แนวทางการทำงานของอุทยานการเรียนรู้


การมีส่วนร่วมจากภาคีหรือเครือข่ายมีความสำคัญมาก

เหตุที่ทำให้เกิดอุทยานการเรียนรู้ขึ้นมาได้นั้น ขอยกความดีนี้ให้กับ ท่านนายกสมนึก  เกตุชาติ  ผู้เป็นนายกเทศมนตรี นานมาก จนกระทั่งชื่อของท่านกลายเป็น "นายก"  ไม่ใช่นายสมนึก 

ยอมรับว่าท่านเป็นคนมีวิสัยทัศน์มากๆ เป็นผู้บริหารที่น่าทึ่งมากคนหนึ่ง  ยอมทุ่มเทงบประมาณเพื่อการศึกษา  เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับคนได้ทุกระดับ และการที่ท่านก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้ขึ้นมานี้ท่านต้องใช้งบประมาณ ถึง 30 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งของท่าน ในบรรดาผลงานชิ้นโบว์แดงอีกหลายๆ ชิ้น ที่ภัชรับรู้แล้วทึ่งมากๆ  แล้วจะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปนะคะ

ตั้งแต่ก้าวแรกของการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ ทีมงานของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้ไปศึกษาดูงานจาก TK Park และที่อื่นๆ อีกหลายที่ (ฟังเขาเล่ามานะไม่ได้ไปเอง)  เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการจัดทำ  ซึ่งเป็นธรรมดาของการทำงานที่จะต้องไปศึกษาดูงานจากที่อื่นก่อน

แต่เทศบาลนครนครศรีธรรมราชมีวิธีการทำงานที่สำคัญอีกวิธีหนึ่งคือ  การจัดให้เยาวชนในชุมชนได้มามีส่วนร่วมในการช่วยกันคิดว่า หากจะมี CLP ทุกคนอยากได้อะไร  ต้องการให้มีบริการอะไรบ้าง  เจ้าหน้าที่ต้องเป็นอย่างไร บรรยากาศแบบไหน   สถานที่รูปแบบใด  

ในการจัด Brain Storming ในครั้งนั้นได้ไอเดียจากเด็กพอสมควร  

อีกหนทางหนึ่งคือเปิด web board  ให้ผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็น   ก็ได้ไอเดียมาพอสมควรเช่นกัน

การมีส่วนร่วมของภาคี หรือเครือข่ายมีความสำคัญมาก ซึ่งเราพบว่าที่เขาขอมานั้นเป็นที่ต้องการและโดนใจวัยโจ๋จริงๆ เมื่อได้อะไรที่โดนใจ เขาก็มาใช้บริการกันอย่างคับคั่งทีเดี่ยว

เมื่อเขาขอมาให้ CLP เป็นอาคารกระจก  มองเห็นได้ทุกมุม  เปิดเผย ไม่มีมุมอับ  เฟอร์นิเจอร์รูปแบบทันสมัย  มีสีสันเหมาะกับวันรุ่น  ขอมีแอร์เย็นๆ แบบในห้างสรรพสินค้า  ขอหนังสือที่น่าอ่านและใหม่อยู่ตลอดเวลา ขอห้องภาพยนตร์  ขอห้องซ้อมดนตรี  ขอเวทีสำหรับการแสดงความสามารถ  ขออินเตอร์เนต  ขอคอมพิวเตอร์เยอะๆ

เทศบาลก็เลยจัดให้!  ก็เลยเป็นที่มา ที่ทำให้ CLP มีอาคารที่เป็นกระจก  มีห้องอ่านหนังสือ ที่เรียกว่าห้องสีสันอักษร    มีห้องทำงานกลุ่มที่เรียกว่าห้องพายุสมอง        มีห้องฉายภาพยนตร์ที่เรียกว่าห้องวิกวิบวับ   มีห้องอบรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าห้องสมาธิไอที  มีบริการอินเตอร์เนตที่เรียกว่า โซนตะลอนเนต  มีเวทีสำหรับผู้กล้า เรียกว่า ลานแสดงพลัง   มีห้องสำหรับหนูน้อยเรียกว่า ห้องวัยตุ๊กตา   มีห้องสำหรับประชุมและอบรมเรียกว่าห้องเรียนขาลุย  มีมุมบริการหนังสือและนิตยสาร ที่เรียกว่า มุมโฉบสารมีร้านอาหารเล็กๆ เรียกว่า มุมอิ่มอร่อย   มีลานจัดนิทรรศการที่เรียกว่า โซนปัญญามาโชว์ และมีแอร์เย็นฉ่ำตามที่ต้องการ  มีเจ้าหน้าที่สาวๆ สวย หล่อๆ ใจดี  ยกเว้น ผอ. ที่อายุเกินเลข 3 ไปนิดหน่อย และที่สำคัญมีคอมพิวเตอร์ที่ทนไม้ทนมือของเด็กๆ เกือบ 100 เครื่อง ใช้ยังไงก็ไม่เสีย

อ่านแล้วเตะตาเรื่องชื่อใช่มั้ยคะ  ชื่อเหล่านี้หลายๆ คนช่วยกันคิด เพื่อให้เป็นที่ถูกใจของวัยรุ่น เราไม่ใช้ชื่อว่าห้องประชุม  เราไม่ใช้ชื่อว่าโรงภาพยนตร์ เราไม่ใช้ชื่อว่าห้องสมุด  เราไม่ใช้ชื่อว่า ห้องเด็กเล็ก เราไม่ใช้ชื่อว่าร้านอาหาร เพราะชื่อเหล่านี้มันไม่ถูกใจวัยโจ๋ค่ะคุณลุงคุณป้าขา  อย่านะ ! อย่าเอาคำพวกนี้มาใช้เพราะมันจะทำให้วันรุ่นเซ็ง!  

โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ

หมายเลขบันทึก: 169948เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2008 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีใจด้วยครับ  คนดีๆต้องสนับสนุนกันต่อไป

ขอต้อนรับสู่ Gotoknow

และขอแสดงความยินดีที่ได้ทำงานริเริ่มที่สำคัญมาก

วิจารณ์

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ 

หนูพลาดไปหลายก้าวค่ะ เข้ามาที่นี่ช้าไป เพราะมัวแต่มึนอยู่กับหลายๆ เรื่อง ที่ทำให้ต้อง "ฝึก" อย่างที่อาจารย์เคยบอกไว้

แต่ทุกอย่างคือบทเรียนที่ทำให้ "จิตเจริญ"ขึ้นทั้งนั้นค่ะ ที่สำคัญคือใจเราต้อง "เปิด"  ก่อนใช่มั้ยคะอาจารย์ เราถึงจะรับอะไรที่ทำให้เราพัฒนาขึ้นได้

รำลึกถึง  กล่าวถึง  และอ้างอิง อาจารย์อยู่เสมอค่ะ

ณภชนก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท