On Education: child-centered อีกที กับ OLPC อีกหน (ตอนสอง)


CONSTRUCTIVISM

มาถึงกลุ่มทฤษฎีสุดท้ายคือ constructivism ซึ่งเชื่อว่าผู้เรียนนั้นไม่เพียงแต่รับข้อมูลเข้ามาเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ตัวผู้เรียนมีส่วนมากในการสร้างความรู้เฉพาะตัว เพราะเลือกรับต่างกันและให้ความหมายกับมันและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับมาต่างกันไป

สมัยผมเรียนปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อนๆ กับผมพยายามจะเทียบเคียงการทำงานของ CPU ในแบบต่างๆ กับผู้จัดการและลูกจ้างเพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมให้กับบทเรียน แบบนี้ก็ถือว่าเป็น social constructivism ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เชื่อว่ากลุ่มผู้เรียนสามารถช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเนื้อหาที่เรียนได้

อะไรคือการเรียนรู้: Constructivism นั้น นับเป็นแนวทางที่ใหม่มากๆ ครับ งานวิจัยที่ออกมารองรับนั้นยังมีน้อย และส่วนใหญ่จะอิงกับทฤษฎีทางด้าน cognitive theory ด้วย กลุ่มนักวิจัยและนักการศึกษาด้านการเรียนการสอนออนไลน์ที่เห่อ constructivism กันหนักหนาก็ยังยอมรับอิทธิพลของ cognitive theory เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาวิจัย การตีความว่าอะไรคือความรู้ใน constructivism นั้นก็คลุมเครือมาก ถ้าไม่ออกแบบงานวิจัยเปรียบเทียบ แบบมีกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ก็แทบจะหาหลักฐานไม่ได้เลย (เช่นดูว่ากลุ่มไหนได้คะแนนสอบมากกว่ากัน กลุ่มไหนบรรยายความรู้สึกว่าพอใจผลการเรียนมากกว่ากัน) ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องมีการวิเคราะห์งานของผู้เรียนว่ามีการต่อยอดสร้างความรู้ใหม่ได้แค่ไหน ซึ่งมาตรวัดก็ยังไม่มีมาตรฐานมากนัก บางคนก็ดูจาก Bloom taxonomy นักวิจัยบางกลุ่มก็สร้างมาตรฐานต่อยอดจากของ Bloom บ้างก็มีการมองที่องค์ประกอบของการกระบวนการเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วยการรับรู้ การสอน และกลุ่มผู้ร่วมเรียน หรือ cognitive presence, teaching presence, and social presence (Garrison, Anderson, & Archer, 2000)

ประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน: การนำเอาหลักการของ constructivism มาใช้ในห้องเรียนนั้น ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการประเมินผลครับ เพราะในเมื่อเรายึดเอาความรู้ที่ผู้เรียนสร้างขึ้นเป็นสำคัญแล้ว มาตรฐานที่จะบอกว่าใครรู้อะไรมันก็เป็นเรื่องของตัวบุคคล เท่าที่ผมเห็นในการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย หลักการของ constructivism จะถูกผูกไว้กับ adult learning หรือ independent study โดยหลักการจะสนับสนุนให้ผู้เรียนกำหนดเป้าหมายการเรียนเอง จากนั้นเสนอให้อาจารย์ผู้สอนรับทราบ ถ้าตกลงกันได้ ก็จะมีการรายงานผลการเรียนเป็นระยะในระหว่างเทอม พอถึงปลายเทอมก็มาคุยกันว่าเป็นอย่างไร ได้ผลตามเป้าไหม ก็ให้คะแนนไปตามนั้น การเรียนในนามของ constructivism นั้นจุดเริ่มต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากครับ ผมหมายถึงว่าผู้เรียนต้องรู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร และทั้งผู้เรียนและตัวผู้สอนก็ต้องรู้ว่ามาตรฐานการเรียนรู้มันควรจะไปได้แค่ไหนในเวลาสองถึงสามเดือน

ในกระแสของ constructivism นี้ยังส่งผลกระทบต่อการวางตัวของผู้สอน ประโยคที่ได้ยินกันบ่อยมากคือต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง (from the sage on the stage to the guide on the side) ซึ่งผมว่าเป็นจุดเปลี่ยนระดับถอนรากถอนโคนระบบการศึกษา โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออก ด้วยความคาดหวังทางสังคมทั้งในบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้านที่ว่าครูคือผู้มีความรู้ และครูคือผู้ให้ความรู้ เด็กต้องเคารพครู สิ่งเหล่านี้ทำให้การเปลี่ยนบทบาทเป็นไปได้ยาก ยากทั้งต่อตัวครูและผู้เรียน (ครูรับไม่ได้ว่าเด็กลองดี หรือเด็กอวดรู้ เด็กเองก็รับไม่ได้ที่ครูไม่สอน หรือครูไม่รู้ทุกอย่าง)

ทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงผู้ปกครองของเด็กด้วยนั้น ต้องทำใจว่าข้อมูล (ซึ่งยังไม่ใช่ความรู้) นั้นมีอยู่ทั่วไป แต่การสร้างความรู้นั้นเป็นเรื่องที่สูงกว่านั้น ครูต้องยอมรับว่าตัวไม่ได้รู้ทุกอย่าง และไม่ต้องอวดตัวว่ารู้ทุกอย่าง บางเรื่องเด็กเปิดอินเตอร์เน็ตหรือ UBC ได้ความรู้มากกว่า (แถมสื่อเหล่านี้บางครั้งมีเทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจกว่า)

สรุป

สรุปตามความเข้าใจของผมเองแล้วก็คือทั้งสี่กลุ่มทฤษฎีนี้ยังได้รับความสนใจและไม่มีทฤษฎีไหนจะอธิบายการเรียนรู้ได้ครอบคลุมไปทุกด้าน แต่ในตอนนี้กระแสของ constructivism มาแรงมากๆ ครับ โดยเฉพาะในวงการศึกษานั้น นักวิชาการและนักการศึกษาก็ออกมาตื่นเต้นและเห็นว่าเป็นยาครอบจักรวาลของการระบบการศึกษา ข่าวจาก OLPC เองก็มีการถกเถียงเรื่อง constructivism กับ OLPC อยู่ไม่น้อยครับ แต่จะว่าไปแล้วทฤษฏีนี้ยังใหม่มากๆ ครับ (จะว่าไปแล้วกลุ่มทฤษฎีว่าด้วยการเรียนรู้ตั้งแต่ Behaviorism เป็นต้นมา ยังมีอายุไม่ถึงร้อยปีเลยด้วยซ้ำ!) ด้วยความใหม่ มันก็เลยไม่มีงานวิจัยมารองรับ ล่องลอยอยู่ในอากาศ ดูสวยหรูครับ แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ ผมยังไม่แน่ใจเลยว่านักวิชาการที่ยึดเอาหลักการ constructivism เป็นคำตอบนั้นจะฟันธงว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้แล้วได้อย่างไร

อ้างอิง

Garrison, D. R., T. Anderson, and W. Archer. 2000. Critical thinking in a text-based environment: Computer conferencing in higher education. Internet and Higher Education 2(2-3), 1-14. Available online at http://communitiesofinquiry.com/documents/Critical_Inquiry_model.pdf

หมายเลขบันทึก: 166533เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2008 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีมากเลยคะ ชอบคะ บังเอิญเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้พอดี ละอ่านเจอกระทู้นี้ทำให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น ขอบคุณมากคะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท