การจัดสวัสดิการสังคมของรัฐไทย : ปัญหาเชิงระบบ กระบวนทัศน์และวัฒนธรรม(1)


หมดสิ้นปัญญาของชาวสวนชุมชนไม้เรียงและผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทุ่มเทใส่ใจในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมากที่สุดท่านหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช

 

สวัสดิการสังคม : ความหมายและการจัดการ

พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมพ.ศ.2546 ซึ่งปรับปรุงแก้ไขในปี 2550 ได้เสนอนิยามสวัสดิการสังคมว่า เป็นระบบการจัดบริการทางสังคม ซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมเพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และเป็นไปตามมาตรฐานทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย    ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับโดยมีคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ(ก.ส.ค.)ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นรองประธานคนที่หนึ่งทำหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการจัดสวัสดิการสังคมและการส่งเสริมให้มีการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเป็นระบบ ทั่วถึงและต่อเนื่อง รวมทั้งเสนอแผนพัฒนางานสวัสดิการสังคมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติเป็นแผนแม่บท ซึ่งคณะกรรมการก.ส.ค.ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา(พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์)ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีสร้างสวัสดิการสังคมไทยฉบับที่1(พ.ศ.2550-2554) และแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมไทยเพื่อชีวิตมั่นคงพ.ศ.2550-2554 โดยมีแนวทางในการสนับสนุนดังนี้

1)ให้กระทรวง ทบวง กรมนำแผนปฏิบัติการไปจัดตั้งงบประมาณประจำปีรองรับ

2)คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำโครงการรองรับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฯ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

3)ส่งเสริมให้มีการระดมทุนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม ได้แก่ การบริจาคเงินเข้ากองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม  การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนของภาคประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและภาคธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เช่น มูลนิธิชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมได้อย่างสะดวกและคล่องตัวขึ้น

4)การขอตั้งงบประมาณกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ตามแนวทางการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมปีงบประมาณ 2550 2554

ระบบการตั้งงบประมาณประจำปีตามแผนงานโครงการของกระทรวง ทบวง กรมวางอยู่บนยุทธศาสตร์ที่มาจากวิสัยทัศน์/เป้าหมายและพันธกิจในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุค โดยที่แผนพัฒนาฉบับที่ 10 มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาประเทศสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ให้คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพและเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการจัดสวัสดิการสังคมที่มุ่งส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมเพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม โดยกำหนดยุทธศาสตร์การสร้างสวัสดิการสังคมไทยในปี 2550 – 2554 ครอบคลุมมิติด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไปไว้ดังนี้

1)การใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์

2)การเสริมพลังและกระจายอำนาจให้พันธมิตรในการจัดสวัสดิการสังคม

3)การป้องกันปัญหาสังคมโดยการสร้างความรู้ ค่านิยม และวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ โดยเน้นการลดละเลิกอบายมุข

4)การสร้างสมรรถนะของระบบงาน และวิธีการปฏิบัติงาน โดยใช้การวิจัยและพัฒนา การจัดการความรู้ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

5)การเสริมสร้างการรวมพลังเพื่อเพิ่มเป็นทวีคูณในการจัดสวัสดิการสังคม โดยพัฒนาระบบและแนวทางบูรณาการงานของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาชน และชุมชน

6)การสร้างเอกภาพในการบริหารแผนยุทธศาสตร์โดยสร้างความเข้มแข็งแก่หน่วยงานกลางที่ดูแลงานสวัสดิการสังคม

7)การพัฒนาระบบการเงิน การคลัง และการปฏิรูปกฎหมายที่ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมรูปแบบต่างๆ

            รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมไทยตามแผนพัฒนาฉบับที่10โดยสะท้อนการจัดสรรงบประมาณด้านบริการชุมชนและสังคมในปี 2549-2551 แสดงดังตาราง

งบบริการชุมชนและสังคม

งบประมาณ(ล้านบาท)

2549

2550

2551

การศึกษา

 

355,241.1

  363,164.2

การสาธารณสุข

 

148,704.5

  153,825.4

การเคหะและชุมชน

 

25,689.4

49,195.8

การสังคมสงเคราะห์

 

112,398.8

115,085.9

การศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ

 

13,089.4

13,614.3  

รวมทั้งสิ้น

543,505.3

655,123.2

694,885.6

ร้อยละของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

39.9            

41.8

            41.9

และหากนับรวมมิติสวัสดิการสังคมด้านการทำงานและการมีรายได้ซึ่งปรากฏอยู่ในงบประมาณด้านเศรษฐกิจจำนวน 332,282.9ล้านบาท รวมทั้งการบริหารทั่วไปของรัฐที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและการรักษาความสงบภายในอีกประมาณ 200,000ล้านบาทก็แสดงว่ารัฐบาลได้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสร้างสวัสดิการสังคมไทยตามความหมายที่นิยามไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมเกือบทั้งหมดซึ่งมีขอบข่ายกว้างขวาง เพื่อความมั่นคงทางสังคม และการมีชีวิตที่เป็นปกติสุข ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสถาบันในสังคมเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันตามที่จินตนาการไว้ในแผนพัฒนาฉบับที่10นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 169364เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2008 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ถ้ามองแบบกว้าง  รัฐต้องมีหน้าที่บริหารจัดการให้ "คนในประเทศอยู่ดีมีสุข"   ถือว่าหน้าที่พื้นฐานของรัฐ และสิ่งที่รัฐทำทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับ "สวัสดิการ" ทั้งสิ้นค่ะ

ปัญหาอยู่ที่

  • ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐในฐานะเป็นผู้จัดสวัสดิการเอง และในฐานะผู้กำกับดูแล "การทำงานของตลาด"  ให้เป็นไปในสิ่งที่ควรเป็น
  • ความทั่วถึงและเป็นธรรมของนโยบายและการใช้จ่ายเงินของรัฐ
  • การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการจัดสรรทรัพยากรและการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

ประเด็นหลังเรื่องการมีส่วนร่วมกระมังคะที่เป็น "สิ่งใหม่" จริงๆใน พรบ. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม

แต่ต้องดูดีๆว่า พรบ.ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมแค่ไหน  หรือแค่ถ่ายโอนภาระหน้าที่ที่รัฐไทยยังมีขีดจำกัดในการดูแลประชาชนอยู่มาก

อีกทางหนึ่งที่อาจตรวจสอบ "การเปลี่ยนแปลง" ในระดับมหภาคก็คือดูว่า  โครงสร้างงบประมาณช่วงห้าปีก่อนปี 50 กับ หลังปี 50 เปลี่ยนแปลงไปมากไหม (ดูจากสัดส่วนก็ได้ ซึ่งจะสะท้อนลำดับความสำคัญที่รัฐให้)  กำลังสงสัยว่า จะไม่มีอะไรเปลียนแปลงเชิงโครงสร้างงบประมาณ  แต่อาจเปลี่ยนแค่วิธีการทำงาน (ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเปลี่ยนได้จริงหรือเปล่า)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

 

 

 

บทความนี้เสนอมุมมองในด้านรายจ่ายเพื่อขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมหรือแผน10 แบบกว้างๆ เพราะหากลงรายละเอียดในการบริการสังคมของรัฐในเชิงคุณภาพ เช่น การศึกษา และสุขภาพอนามัยซึ่งเป็นหมวดที่ใช้งบประมาณมากที่สุด ก็มีเรื่องให้วิเคราะห์วิจารณ์ได้มาก

ที่จริงนโยบายและมาตราการในการจัดสวัสดิการสังคมในด้านรายได้ของภาครัฐอาจจะมีความสำคัญยิ่งกว่า คือวางข้อตกลงว่าจะเก็บจากใครอย่างไรส่วนหนึ่งและระบบการจัดเก็บที่ครอบคลุม      มีประสิทธิภาพไม่รั่วไหลอีกส่วนหนึ่ง เช่นนโยบายลดภาษีที่ออกมาก็ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ถือเป็นสวัสดิการสังคมอย่างหนึ่ง แต่จะลดภาษีให้ใครอย่างไรคือประเด็น ส่วนนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินการคลังเพื่อกระจายรายได้ และเก็บส่วนเกินของประชาชนมาเข้ากองกลาง เช่น ภาษีมรดกที่พูดกันมานานแล้ว

ระบบจัดการของเราทั้งขาเข้าและขาออกไม่ค่อยแสดงให้เห็นแนวคิดการจัดการที่กระจายความเท่าเทียม ประเด็นนี้ผมยังไม่ชัดเจนนัก แต่สำหรับแนวคิดและระบบจัดการในช่วงขาออกผมเห็นว่าไร้ประสิทธิภาพเอามากๆ

 

ถ้าสนใจด้านรายได้  ก็พอจะสืบค้นงานศึกษาทางเศรษฐศาสตร์การคลังได้ค่ะ    หลักการที่ช่วยในการมองเชิงประสิทธิภาพมีอยู่ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย   ...อาจารย์ภีมมองเชิงระบบดีค่ะ

เรียน ป.โท เกี่ยวกับสัสดการสังคม อยากได้แนวคิดในการทำวิทยานิพนธ์ค่ะ เพราะว่าคิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะทำเรื่องอะไรดี รบกวนช่วยเสนอแนวคิดได้ไหมค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท