การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 (3.2)


เงินต้องบริหารจัดการภายในกลุ่ม ซึ่งจะส่งถึงสมาชิกในที่สุด หน้าที่ที่สำคัญของเครือข่ายจังหวัด คือ ประสานงานกับเขต/ภาค , จังหวัด , ภาคี , ประเทศ ฯลฯ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

      ขอเล่าต่อในวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง ของการประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 เลยก็แล้วกันนะคะ ขอบอกก่อนว่าบรรยากาศเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆค่ะ สังเกตได้จากหนูเคเอ็มทั้ง 2 คน มองหน้าผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์เป็นระยะ ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ก็ถามกลับไปเป็นระยะเหมือนกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง อย่าเครียดนะ เพราะประชุมทีไรก็เป็นอย่างนี้ ครั้งนี้ธรรมดาบรรยากาศยังไม่ตึงเครียดเท่ากับครั้งที่ผ่านมา

 

       วาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง (ต่อ)

       ประธานกล่าวว่าเรื่องสืบเนื่องที่ต้องการหารือต่อไปก็คือ ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกองทุนสวัสดิการคนทำงานที่เก็บจากสมาชิก 50 บาท/คน/ปี โดยตอนนี้ต้องส่งมาที่เครือข่าย 40 บาท/คน/ปี (ประมาณ 80%) และเก็บเงินไว้ที่กลุ่ม 10 บาท/คน/ปี เมื่อการประชุมครั้งที่ผ่านมามีผู้เสนอว่าควรจะมีการทบทวนสัดส่วนของการส่งเงินมาสมทบที่เครือข่ายฯ อยากทราบว่าเมื่อนำกลับไปทบทวน หารือกับสมาชิก กรรมการแล้วมีความเห็นอย่างไร?

       อ.ธวัช ในฐานะประธานกลุ่มแม่พริก ได้ยกมือหารือกับที่ประชุมว่าน่าจะนำเรื่องนี้ไปไว้ในวาระที่ 6 คือ เรื่องอื่นๆ แต่ประธานบอกว่าขอให้เอาไว้ในวาระนี้เหมือนเดิม เพราะ เป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา หลังจากที่มีการโต้แย้งกันอีกเล็กน้อยก็ไม่มีใครพูดอะไรอีก ประธานจึงถามขึ้นมาว่าถามจริงๆได้นำไปหารือกับสมาชิก และคณะกรรมการหรือไม่? ถ้าไม่ได้มีการหารือประธานจะยกเรื่องนี้ไปพูดในครั้งหน้า อ.ธวัช ได้ยกมือขึ้นพร้อมกับขอให้ประธานยกเรื่องนี้ไปไว้ในวาระที่ 6 เรื่องอื่นๆ (อีกครั้ง) เพราะ เรื่องนี้คงมีการอภิปรายกันยาว ประธานจึงตอบกลับไปว่า แม้จะอภิปรายกันยาวก็ขอให้อภิปรายกันตอนนี้เลย

      จากนั้นประธานก็ได้เท้าความว่าเมื่อการประชุมครั้งที่ผ่านมา คุณกู้กิจ จากกลุ่มเถิน เป็นผู้ที่เสนอเรื่องนี้เข้ามา พร้อมกับอธิบายว่า ตามแผนที่ภาคสวรรค์นั้น ในส่วนของกองทุนสวัสดิการคนทำงาน กลุ่มต่างๆจะต้องส่งเงินเข้ามาที่เครือข่ายฯ 40 บาท/คน/ปี เก็บไว้ที่กลุ่ม 10 บาท/คน/ปี นอกจากนี้แล้วทางเครือข่ายฯยังได้ไปกู้ยืมเงินมาจาก พอช. จำนวน 3,500,000 บาท มาปล่อยกู้ให้กับกลุ่มต่างๆในเครือข่ายฯจำนวน 7 กลุ่ม (7กลุ่มแรกที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ) กลุ่มละ 500,000 บาท ขณะนี้กลุ่มต่างๆส่งเงินคืนมาแล้วกลุ่มละ 300,000 บาท ยกเว้น กลุ่มบ้านหลุกที่ส่งเงินเข้ามา 250,000 บาท เงินที่เก็บจากกลุ่มรวมทั้งเงินสินเชื่อ พอช. เอามาใช้จ่ายในเรื่องปล่อยกู้ให้กับกลุ่มเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ประมาณ 5 แสนกว่าบาท แต่ถ้า พอช. เอาเงินคืนไปหมด เราก็จะไม่มีเงินในกองทุนสวัสดิการคนทำงาน ซึ่งเงินจำนวนนี้เราจะเอาไปใช้บริหารจัดการสำหรับคนทำงาน ดังนั้น จึงต้องมีการสมทบจากกลุ่มขึ้นมา 40 บาท/คน/ปี ทีนี้ต่อไปในอนาคตถ้ามีการบริหารจัดการเงินส่วนนี้ดอกผลที่เกิดขึ้นก็จะนำมาใช้เป็นสวัสดิการให้กับคนทำงาน เช่น ค่าประชุมของคณะกรรมการ เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วขณะนี้ก็มีดอกผลเกิดขึ้นแล้ว แต่ขอเวลาให้คณะกรรมการที่ดูแลกองทุนนี้เคลียร์บัญชีต่างๆให้เรียบร้อยก่อน ขณะนี้เริ่มทยอยส่งเงินคืน พอช.แล้วเดือนละ 45,000 บาท จากนั้นประธานได้หันไปถามคุณอุทัย ซึ่งเป็นรองประธานและดูแลกองทุนสวัสดิการคนทำงานอยู่ว่าตอนนี้มีเงินที่ส่งเข้ามาเครือข่ายฯ 40 บาท/คน/ปีเท่าไหร่? คุณอุทัยตอบว่า จำนวนเงินไม่แน่นอนในแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับว่าทางกลุ่มจ่ายเงินเข้ามาหรือไม่ รวมทั้งในแต่ละเดือนมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน หลังจากตอบจบ คุณอุทัยได้ให้ข้อมูลต่อไปว่า ขณะนี้เครือข่ายฯได้ส่งเงินคืนไปให้ทาง พอช. แล้วเป็นเงิน (ต้น) 257,211.3 บาท จ่าย ดอกเบี้ยไป 134,408.97สตางค์  ระยะแรกเราจ่ายแต่ดอกเบี้ยให้ พอช. ไม่ได้จ่ายเงินต้น แต่ตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างหนี้เราจ่ายเงินต้นคืน พอช. ไปแล้ว 6 งวด คิดเป็นเงินที่จ่ายไปทั้งหมดเท่ากับ 324,788.97 บาท ดังนั้น ตอนนี้เราค้างเงิน (ต้น) พอช. ประมาณ 3 ล้านกว่าบาท เดิมเราเก็บเงินมาจากกลุ่มต่างๆได้ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท แต่กองทุนร่วม (ค่าเฉลี่ยศพ) ได้ยืมไป ถ้าจะเอาตัวเลขจริงๆ ขอแจ้งให้ทราบในเดือนหน้า ผมจะเช็คตัวเลขให้ชัดเจนว่าเงินไปอยู่ที่ไหนบ้าง ใช้ไปแล้วเท่าใด จ่ายอะไรไปแล้วบ้าง ที่แจ้งไปเป็นยอดคร่าวๆ

       ประธาน กล่าวต่อไปว่า ประเด็นก็คือ มีการตั้งคำถามว่าจะไม่ส่งเงินจำนวนนี้เข้ามาที่กองทุนได้หรือเปล่า นี่คือที่มาที่บอกให้ไปหารือกันและนำมาพูดคุยในวันนี้ ปรากฎว่าเมื่อประธานพูดจบ ที่ประชุมเงียบอยู่นานพอสมควร จนประธานต้องถามซ้ำขึ้นมาว่าเป็นอย่างไร ได้นำไปคุยกันหรือเปล่า

       คุณกู้กิจ ในฐานะประธานกลุ่มบ้านดอนไชย ได้ยกมือขออนุญาตที่ประชุมแสดงความคิดเห็นว่า ที่ตนเองยังรีรออยู่ไม่เสนอความคิดเห็นตั้งแต่แรก เพราะ จะดูว่าอำเภออื่นจะมีความเห็นอย่างไร เมื่อไม่มีผู้แสดงความคิดเห็น ตนเองก็จะขอแสดงความคิดเห็นก็แล้วกัน สืบเนื่องมาจากข้อเสนอของตนเมื่อการประชุมเครือข่ายฯสัญจรครั้งที่ผ่านมา ดูได้จากเอกสารสรุปการประชุมหน้า 11 กับแผ่นกระดาษที่ผมจะแสดงต่อไปนี้ (คุณกู้กิจ นำแผนภูมิที่เขียนไว้ในกระดาษบรู๊ฟจำนวน 2 แผ่น ติดบริเวณบอร์ดที่จัดไว้) จากนั้นคุณกู้กิจได้หยิบหนังสือขึ้นมา 1 เล่ม พร้อมกับกล่าวว่าในคู่มือเล่มนี้บอกว่ารากฐานชุมชน คือ ทำให้คนเข้มแข็ง ทีนี้ผมก็เลยลองเอาตัวเลขที่กลุ่มเก็บเงินสวัสดิการจากสมาชิกมาวิเคราะห์ดู

       เดือนหนึ่งเก็บเงินจากสมาชิก 1 คน ได้เงิน 30 บาท เงินจำนวนนี้ไปอยู่ที่ไหนบ้าง (ตามแผนที่ภาคสวรรค์)

                       กองทุนกลาง 20% = 6 บาท

                       กองทุนธุรกิจชุมชน 30% = 9 บาท

                       กองทุนเพื่อการชราภาพ 5% = 1.5 บาท

                       กองทุนเพื่อการศึกษา 5% = 1.5 บาท

                       กองทุนร่วม (เฉลี่ยค่าศพ) ประมาณ 20 บาท (ค่าต่ำสุด)

                       จัดสวัสดิการ ประมาณ 3 บาท

                    รวมทั้งสิ้น ประมาณ 41 บาท

       เมื่อตัวเลขเป็นอย่างนี้ แล้วเรายังนิ่งเฉยอยู่ เคยมีสมาชิกอยู่เท่าใดก็ยังคงมีอยู่เท่านั้น เราจะไปไม่รอด ดังนั้น จึงขอเสนอแก้ไขแผนที่ภาคสวรรค์ ดังนี้

       เมื่อตัวเลขเป็นอย่างนี้ แล้วเรายังนิ่งเฉยอยู่ เคยมีสมาชิกอยู่เท่าใดก็ยังคงมีอยู่เท่านั้น เราจะไปไม่รอด ดังนั้น จึงขอเสนอแก้ไขแผนที่ภาคสวรรค์ ดังนี้

        การบริหารจัดการต้องอยู่ในระดับตำบล ในที่นี้ขอเสนอตำบลล้อมแรด

       สำหรับส่วนของกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเก็บเงินจากสมาชิกวันละ 1 บาท (เดือนละประมาณ 30 บาท) เงินจำนวนนี้ต้องอยู่ที่ตำบลล้อมแรด โดย

                         20% ส่งเงินไปที่กองทุนกลาง

                         30% ส่งเงินไปที่กองทุนธุรกิจชุมชน

                           5% ส่งเงินไปที่กองทุนเพื่อการชราภาพ

                           5% ส่งเงินไปที่กองทุนเพื่อการศึกษา

                        40% ส่งเงินไปที่กองทุนสวัสดิการชุมชน จัดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย

      กล่าวโดยสรุปก็คือ เงินต้องบริหารจัดการภายในกลุ่ม ซึ่งจะส่งถึงสมาชิกในที่สุด เครือข่ายจังหวัดต้องปรับปรุงไม่อย่างนั้นจะไปไม่รอด แต่ตำบลล้อมแรดต้องส่งข้อมูลทั้งหมดไปที่จังหวัด รวมทั้งต้องส่งเงินในส่วนของกองทุนสวัสดิการคนทำงาน 40 บาท/คน/ปีไปที่เครือข่ายจังหวัด หน้าที่ที่สำคัญของเครือข่ายจังหวัด คือ ประสานงานกับเขต/ภาค , จังหวัด , ภาคี , ประเทศ ฯลฯ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ดังนั้น เครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางจะมีคนเดียวก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้สมาชิกจะเกิดความภาคภูมิใจ เพราะ เงินอยู่ในชุมชน บริหารจัดการโดยคนในชุมชน เพื่อคนในชุมชน แต่ถ้าเป็นการบริหารงานแบบเก่า เงินส่งไปที่จังหวัดเกือบหมด พอส่งไปแล้วเงินก็อยู่ในห้องแอร์ มีคนทำงานมากมาย แต่เงินไม่ลงตัวสักที วุ่นวาย

       ในส่วนของการขยายผล ขณะนี้องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย ตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน มีสมาชิกทั้งสิ้น 2,015 คน ต่อไปจะขยายไปที่ตำบลแม่วะ ซึ่งมีประชากร 6,555 คน , ตำบลแม่ปะ (ไม่ได้ระบุจำนวนประชากรค่ะ) , ตำบลนาโป่ง มีประชากร 6,009 คน , ตำบลเถินบุรี มีประชากร 7,260 คน , ตำบลเวียงมอก 10,083 คน , ตำบลแม่มอก มีประชากร 5,344 คน , ตำบลแม่ถอด มีประชากร 6,882 คน (รวมแล้วอำเภอเถินมีทั้งสิ้น 8 ตำบล) อำเภอเถินจะประสานงานเป็นเครือข่ายแบบนี้

        จากการพูดคุยภายหลังการประชุม (ไปนั่งคุยกันที่บริเวณที่ทำการของกลุ่มบ้านดอนไชย ในวันนั้นพอดีเป็นวันเกิดพี่นก ยุพินด้วย ผู้วิจัย อาจารย์พิมพ์ รวมทั้ง 2 หนูเคเอ็มก็เลยถือโอกาสอวยพรให้พี่นกมีความสุข กลุ่มมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ เย็นวันนั้นระหว่างการพูดคุยพวกเราได้ทานยำวุ้นเส้นอันแสนอร่อย มีผลไม้ด้วย ที่สำคัญมีโค๊กเย็นๆมาเสริฟด้วย ขอบคุณมากค่ะ) คุณกู้กิจได้ขยายความให้ ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ฟังว่า ในขณะนี้ที่อำเภอเถินมีกลุ่มที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯอยู่ 2 กลุ่ม คือ องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย และ องค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านเหล่า ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม อยู่ในเขต เทศบาลตำบลล้อมแรด ในการบริหารจัดการ (เงิน) จะแบ่งแยกชัดเจน กลุ่มใครกลุ่มมันไม่เกี่ยวข้องกัน แต่จะมีการพูดคุยกันตลอดเพื่อประเมินสถานการณ์และเรียนรู้ร่วมกัน ถ้ากลุ่มไหนมีปัญหาด้านการเงิน อีกกลุ่มก็จะเข้ามาช่วย ทีนี้ตำบลอื่นๆอีก 7 ตำบลในอำเภอเถิน ขณะนี้แจ้งความจำนงมาแล้ว 2 ตำบลที่ต้องการจัดตั้งกลุ่มสวัสดิการวันละ 1 บาท ทางกลุ่มบ้านดอนไชยจะเข้าไปให้ความรู้และร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา จากนั้นก็จะขยายไปสู่ตำบลอื่นๆในอำเภอเถินให้เต็มพื้นที่ สำหรับในส่วนของการบริหารจัดการนั้นก็จะให้ตำบลแต่ละตำบลจัดการกันเองเช่นกัน แต่ต้องมาคุยกันตลอดว่าขณะนี้แต่ละกลุ่มเป็นอย่างไรกันบ้าง มีความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรคอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าตำบลไหนมีปัญหาตำบลอื่นๆก็จะเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้กลุ่มสามารถอยู่ได้ ผู้วิจัยฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นความคิดที่ดี ถ้าทำสำเร็จคงเป็นอีก Model หนึ่งที่น่าสนใจ มีลักษณะการบริหารจัดการคล้ายกลุ่มครูชบ ตรงที่ว่าเป็นการบริหารจัดการในระดับตำบล เครือข่ายฯจังหวัดเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเจตคติที่ดีในเรื่องสวัสดิการวันละบาท รวมทั้งเป็นแหล่งแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆที่ภายนอกจะเข้ามาร่วมในการหนุนเสริมการทำงาน แต่ของอำเภอเถินอาจแตกต่างออกไปอยู่นิดหนึ่ง คือ มีเครือข่ายระดับอำเภอด้วย ซึ่งเครือข่ายระดับอำเภอจะทำหน้าที่คล้ายกับเครือข่ายระดับจังหวัดของครูชบ แต่มีหน้าที่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าตำบลใดมีปัญหาในเรื่องการเงิน ตำบลอื่นๆในอำเภอก็จะเข้ามาช่วยเหลือกัน ส่วนเครือข่ายระดับจังหวัดของลำปางนั้นก็ยังคงมีอยู่โดยในส่วนของอำเภอเถินจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายจังหวัดด้วย โดยจะเข้าไปร่วมเวทีในฐานะที่เป็นสมาชิกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่นๆที่เป็นสมาชิกเครือข่ายจังหวัด

       ขอตัดกลับมาที่การประชุมต่อนะคะ คุณกู้กิจ ได้กล่าวต่อไปว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้นเป็นแนวคิดของกลุ่มเถิน ซึ่งทางกลุ่มมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำแบบนี้ ถ้าหากทางเครือข่ายจังหวัดไม่อนุมัติ ทางกลุ่มเถินอยากอาสาเป็นหนูทดลองนำร่องการบริหารจัดการแบบนี้ดู แต่อาจมีคำถามตามมาว่าถ้าสมมติเดือนหนึ่งๆมีคนตายมากๆจะทำอย่างไร ตรงนี้ทางเถินมีแนวคิดว่าถ้าเราไม่ขยายสมาชิก เดือนนี้ก็มีอยู่เท่านี้ เดือนหน้าและเดือนต่อๆไปก็ยังมีอยู่เท่านี้อยู่ รับรองได้ว่าตาย กลุ่มไปไม่รอด แต่ถ้ามีคนตายมากๆ แล้วเราช่วยกันขยายสมาชิก อย่างอำเภอเถินก็ขยายไปที่ตำบลแม่วะ แม่ถอด แม่ปะ นาโป่ง เถินบุรี เวียงมอก แม่มอก เราก็จะอยู่ได้ นี่คือ สวัสดิการชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชนอย่างแท้จริง ชุมชนจะเข้มแข็ง มีความยั่งยืน ในส่วนของจังหวัดมีคนคนเดียวก็พอ ทำหน้าที่รับข้อมูล ภาคส่วนต่างๆถ้าอยากทราบข้อมูลก็ขอได้จากทางจังหวัด หรือจะขอมาที่ทางกลุ่มเถินโดยตรงก็ได้

      จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นคือที่มาของการเสนอของผม (คุณกู้กิจ) ที่ได้เสนอไว้ตั้งแต่เมื่อการประชุมเครือข่ายฯสัญจรที่แม่ทะ (เดือนมาราคม) เราจะเห็นได้ว่าเรามีค่าใช้จ่ายมาก ชุมชนทุกชุมชนต้องขยันไปขยายผล กลุ่มบ้านดอนไชยขออาสาเป็นหนูทดลองการบริหารจัดการในรูปแบบนี้เอง ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนเราจะอยู่ไม่ได้ ขอยกตัวอย่างในกรณีของบ้านดอนไชย ตอนนี้เราทำร้านค้าสวัสดิการชุมชนแล้ว ซึ่งทางกลุ่มยังต้องเช่าสถานที่อยู่ กลุ่มกำลังหาทางขยับขยายเพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องเสียค่าเช่า ในกรณีของเงินสวัสดิการชราภาพ (ผู้สูงอายุ) ก็เช่นกันถ้าถึง 10 ปี เราต้องเริ่มจ่ายเงินแล้ว เราต้องหาทางขยับขยาย จะว่าแข่งขันก็ได้ ถ้าเรายังยึดแผนที่ภาคสวรรค์อย่างเดิมโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน ทั้งๆที่เราก็รู้กันอยู่ว่ามีปัญหา ปัญหาต่างๆก็ยืดเยื้อมานานแล้ว ถ้าเราไม่แก้ไข เราก็จะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ในประเด็นนี้ผมขอสรุปว่า ผมไม่ได้มาหาเสียงให้ทุกอำเภอทำแบบนี้ แต่อยากมาเสนอว่ากลุ่มเถินมีแนวโน้มจะทำแบบนี้ เราไม่ได้บังคับว่าทุกกลุ่มจะต้องทำเหมือนกับเรา

       หลังจากกล่าวจบ คุณกู้กิจได้ถามว่ามีใครสงสัยหรือไม่? พร้อมกับบอกให้เลขา (คือ พี่นก ยุพิน) รวมทั้งกรรมการกลุ่มเถินคนอื่นๆที่เข้าร่วมประชุมสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดหรือเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ ปรากฎว่าที่ประชุมเงียบ ไม่มีใครพูดอะไรออกมา ประธาน (คุณสามารถ) จึงกล่าวขึ้นมาว่ามีใครในที่ประชุมสงสัยหรือมีคำถามหรือไม่? พร้อมกับกล่าวต่อไปว่าโดยสรุปกลุ่มเถินจะบริหารจัดการเงินเอง เมื่อประธานสรุปตรงนี้ คุณกู้กิจได้เสริมว่า ประธานจะสบายมาก ประธานจะไปไหนก็ได้ จะไปกาญจนบุรี สกลนคร ไปไหนก็ได้ พอไปมาแล้วก็นำข้อมูลมาให้เครือข่าย ซึ่งจะตรงประเด็นเลยว่าเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน แต่เมื่อพิจารณาในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเงินเกือบทั้งหมดมาอยู่ที่เครือข่าย ดังนั้น จึงขอเสนอว่าเงินทั้งหมดที่เก็บได้จากสมาชิกที่อยู่ในส่วนของกองทุนสวัสดิการชุมชน (วันละ 1 บาท) ต้องอยู่ที่ชุมชน แต่เงินที่จะส่งเข้ามาที่เครือข่ายฯ คือ เงินกองทุนสวัสดิการคนทำงาน ซึ่งเก็บจากสมาชิก 50 บาท/คน/ปี ต้องส่งมาที่เครือข่ายฯ 40 บาท/คน/ปีเหมือนเดิม เพื่อเป็นการยืนยันว่ากลุ่มเถินยังคงเป็นสมาชิกของเครือข่ายฯอยู่

      ประเด็นการหารือในวาระนี้ยังไม่จบนะคะ แต่เนื่องจากยังมีเนื้อหาอีกมากค่ะ ในช่วงแรกกลุ่มเถินเป็นพระเอก แต่ต่อไปกลุ่มอื่นๆจะเริ่มมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น รวมทั้งประธานด้วยค่ะ คอยติดตามต่อไปก็แล้วกันนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16928เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2006 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท