่ไม่ไกลนัก  อาคารในสนามบินทันสมัย ฉันผ่านต.ม. เจ้าหน้าที่ก็งงๆ กับ

พาสปอร์ตราชการไทยที่ไม่มีวีซ่าของฉัน เขาเชิญหัวหน้าที่เตร่ๆ อยู่บริเวณนั้น

มาดูและสุดท้ายเขาก็บอกว่าพาสปอร์ตไทยไม่ต้องมีวีซ่า ฉันไม่เห็นว่าที่สนามบิน

จะถามเรื่องการแลกเงินหรือแสดงตัวว่าเรามีเงินดอลลาร์เพื่อใช้จ่ายอะไรเหมือน

ที่เคยได้ยินจากพื่อนๆ ที่ไปพม่าในอดีต เราก็ผ่านกันออกมา ฉันรอรับกระเป๋า

เดินทาง เมื่อได้แล้วออกมาด้านนอก เพื่อนพม่ามารอรับ คุณเธอนุ่งชุดพม่า

(ผ้าถุง เสื้อตัวสั้น) ดูผอมบางต่างจากที่พบกันที่การประชุมที่เมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว

ซึ่งภายหลังการประชุมเราไปเที่ยวเขมรและพักห้องเดียวกันจึงรู้สึกคุ้นเคยกัน

ตอนนั้นเธอนุ่งกางเกงบ้าง กระโปรงบ้างดูเหมือนญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษสำเนียงพม่า

ของเธอทำให้ยิ่งดูคล้ายญี่ปุ่นพูดอังกฤษเช่นกัน วันนี้เธอดูเป็นพม่า พม่า

(เน้นเสียง) เราได้เห็นชายชาวพม่าที่สนามบินส่วนใหญ่ใส่เชิร์ตขาว

นุ่งโสร่งสวมรองเท้าแตะหนีบแบบพม่าเดินกันอยู่แถวนั้น

                         

เพื่อนมีรถเก๋งส่วนตัวหรือเปล่าไม่ทราบ แต่มารับเราพร้อมคนขับที่

นุ่งโสร่ง รถของเพื่อนเป็นรถญี่ปุ่นรุ่นเก่าที่หายไปจากถนนเมืองไทย

หลายสิบปีแล้ว รถขับด้วยพวงมาลัยขวาและวิ่งเลนขวา เป็นกฎจราจรที่

ต่อต้านอังกฤษแบบหนึ่งบรรยากาศยามเช้าในวันนั้นสบายๆ ไม่ร้อน

ไม่หนาว ถนนเข้าไปตัวเมืองกว้างขวาง รถราน้อย จากสนามบินไปยัง

ที่พักเพื่อนของเพื่อนนี่ราวสามสิบนาทีเพื่อไปรับเพื่อนหญิงหน้าตา

เป็นอินเดีย อินเดีย (เน้นเสียงอีก) ไปด้วยกันเราผ่านพระเจดีย์สีทอง

อยู่ราวสองแห่ง เริ่มเห็นความงดงามทางพุทธศาสนาแล้ว เรานั่งรถ

ต่อไปเพื่อไปหาเพื่อนพม่าอีกบ้านหนึ่งในกลางเมือง เราผ่านตึกราม

บ้านช่องเป็นอาคารสูงสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษมีให้เห็นมากมาย

รูปทรงและสีสันคลาสสิก (เก่าๆ) เราเข้าไปซอยหนึ่งที่อยู่ระหว่างตึกสูง

3-4 ชั้นซึ่งเป็นที่พัก ร้านค้า ผู้คนเดินขวักไขว่ มีรถราจอดอยู่ด้านหนึ่ง

รถมาจอดอยู่หน้าช่วงตึกหนึ่ง ฉันก็งงว่ามาทำอะไร เสร็จแล้วเพื่อนพาเดิน

ขึ้นบันไดชันๆ มืดๆ กว้างราว 80เซนติเมตร ขึ้นไปที่ชั้นสาม ผ่าน

ชั้นสองที่ด้านซ้ายมือเป็นประตูเล็กๆ เพื่อเข้าไปยังห้องพักของคนอื่น

เราเดินขึ้นไปจนถึงชั้นบนสุดคือชั้นสามด้วยความเสียวเล็กๆ เข้าไปเป็น

ที่วางรองเท้า ตรงเข้าไปเป็นห้องโล่งๆ เล็กปูพรม ที่มุมห้องมีภาพเทพเจ้า

ของศาสนาฮินดูอยู่บนหลังตู้เข้ามุมใบเล็กๆ สองข้าง เลี้ยวซ้ายเข้าไป

เป็นห้องนั่งเล่นของเจ้าบ้านที่มีตั่งกลางห้อง ทีวีอยู่มุมห้อง เลี้ยวขวา

เจ้าของบ้านซึ่งเรานั่งคุยกันที่ห้องนี้ ห้อง เรานั่งบนเตียงนอนเพื่อนบ้าง

นั่งบนพื้นห้องบ้าง เจ้าบ้านเป็นชาวพม่าเชื้อสายอินเดียเป็น

ศาสตราจารย์ทางด้านสันสกฤต เป็นโสด และอุทิศตนเพื่องาน

ทางด้านศาสนา เพราะฉะนั้นบ้านของท่านนี้เป็นเหมือนสมาคมของ

ชาวพม่าเชื้อสายอินเดียที่นับถือฮินดูมาประกอบศาสนพิธีและกิจกรรมต่างๆ

ด้วยกัน สภาพความเป็นอยู่ของอาจารย์ท่านนี้สมถะ ไม่มีสมบัติข้าวของอะไร

ในบ้านมากเกินกว่าความจำเป็น ท่านให้เด็กหนุ่มนำขนมหวานแบบ

อินเดีย (คล้ายเนยหวานๆ อัดเป็นแท่งเล็กๆ) พร้อมน้ำเปล่ามาเสริฟ

ฉันแอบไปเข้าห้องน้ำที่อยู่ติดครัวทำให้เห็นว่าห้องครัวก็เรียบง่าย คนขับ

และเพื่อนไปยกกระเป๋าเดินทางของเรามาไว้บนบ้านให้ เสร็จแล้วเรา

นั่งคุยกัน มอบของที่ระลึกและหนังสือให้เพื่อนทุกคน เพื่อนที่ไปรับ

ที่สนามบินมีประชุมที่มหาวิทยาลัย เธอขอตัวไปก่อน มอบหมายให้เพื่อนๆ

เชื้อสายอินเดียดูแลพาไปที่ต่างๆ แทน เรานั่งคุยกันต่อ จนได้เวลาก็

พากันเดินลงบันไดอันสูงชันมาด้านล่าง เพื่อนพม่าคนนี้ก็สวมเชิร์ต

แขนยาวทับเสื้อยืดด้านในไว้ และสวมโสร่งพร้อมหมวกแก๊บ เราเดิน

กันไป ทำให้เห็นชีวิตผู้คนย่านนั้นมีชายหนุ่มตั้งโต๊ะเล็กๆ ขายหมาก

เหมือนที่อินเดีย เมื่ออยู่พม่าหลายวันทำให้เห็นว่าผู้ชายพม่าเคี้ยวหมาก

แทนหมากฝรั่งเพราะเห็นมีขายทั่วไป และพื้นถนนหนทางก็เห็นร่องรอย

น้ำหมากที่คนบ้วนทิ้งไว้

 ---------------------------------

หากท่านสนใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และเอก ใน

หลักสูตรต่างๆ ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท

มหาวิทยาลัยมหิดล กรุณาเข้าชมรายละเอียดใน www.lc.mahidol.ac.th

หรือโทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3010

หมายเลขบันทึก: 171050เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2008 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

สนใจเรื่องภาษาพม่าอยู่พอดีครับ

อยากไปเที่ยวพม่ามั่งจัง

ป.ล. สถาบันวิจัยภาษาฯ มีห้องสมุดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้บริการไหมครับ

เรียน คุณธวัชชัย

    พม่าเปิดให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวได้ค่ะ

   ขอเชิญไปใช้บริการห้องสมุดที่สถาบันฯ ได้ค่ะ ตอนนี้ยังฟรีอยู่ค่ะ และเรามีสำนักงานบริการข้อมูลภาษาและวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ซึ่งมีหนังสือเกี่ยวกับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งจีนและอินเดียซึ่งมีทั้งภาษาของประเทศเหล่านี้ รวมทั้งภาษาไทยและอังกฤษที่ดีพอสมควรแห่งหนึ่งของประเทศ ขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบและไปใช้กันได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท