เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี


เรียนรู้ สานข่าย ขยายผล

เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี

1. ที่มาและความสำคัญของปัญหา

เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมโดยรวม และส่งผลเสียหายในด้านต่างๆ เช่นด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ด้านเศรษฐกิจทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภค การป้องกันและแก้ไขเหตุที่เกิดจากการดื่มของมึนเมา ด้านสังคมก่อให้เกิดความรุนแรงและภัยร้ายในสังคมมากขึ้น ด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของคนในชาติด้อยลง และทำให้คุณธรรมของผู้คนต่ำลงจนเกิดวิกฤติร้ายในสังคมมากมาย

2. เครือข่ายภาคประชาสังคม คือใคร

เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี คือเครือข่ายที่เกิดขึ้นและเติบโตโดยธรรมชาติ เริ่มจากการที่กลุ่มคนจากภาคประชาชนได้รวมตัวกันเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ในการถักทอเครือข่ายชุมชนเพื่อสร้างพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด และได้พบว่าสาเหตุของปัญหายาเสพติดในขณะนั้นคือความยากจน ในปี พ.ศ. 2548 จึงได้ร่วมกับศูนย์ต่อสู้เอาชนะความยากจน (ศตจ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการศึกษาระบบการทำงานและการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน โดยมีภาควิชาการเชื่อมโยงความรู้ (ตามหลักสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของนายแพทย์ประเวศ วะสี) โดยใช้ฐานพื้นที่ชุมชนเป็นตัวตั้ง ชาวบ้านเป็นเจ้าของงานและเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาตลอดจนนำเสนอปัญหาต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้ร่วมกับสมาคมหมออนามัย ในการพัฒนาเครือข่ายประชาคมรณรงค์งดเหล้า โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จากรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายพหุภาคีจนเป็นที่ประจักษ์ในศักยภาพความเข้มแข็งของกลไกการประสานและเชื่อมโยงงานพัฒนา เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกระแสสังคมและการเรียนรู้ระดับต่างๆ ในอดีตแม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย แต่เครือข่ายได้พยายามมาโดยตลอดจน ปัจจุบันเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี มีองค์กรภาคีร่วมสนับสนุนงานมากถึง 40 องค์กร อาสาสมัครในการปฏิบัติงาน 60 คน เครือข่ายอาสาสมัครในพื้นที่มากกว่า 1,000 คน กระจายในพื้นที่ 25 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี มีประเด็นงานชุมชนเข้มแข็งตามอุดมการณ์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง การแก้ไขปัญหาความยากจน การแก้ไขปัญหายาเสพติด การรณรงค์งดเหล้าและอบายมุข การพัฒนาสังคม การสร้างสุขภาวะ และการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

3. แนวคิดหลักในการดำเนินงาน

• สร้างกระบวนการเรียนรู้และนำหลักการจัดการความรู้มาใช้ในวิถีชีวิตชุมชน

• สร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมในการทำงานร่วมกันแบบพหุภาคี

• เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทั้งทางจิตใจและทางกายภาพให้กับสังคมทุกระดับ

• สร้างกระแสสังคมให้เกิดการรับรู้ทั่วกันและพัฒนาสู่นโยบายสาธารณะที่ดี

4 . การดำเนินงานในปีที่ผ่านมา

รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา 2549 ร่วมกับ สมาคมหมออนามัย และภาคีเครือข่าย

รณรงค์กฐินปลอดเหล้า ร่วมกับ เครือข่ายองค์การพระผู้นำนักพัฒนาอุดมการณ์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี

เฝ้าระวังการฝ่าฝืนการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ร่วมกับ เครือข่ายเยาวชนนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้และสร้างกระแสสังคมในงานกาชาด ร่วมกับ รวมมิตรคิดทำ สวท.อุบลราชธานี

จัดงานวันเด็ก “ ครอบครัวอบอุ่นรักลูกเลิกเหล้า ” ร่วมกับ โครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง 2 หมู่บ้าน

วิ่งต้านเหล้า สนับสนุน พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคที่ 7 สมาคมหมออนามัย และ เครือข่ายชมรมนักวิ่งและปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี

กิจกรรม “ คนต้นแบบ หยุดเหล้าหยอดกระปุกเพื่อพ่อ ” ร่วมกับ อาสาสมัครในพื้นที่ 25 อำเภอ

โครงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ร่วมกับ สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง (ส X ส)

โครงการบริหารแผนงานแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย 40 องค์กร

โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมป้องกันภัยยาเสพติด ร่วมกับ ชุมชนหมู่บ้านพงสว่าง ชมรมรักษ์ป่าไม้ วิทยาลัยการอาชีพวารินชำราบ และภาคีเครือข่าย 40 องค์กร

โครงการความร่วมมือเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคม และสุขภาวะ จังหวัดอุบลราชธานี (ภาคประชาชน) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครในพื้นที่ 75 ตำบล

โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาสืบสานประเพณีแห่เทียนจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และภาคีเครือข่าย 40 องค์กร

หมายเลขบันทึก: 168648เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2008 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ 
ขณะนี้ผมก็กำลังเคลื่อนงานเกี่ยวกับการรณรงค์ในเรื่อง ลด ละเลิกสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหมู่นิสิต  ไม่หวังให้ประสบความสำเร็จเต็มร้อย  แต่ก็หวังให้มีการตระหนักรู้และการรับผิดชอบต่อคนอื่นและสังคม  ซึ่งทำมาต่อเนื่อง ทั้งรณรงค์ด้วยเวทีต่าง ๆ ผลิตสื่อหลากหลาย  รวมถึงการใช้มาตรการบังคับใช้  ซึ่งก็ได้ผลที่น่าพอใจ  โดยส่วนหนึ่งอยู่ในบันทึกเหล่านี้

http://gotoknow.org/blog/pandin/116980
26 กรกฎาคม 2550 : สู่เส้นทางปลอดเหล้าเข้าพรรษา (๑)

http://gotoknow.org/blog/pandin/116986
26 กรกฎาคม 2550 : กลอนลำจากนิสิต การสะท้อนพลังทางปัญญาสู่เส้นทางปลอดเหล้าเข้าพรรษา
(๒)

http://gotoknow.org/blog/pandin/162229
มหาวิทยาลัยไร้แอลกอฮอล์ ... การจุดประกายสู่มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ

http://gotoknow.org/blog/pandin/162093
นิสิตผู้มีปัญญา งด - เลิกสุราเพื่อการเรียน

...

ขอบคุณครับ


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท