จุดเริ่มต้นสิทธิการมีส่วนร่วมประเมินสื่อโทรทัศน์ในสังคมไทย


ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมเองมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นว่ารายการโทรทัศน์ควรตอบสนองต่อการศึกษาเรียนรู้ของคนในสังคมอย่างไร ให้เหมาะสมกับบริบท วัฒนธรรมของคนในสังคมไทย

จุดเริ่มต้นสิทธิการมีส่วนร่วมประเมินสื่อโทรทัศน์ในสังคมไทย

โทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสังคมไทย สื่อโทรทัศน์เริ่มต้นออกแพร่ภาพมาตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ๒๔๙๘ ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรม ดำเนินการโดยไทยโทรทัศน์จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและเรียนรู้คนในสังคม  ตลอดระยะเวลา ๕๐ กว่าปีที่ผ่านมารายการโทรทัศน์ให้การศึกษาเรียนรู้อย่างมากมาย แต่ขณะเดียวกันในปัจจุบันนี้ กลับเป็นที่ถกเถียงกันมากว่ารายการโทรทัศน์จากเดิมที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในสังคมไทย กลายเป็นการนำสื่อโทรทัศน์มาเป็นเครื่องมืออันมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเป็นหลัก และก่อให้เกิดมุมมองทางการผลิตรายการเพื่อการบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้มีรายการที่ส่งเสริมด้านการเรียนรู้ลดน้อยลงไป  จนไม่เป็นที่น่าแปลกใจอะไรเลยว่าคนในสังคมส่วนใหญ่จะชื่นชอบรายการโทรทัศน์ที่ให้ความบันเทิงมากกว่าการศึกษาและความรู้  นั่นเป็นเพราะรายการโทรทัศน์ต่างๆถูกตีกรอบให้ผลิตเพื่อการบันเทิง และตอบสนองต่อธุรกิจโฆษนาที่สนับสนุนรายการที่มีผู้ชมจำนวนมาก จึงเกิดคำถามตามมาว่าแท้จริงแล้วคนในสังคมไทยต้องการใช้สื่อเพื่อตอบสนองต่อความบันเทิงอย่างนั้นหรือ??? แล้วรายการสำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว และสตรี ตลอดจนผู้ด้อยโอกาสทางสังคมจะอยู่ตรงไหน

ในอดีตจนถึงปัจจุบันการประเมินว่ารายการใดมีผู้ชมจำนวนมาก ได้จากการสำรวจข้อมูลของบริษัทเอกชนข้ามชาติ(AC nelson) ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลความนิยมในการชมโทรทัศน์ของคนในสังคม โดยใช้วิธีการขอนำกล่องดำไปติดไว้ตามบ้าน ซึ่งข้อมูลได้มาจากพฤติกรรมการกด Remote ของผู้ชมนั่นเอง อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าว ไม่สามารถตอบโจทย์ว่ารายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมจำนวนมากนั้น เป็นรายการที่สามารถตอบสนองต่อการการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ของคนในสังคมได้อย่างเพียงพอตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการเกิดสถานีโทรทัศน์เพื่อการเรียนรู้ที่เคยเป็นมา

ด้วยสังคมที่หลากหลายด้านวัฒนธรรม เพศ ภาษาศาสนา และชนชั้นอย่างสังคมไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นรากฐานของความเป็นประเทศทั้งสิ้น ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมเองมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นว่ารายการโทรทัศน์ควรตอบสนองต่อการศึกษาเรียนรู้ของคนในสังคมอย่างไร ให้เหมาะสมกับบริบท วัฒนธรรมของคนในสังคมไทย  ภาครัฐต้องคำนึงถึงสิทธิการมีส่วนร่วมของภาคสังคมในการประเมินคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ เพื่อตอบโจทย์ว่ารายการโทรทัศน์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของคนในสังคมไทยควรเป็นไปในทิศทางใด

ปัจจุบัน มีกลุ่มคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อแม่ เด็ก เยาวชน ตลอดจนภาควิชาการและหน่วยงานของรัฐ ตอบโจทย์ในแนวทางเดียวกันว่ารายการโทรทัศน์ควรมีเนื้อหาสาระการเรียนรู้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และการมีส่วนร่วมแสดงความเห็นในการประเมินรายการโทรทัศน์นั้นยังขาดการสนับสนุนพื้นที่หรือช่องทางการเข้าไปมีส่วนร่วมของทุกส่วนภาคส่วนในสังคม จากโครงการวิจัยและพัฒนาการประเมินคุณภาพเนื้อของสื่อ (ME) ซึ่งอาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และเป็นผู้จัดการโครงการวิจัยและพัฒนา กล่าวเสมอว่า การขับเคลื่อนการประเมินคุณภาพเนื้อหาของสื่อ ตลอดการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อต่างๆ ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมเป็นสำคัญ 

 ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การประเมินสื่อโทรทัศน์ในสังคมไทยนั้น ประการแรก ภาครัฐต้องเห็นความสำคัญในสิทธิของคนในสังคมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสิทธิการแสดงความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนรายการโทรทัศน์ให้ไปตามที่สังคมต้องการ  ประการที่สอง รัฐต้องสนับสนุนพื้นที่การประเมินคุณภาพเนื้อหาของรายการโทรทัศน์ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนในสังคมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างกรอบแนวคิดและทัศนคติการผลิตรายการโทรทัศน์ที่เป็นประโยชน์และตอบสนองการศึกษาเรียนรู้ต่อคนในสังคมอย่างแท้จริง

 

หมายเลขบันทึก: 170999เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2008 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท