15 วิธีลดลม(ตด-ผายลม)+ท้องอืด


ปัญหาการผายลมเป็นเรื่องใหญ่จนวิทยาลัยแพทย์ทางเดินอาหารสหรัฐฯ ตีพิมพ์คำแนะนำ 10 ประการในการบริหารจัดการ "การผายลม"

 

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า เราๆ ท่านๆ นั้นบางครั้งก็อดจะผายลม(ตด)ออกมาไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาตื่นเต้นมากๆ หรืออยู่ในที่คับขัน เช่น ลิฟต์ ฯลฯ

ปัญหาการผายลมเป็นเรื่องใหญ่จนวิทยาลัยแพทย์ทางเดินอาหารสหรัฐฯ ตีพิมพ์คำแนะนำ 10 ประการในการบริหารจัดการ "การผายลม"

...

อาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดท่านนำมาเสริมเคล็ดไม่ลับเพิ่มเติม... จนได้เป็น "12 วิธี บริหารการผายลม(ตด) และลดท้องอืด" ตีพิมพ์ในจดหมายข่าวเฮลต์บีทออนไลน์ ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยเรียบเรียงใหม่เป็น 15 วิธีครับ

...

(1). ยอมรับความจริง...

  • "ผายลม(ตด)เป็นเรื่องธรรมดา" อาจารย์ท่านว่าไว้อย่างนี้
  • ผู้ใหญ่เกือบทุกคนผายลม(ตด)วันละ 10-20 ครั้ง
  • การผายลมเพิ่มขึ้นมักจะเมื่อคนเราหันมากินอาหารสุขภาพใหม่ๆ เช่น ถั่ว บรอคโคลี ข้าวกล้อง ฯลฯ

...

(2). อย่ากินหรือดื่มเร็วเกิน...

  • เวลาคนเรากินอาหาร หรือดื่มน้ำ... คนเราจะกลืน "ลม(อากาศ)" เข้าไปด้วยเสมอ และจะกลืนลมมากขึ้นถ้ากินเร็ว ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเร็ว
  • วิธีง่ายๆ คือ กินช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด เวลาดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มก็ควรดื่มช้าๆ เช่นกัน

...

(3). เวลากินอย่าพูดมาก...

  • ผู้เขียนขอเสริมข้อนี้หน่อยคือ เวลากินอย่าพูดมาก เพราะยิ่งพูดมากจะยิ่งกลืนลมเข้าไปมากขึ้น

...

(4). หลีกเลี่ยงอาหาร "เติมแก๊ส"

  • เครื่องดื่มหลายๆ อย่างมีแก๊สมาก เช่น เบียร์ โซดา น้ำอัดลม ฯลฯ ดื่มแล้วจะทำให้เรอมากขึ้น ผายลมมากขึ้น
  • อาหารและขนมประเภทเบเกอรีหลายๆ อย่างมีการเติมฟองอากาศ(ลม)เข้าไป ทำให้นุ่มนิ่มแบบสุดๆ เช่น เค้กฟองน้ำ (sponge cake) นมปั่น (milk shakes) ฯลฯ

...

(5). งด-ลด-ละ-เลิกบุหรี่

  • เวลาคนเราสูบบุหรี่ หรือยาสูบรูปแบบอื่นๆ จะสูบลม(อากาศ)เข้าไปด้วย ทำให้เสี่ยงต่อการผายลมเพิ่มขึ้น

...

(6). ลดอาหารที่มีกำมะถัน

  • อาหารหลายอย่างมีสารประกอบกำมะถันค่อนข้างมาก ซึ่งมักจะทำให้เกิดแก๊สชนิดมีกลิ่นเหม็น เช่น ไข่ เนื้อ กะหล่ำปลี ฯลฯ
  • การกินพอประมาณ หรือทางสายกลางยังคงเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลเสมอ

...

(7). ลดถั่วและผักบางชนิด

  • คนที่เริ่มกินถั่วและผักมากขึ้นในช่วงแรกๆ อาจมีปัญหาท้องอืด หรือผายลมมาก เนื่องจากถั่วสด ถั่วเมล็ดแห้ง และผักบางชนิดมีน้ำตาลที่ร่างกายย่อยไม่ได้
  • แบคทีเรียในลำไส้จะย่อยน้ำตาลที่คนเราย่อยไม่ได้ ทำให้เกิดแก๊ส
  • เรียนเสนอให้พวกเราที่สนใจจะกินถั่วและผักเพิ่มขึ้น ค่อยๆ เพิ่มทีละน้อย
  • ข่าวดีคือ การต้มถั่ว หรือนำถั่วไปแช่น้ำหลายๆ ชั่วโมงก่อนนำไปปรุงอาหาร และปรุงอาหารให้นานหน่อย ช่วยลดปัญหานี้ให้น้อยลงได้
  • ผู้เขียนไปนมัสการสังเวชนียสถานอินเดีย-เนปาลหลายครั้ง สังเกตว่า คนอินเดีย-เนปาล ซึ่งกินถั่วต้มมาก เกือบไม่ผายลมเลย เข้าใจว่า คงจะเป็นเพราะท่านเหล่านี้กินถั่วต้มเป็นหลัก ส่วนผักสด ถั่วสดนี่... คนอินเดีย-เนปาลกินน้อยมาก

...

(8). ยาช่วยย่อย

  • การศึกษาวิจัยจากอิตาลีในปี 2006 หรือ พ.ศ. 2549 พบว่า ยาช่วยย่อยซึ่งมีเอนไซม์ช่วยย่อย (alpha-galactosidase) ขนาดปกติ ไม่ช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น หรือผายลมน้อยลง ต้องใช้ขนาดสูงมากๆ จึงจะได้ผล
  • ถ้าจะลองใช้ยาช่วยย่อยก็ได้ ทว่า... ถ้าไม่ได้ผลคงต้อง "ทำใจ"

...

(9). น้ำหวาน

  • ทุกวันนี้อาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปนิยมนำน้ำเชื่อมฟรัคโทส (fructose syrup) มาใช้ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มเติมน้ำตาล ขนม ฯลฯ
  • การกินน้ำเชื่อมฟรัคโทสมากๆ อาจทำให้ท้องอืด หรือผายลมมากได้ เนื่องจากคนบางคนดูดซึมน้ำตาลชนิดนี้ได้ในปริมาณจำกัด
  • เรื่องของหวานๆ นี้... ท่านว่า "น้อยไว้ละดี"

...

(10). ยาอื่นๆ

  • ยาอื่นๆ เช่น ถ่านที่มีพื้นที่ผิวมาก (activated charcoal) ซึ่งกล่าวกันว่า ดูดซับแก๊สบางอย่างได้ ไซเมติโคน (simethicone) ซึ่งกล่าวกันว่า ช่วยลดการเกิดฟอง ทำให้การดูดซึมแก๊สเข้าสู่ผนังลำไส้ดีขึ้น ฯลฯ พบว่า ได้ผลไม่แน่นอน

...

(11). กางเกงในไฮเทค

  • ดอกเตอร์ไมเคิล เลวิทท์ เมืองมินนีอาโพลิส สหรัฐฯ พัฒนากางเกงในที่ดูดซับกลิ่นผายลมแบบเหม็นได้
  • ท่านอ้างว่า กางเกงในที่พัฒนาขึ้นดูดซึบกลิ่นผายลมแบบเหม็นได้เกือบทั้งหมด
  • นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์เป็นแผ่นสอดเข้าด้านในกางเกงใน (inside pads) ซึ่งดูดซึบกลิ่นผายลมแบบเหม็นได้ 55-77% และแผ่นเบาะหนุนรอบๆ กางเกงใน ซึ่งดูดซึบกลิ่นผายลมแบบเหม็นได้ 20%
  • ปัญหาคือ กางเกงในที่ว่านี้ราคาตัวละ 65 เหรียญสหรัฐฯ (2,080 บาท) จะใช้ได้ดีจริงหรือเปล่า จะใช้ได้กี่ครั้งก็ไม่ทราบ เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่มักจะมี "ราคาคุย" ไม่มากก็น้อยเสมอ

...

(12). ยาปฏิชีวนะ

  • การใช้ยาปฏิชีวนะไปฆ่าเชื้อโรคในลำไส้พบว่า ไม่ได้ผล และอาจมีอันตราย
  • ผู้เขียนขอเรียนเสนอให้ทดลองกินนมเปรี้ยว หรือโยเกิร์ตดู ซึ่งมีจุลินทรีย์ชนิดดี ขอให้เลือกชนิดไขมันต่ำ-น้ำตาลต่ำหน่อย เนื่องจากจุลินทรีย์ชนิดดีอาจเข้าไปช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์ชนิดร้ายๆ ได้
  • เรื่องนี้คล้ายกับการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ฝ่ายดี (E.M. / อี.เอ็ม.) ซึ่งลดกลิ่นเหม็นเน่าจากจุลินทรีย์ร้ายๆ ในบ่อบำบัดน้ำเสีย

...

(13). ออกแรง-ออกกำลัง

  • อาจารย์หมอท่านแนะนำให้ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะการเดิน หรือออกกำลัง "นอกอาคาร"
  • การศึกษาวิจัยจากสเปนในปี 2006 หรือ พ.ศ. 2549 พบว่า วิธีนี้ "ได้ผล" แบบ "หลีกเลี่ยงดีกว่าต้านทาน" (สำนวนอาจารย์กังฟูในหนังประมาณ 30 ปีก่อน)
  • ท่านบอกเคล็ดไม่ลับว่า การออกแรง-ออกกำลังมักจะทำให้เกิดการผายลมในช่วงนั้น ซึ่งเมื่อเราอยู่นอกอาคาร อยู่คนเดียว หรืออยู่กับเพื่อนๆ แล้ว เรื่องผายลมจะไม่ทำให้เราหน้าแตก หรืออาย ทว่า... กลับเป็นเรื่องสนุก หรือขบขันไปเสียอีก
  • เมื่อลม(อากาศ)ออกมาแล้ว ลมจะเหลืออยู่ในลำไส้น้อยลง โอกาสผายลมเวลาทำงาน ประชุม หรืออยู่ในที่คับขัน เช่น อยู่ในลิฟต์ ฯลฯ จะน้อยลงไปอย่างมากมายทีเดียว

...

(14). อย่ากิน "ข้าวคำ-น้ำคำ"

  • ศาสตราจารย์พวงทอง ไกรพิบูลย์สอนผู้เขียนว่า การกินข้าวแบบ "ข้าวคำ-น้ำคำ" หรือกินข้าวได้สัก 2-3 คำสลับกับการดื่มน้ำ 1 คำ อาจทำให้ท้องอืดได้ง่าย เนื่องจากไปทำให้ปริมาณอาหารและน้ำในกระเพาะอาหารมีมากเกิน
  • วิธีที่ดีกว่าคือ กินข้าวช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด เคี้ยวเบาๆ (ผู้เขียนเพิ่งถูกอาจารย์หมอฟันดุมาว่า เคี้ยวแรง ทำให้ฟันสึกทุกซี่) และค่อยๆ กลืน
  • ส่วนน้ำนั้น... ให้ดื่มหลังอาหาร แล้วเดินหลังอาหารสัก 10 นาที เผื่อจะได้ "ผาย(ลม)" ออกมาบ้าง แล้วจะสบาย

...

(15). ระวังหมากฝรั่ง

  • การเคี้ยวหมากฝรั่งมีส่วนเพิ่มการกลืนลมลงไปในท้อง
  • นอกจากนั้นการเคี้ยวหมากฝรั่งเติมน้ำตาลพิเศษที่ไม่ทำให้ฟันผุ เช่น ไซลิทอล ฯลฯ มากเกิน  เนื่องจากร่างกายย่อยน้ำตาลพิเศษไม่ได้ น้ำตาลพิเศษเหล่านี้จะดูดน้ำไว้ ซึ่งถ้ามีมากเกิน อาจทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสียได้

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • Thank HealthBeat (www.health.harward.edu) > 12 tips for reducing gas > HealthBeat. December 18, 2007. / [ Click ]
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โ รงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 12 มีนาคม 2551.

 

หมายเลขบันทึก: 170557เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2008 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับคุณหมอ

                ขอบคุณครับ...จะฝึกตนใหม่ครับ

                                               ขอบคุณครับผม

ขอขอบคุณ... คุณนายช่างใหญ่

  • ขอแสดงความชื่นชมที่ตั้งใจจะใส่ใจสุขภาพ ซึ่งจะช่วยประหยัดชีวิต ค่าใช้จ่าย และช่วยชาติประหยัดด้วย... สาธุ สาธุ สาธุ
  • เออ... บางทีผมตดบ่อยแฮะ
  • แบบนี้นี่เอง อิอิ

ขอขอบคุณ... คุณ suksom

  • ขอขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน
  • เรื่องสุขภาพนี่... ความรู้ ความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆ ดีใจที่เขียนแล้วมีท่านผู้อ่านเข้าใจครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

  • บางทีแอบสงสัยว่าตอนเด็กๆ ไม่ค่อยผายลม แล้วก็สงสัยลุงป้าน้าอาว่าทำไมผายลมกันได้บ่อยๆ น่าอายจัง
  • แต่พอตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่กลับมีอาการบ้าง  แต่ก็ไม่ได้ทำในที่สาธารณะนะคะ
  • มาอ่านของคุณหมอแล้วจึงเข้าใจว่าเพราะอะไร
  • ขอบคุณค่ะ 

สวัสดีค่ะ อาจารย์ (ขออนุญาตเรียกอาจารย์ค่ะ)

  • ปกติลำไส้จะเคลื่อนไหวดีมาก 
  • จะปฏิบัติตามคำแนะนำค่ะ
  • ขออนุญาตปริ๊น เก็บไว้สอนน้อง ๆ นะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

 

ช่วงนี้ลดน้ำหนัก โดยหันมากินมังสวิรัตมากขึ้นเลยมีลมเยอะหน่อย รายการอาหารตามที่คุณหมอเขียนเลยคะ ถั่วเขียวต้ม, หอมหัวใหญ่สด, ผักกาดแก้วสด, บลอคเคอรี่ต้ม, ไข่ขาว

ขอบคุณคะ

ทำไมผมถึงไม่ ตด ผายลมเลยครับ ผมมีปัญหาเกี่ยวกับระบบร่างกายหรือเปล่า มีวิธีแก้ยังไงบ้างครับ

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ Thank,you  

ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆที่คุณหมอกรุณาแนะนำ ใครนำไปปฏิบัติก็ได้ผลกับตนเอง 

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท