คุณเชื่อโชคลางหรือเปล่า ?


คุณเชื่อโชคลางหรือเปล่า ?

คุณเชื่อโชคลางหรือเปล่า ?

(Do you believe in Superstitions?)

 

ตามความเห็นส่วนตัวของผู้แปลคิดว่า คนไทยเรามีความเชื่อเรื่องนี้มานานแสนนานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณผู้หญิงจะมีความเชื่อมากกว่าคุณผู้ชาย  มิฉะนั้น อาชีพหมอดูประเภทต่างๆ เช่น ดูลายมือ  ดูไพ่ชนิดต่างๆ  ดูดวง  แม้กระทั่งดูจากเส้นฝ่าเท้า จะไม่อยู่ยาวนานมาจนบัดนี้  จนนำรายได้ให้ผู้เป็นหมอดูรวยไปตามๆ กัน ไม่เพียงแต่คนไทยเราที่เชื่อเรื่องเหล่านี้ แม้ฝรั่งต่างชาติก็ไม่ได้น้อยหน้าพี่ไทยเราเลย เราลองมาดูเรื่องที่เราได้ยินมาบ่อยๆ

 

- เรื่องห้ามเดินใต้บันได หรือห้ามกางร่มในบ้าน

คุณคงเป็นคนหนึ่งที่สงสัยว่าทำไมเขาจึงห้ามดังนี้ ผู้ห้ามทั้งหลายน่าจะเป็นผู้แก่เฒ่ามากๆ ที่เราไม่มีโอกาสพบท่านเหล่านั้น เราคงอยากจะทราบว่าความเชื่อเรื่องนั้นๆ เป็นมาอย่างไร และเชื่อตกทอดกันนานเท่าใด ที่สำคัญชาติใดมีความเชื่อเป็นชาติแรก

อันที่จริงแล้วนักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า เรื่องโชค เรื่องลางนี้ อยู่กับมนุษย์เรามานานแล้ว นับเป็นเวลาพันๆ ปี ก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงห้าม ดังนั้นจึงมีพวกคิดหาแนวทางมาชี้แจงเหตุผล และเราได้ฟังต่อๆ กันมานานแล้ว พร้อมทั้งปฏิบัติตาม

สำหรับเหตุผลที่ไม่ให้เราเดินใต้บันได (Don’t walk under a ladder)

ความเชื่อโบราณด้วยเหตุผลประการหนึ่ง เชื่อว่า หากคุณไปเดินใต้บันได สิ่งไม่ดีจะติดตามตัวคุณมา เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโชคร้ายคุณจะต้องไขว้นิ้วมือนิ้วหนึ่งบนนิ้วมืออีกนิ้วหนึ่งเสมือนเป็นการขอให้โชคร้ายกลับกลายเป็นโชคดี นักประวัติศาสตร์ เชื่อว่าเรื่องโชคลางนี้อาจจะเริ่มต้นจากการนำบันไดไปพิงกำแพงจึงทำให้เกิดเนื้อที่เป็นรูปสามเหลี่ยม (Triangular shape) ซึ่งรูปสามเหลี่ยมเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระเจ้าอันเป็นที่เคารพสักการะของศาสนาคริสต์ ๓ องค์ นั่นคือ พระบิดา พระโอรส และพระวิญญาณ เมื่อผู้ใดเดินเข้าไปในเนื้อที่นั้นก็เท่ากับเราไม่เคารพสิ่งอันเป็นที่สักการะของศาสนา

 

- เรื่องเลข ๑๓ อันเป็นเลขอัปมงคล (The unlucky number thirteen)

เลขนี้ในบางประเทศจะไม่ใช้เป็นเลขที่บ้านเลย จะใช้เพียงบ้านเลขที่ ๑๒ หรือ ๑๒๑/๒ แล้วก็ไปที่เลข ๑๔ เป็นต้นไป อาคารหลายหลังในสหรัฐอเมริกาจะไม่มีป้ายปิดบอกชั้น ๑๓ และ แม้กระทั่งปุ่มบอกชั้นอาคารในลิฟต์จะไม่มีเลข ๑๓ เลย คนบางคนจะไม่ซื้อ หรือใช้สิ่งของที่เป็นหมายเลขนี้ นักประวัติศาสตร์คิดว่า เลข ๑๓ นี้ไม่เป็นมงคลอาจจะมีประวัติเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล (Bible) คือ จำนวนผู้แทน ๑๓ คนที่อยู่ในพิธีขณะที่พระเยซูคริสต์รับประทานอาหารมื้อสุดท้าย ก่อนจะถูกตรึงไม้กางเขน

 

- เรื่องกระจกส่องหน้าแตก (Breaking a mirror)

เป็นความเชื่ออีกอย่างหนึ่งคือ ถ้ากระจกส่องหน้าแตกจะนำความโชคร้ายมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้นเมื่อมันแตกต้องรีบเก็บชิ้นส่วนที่แตกทั้งหมด แล้วนำไปฟัง ในสมัยที่ยังไม่มีกระจกส่องหน้า คนสมัยแรกจะดูรูปร่างหน้าตาของตนเองจากเงาในพื้นน้ำ หากวันใดดูแล้วเห็นว่าหน้าตาตนเองผิดเพี้ยนไปก็หมายถึงว่า จะเกิดความโชคร้าย จึงนำไปคิดต่อเนื่องว่า เมื่อกระจกส่องหน้าแตก นั่นก็หมายถึง ความโชคร้ายจะมาถึงตนเอง และเป็นการร้ายแรงกว่ารูปร่างหน้าตาที่ผิดเพี้ยนจากเงาบนพื้นน้ำเสียอีก โดยเชื่อว่ากระจกส่องหน้าแตกเป็นเสี่ยงๆ รูปร่างหน้าตาผู้เป็นเจ้าของก็จะแตกเป็นเสี่ยงไปด้วย นอกจากนี้ชาวโรมันยังมีความเชื่อในเลข ๗ เขาเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์เราจะเปลี่ยนแปลงทุกๆ ๗ ปี

 

- เรื่องการเคาะกระดาน (Knocking wood)

การเคาะกระดาน ๓ ครั้ง ก็เปรียบเสมือนช่วยให้โชคดี ความเชื่อเช่นนี้สืบทอดมายุคประวัติศาสตร์ที่เราเชื่อว่า พระเจ้าได้สถิตอยู่ใต้ต้นไม้ คนจึงเชื่อว่า หากพวกเขาได้สัมผัสไม้ก็เท่ากับว่าได้สัมผัสสิ่งมหัศจรรย์ที่จะนำความสำเร็จโชคดีให้แก่เขา ดังนั้น พวกเขาจึงเคาะกระดาน ๓ ครั้ง เพื่อเป็นการขอโชคดีให้แก่ตนเอง

 

- เรื่องการลุกจากที่นอนผิดด้าน (Getting out of bed on the wrong side)

ความเชื่อมีอยู่ว่า การลุกจากที่นอนหรือเตียงนอนทางด้านซ้าย จะทำให้ไม่มีความสุขตลอดทั้งวัน ดังนั้น คุณต้องลุกขึ้นทางด้านขวา แล้วต้องเอาเท้าขวาแตะพื้นเป็นครั้งแรก เรื่องนี้คงเป็นความเชื่อของคนโบราณที่ว่า ทางขวาดีทางซ้ายไม่ดี

ตามความเชื่อข้างต้นเหล่านี้ ดิฉันไม่ขอออกความคิดเห็นใดๆ หากแต่คิดว่าเป็นความเชื่อเฉพาะบุคคล คงต้องขอทิ้งท้ายแบบข้อความบางเรื่องบนจอทีวีว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน สำหรับเหตุการณ์ในชีวิตของดิฉันเอง หากมีเลข ๑๓ ผ่านเข้ามา ดิฉันจะประสบความสำเร็จตลอดมา ฉะนั้นเรื่องราวข้างต้นนี้ ขอให้เป็นเพียงการอ่านเพื่อประดับความรู้เก็บไว้พูดคุยกันจะดีกว่า ส่วนท่านใดจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็เป็นสิทธิส่วนตัวของท่านนะค่ะ

 

ที่มา : จากหนังสือ My Worlds

          Maneul  dos  Santos  เขียน

          ว. ถังมณี  แปลและเรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 170868เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2008 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท