เรื่องเล่า - อบต. นาดี กับการจัดการป่าชุมชน


เรียบเรียงโดย สุนทรียา อ่อนเขียว จากหนังสือ "ถักทอความรู้จากแผ่นดิน -รวมเรื่องเล่าจากชาวบ้านและคนทำงานป่าชุมชน"

เมื่อวานนี้ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งขนาดพ็อคเก็ตบุคค์จากคุณสุรีรัตน์    กฤษณะรังสรรค์  ผู้ประสานงาน  แผนงานสนับสนุนโครงการขนาดเล็กของชุมชนในการจัดการป่า     เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องเล่าจากโครงการป่าชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนไปแล้ว    เป็นรูปแบบการรวบรวมเรื่องเล่าอีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน   ลองดูตัวอย่างเรื่องเล่าจากคนหน้างาน ซักเรื่องนะครับ

อบต. นาดี กับการจัดการป่าชุมชน

"ในอดีตสภาพป่าชุมชน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นป่าโคก  หรือที่เรียกกันว่า  ป่าเต็งรัง  โดยมีไม้เต็ง ไม้รังเป็นไม้หลัก  และมีไม้อื่นๆ เช่น ไม้กระบก  ไม้เหียง  ไม้แดง ฯลฯ   ลักษณะของป่าเต็งรังจะมีไฟไหม้ทุกปี  ทำให้ต้นไม้เล็ก  แคระแกรน  และเป็นป่าโปร่งที่มีแต่ลูกไม้   นอกจากนั้น   ไม้ใหญ่ๆได้ถูกสัมปทานโรงเลื่อย  ถูกตัดไปสร้างบ้านเรือน  ทำเฟอร์นิเจอร์  ทำฝืน  และเผาถ่านขาย   ป่าได้ถูกบุกรุกโดยถือว่ามือใครยาว  สาวได้สาวเอา   ใครบุกรุกได้เท่าไรก็จะมีที่ดินเพิ่มขึ้นเท่านั้น   ป่าจึงไม่ได้รับการดูแลรักษา  ไม่มีแนวเขต  ไม่มีใครเห็นความสำคัญและประโยชน์  สภาพป่าจึงเสื่อมโทรมอย่างหนักสืบมา

ในระยะแรกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และชุมชนไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่และยังไม่มีความรู้และทักษะพอที่จะจัดการป่าได้   นอกจากนั้น  การใช้ประโยชน์จากการหาของป่าของคนในพื้นที่มีจำนวนมากขึ้น    ซึ่งทำให้เห็ดบางชนิดลดปริมาณอย่างรวดเร็ว  มีการเก็บหาหน่อไม้ไปขาย  ขุดต้นผักหวานจากป่าไปปลูกที่บ้าน  ใช้ยาฉีดพ่นรังมดแดงเพื่อเก็บไข่ไปขาย   ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง  ไม่มีใครให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างจิตสำนักให้กับเด็กในโรงเรียน

5-6 ปี ที่ผ่านมา  ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับส่งเสริมการจัดการป่าชุมชนที่บ้านนาดี    ได้มีส่วนในการจัดตั้งองค์กรชุมชนในการจัดการป่า  ทำให้มีการกำหนดอาณาเขตป่าที่ชัดเจน   มีกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์จากป่า  มีการลาดตระเวณ  การระวังไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่า   ดูแลรักษา ฟื้นฟู  และปลูกเสริมในพื้นที่ต่างๆ     สภาพป่าดีขึ้น มีต้นไม้เจริญเติบโตหนาแน่น  อาหารป่าเพิ่มขึ้น  จากการเก็บได้ปีละครั้ง  เป็นเกือบตลอดทั้งปี   ทำให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกรักและหวงแหน   มีความรู้ความเข้าใจในระบบการจัดการป่าชุมชน   เมื่อมีการจัดงานประเพณีพิธีกรรมต่างๆในการอนุรักษ์ป่า   ก็มีคนเข้าร่วมมากขึ้น   ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากชุมชน  เกิดการยอมรับ   เห็นความสำคัญและช่วยกันสอดส่องดูแลรักษาด้วยกันทั้งชุมชน   รางวัลต่างๆที่ชุมชนได้รับ  เช่น  รางวัลการรักษาป่าดีเด่น  รางวัลตำบลสีเขียวขจี  ฯลฯ   ทำให้คนในตำบลเกิดความภาคถูมิใจ    คนนอกชุมชนและชุมชนข้างเคียงได้เห็นความสำคัญของการอนุกรักษ์ฟื้นฟูป่า  ก็ยอมรับและไม่ละเมิดกฎกติกาในการหาอยู่หากิน  ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์อย่างไม่ทำลายป่า

การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนในการสร้างมาตรฐานคุ้มครองป่าอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อไป  รวมทั้งการจัดระบบการประสานงานในระดับต่างๆ ทั้งเทศบาล  อบต.  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่   เพื่อให้มีแนวทางการทำงานร่วมกันแบบองค์รวมในทิศทางเดียวกัน

อบต. นาดี  ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนด้วยการปลูกจิตสำนึกของชุมชน  เพื่อสร้างพื้นฐานให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้  สมาชิก อบต.  ทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามา   และมีพื้นฐานการทำป่าชุมชนมาก่อน  จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการป่าชุมชน   นายเสาร์  บุญอภัย  สมาชิก อบต.  บ้านโนนงาม  ได้นำข้อบังคับเดิมในเรื่องป่าชุมชนมาชี้แจงและโน้มน้าวให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าใจและสนับสนุนงบประมาณในการจัดการป่า   และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเครือข่าย อบต. ในการวางแผนปฏิบัติการด้านการจัดการป่าชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆอีกด้วย

ในการประสานงานระหว่างชุมชนกับ อบต. ผู้นำชุมชนได้ใช้วิธีการพบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับสมาชิก  อบต.   แต่ละหมู่บ้านเรื่องโครงการต่างๆ   ที่ดำเนินการงานแล้วกำหนดวันทำกิจกรรมร่วมกัน   โดยเชิญสมาชิก อบต.  ทุกหมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรม   เชิญ  สมาชิก  อบต.  ทุกหมู่บ้านเข้าร่วมกิจกรรมและสรุปผลงาน  ประสานขอความร่วมมือจาก  อบต.  ให้สนับสนุนโครงการต่างๆ  ได้แก่  การอบรมอาสาสมัครพิทักษ์ป่า  การทำแนวกันไฟ  หลังจากนั้นได้แนะนำให้ทุกหมู่บ้านจัดทำแผนชุมชนให้สอดคล้องกันเพื่อจัดทำเป็นแผนตำบลและประสานนายก อบต. เพื่อบรรจุร่างโครงการ  ตั้งงบประมาณสนับสนุนต่อไป

การจัดการป่าชุมชน อบต. นาดี  จะจัดทำทั้งตำบล 12 หมู่บ้าน มีกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์จากป่า  การเพาะกล้าไม้ที่กำลังจะสูญหายหรือสูญพันธุ์เพื่อปลูกทดแทน  ดูแลรักษา  ฟื้นฟู  ทำแนวกันไฟ  และลาดตระเวณป้องกันไฟป่าอย่างต่อเนื่อง

งานด้านการอนุรักษ์ป่าชุมชนของตำบลนาดีประสบความสำเร็จด้วยดีเพราะเป็นการร่วมมือกันระหว่างชุมชน  และ อบต. โดยชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม  และ อบต. เป็นผู้สนับสนุน  เช่น  การเป็นเจ้าภาพจัดตั้งกองทุนป่าชุมชนตำบลนาดี   เพื่อใช้สนับสนุนการจัดการป่าชุมชนต่อๆไป  ผลสำเร็จของความร่วมมือร่วมใจในการจัดการป่าทำให้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ  ได้แก่  แผนงานสนับสนุนโครงการขนาดเล็กของชุมชนในการจัดการป่าชุมชน - UNDP    สมาคมพัฒนาชนบทอีสาน   องค์การแพลนประเทศไทย  เป็นต้น

คณะบริหารองค์การส่วนตำบลนาดีตระหนักในความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้  ได้ปรับปรุงกลยุทธ์ในการส่งเสริมการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง  ได้พยายามผลักดันให้ชุมชนรู้จักการใช้ประโยชน์จากป่า  และปลูกจิตสำนึกเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นเพื่อให้เติบโตเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนป่าชุมชนตำบลนาดีได้อย่างมีประสิทธิภาพในวันข้างหน้า"            

สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดต่อ

คุณสุนทรี อ่อนเขียว

โครงการศึกษาและฟื้นฟูป่าชุมชนอย่างยั่งยืนเครือข่ายอินแปง

149/7  หมู่ 8  บ้านบัว  ต.กุดบาก  อ.กุดบาก  จ.สกลนคร  92000

ผู้สนับสนุนโครงการและจัดพิมพ์หนังสือ     http://www.undp.or.th/

คำสำคัญ (Tags): #storytelling#undp#อบต#thailand
หมายเลขบันทึก: 17093เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
นาคพงษ์ อ่อนเขียว

     อยากทราบว่า  มีองค์กรใดที่โครงการป่าชุมชนสังกัดอยู่   

และแต่ละป่าชุมชนมีวิธีการ  จุดประสงค์เป็นอันเดียวกันหรือป่าว  และสามารถศึกษาได้จากที่ไหน

และหนังสือนั้น   หาได้จากที่ไหนครับ  อยากให้มีไปมอบให้อาจารย์ที่บ้าน  พอดีท่านพานักเรียนทำงาเกี่ยวกับป่าชุมชนอยุ่

ลองติดต่อขอที่

คุณสุรีรัตน์  กฤษณะรังสรรค์

โทร  02-288 2148

E-Mail: [email protected]

 

ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท