สวัสดิการชุมชนด้านที่อยู่อาศัย (1): ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย


ไม่ค่อยมีชุมชนชนบทลงมาทำเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่และปัญหาเรื้อรัง น่าจะสะท้อนข้อจำกัดของชุมชนในการจัดสวัสดิการในมิตินี้ได้เป็นอย่างดี

ผู้เขียนได้พยายามอ่านงานของ พอช. เพื่อติดตามดูว่า  ในเรื่องสวัสดิการ 7 ด้าน ตาม พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมนั้น  เรื่องใดที่ชุมชนทำได้มาก ทำได้ดีแล้ว  เรื่องใดที่ชุมชนไม่ได้ทำ  อาจด้วยเพราะเกินขีดความสามารถ  หรืออาจเป็นเพราะชุมชนไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ

 

ได้เขียนเรื่องสวัสดิการชุมชนด้านการศึกษาและด้านสุขภาวะสุขภาพอนามัยไว้คร่าวๆ ว่ามีทั้งการจัดสวัสดิการที่เป็นตัวเงินและที่ไม่เป็นตัวเงิน   ถือได้ว่า  ชุมชนมีความกระตือรือร้นในการจัดกิจกรรมทั้งสองด้านมากเป็นพิเศษ   สะท้อนทั้ง การให้ความหมายของคำว่าสวัสดิการ  และ ศักยภาพในการจัดสวัสดิการ  ของชุมชน

 

สวัสดิการสังคมด้านที่สาม  คือ ที่อยู่อาศัย  เป็นสิ่งที่มีการจัดสวัสดิการในบางชุมชนเท่านั้น   เพราะเหตุใด?

 

ก่อนอื่นต้องตั้งคำถามว่า   สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยเป็นอย่างไร

 

งานดัชนีการพัฒนาคนของ UNDP (หน่วยงานสากล แต่ก็ทำงานโดยการระดมสมองปราชญ์ชาวบ้านและนักคิดไทยมาช่วยกันออกแบบดัชนี ผสมกับสิ่งที่ใช้กันในประเทศอื่นๆด้วย)  ได้กล่าวถึงมิตินี้ใน 3 เรื่อง

 

  • ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  มีบ้าน มีที่ดินเป็นของตนเอง
  • สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน  ได้แก่ ตู้เย็นและเตาไฟฟ้าหรือเตาแกส
  • สภาพแวดล้อม  เช่น ภัยแล้ง  น้ำท่วม  มลพิษ

 

ข้อแรกกับข้อที่สาม  ทุกคนคงเห็นความสำคัญ  แต่ข้อที่สอง คงมีคนเถียง

 

ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยดูเหมือนจะเป็นปัญหามากกว่าในชุมชนเมือง จึงพบการจัดสวัสดิการชุมชนที่เกี่ยวกับความมั่นคงในที่อยู่อาศัยในชุมชนเมือง (ส่วนเรื่องการเป็นเจ้าของที่ดินทำกินอาจจะจัดอยู่ในมิติด้านอาชีพการงาน)     ประกอบกับรัฐมีโครงการบ้านมั่นคงที่สนับสนุนเรื่องนี้อยู่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา  กระบวนการของบ้านมั่นคงต้องมีการบริหารจัดการผ่านชุมชน  จึงเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาทำงานในเรื่องนี้ได้  ความยากลำบากขั้นตอนหนึ่ง  คือ  การจัดการในเรื่องที่ดินโดยชุมชนต้องมีกระบวนการเจรจากับเจ้าของที่ดินก่อน   ตรงนี้เองที่เห็นได้ชัดว่า   หากไม่มีโครงการของรัฐหนุนเสริม   กระบวนการสวัสดิการชุมชนในเรื่องนี้คงเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก

 

อันที่จริงชาวบ้านในชนบทเองก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงในที่อยู่อาศัยเพราะหลายคนหลายชุมชนใช้ที่ดินสาธารณะที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือเป็นผู้เช่าที่ดิน

 

อ่านจากงาน พอช.แล้วเห็นได้ชัดว่า   ไม่ค่อยมีชุมชนชนบทลงมาทำเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่และปัญหาเรื้อรัง   น่าจะสะท้อนข้อจำกัดของชุมชนในการจัดสวัสดิการในมิตินี้ได้เป็นอย่างดี   

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ที่ตรงข้ามกับการจัดสวัสดิการในมิติอื่น (ที่รัฐกับชุมชนอาจหนุนเสริมกันได้) ก็คือ  การจัดการเรื่องสิทธิในที่ดินกลับเป็นเรื่องปะทะกันโดยตรงระหว่างรัฐกับชาวบ้านที่ยึดถือหลักการคนละอย่าง   กล่าวคือ  สิทธิตามกฎหมาย  กับสิทธิพื้นฐานที่จะทำกินเลี้ยงปากท้องบนที่ดินที่ทำกินกันมานานตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ  ความเป็นสาธารณะในวิธีคิดของชาวบ้านผูกพันกับวัฒนธรรมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นทรัพย์สินร่วม  แต่ความเป็นสาธารณะในมุมมองทางกฎหมายตะวันตกคือเป็นของรัฐ  ถ้าไม่เป็นของสาธารณะคือของรัฐ  ก็ต้องเป็นของปัจเจกเท่านั้น

   

 

นอกจากนั้น ที่ดินที่อยู่อาศัยในชุมชนชนบทไม่ใช่เป็นพื้นที่เล็กๆติดๆกันเหมือนในชุมชนเมือง การเจรจากับเจ้าของที่ดินอย่างโครงการบ้านมั่นคงจึงเกิดขึ้นไม่ได้   การทำงานของรัฐที่มีกฎหมายปฎิรูปที่ดินอยู่ในมือยังเต็มไปด้วยปัญหา 

 

 

ปัญหาความเป็นเจ้าของที่มีประเด็นทางกฎหมายค้ำคออยู่จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ชุมชนไม่ค่อยลงมาแตะต้อง   เท่าที่ทราบก็มีเครือข่ายสินธุ์แพรทองที่พัทลุงที่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ  และชุมชนได้จัดเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ต้องเข้ามาจัดการดูแล    จึงเป็นเรื่องน่าสนใจศึกษาเรียนรู้ว่าชุมชนจัดการเรื่องนี้อย่างไร    อยากให้ผู้มีประสบการณ์การทำงานกับเครือข่ายสินธุ์แพรทองหรือพื้นที่อื่นๆได้แบ่งปันประสบการณ์เรื่องนี้ด้วย

 

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของหน่วยงานที่หนุนเสริมบทบาทของชุมชนให้ช่วยขบคิดต่อว่า  ควรจะมองมิตินี้อย่างไร   ตัวเราเองนั้น  ได้คิดเสมอว่า  บทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของขบวนสวัสดิการชุมชน คือ การติดตามและผลักดันให้ รัฐทำในสิ่งที่ต้องทำ และ ไม่ทำในสิ่งที่ต้องไม่ทำ   เพราะนี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิด สวัสดิการสังคม  ที่ทั่วถึงและมีคุณภาพได้ 

 

 

การเรียกร้องดังกล่าวก็อยุ่ในเรื่อง ปฏิทินแห่งความหวัง: คุณภาพชีวิตจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ของอาจารย์ป๋วยด้วย   และที่ผ่านมา  เครือข่ายชาวบ้านอย่างเครือข่ายป่าชุมชน และปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน อย่างครูชบ ยอดแก้ว  น้าประยงค์ รณรงค์ ก็ทำบทบาทนี้อย่างเต็มที่

หมายเลขบันทึก: 169468เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2008 02:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ประเด็นที่อยู่อาศัยตามความหมายของundp อาจจะมากไปในความรู้สึกของชาวบ้านทั่วไป แต่อาจเป็นมาตรฐานของบ้านในสังคมปัจจุบันก็ได้ เท่าที่มีประสบการณ์ ตอนน้าฝากเจอภัยพิบัติ น้ำท่วมคีรีวง คนในชุมชนและพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เคารพรักน้าฝากช่วยกันลงขันสร้างบ้านให้ ทั้งวัสดุอุปกรณ์และแรงงาน ในชุมชนทั่วไปคนที่ไม่มีบ้านก็อาศัยเครือญาติ ให้ใช้ที่ดินและปลูกกระต๊อบเล็กๆ สวัสดิการที่อยู่อาศัยในสมัยก่อนคือการซอแรงสร้างบ้านคล้ายๆวงแชร์
ในชุมชนจะเน้นความเท่าเทียมเพราะถือว่าต่างก็มีมือมีตีนเหมือนกัน จึงใช้การแลกเปลี่ยนแรงงานเป็นหลัก คนที่ได้รับการช่วยเหลือส่วนใหญ่จะผ่านระบบเครือญาติ นอกจากคนที่เป็นที่เคารพรักทำงานช่วยเหลือส่วนรวมมากจริงๆหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จริงๆด้วยเงื่อนไขที่ไม่ใช่มาจากความไม่รับผิดชอบ เช่น พิการ คนแก่ถูกทอดทิ้ง ชุมชนถึงจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็ผ่านระบบเครือญาติเช่นกัน ถ้าเครือญาติไม่สนใจก็ยากที่จะได้รับการดูแล กลายเป็นวงเวียนชีวิตในทีวี

วิถีใหม่ของสวัสดิการชุมชนด้านที่อยู่อาศัยคือการขยายงานของกลุ่มการเงินชุมชนเพื่อกู้ยืมและสงเคราะห์เล็กๆน้อยๆจากผลกำไร เช่น มีบางกลุ่มตั้งสวัสดิการซ่อมบ้านในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งเป็นระบบแลกเปลี่ยนแรงงานอย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง

ที่จริงสวัสดิการที่อยู่อาศัยในชุมชนที่สำคัญคือ วัด
ในแง่หลักคิดของชุมชน ทุกคนเท่าเทียมกัน ถ้าจะได้รับการช่วยเหลือต้องมีอะไรพิเศษกว่าคนอื่นๆ เช่น ถือศีลมากกว่า คือบวชเป็นพระ หรือช่วยเหลือตัวไม่ได้ วัดก็เป็นที่พึ่งพิงได้ แต่ต้องมีใจช่วยเหลืองานส่วนรวมเท่าที่ทำได้ด้วย เช่น เป็นเด็กวัด นอกนั้นเครือญาติต้องเข้ามารับผิดชอบ

ชุมชนมีเกณฑ์ในการช่วยเหลือกันชัดเจน ประเด็นสำคัญ ศีล      ในขณะที่รัฐมีความแตกต่าง ถือว่าทุกคนเป็นประชาชนต้องช่วยเหลือโดยเฉพาะคนด้อยโอกาส

คิดว่าสิ่งที่ UNDP list เอาไว้ก็พอจะให้กรอบในการมองได้ค่ะ เพียงแต่ว่า  รูปแบบที่เกิดขึ้นเป็นสวัสดิการนั้นจะออกมาในรูปแบบใดโดยวิธีใด  จะ "จินตนาการ"ต่ออย่างไร ขอบคุณที่ช่วยยกประเด็นดีๆขึ้นมาแลกเปลี่ยนค่ะ

ข้อเท็จจริงก็คือ สิ่งที่อาจารย์ภีมเขียนมานั้นเป็นวิถีปฏิบัติที่ชาวบ้านอาจไม่ได้เรียกมันว่า "สวัสดิการ"  เราน่าจะช่วยทำให้ทุกคน(ทั้งชาวบ้านและหน่วยงานหนุนเสริม) เห็นว่า นี่คือสวัสดิการชุมชนโดยธรรมชาติ   หน่วยงานหนุนเสริมภาครัฐเองก็น่าจะเห็นคุณค่าของกระบวนการเหล่านี้ในชุมชนด้วย  อย่ามองข้ามไปและต่อยอด

ตอนเขียนบันทึกเรื่องนี้ ก็ยังนึกถึงชาวบ้านกลุ่มวังตอตั้ง จังหวัดชัยภูมิ  ที่มาช่วยกันลงแขกสร้างบ้านดิน  ตอนนี้ว่าจะลงขันกันซื้อที่ดินมาทำไร่นารวม  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่อง "สวัสดิการ" โดยตรงค่ะ  แต่ถึงขั้นนี้ก็ต้องใช้งบประมาณมาก  เกินขีดความสามารถของชาวบ้าน  ก็ยังดูๆว่าจะขยับอย่างไร

รัฐมี พรบ.ปฏิรูปที่ดินอยู่แล้ว แต่มีปัญหามากอย่างที่บอก 

นี่เป็นอีกระดับหนึ่งของกระบวนการสวัสดิการที่ไม่ควรมองข้ามค่ะ (แม้ปัจจุบันจะยังทำอะไรกับมันไม่ได้มาก)

ประเด็นเรื่อง เตาไฟฟ้าหรือเตาแกสนั้น  แนวคิด UNDP คงมาจากสองส่วน

  • ไม้ฟืนหายาก (ที่จริงแนววนเกษตรก็ยังปลูกไม้ใช้สอยเองได้)
  • มีผลการศึกษาในต่างประเทศว่า เตาไม้ฟืน เตาถ่าน สร้างมลพิษและไม่ดีต่อสุขภาพผู้ใช้เองด้วย

ตู้เย็นคงไว้ถนอมอาหาร

ตัวเองก็ไม่เห็นว่าประเด็นนี้สำคัญ  เพียงแต่พบว่า บางพื้นที่ในภาคใต้  เช่น กลุ่มกรงนก จะนะ   กลุ่มที่ชะอวด มีการให้สวัสดิการเงินกู้ หรือเงินผ่อนเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ได้ด้วย (ถ้าเข้าใจไม่ผิด)   บางที  ชาวบ้านในชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทอาจจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ "จำเป็น"

 

  • บทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของขบวนสวัสดิการชุมชน คือ การติดตามและผลักดันให้ รัฐทำในสิ่งที่ต้องทำ และ ไม่ทำในสิ่งที่ต้องไม่ทำ   เพราะนี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิด สวัสดิการสังคม  ที่ทั่วถึงและมีคุณภาพได้ 

  • แต่เราชอบทำสิ่งที่ไม่ควรทำ  และไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ  อิอิ
  • แถมยังไม่เอะใจอีก  555555
  • คงต้องเรียนรู้ร่วมกันทุกๆฝ่ายว่าจะทำงานแบบประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร  ไม่ใช่แต่ภาครัฐฝ่ายเดียว  นักวิชาการและภาคประชาชนก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวด้วย  อิอิ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

สรุปว่าทุกคนต้องเรียนรู้และปรับตัว..    ลำดับตรงนี้สำคัญมาก  คือ หนึ่ง ต้องเรียนรู้ก่อน   หากไม่เรียนรู้ก็คงยากที่จะ "ระเบิดจากภายใน"  และไม่ปรับเปลี่ยน   แม้จะถูก "สั่ง" ให้เปลี่ยน ก็คงยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้จริง ... อิอิอิอิ  (สงสัยมากว่าทำไมจึงมักจะให้แค่ สอง "อิ") 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท