เนื้อหาการออกกำลังกายในประชุมวิชาการ รพ.บ้านตาก


การจะให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย ต้องอย่าทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าถูกบังคับ

เล่าเรื่องการประชุมวิชาการที่ รพ.บ้านตากไปแล้วตอนหนึ่ง (คลิกที่นี่) เพิ่งจะมีโอกาสได้เขียนบันทึกอีกครั้งในวันนี้ สิ่งที่จะลืมเล่าไม่ได้คือช่วงเย็นของวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ชาว รพ.บ้านตากได้พาทีมวิทยากรไปชม "ต้นไม้กลายเป็นหิน" หรือฟอสซิล ทางเข้าอยู่ฝั่งตรงข้าม รพ.บ้านตาก พวกเราตื่นตาตื่นใจกับต้นไม้ฟอสซิลที่มีขนาดใหญ่มากๆ รวมทั้งก้อนฟอสซิลที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และยังได้มีโอกาสเห็นก้อนที่เป็นโอปอลด้วย ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ช่วยอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้รู้ ต่อจากนั้นเรากลับไปพักผ่อนที่โรงแรมก่อนที่น้องๆ ของ รพ.บ้านตากจะมารับไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านริมแม่น้ำ คืนนั้นพวกเราคงรับประทานเข้าไปหลายแคลอรี่ เพราะมีทั้งส้มตำหมูกรอบ ขาหมูทอด และอื่นๆ อีกหลายรายการ

เช้าวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เริ่มรายการประชุมวันที่ ๒ ประมาณเกือบ ๐๙.๐๐ น. เพราะต้องรอผู้เข้าประชุมจากต่างอำเภอ ผศ.สมนึก กุลสถิตพร บรรยายเรื่องการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๒ เมื่อคืนเราคุยกันว่าถ้าผู้ฟังไม่ถามผู้บรรยายจะไม่พูด เมื่อที่ประชุมทราบจึงมีคำถามว่า "ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงมักปวดเท้าเวลาที่ออกกำลังกาย" คำตอบคงจะเกี่ยวกับเรื่องเท้าเสียมากกว่า อาจารย์สมนึกจึงตั้งคำถามเสียเองดังนี้ สมมติว่าท่านเป็นผู้ป่วยเบาหวาน (๑) ทำไมท่านต้องออกกำลังกาย ไม่ออกกำลังกายได้หรือไม่ (๒) ถ้าท่านต้องการออกกำลังกาย ท่านสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ (๓) ถ้าท่านต้องการออกกำลังกาย ท่านจะออกกำลังกายอย่างไร

คำตอบหลักๆ จากผู้เข้าประชุมคือผู้ป่วยเบาหวานต้องออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายใช้กลูโคสได้ดีขึ้น จะออกกำลังกายแบบไหนนั้น แล้วแต่ว่าแต่ละคนมีข้อจำกัดอะไรบ้าง สมมติว่าวันนี้จะให้ไปออกกำลังกาย จะไปทำอะไร คำตอบที่ได้มีตั้งแต่ เดิน วิ่ง บริหารข้อ ขี่จักรยาน ไม้พลอง จี่กง ถ้าถามไปเรื่อยๆ อาจมีอีกหลายวิธีที่เราก็นึกไม่ถึง อาจารย์สมนึกกระตุกพวกเราว่า "บางทีที่เราบอกผู้ป่วย เราบอกเพียงไม่กี่วิธีเท่านั้น"

อาจารย์สมนึกบรรยายต่อในเรื่องความสำคัญของการออกกำลังกาย ผู้เข้าประชุมเพิ่มเติมประโยชน์ข้างเคียงว่าทำให้ "มีเพื่อน มีเครือข่าย" ช่วยให้เรามองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากขึ้น ตามด้วย Physical Activities Guide Pyramid (คล้าย Food Pyramid) ที่บอกว่ากิจกรรมลักษณะใหน ควรทำบ่อยหรือมากน้อยเท่าใด  ลำดับขั้นตอนของการกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย ตั้งแต่การตรวจประเมินร่างกายเบื้องต้น การกำหนดเป้าหมาย และการกำหนดขนาดของการออกกำลังกาย

เราได้รู้ว่ารูปแบบการออกกำลังกายที่ดีคือเดินเร็วๆ ให้มีเหงื่อออกซึมๆ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างน้อย ๑๐ นาที รวมแล้วให้ได้วันละ ๓๐ นาที ถ้าวิ่งควรวิ่งเหยาะๆ หรืออาจปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำก็ได้ (แต่ต้องต่อเนื่อง ๑๐ นาที ไม่ใช่ว่ายแล้วเกาะขอบสระหยุดพักบ่อยๆ) ถามว่าจะให้เดินเร็วแค่ไหน คำตอบคือเดินให้รู้สึกเหนื่อยเล็กน้อย เหงื่อซึมๆ (ไม่เหมือนเดิน shopping ในห้างนะคะ) อาจารย์สมนึกเปรียบเทียบให้เห็นว่าการบริโภคแคลอรี่นั้นทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่กี่นาทีดื่มเครื่องดื่ม ๑ แก้ว ๒๐๐ แคลอรี่ได้หมด แต่ต้องใช้กำลังและเวลาตั้งนานกว่าจะขจัดแคลอรี่ส่วนนี้ออกไปได้ คือต้องเดินเร็วๆ ประมาณ ๑ ชม. หรือเล่นเทนนิสเบาๆ ๓๐ นาที หรือขี่จักรยานเบาๆ ตั้ง ๕ ไมล์ เวลาจะกินอะไรจึงต้องคิดหนักหน่อยนะคะ

คนที่ทำอาชีพบางอย่างใช้กำลังกายมากอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องออกกำลังเพิ่มขึ้น การจะให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย ต้องอย่าทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าถูกบังคับ ส่วนปัญหาที่ผู้ป่วยมักบอกว่าไม่มีเวลาสำหรับการออกกำลังกาย อาจารย์สมนึกมีประสบการณ์การแก้ปัญหานี้ โดยให้ผู้ป่วยกรอกข้อมูลในแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่ตื่นนอน ๐๖.๐๐ น.จนถึงประมาณ ๒๒.๐๐ น. ว่าทำอะไรบ้าง ผู้ป่วยจะพบเองว่าในแต่ละวันมีช่วงเวลาที่ผู้ป่วยไม่ได้ทำอะไรหรือไม่รู้ว่าจะทำอะไรอยู่ถึง ๓-๔ ชม.ทีเดียว มีคำถามที่น่าสนใจจากผู้ที่มาจาก รพ.สามเงาคือ "จะปรับเปลี่ยนงานบ้านอย่างไรให้เป็นการออกกำลังกาย" ตรงนี้จะต้องดูจาก MET กิจกรรมที่นับว่าเป็นการออกกำลังกายต้องหนักเกิน ๓ MET ขึ้นไป (มีตารางแจกแจงบอกไว้)

อาจารย์สมนึกแสดงท่าการออกกำลังกายต่างๆ โดยใช้รูปภาพใน Powerpoint เสียดายที่ห้องประชุมเล็กไปหน่อยไม่มีพื้นที่สำหรับทดลองออกกำลังกายจริงๆ ก่อนปิดท้ายด้วยข้อควรระวังในการออกกำลังกาย

การบรรยายครั้งนี้อาจารย์สมนึกได้ใช้เทคนิคต่างๆ ในการดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง เช่น การตั้งคำถาม การให้สังเกตตนเอง จุดประกายความคิดให้ผู้ฟังนำความรู้กลับไปใช้ต่อ ซึ่งจะได้ผลมากน้อยสักแค่ไหน คงต้องติดตามจากงานของทีม รพ.ต่างๆ ต่อไป

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 17009เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2006 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท