นิติกาญจน์


สนธิสัญญา (Treaties)

 

  สนธิสัญญา (Treaties)

1.  นิยามความหมาย  เดิมนั้นสนธิสัญญา หมายความถึง ข้อตกลงที่กระทำขึ้นระหว่างรัฐหรือสมาชิกสังคมระหว่างประเทศอื่น เช่น รัฐต่างๆ สำนักวาติกัน และองค์การระหว่างประเทศ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับคู่สัญญา อันมีความหมายค่อนข้างกว้างขวางครอบคลุมการทำข้อตกลงแบบไม่เน้นลายลักษณ์อักษรได้ด้วย  แต่ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1926 คณะกรรมการชำนัญพิเศษของสันนิบาตชาติได้เสนอให้มีการทำประมวลกำหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องนี้ขึ้น  แต่ถูกคัดค้านโดยรัฐสมาชิกบางรัฐ ต่อมาคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติได้เสนอร่างประมวลกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญาขึ้น และได้มีการประชุมกันที่กรุงเวียนนา เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นเปิดให้ประเทศต่างๆ ลงนามตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1969 เรียกว่า " อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา " (Convention on the Law of treaty)  มาตรา 2 ข้อ 1 (ก) กำหนดคำนิยามของ " สนธิสัญญา  หมายถึงความตกลงระหว่างประเทศที่กระทำขึ้นระหว่างรัฐในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร  และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ  ทั้งนี้ไม่ว่าสนธิสัญญานั้นจะกระทำในรูปแบบเอกสารฉบับเดียว  สองฉบับ  หรือหลายฉบับและไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างใดก็ตาม "

2.  องค์ประกอบของสนธิสัญญา

2.1  สนธิสัญญาเป็นการทำการตกลงระหว่างรัฐภาคีสองฝ่าย  หรือมากกว่านั้นขึ้นไป เพราะหากเป็นสนธิสัญญาฝ่ายเดียวหรือเป็นเพียงข้อตกลงของสุภาพบุรุษก็ไม่ถือว่าเป็นสนธิสัญญา

2.2  สนธิสัญญาต้องเป็นการกระทำโดยบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ  หมายถึงรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศก็ได้ ฉะนั้นหากเป็นกรณีรัฐกระทำกับบริษัทก็ไม่ถือว่าเป็นสนธิสัญญา

2.3  สนธิสัญญาต้องก่อให้เกิดพันธะผูกพันในทางกฎหมาย และจะต้องอยู่ภายใต้กรอบความชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

3.  ประเภทของสนธิสัญญา

3.1  ประเภทพิจารณาตามจำนวนผู้เข้าร่วม สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

-  สนธิสัญญาแบบทวิภาคี หรือสนธิสัญญาที่มีภาคีเพียงสองฝ่าย

-  สนธิสัญญาแบบพหุภาคี หรือสนธิสัญญาหลายฝ่ายที่มีภาคีมากกว่าสองฝ่ายขึ้นไป

3.2  ประเภทพิจารณาตามเนื้อหา สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

-  สนธิสัญญาประเภทกฎหมาย หมายถึง สนธิสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศให้สมาชิกของสังคมระหว่างประเทศปฏิบัติโดยมีลักษณะที่อาจเกิดจากการประชุมนานาชาติที่วางข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม และสนธิสัญญาประเภทนี้มักเปิดโอกาสให้รัฐที่มิได้เข้าร่วมทำสนธิสัญญามาแต่ต้นเข้ามาเป็นภาคีในภายหลังได้

-  สนธิสัญญาประเภทสัญญา หมายถึง สนธิสัญญาที่ภาคีต่างมีพันธกรณีวางหลักเกณฑ์ผูกพันกันเฉพาะตามที่ระบุไว้ในการทำสนธิสัญญานั้น

3.3  ประเภทพิจารณาตามรูปแบบ สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

-  สนธิสัญญาแบบย่อ เป็นสนธิสัญญาที่จักทำขึ้นในระดับที่ต่ำกว่าประมุขแห่งรัฐและจัดทำขึ้นตามกระบวนการที่รวดเร็วกว่าการจัดทำสนธิสัญญาแบบเต็ม  กล่าวคือ เพียงแต่ลงนามก็ถือว่ามีผลผูกพันตามสนธิสัญญาแล้ว

-  สนธิสัญญาแบบเต็ม เป็นสนธิสัญญาที่ทำขึ้นในนามของประมุขแห่งรัฐและทำขึ้นตามกระบวนการจัดทำสนธิสัญญาเต็มขั้นตอนคือ มีการเจรจา ลงนาม และให้สัตยาบัน ซึ่งมีผลทำให้รัฐคู่สัญญามีเวลาไตร่ตรองที่เพียงพอก่อนที่จะผูกพัน เช่น การขอความเห็นชอบจากรัฐสภาของตนเสียก่อนที่ตนจะเข้าไปอยู่ภายใต้ข้อกำหนดต่างๆ ของสนธิสัญญา

4.  ขั้นตอนการทำสนธิสัญญา

4.1  การเจรจา หมายถึง ขั้นตอนเบื้องแรกของการส่งผู้แทนหรือตัวแทนของรัฐมาเสนอข้อเรียกร้องอภิปราย แลกเปลี่ยนความต้องการของแต่ละฝ่ายโดยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเจรจาอภิปราย (Pourparlers) กรอบของการเจรจาอาจทำได้หลายวิธีได้แก่ โดยทางการทูต จัดประชุมพิเศษ หรือโดยองค์การระหว่างประเทศเป็นผู้จัดให้ก็ตาม ซึ่งลักษณะการจัดทำเป็นข้อตกลงโดยใช้ข้อความระบุในตัวร่างสนธิสัญญาอันจะต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของคู่ภาคีด้วย

                ผู้มีอำนาจในการเจรจา แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้

-  ผู้ที่ต้องมีอำนาจเต็ม หมายถึง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจไปทำการเจรจาในฐานะตัวแทนของรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการมอบอำนาจเพียงใด ก็จะมีอำนาจเต็มเพียงนั้น

-  ผู้มีอำนาจโดยตำแหน่ง หมายถึง บุคคลที่แม้ไม่ได้รับมอบอำนาจเต็มก็สามารถทำการทุกอย่างเพื่อตกลงทำสนธิสัญญาได้เช่นกัน (แล้วแต่รูปแบบระบอบการปกครองแต่ละประเทศ) ซึ่งได้แก่ ประมุขของรัฐ  หัวหน้ารัฐบาล  หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ  ซึ่งรูปแบบของการเจรจามีทั้งการเจรจาโดยทางการทูต หรือการเจราจาโดยการประชุมกัน

4.2  การลงนาม หมายถึง การยอมรับว่ามีการทำข้อตกลงตามขั้นตอนแรกโดยผู้มีอำนาจเต็ม (Full power) ได้ตกลงเห็นชอบพร้อมกันแล้ว เพื่อจะได้กำหนดสถานที่และวันที่ที่จะให้สัตยาบันต่อไป  แต่การลงนามยังไม่ถือว่าเป็นการสร้างข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศเสมอไปทันที

การเกิดผลบังคับในรูปแบบย่อชั่วคราวไปพลางก่อนจึงขึ้นอยู่กับลักษณะของการลงนามว่าเป็นรูปแบบใด

                รูปแบบของการลงนาม นิยมทำกัน 3 แบบดังนี้

-  การลงนามเต็ม (Singature) คือ การกระทำโดยผู้มีหนังสือแสดงอำนาจเต็มได้กระทำภายใต้ขอบอำนาจ จึงเกิดผลแบบพันธะผูกพันตามสนธิสัญญารูปแบบย่อทันที

-  การลงนามชั่วคราว (Signature ad rependum) คือ กรณีปกติผู้ลงนามมีอำนาจที่จะลงนามอยู่แล้ว แต่เกิดความไม่แน่ใจว่าข้อตกลงนั้นตรงตามความต้องการของรัฐบาลหรืออาจไม่แน่ใจว่าเกินขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมายมาหรือไม่ จึงลงนามชั่วคราวซึ่งยังไม่มีผลผูกพัน จนกว่าจะมีการลงนามเต็มอีกครั้ง

-  การลงนามย่อ (Parater) คือ กรณีที่ผู้ไปทำสนธิสัญญาไม่มีอำนาจในการเจรจาและลงนาม ก็ลงนามย่อในใบสนธิสัญญา ซึ่งไม่มีผลผูกพันต่อรัฐบาลของเขาแต่อย่างใด

4.3  การให้สัตยาบัน หมายถึง การยืนยันว่าสนธิสัญญานี้ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเมื่อสนธิสัญญาได้ลงนามแล้ว รัฐบาลและรัฐสภา แต่ละประเทศจะพิจารณาให้สัตยาบันอีกขั้นหนึ่งจึงจะมีผลตามกฎหมาย โดยทั่วไปมักจะนำสนธิสัญญาที่ทำไว้นั้นให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วรัฐบาลทำหนังสือแปลงเปลี่ยนให้การรับรองต่อไป สนธิสัญญาจะเริ่มมีผลบังคับนับตั้งแต่วันให้สัตยาบันแล้ว และถ้าหากรัฐคู่สัญญาฝ่ายใดปฏิเสธการให้สัตยาบัน สนธิสัญญานั้นก็เป็นอันไร้ผลเสมือนหนึ่งมิได้มีสัญญาต่อกันเลย แต่ระหว่างที่ยังมิได้ถูกปฏิเสธและยังมิได้รับการให้สัตยาบัน สนธิสัญญานั้นก็คงอยู่แต่ไม่มีผลบังคับ  ดังนั้น การตรวจสอบและการให้ความเห็นชอบในการทำสัตยาบัน จึงถือเสมือนเป็นการยอมรับขั้นท้ายสุดและเตรียมประกาศอย่างเป็นทางการในการจดทะเบียนต่อไป  ส่วนรูปแบบการให้สัตยาบันก็มีแบบการให้สัตยาบันโดยฝ่ายบริหาร  การให้สัตยาบันโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และการให้สัตยาบันร่วมกันทั้งสองฝ่าย

                ลักษณะสำคัญของการให้สัตยาบัน

1.  สนธิสัญญาที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี ยังไม่ถือว่าได้รับการให้สัตยาบัน  จนกว่าการให้สัตยาบันจะต้องทำเป็นเอกสารโดยรัฐคู่สัญญา เรียกว่า "สัตยาบันสาร"

2.  ลักษณะการให้สัตยาบัน ถือว่าเป็นอำนาจดุลยพินิจ หรือนิติกรรมอิสระ กล่าวคือ เป็นการกระทำด้วยใจสมัคร รัฐดังกล่าวย่อมไม่ถูกผูกพันที่จะต้องให้สัตยาบันแต่อย่างใด อำนาจเช่นนี้ จึงอาจก่อให้เกิดผลเสียดังนี้

-  รัฐคู่สนธิสัญญาอาจให้สัตยาบันล่าช้า

-  รัฐคู่สนธิสัญญาอาจปฏิเสธการให้สัตยาบันโดยอ้างเหตุผล ซึ่งอาจถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่เหมาะสม  แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ถึงขนาดเป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตร

-  รัฐคู่สนธิสัญญาอาจให้สัตยาบันโดยมีเงื่อนไขต่อสนธิสัญญาได้

3.  การให้สัตยาบันมีวัตถุประสงค์ก่อให้เกิดผลดี ดังนี้

-  เป็นการให้เวลาแก่รัฐบาลเพื่อศึกษาถึงข้อดี ข้อเสียก่อนตัดสินใจและยังเป็นการเปิดโอกาสให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายภายในรัฐหากมีความไม่สอดคล้องกัน อันเป็นการทดลองใช้ทางหนึ่ง

-  เป็นการเปิดโอกาสให้ตรวจสอบข้อผิดพลาดหรืออำนาจของผู้ที่ไปทำในขั้นตอนก่อนหน้านี้ว่าถูกต้องเพียงใด

4.4  การจดทะเบียน  มาตรา 102  แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ  กล่าวว่า

" 1.  สนธิสัญญาทุกฉบับและความตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับ ซึ่งสมาชิกใดๆ แห่งสหประชาชาติได้เข้าเป็นภาคีภายหลังที่กฎบัตรฉบับปัจจุบันได้ใช้บังคับ จะต้องลงทะเบียนไว้กับสำนักเลขาธิการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยสำนักงานนี้

2.  ภาคีแห่งสนธิสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่าใดๆ ซึ่งมิได้จดทะเบียนไว้ตามบทบัญญัติในวรรคหนึ่งแห่งมาตรานี้ ไม่อาจยกเอาสนธิสัญญาหรือความตกลงนั้นๆ ขึ้นกล่าวอ้างต่อองค์กรใดๆ ของสหประชาชาติ "

5.  ภาคยานุวัติ (Accession ) หรือการเข้าร่วม (Adhesion ) หมายถึง การเข้าร่วมในลักษณะเป็นนิติกรรม ซึ่งยังผลให้รัฐที่มิได้เป็นภาคีในสนธิสัญญามาก่อนนั้นได้เข้าร่วมเป็นภาคีในภายหลังนั้น  โดยยอมรับสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญานั้น ดังนั้น สนธิสัญญาที่จะมีการทำภาคยานุวัติได้ต้องเป็นสนธิสัญญาประเภทพหุภาคีและจะต้องมีข้อกำหนดยอมรับภาคยานุวัติของรัฐอื่นไว้ด้วย  โดยภาคยานุวัตินี้ถือว่ามีลักษณะทางกฎหมาย คือ เป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการกระทำของรัฐโดยมุ่งประสงค์ที่จะให้มีผลทางกฎหมายที่ตนปรารถนา  นอกจากนั้นภาคยานุวัติจะต้องแสดงเจตนาออกมา จึงทำการภาคยานุวัติโดยปริยายไม่ได้ และเมื่อทำแล้วจะไม่มีผลย้อนหลังแต่อย่างใด

                รูปแบบวิธีการทำภาคยานุวัติ แบ่งออกเป็น 3  แบบดังนี้

-  แบบเก่า  อาจกล่าวได้ว่าเป็นนิติกรรมสองฝ่ายหรือสัญญา  กล่าวคือ ภาคยานุวัติจะกระทำได้ก็โดยการแสดงเจตนาของรัฐที่จะเข้าภาคยานุวัติกับรัฐซึ่งเป็นภาคีสนธิสัญญาเดิม

-  แบบกลางเก่ากลางใหม่  ได้แก่ การแลกเปลี่ยนสนธิสัญญากัน  กล่าวคือ รัฐผู้เข้าภาคยานุวัติทำปฏิญญาว่าเข้าเป็นภาคยานุวัติ  หรือรัฐคู่สนธิสัญญาทำปฏิญญากับรัฐใหม่ให้เข้าเป็นคู่สนธิสัญญา

-  แบบใหม่  ภาคยานุวัติแบบใหม่เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว  กล่าวคือ ปกติในระยะเวลาปัจจุบันรัฐซึ่งมิใช่ภาคีสนธิสัญญาได้เข้าภาคยานุวัติโดยทำปฏิญญาฝ่ายเดียวว่าตนได้เข้าร่วมในสนธิสัญญาแล้ว  ปฏิญญานี้จะส่งไปยังรัฐภาคีสนธิสัญญา ซึ่งสนธิสัญญาได้กำหนดให้เป็นผู้เข้ารับภาคยานุวัตินั้น แล้วรัฐภาคีจะได้แจ้งเรื่องภาคยานุวัตินี้ไปยังรัฐภาคีสนธิสัญญาอื่นๆ ได้ทราบ

6.  การตั้งข้อสงวน (Reservations)  หมายถึง  ถ้อยแถลงฝ่ายเดียวไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม ซึ่งรัฐหนึ่งได้กระทำในขณะที่มีการลงนาม  ให้สัตยาบัน  หรือภาคยานุวัติสนธิสัญญา เพื่อแสดงว่ารัฐตนต้องการที่จะระงับหรือยกเว้นความผูกพันบางประการของสนธิสัญญานั้น ไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อรัฐของตนก็ได้  อันสามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อความเหมาะสมกับความต้องการ ฉะนั้นรัฐที่ไม่ได้ตั้งข้อสงวนก็ต้องผูกพันตามสนธิสัญญาทั้งฉบับตามปกติ  นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่าการตั้งข้อสงวน จะกระทำได้เฉพาะในสนธิสัญญาประเภทพหุภาคีเท่านั้น จึงไม่สามารถตั้งข้อสงวนในสนธิสัญญาประเภททวิภาคีได้

                อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969  มาตรา 19  กำหนดว่ารัฐภาคีย่อมตั้งข้อสงวนได้เว้นแต่

1.  สนธิสัญญามีข้อกำหนดห้ามตั้งข้อสงวนไว้ชัดแจ้ง

2.  สนธิสัญญากำหนดกรณีที่จะตั้งข้อสงวนไว้ (ซึ่งหมายความว่านอกจากที่กำหนดไว้ ย่อมตั้งข้อสงวนไม่ได้)

3.  ข้อสงวนขัดต่อวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญา

                การรับหรือปฏิเสธข้อสงวนของรัฐภาคีแห่งสนธิสัญญา มีกำหนดไว้ในมาตรา 20  แห่ง

อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. ถ้าสนธิสัญญามีกำหนดให้ตั้งข้อสงวนไว้ รัฐภาคีอื่นแห่งสนธิสัญญาไม่จำเป็นต้องทำการตอบรับ

2. ถ้าสนธิสัญญามีความมุ่งหมายให้มีการบังคับสนธิสัญญาทั้งหมด  โดยไม่มีการยกเว้น ดังนี้ จะตั้งข้อสงวนได้ต่อเมื่อรัฐภาคีอื่นทุกรายยินยอมรับข้อสงวน

3.  ถ้าสนธิสัญญาไม่ได้ระบุอนุญาตให้ทำข้อสงวน  ข้อสงวนจะมีผลก็ต่อเมื่อรัฐภาคีอื่นทำการรับข้อสงวนอย่างน้อยหนึ่งรัฐ

4.  ถึงแม้ว่าจะมีรัฐภาคีอื่นคัดค้านข้อสงวน  สนธิสัญญาในส่วนอื่นก็ใช้บังคับอยู่  นอกจากรัฐที่คัดค้านไม่ยอมรับข้อสงวนจะระบุไว้เป็นอย่างอื่นด้วยการแสดงเจตนาชัดแจ้ง

                สำหรับผลของการตั้งข้อสงวน  ย่อมเป็นไปตามที่สนธิสัญญากำหนดไว้ ในกรณีที่สนธิสัญญามิได้กำหนดไว้  อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969  มาตรา 21  กำหนดไว้ดังนี้

1.  กำหนดให้พันธกรณีระหว่างรัฐที่ตั้งข้อสงวนกับรัฐภาคีอื่นเป็นไปตามข้อสงวน

2.  กำหนดให้พันธกรณีระหว่างรัฐภาคีอื่นแห่งสนธิสัญญา  เป็นไปตามสนธิสัญญาทุกประการ

3.  ในกรณีที่มีรัฐภาคีแห่งสนธิสัญญาบางรัฐภาคีคัดค้าน  การคัดค้านทำให้ไม่มีการใช้บังคับข้อสงวนระหว่างรัฐที่คัดค้านกับรัฐที่ตั้งข้อสงวน

7.  การตีความสนธิสัญญา  หมายถึง  การค้นหาความหมาย วัตถุประสงค์ที่แน่นอนของสนธิสัญญา เนื่องจากข้อกำหนดในสนธิสัญญามีความหมายที่คลุมเครือไม่ชัดเจน  อันเกิดจากสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป  เพราะตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้น จะต้องสะท้อนความเป็นจริง เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามสนธิสัญญาของรัฐคู่ภาคี จึงก่อให้เกิดการตีความขึ้นมา

                ผู้มีอำนาจในการตีความ แบ่งได้เป็น 2 ระดับดังนี้

7.1  ผู้มีอำนาจระดับภายในประเทศ  โดยการตีความโดยวิถีทางภายในของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแห่งรัฐนั้น

7.2  ผู้มีอำนาจระดับระหว่างประเทศ  โดยมีการตีความตามวิถีทางระหว่างประเทศ ซึ่งมีองค์กรระดับระหว่างประเทศมาตีความได้แก่

-  การตีความของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ  ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา 36(2) กำหนดให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจตีความสนธิสัญญาระหว่างประเทศ  ถึงแม้ว่าอำนาจการตีความของศาลฯ จะมีข้อจำกัดอย่างมากก็ตาม  กล่าวคือ ศาลฯ จะมีอำนาจตีความเมื่อรัฐภาคีแห่งสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับอำนาจศาล

-  การตีความของศาลอนุญาโตตุลาการ  องค์การ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ตีความ

                สำหรับวิธีในการตีความสนธิสัญญานั้น  อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 มาตรา 31 กำหนดกฎเกณฑ์ทั่วไปในการตีความไว้ว่า

1.  การตีความสนธิสัญญาต้องตีความโดยสุจริต คือ ตีความให้สอดคล้องกับความหมายธรรมดาของข้อความตามเนื้อหาแห่งสนธิสัญญาและตามวัตถุประสงค์และตามความมุ่งหมายตามสนธิสัญญา

2.  เพื่อความมุ่งหมายในการตีความสนธิสัญญา  เนื้อหาของสนธิสัญญานั้น นอกจากข้อความของสนธิสัญญาแล้วยังรวมความถึงอารัมภบทและภาคผนวกของสนธิสัญญาด้วย

3.  ข้อความในสนธิสัญญาอาจมีความหมายพิเศษ  หากว่ารัฐภาคีทำขึ้นไว้อย่างตั้งใจ (ให้มีความหมายพิเศษ)

8.  ผลของสนธิสัญญา  ตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969  มาตรา 34  มาตรา 35  มาตรา 36 และมาตรา 37 ได้วางหลักกฎหมายไว้ดังนี้

8.1  หลักสนธิสัญญามีผลเฉพาะระหว่างรัฐภาคี  หมายถึง  หลักทั่วไปของสัญญาที่ทำขึ้นต้องได้รับการยึดถือปฏิบัติ ซึ่งบุคคลที่สามย่อมไม่อาจอ้างประโยชน์จากสัญญาหรือไม่อาจถูกบังคับตามสัญญาได้  กล่าวคือ สนธิสัญญาจะมีผลก็แต่เฉพาะระหว่างภาคีเท่านั้น

8.2  หลักสนธิสัญญามีผลต่อรัฐที่มิใช่ภาคี  หมายถึง  หลักทั่วไปดังกล่าวมีข้อยกเว้นอยู่หลายประการ ดังนี้

-  ข้อยกเว้นที่เกิดจากความยินยอมของรัฐที่สาม และรัฐที่สามต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร

-  ข้อยกเว้นที่เกิดจากหน้าที่หรือพันธกรณีแก่รัฐที่สามตามหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ  ซึ่งโดยปกติย่อมผูกพันรัฐทุกรัฐ ยกเว้นรัฐนั้นได้โต้แย้งคัดค้านมาตั้งแต่ต้น

-  ข้อยกเว้นกรณีสนธิสัญญาก่อให้เกิดสถานะเป็นการทั่วไป  เช่น  สนธิสัญญากำหนดเขตแดน  สนธิสัญญาเกี่ยวกับดินแดน  สนธิสัญญาเกี่ยวกับความเป็นกลางถาวรทั่วไป ดังนี้ก็สามารถมีผลถึงรัฐอื่นๆ ที่มิได้เป็นภาคีได้เช่นเดียวกัน

9.  ความสมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา  เหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของตัวสนธิสัญญาทั้งหมดในที่นี้หมายถึง  เหตุที่จะทำให้สนธิสัญญาทั้งหมดตกเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น  ซึ่งจะทำให้สนธิสัญญานั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้นทันทีที่ทำสัญญาโดยไม่ต้องคำนึงว่าสนธิสัญญาเช่นว่านั้นจะเป็นสนธิสัญญาทวิภาคี หรือสนธิสัญญาพหุภาคี ได้แก่กรณีดังนี้

9.1  สนธิสัญญาปฏิบัติไม่ได้  เช่น  การยกดินแดนที่ตนไม่ได้เป็นเจ้าของให้รัฐอื่น  หรือไม่มีอำนาจที่จะทำสนธิสัญญาได้

9.2  สนธิสัญญาที่ขัดกับหลักเกณฑ์บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ  ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ยอมรับและเป็นแบบแผนปฏิบัติโดยทั่วไปในสังคมระหว่างประเทศ

9.3  ข้อผูกพันที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาของภาคี  สนธิสัญญาขัดกับสนธิสัญญาซึ่งภาคีได้ทำไว้กับรัฐอื่น  หรือรัฐนั้นไม่อยู่ในสภาพทางกฎหมายที่จะทำสนธิสัญญานั้นได้

9.4  การสำคัญผิด  มาตรา 48 (1) แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969  บัญญัติว่า รัฐอาจหยิบยกความผิดพลาดในสนธิสัญญาเป็นเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของการให้ความยินยอมเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญานั้นได้  หากความผิดพลาดนั้นเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ที่รัฐเช่นว่านั้นเข้าใจว่ามีอยู่ในเวลาที่ทำสนธิสัญญาและเป็นพื้นฐานอันสำคัญของการให้ความยินยอมเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญา

9.5  การฉ้อฉล  มาตรา 49  แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969  บัญญัติว่า  หากรัฐเข้าทำสนธิสัญญาเพราะการประพฤติฉ้อฉลของรัฐภาคีอื่น  รัฐซึ่งถูกฉ้อฉลเช่นว่านั้นอาจอ้างการฉ้อฉลดังกล่าวมาเป็นเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์แห่งการให้ความยินยอมเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญาได้

9.6  การข่มขู่ผู้แทนของรัฐ  มาตรา 52  แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969  บัญญัติว่า  การให้ความยินยอมของรัฐเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญา อันเกิดขึ้นจากการข่มขู่ผู้แทนของรัฐโดยการกระทำ หรือโดยการคุกคาม  อันมุ่งต่อตัวผู้แทนของรัฐย่อมไม่มีผลในทางกฎหมายแต่ประการใด

10.  การสิ้นสุดของสนธิสัญญา  เป็นลักษณะของสนธิสัญญาที่มีผลบังคับใช้แล้ว  แต่อาจมีเหตุต่างๆ เกิดขึ้นจนทำให้สนธิสัญญานั้นสิ้นสุดได้ หรือระงับการใช้ได้  สาเหตุต่างๆ ได้แก่

10.1  สนธิสัญญากำหนดวาระสิ้นสุดไว้  หรือภาคีสนธิสัญญาตกลงสินยอมเลิกสนธิสัญญา

10.2  มีการทำสนธิสัญญาขึ้นใหม่  ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามุ่งที่จะยกเลิกความตกลงฉบับก่อน

10.3  คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บอกเลิกสัญญาได้  ตามที่ระบุกำหนดไว้ในสนธิสัญญาด้วย เพราะโดยปกติต้องเป็นการตกลงทุกฝ่าย  แต่หากเป็นการบอกเลิกสนธิสัญญาฝ่ายเดียว จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อสนธิสัญญากำหนดให้บอกเลิกได้  ฉะนั้นถ้าสนธิสัญญาไม่ได้ระบุให้สิทธิบอกเลิกก็ไม่มีสิทธิบอกเลิก  โดยผลของการบอกเลิกถ้าเป็นสนธิสัญญาสองฝ่ายย่อมทำให้สิ้นสุดลง

10.4  มีการกระทำที่ละเมิด หรือไม่ยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญา  เมื่อรัฐใดละเมิดต่อข้อกำหนดในสนธิสัญญา  รัฐอื่นมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐที่ถูกละเมิดหรือเกิดความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญา

10.5  มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น  เช่น  สงคราม  หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมซึ่งผิดไปจากที่เคยเป็นอยู่ขณะทำสนธิสัญญา

10.6  สนธิสัญญานั้นขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นใหม่  เนื่องมาจากสนธิสัญญานั้นล่าสมัย  ย่อมเลิกผูกพันไปโดยปริยาย 

10.7  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยของรัฐคู่สัญญา  เป็นต้น

 

 

 

 

               

 

หมายเลขบันทึก: 168759เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2008 06:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท