วงแชร์และดอกเบี้ย (สวัสดิการ3)


การเล่นแชร์คือการพึ่งพาช่วยเหลือกันด้านการเงินของชุมชนคนรู้จักกันที่มีมาเนิ่นนานแล้ว

ระบบสวัสดิการที่ร่วมกันจัดโดยคนที่ร่วมอยู่ในชุมชนเดียวกันเรียกว่า ระบบสวัสดิการชุมชน ซึ่งความสนใจของผมพุ่งไปที่องค์กรการเงินชุมชน ในฐานะกลุ่มที่มีการพึ่งพากันด้านการเงินที่น่าจะพัฒนาการมาจากกลุ่มแชร์ ซึ่งผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เพราะแม่ก็ร่วมอยู่วงแชร์ของคนในละแวกบ้านด้วย

การเล่นแชร์คือการพึ่งพาช่วยเหลือกันด้านการเงินของชุมชนคนรู้จักกันที่มีมาเนิ่นนานแล้ว โดยมีหัวหน้าหรือเถ้าแชร์เป็นคนเก็บเงินในรอบสัปดาห์หรือรอบเดือนแล้วแต่จะตกลงกันว่าจะเล่นกันเดือนละเท่าไร  เมื่อครบเดือนจะมีการเปียแชร์ โดยการเขียนจำนวนเงินค่าบำรุงที่แต่ละคนเสนอว่าจะให้เพื่อขอรับเงินกองกลางเอาไปใช้ก่อน ซึ่งหัวหน้าหรือเถ้าแชร์จะเป็นคนรวบรวมและจัดเก็บตามบ้าน โดยเถ้าแชร์ได้ประโยชน์จากการทำหน้าที่นี้ด้วยการรับเงินกองกลางไปใช้เป็นคนแรกโดยไม่ต้องเสียค่าบำรุง

ถ้าในวงแชร์มี20คน สมมุติว่าเสียคนละ100บาทต่อเดือน เถ้าแชร์จะได้รับเงินก้อนแรกจำนวน 2,000 บาท เดือนถัดมาถ้ามีคนเปียแชร์สูงสุด20บาท คนๆนั้นก็จะได้รับเงิน2,000บาท จากผู้เล่น20คนๆละ100บาท(รวมเถ้าแชร์ด้วย) โดยที่คนที่เปียได้คนแรกจะต้องเสียค่าแชร์120บาททุกเดือน ถ้าคนถัดมาเปียสูงสุด15บาท เขาจะได้รับเงิน2,020บาท และจะต้องเสียค่าแชร์เดือนละ115บาททุกเดือนจนครบรอบคนสุดท้าย ซึ่งจะได้รับเงินก้อนโตที่สุด การเล่นแชร์ได้ช่วยผ่องถ่ายความจำเป็นในการใช้เงินซึ่งไม่ตรงกันให้กับคนในชุมชน โดยความสำคัญของความต้องการใช้เงินพิจารณาจากการเสนอเงินค่าบำรุงของแต่ละคน  ต่อมาเมื่อระบบตลาดใช้กลยุทธ์ขายผ่อนซึ่งเป็นหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ เมื่อเรามีเงินไม่พอแทนที่จะเล่นแชร์เพื่อเอาเงินกองกลางไปซื้อของใช้ที่ต้องการ ระบบทุนก็เสนอให้มีการซื้อแบบผ่อนส่งโดยเสียดอกเบี้ยหรือค่าบำรุงให้กับผู้ขายแทน

การช่วยตัวเองด้วยการเก็บออมเงินให้เพียงพอกับความต้องการ ช่วยเหลือพึ่งพากันด้วยการเล่นแชร์หรือจัดตั้งกลุ่มการเงินชุมชน รวมทั้งพึ่งพาตลาดจึงเป็นเรื่องเดียวกันภายใต้ตลาดทุนที่มีดอกเบี้ยเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ เนื่องจากตลาดทุนจะคิดค้นวิธีการทุกรูปแบบที่มีฐานอยู่บนการงอกเงยของดอกเบี้ยซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดราคาขายในท้องตลาดไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

วันเวลาที่เคลื่อนไปในกาลอวกาศของเราจึงมีค่านิจอมตะคือดอกเบี้ยพ่วงไปด้วย แน่นอนว่าค่านิจนี้ไม่เท่ากันในแต่ละคนตามหลักสัมพัทธภาพ ใครที่มีวิถีชีวิตรวดเร็วกว่าคนอื่นๆก็ย่อมมีค่านิจมากกว่า (คนอย่างปู่เย็นน่าจะมีค่านิจน้อยกว่าคนจำนวนมาก) ผมเป็นคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับค่านิจตัวนี้ทั้งฝ่ายรับและที่ต้องจ่าย แต่ก็ไม่มากมายถึงกับต้องใช้ความรู้ในการบริหารจัดการมันโดยตรง

หมายเลขบันทึก: 166290เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2008 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
นกน้อยทำรังแต่พอตัว

เมื่อวันที่กลุ่มแม่พริกได้มีการประชุมสมาชิกนกได้เข้าร่วมประชุมด้วย และได้ให้กำลังใจคนทำงานให้กับกลุ่มว่าการทำงานด้วยความตั้งใจให้กับชุมชนนั้นมันเหนื่อย แต่ก็สุขใจไปพร้อมกัน และได้พูดถึงเรื่องการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุให้กับสมาชิก ผู้ใหญ่เก่งได้แลกเปลี่ยนกันว่า น่าจะให้เบี้ยผู้สูงอายุได้เลยเมื่อครบเวลาออม โดยให้ปีละ 500 บาท จากสมาชิกที่มีอายุมากตามเกณท์ที่ให้มีจำนวนอยู่ 30กว่าคน คงมีเงินพอที่จะให้ จากสมาชิกออมปีละ 415 บาทพร้อมเงินสมทบรายปีด้วย จึงเหมือนให้ดอกเบี้ยผู้ออมที่มีอายุมาก อีกจำนวนเงิน 85 บาท เป็นดอกเบี้ยในแต่ละปี และยังได้สวัสดิการในการเยี่ยมไข้ในแต่ละปี  ปีละ2 ครั้ง และสวัสดิการอื่นอีกที่ทางกลุ่มจัดให้

จากได้แลกเปลี่ยน เป็นความคิดที่ดี แต่เรื่องที่ต้องนำมาคิดว่าพวกเราจะเปลี่ยนคงจะต้องเปลี่ยนทั้งเครือข่ายเลยเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงผลกระทบในระยะยาว

ถ้าเป็นเปียแชร์ที่คุณภิมพูดถึง ทางบ้านนกนั้นก็เล่นกัน แต่ก็ยุบวงแชร์ไปเหมื่อนกันมันมีความเสี่ยงอยู่เพราะแต่ละคนรู้หน้า แต่ไม่รู้ใจ การรวมกลุ่มในการตั้งวงแชร์ความเสี่ยงรูปแบบการออมและสวัสดิการร่วมกัน คงจะเป็นการตั้งจากฐานองค์กรการเงิน ร่วมกับการจัดสวัสดิการควบคู่การทำงานร่วมกันคงจะมีความเสี่ยงน้อยลงบ้าง เพราะสังเกตุจากการทำงานแต่ละครั้งของกลุ่มตนเองทำมายังมีสิ่งค้ำประกันอยู่บ้าง

 

การเปียร์แชร์ที่จริงคือ ดอกเบี้ยเงินกู้   จุดต่างจากระบบตลาดก็คือ   ดอกเบี้ยในระบบตลาดถูกกำหนดจาก "ตลาด" คือ ความต้องการและการมีอยู่ของเงินในระบบ (ผู้กู้ ผู้ยืม ทั้งหมดในระบบ)    หรือ อาจถูกกำหนดโดย กม.ในกรณีที่รัฐแทรกแซง  หรือ ถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจตลาด ซึ่งมักเป็นผู้ให้กู้   เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดมาจากภายนอกซึ่งผู้กู้รายย่อยในระบบตลาดไม่สามารถไปควบคุมกำกับมันได้

ดอกเบี้ยในวงแชร์เป็นดอกเบี้ยที่ภายในกลุ่มกำหนดกันเอง  โดยใช้หลักการแข่งขันว่า ใครให้ดอกเบี้ย (เปียร์แชร์) สูงสุด คนนั้นก็ได้เงินไป   แต่จะเรียกดอกเบี้ยว่า เปียร์แชร์ หรือ ค่าบำรุงก็แล้วแต่

จุดต่างประการที่สอง คือ  ส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากวงแชร์ก็ตกอยู่กับใครบางคน หรือเกลี่ยประโยชน์กันในหมู่สมาชิก  แต่ในกรณีของตลาดเงินนั้น  ส่วนเกิน (ถ้ามี) ก็ตกอยู่กับผู้มีอำนาจตลาด

จุดต่างประการที่สาม คือ การค้ำประกัน  ด้วยความไว้วางใจแบบวงแชร์  หรือ ด้วยการใช้หลักทรัพย์แบบระบบตลาด เพราะคนในระบบตลาดไม่รู้จักกัน

องค์กรการเงินชุมชนนั้น เน้นแนวคิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ดอกเบี้ยไม่ได้ถูกกำหนดจากการแข่งขัน (การประมูล) แบบวงแชร์   และส่วนเกินที่ได้ก็ชัดเจนว่าจะกระจายไปสู่ที่ไหนบ้างในรูปแบบใด  เช่น รูปแบบเงินปันผล และ สวัสดิการ  จึงน่าจะเป็นระบบที่อบอุ่นกว่าระบบแชร์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท