ธัญกร 57


วันอังคารที่ 7/02/49
    วันนี้เข้างานตอน 8.50 น.ค่ะ วันนี้เครื่องคอมที่ตัดต่อเจ้งค่ะ เป็นอะไรก็ไม่ได้ยินมันร้องอยู่บ่อยๆบางทีก็เปิดไม่ติดเลย มีเครื่องเดียวที่ใช้ได้คือเครื่องที่พี่โตใช้อยู่เป็นประจำก็คือเครื่องเดียวกับที่เราใช้อยู่ทุกวันนั้นแหละค่ะ (เครื่อง 2 จอ) ส่วนงานที่จะต้องทำต่อวันนี้ก็เลยไม่ได้ทำค่ะ เพราะว่างานอยู่เครื่องโน้น ไม่สามารถ Save มาทำเครื่องได้ ต้องให้พี่โตจัดการก่อน พอเที่ยงก็ลงไปทานข้าวตามระเบียบค่ะ ตอนบ่ายก็ขึ้นมาที่ห้องตัดต่อตามเดิมค่ะ แต่เครื่องก็ยังมีปัญหาอยู่ดี ก็เลยลงมาข้างล่าง ก็ว่าจะมาหาอะไรทำนั่นแหละค่ะ พอดีมาเจอพี่จักรและก็เห็นว่าพี่แกนั่งแซวคนโน้นทีคนนี้ที ก็เลยคิดว่าพี่จักรแกคงเหงา พี่จักรเค้าเป็นช่างภาพค่ะ เก่งด้วยนะ ดูจากหน้าตาแกแล้วดูท่าทางจะประสบการณ์เพี๊ยบ ก็เลยอยากจะถามอะไรพี่จักรเค้าหน่อย ก็เรื่องถ่ายรูปไฟกลางคืนน่ะ คืออยากจะรู้ว่าเวลาถ่ายพวกพลุ และไฟต่างๆเราต้องปรับความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ดี ใช้ฟิล์มแบบไหนดีกว่ากัน
    พี่จักรบอกว่าในการถ่ายไฟกลางคืนสิ่งแรกที่ควรจะพิจารณาก็คือเรื่องของอุปกรณ์ถ่ายภาพ การจะได้ภาพถ่ายไฟกลางคืนที่ดีนั้น กล้องที่ใช้ควรจะเป็นกล้อง SLR ติดเลนส์ตามที่ชอบ ที่สำคัญกล้องควรจะมีขนาดความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆให้เลือกใช้ อย่างเช่น 1-30 วินาที หรืจะเป็นชัตเตอร์ B จับเวลาเองก็ได้ พร้อมขาตั้งกล้องและสายลั่นไกชัตเตอร์ ฟิล์มที่ใช้ควรใช้ขนาด ISO ประมาณ 100 จะดีในด้านความคมชัด รายละเอียดของแกรนภาพและสีที่อิ่มตัว
ขั้นตอน
1.  ตั้งกล้องวัดแสง
จัดองค์ประกอบให้พอใจ จากนั้นเปิดรูรับแสงให้กว้างที่สุด วัดแสงดูว่าได้ความเร็วชัตเตอร์ที่เท่าไหร่ เช่นตั้งขนาดรูรับแสงที่ F4 วัดแสงได้ขนาดความเร็วชัตเตอร์ 1/15 วินาที
2.  เลือกขนาดรูรับแสง
เลือกขนาดรูรับแสงให้แคบเล็กลง เช่น F11 หรือ  F16 เพื่อให้ได้ความชัดลึกที่สูงขึ้นในการควบคุมภาพถ่าย ซึ่งค่าแสงจะเปลี่ยนไปจาก F4 ที่วัดได้  อย่างเช่นถ้าเราตั้งที่ F11 จาก F4 ถึง F11 แล้วจะลดไป 3 สต็อป (4, 5.6, 8, 11) ภาพจะติดอันเดอร์ 3 สต็อป คุณก็ปรับเวลาเพิ่ม 3 สต็อป เช่น จากเดิม 1/15 วินาที เพิ่มเวลา 3 สต็อป = 1/2 วินา(1/15, 1/8, 1/4, 1/2) เราจะได้ค่าแสงที่พอดีเท่าเดิม
3. ชดเชยแสง  ปกติถ้าเราถ่ายภาพไฟกลางคืนนั้น จะใช้ค่าแสงที่พอดีนี้ได้เลย ไม่ต้องชดเชยแสงก็ได้
ในกรณีที่ถ่ายภาพด้วยสไลด์ แต่ถ้าเราถ่ายภาพด้วยฟิล์มสี (Negative) ควรเปิดชดเชยให้ Over 1 สต็อป โดยเพิ่มเวลาเช่นจาก 1/2 ในขั้นที่ 2 ใช้เป็น 1 วินาที ในกรณีที่เราต้องการความมั่นใจ เมื่อถ่ายด้วยสไลด์ พี่จักรแนะนำว่าให้ถ่ายเปิด Over เพิ่มอีก 1 สต็อป คร่อมไว้ก็สามารถทำได้
4.  ถ่ายภาพ  แค่นี้เราก็พร้อมที่จะถ่ายภาพไฟกลางคืนได้อย่างสบายใจแล้วว่าได้ภาพแน่ๆ
 
    หลังจากนั้นได้รู้เรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพพลุ เพราะเมื่องานวันแม่ 12 สิงหาที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้วเราก็ได้ไปถ่ายรูปเนื่องในงานวันแม่ส่งงานอาจารย์ที่คณะศิลปกรรมแต่รูปที่ได้ออกมานั้นมันไม่สวยได้ดั่งใจเราเลย ก็เลยอยากจะรู้เรื่องของวิธีการและเทคนิคต่างๆบ้าง พี่จักรก็เลยให้คำแนะนำมา พี่จักบอกว่าสิ่งแรกที่ควรกระทำก่อนวันที่จะถ่ายภาพพลุก็คือ เราต้องติดต่อหาสถานที่ถ่ายภาพให้ได้ก่อน เพราะวันที่มีการจุดพลุจะหาตึกที่ขึ้นยากมาก นอกจากใช้เส้นหรือใช้เงิน สถานที่นั้นควรอยู่เหนือลมและมีฉากหน้าที่สวยงาม ถ้าเกิดสถานที่อยู่ไกลก็สามารถใช้เลนส์เทเลโฟโต้ได้ ต่อมาคือ เตรียมอุปกรณ์ออกถ่ายภาพ ที่สำคัญคือ กล้องที่มีชัดเตอร์ B หรือ T สายกดชัตเตอร์ ขาตั้งกล้อง ไฟฉายขนาดเล็ก ฟิล์มที่เตรียมเอาไปควรเป็นฟิล์มไวแสงต่ำเพราะว่าจะได้เวลาในการเปิดรับแสงที่พอเหมาะ ให้ภาพที่คมชัดและมีสีสันอิ่มตัวมากกว่าเมื่อถึงขั้นถ่ายภาพจริงเราอาจจะสับสนว่าจะเปิดรับแสงเป็นเวลานานเท่าไรและจะใช้ f-number เท่าไร  
5  ขั้นตอนของพี่จักรในการถ่ายภาพพลุ
1. วัดแสง
ให้เปิดรูรับแสงกว้างสุด แล้ววัดแสงว่าได้ความเร็วชัดเตอร์เท่าไหร่
2. เลือกขนาดรูรับแสง
เมื่อวัดแสงเรียบร้อย ให้ตั้งรูรับแสงในช่วง f/8 สำหรับฟิล์ม 100 ISO เสร็จแล้วทด
ความเร็วชัตเตอร์ตามรูรับแสงที่เปลี่ยนไป สมมุติว่าเราวัดแสงที่ f/1.4 ได้ความเร็ว 1/4 วินาที ถ้าใช้ f/8 ต้องใช้ความเร็ว 8 วินาที
3. ชดเชยแสง
ถ้าเราวัดแสงในระบบ Center Weight ต้องมีการชดเชยแสง เนื่องจากกล้องไปวัด
แสง พื้นที่ส่วนดำเข้ามาด้วย ถ้าหากเปิดรับแสงตามที่วัดได้จะได้ภาพที่สว่างเกินไป ต้องชดเชยแสงให้รับแสงน้อยลงประมาณ 1-2 stop โดยการลดความเร็วชัดเตอร์ลง(จาก 8 วินาที ต้องมาใช้ในช่วง 2-4 วินาที)
4. ถ่ายภาพ
เมื่อเราตั้งความเร็วชัตเตอร์และขนาดรูรับแสงเรียบร้อยให้ถ่ายภาพโดยใช้ค่าการเปิดรับแสงนั้นตลอด อาจเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ได้บ้างในช่วง +-1 stop ไม่ควร
มากกว่านี้
5.  ล้างฟิล์ม
ในขั้นนี้สามารถแบ่งเป็น 2 กรณีคือ ถ้าถ่ายภาพด้วยสไลด์ ให้เราส่งฟิล์ม 1 ม้วนล้างดูก่อน ถ้าภาพออกมาสว่างเกินไปให้ประมาณว่าสว่างเกินไปประมาณกี่ stop และก็สั่ง
ให้ร้านล้างลดความไวแสงในม้วนที่เหลือ พี่จักรบอกว่าวิธีนี้สามารถแก้ไขภาพที่สว่างหรือมืดเกินไปในช่วง +-1stop ได้ ในกรณีที่ใช้ฟิล์มเนกาติฟ ให้ล้างอย่างเดียวก่อน พอฟิล์มออกมาก็ลองสั่งให้ร้านอัดขยายซัก2-3 ภาพ ดูก่อนว่าภาพที่ออกมาสว่างหรือว่ามืดไปขนาดไหน สั่งอัดขยายใหม่(จ่ายเงินให้ร้านด้วยนะ) เพื่อที่จะแก้ไข เมื่อภาพออกมาเป็นที่น่าพอใจแล้วเราค่อยอัดขยายภาพที่เหลือโดยเอาภาพที่พอใจเป็นแม่แบบถึงแม้ว่าการทำอย่างนี้เราจะเสียเวลาอยู่บ้าง แต่ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและทำ
ให้ได้มีคุณภาพใกล้เคียงกับที่ต้องการมากที่สุดเท่านี้ เราก็จะสามารถถ่ายภาพพลุวันงานต่างๆได้อย่างสบายใจ ว่าภาพที่ออกมาจะสวยเหมือนอย่างที่เราคิดไว้
    แหม....ก็ถ้าได้รู้งี้แต่แรกคงได้คะแนนถ่ายภาพดีกว่านี้แน่ล่ะ เสียดาย....

    ในเรื่องของการรอเวลาเพื่อถ่ายภาพก็สำคัญนะคะ พี่จักรบอกมาว่า พวกรรดาภาพวิวทิวทัศน์ต่างๆที่มีแสงสีสวยงามนั้น ช่างภาพก็จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของแสง ทิศทาง และช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงแสงสี ช่างภาพที่นิยมการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ส่วนใหญ่ นอกเหนือจากความชำนาญในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ต่างๆของการถ่ายภาพและองค์ประกอบภาพแล้วเนี่ย ต่างก็ต้องพยายามศึกษาในเรื่องธรรมชาติของแสง ซึ่งเรื่องนี้ เราจะได้ยินได้ฟังกันมามาก เกี่ยวกับภาพสีอุ่น (Warm Tone)
ซึ่งจะเป็นภาพที่มีสีออกอมเหลือง อมส้ม แต่ถ้าเป็นภาพออกสีเย็น (Cold Tone) ภาพจะออกอมสีฟ้า ถ้าในธรรมชาติของเราภาพของแสงจะแปรเปลี่ยนได้ทั้งสีอุ่นและสีเย็น นั่นหมายความว่าแสงสามารถที่จะเปลี่ยนสีได้ตั้งแต่อมเหลืองถึงอมฟ้า แต่เวลาไหนคุณภาพแสงจะให้สีอะไรจึงเป็นเรื่องที่เราจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการถ่ายภาพ
เรารวบรัดแบบง่ายๆกันได้ว่า ช่วงเวลาเช้าและเย็นจะเป็นช่วงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงแสงสีให้ได้คุณภาพของสีอุ่น ซึ่งหมายความว่าเวลาดังกล่าวถ้าเราถ่ายภาพ ภาพที่ได้
จะมีอุณหภูมิเป็นสีอุ่น แต่ถ้าเป็นช่วงเวลากลางวัน อุณหภูมิสีจะแปรเปลี่ยนเป็นสีเย็น
ภาพที่ถ่ายช่วงเวลากลางวัน จึงมีโอกาสที่จะอมสีฟ้ามากขึ้น เมื่อเราต้องการถ่ายภาพให้เกิดสีสันแบบสีอุ่น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงสีสันได้มาก เราจึงจำเป็นต้องรอเวลา ซึ่งอาจก็อาจจะเลือกเวลาในตอนเช้า หรือจะเป็นเวลาในตอนเย็นที่ยังมีแสงเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพ ซึ่งถ้าหากเราไม่รอเวลาก็จะไม่ได้ภาพที่สวยงามตามที่เราต้องการ สำหรับวันนี้เนี่ยเราก็อยู่กับเรื่องของการถ่ายภาพอย่างไรให้สวยและก็ได้เทคนิคดีในการถ่ายและเรื่องของการเตรียมอุปกรณ์ เวลาในการถ่ายภาพต่างๆเป็นความรู้ที่เราควรนำกลับมาใช้ในเรื่องของการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งก็ต้องขอบคุณพี่จักรเป็นอย่างมากเลยค่ะ ที่สละเวลาเพื่อที่จะมาบอกเทคนิคดีๆอย่างนี้เราได้เก็บนำไปใช้ โอ้....เยอะนะเนี่ยที่พูดน่ะมันเหมือนสั้นกระจุ๊ดเดียว แต่จดออกมาแล้วมันเยอะมากๆเลย
ประโยชน์ที่ได้ในวันนี้
    ได้ความรู้จากพี่จักรเรื่องของการถ่ายภาพแน่นเปี๊ย!
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16930เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2006 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท