บันทึกว่าด้วยสวัสดิการ(1)


“เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เรื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำเร็จอินทรีย์ และความเสียสละ ”

หลังจากใช้ชีวิตกับเกษตรธรรมชาติมากว่า10ปี ตั้งแต่ยังเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าปี2 เมื่อปี2525  ผมเริ่มเข้าสู่แวดวงงานพัฒนาชุมชนด้านวิชาการในฝ่ายประชาสังคมของศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อปี2541 ผมจับงานด้านองค์กรการเงินชุมชนจากการประสานความร่วมมือของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน นับถึงวันนี้ก็เกือบ10ปีแล้ว

ช่วงหลังนี้ เริ่มขยายการเรียนรู้จากตัวขบวนองค์กรการเงินชุมชนมาเป็นระบบสวัสดิการชุมชนที่มีองค์กรการเงินชุมชนเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งผูกติดกับแนวคิดสวัสดิการสังคมของรัฐ ทำให้ต้องทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า สวัสดิการ มากขึ้น

ผมพบว่าคำนี้เป็นวาทกรรมหรือการช่วงชิงพื้นที่ของกลุ่มคนในสังคม เริ่มจากการนิยามของรัฐที่แสดงไว้ในกฎหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมพ.ศ.2546 แก้ไข 2550 ซึ่งให้นิยาม สวัสดิการสังคม หมายถึง ระบบการจัดบริการทางสังคม ซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม  เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไปโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ

มองในแง่รัฐ ในฐานะองค์การที่ต้องรับผิดชอบดูแลคนของรัฐก็ต้อง
(ก)กำหนดเป้าหมาย ของการจัดสวัสดิการสังคม คือ
1.ความมั่นคงทางสังคม2.ความมั่นคงของคน  ให้ได้รับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และเป็นไปตามมาตรฐาน-ซึ่งมีด้วยกัน7มิติ คือ ด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไป
(ข)ขอบข่ายการจัดบริการ ทั้ง การป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริม

-โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ

ในกลุ่มนักวิชาการที่จับงานด้านนี้อย่างต่อเนื่องคือรศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐและคณะให้คำจำกัดความสวัสดิการสังคมว่า
การกินอยู่แต่พอดี มีสุขและมีสิทธิ ความหมายโดยรวมจึงสอดคล้องต้องกัน แต่เป็นนิยามจากมุมของประชาชนที่เน้น มีสิทธิ

ความหมายที่ 3 เป็นความหมายของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุตต์ ปยุตโต)   จากคำว่าสวัสดี คือ ความผาสุก สามัคคี และความมั่นคง ซึ่งเป็นคำกลางๆ โดยผมนำมาขยายความเป็นสวัสดิการทางวัตถุ จิตใจและสังคม

สวัสดิการทางวัตถุ คือ พื้นฐานความต้องการเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยทางร่างกาย ประกอบด้วยปัจจัย ๔ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค

สวัสดิการทางจิตใจและสังคม คือ พื้นฐานความต้องการเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ประกอบด้วย กิจกรรมเรียนรู้เพื่อการเติบโตทางอารมณ์และจิตวิญญาณโดยการทำทาน รักษาศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญาที่สอดคล้องกับช่วงวัยของชีวิตตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บและตาย รวมทั้งการเสริมสร้างความเป็นชุมชนและสังคมที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์อ้างคำตรัสของพระพุทธเจ้าว่า  เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เรื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำเร็จอินทรีย์ และความเสียสละ

ความหมายทั้งหลายทั้งปวงที่นำสู่ปฏิบัติการทางสังคมถือเป็น วาทกรรม คือการช่วงชิงพื้นที่ในการสร้างความหมาย ซึ่งผมก็อยากจะมีพื้นที่กับเขาด้วย จึงได้เสนอวาทกรรม    ดังกล่าวที่หยิบยืมผู้รู้มาปะติดปะต่อกัน

คำสำคัญ (Tags): #สวัสดิการ
หมายเลขบันทึก: 165431เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2008 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ(พระ)อาจารย์ภีม

ขอเข้ามา "ช่วงชิง" พื้นที่ในการสร้างความหมายด้วยคนนะคะ (จริง ๆ แล้วโดยหลักการก็คิดเห็นสอดคล้องกับอาจารย์ภีมนั่นแหละค่ะ อาจมีแตกต่างบ้างในรายละเอียดและวิธีการขับเคลื่อน)

ตัวเองเป็นคนชอบศึกษาเรื่อง "ภาษา" เพราะคิดว่าตราบเท่าที่มนุษย์ยังไม่สามารถสื่อผ่าน "จิต" กันได้ ก็คงยังจำเป็นต้องใช้ภาษาเป็น "สื่อกลาง" ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภาษาจึงเป็น "ราก" ของทุกเรื่อง ซึ่งหากผู้คนในสังคมทุกระดับเข้าใจร่วมกันและให้ "ความหมาย" ร่วมแล้วได้ชัดเจนแล้ว ย่อมนำสู่ทิศทางการขับเคลื่อนสังคมนั้น ๆ สู่ "เป้าหมาย" เดียวกัน และย่อมทำให้การปฏิบัติการทางสังคมบรรลุผลคือบรรลุถึงเป้าหมายได้ค่ะ 

สวัสดิการตามรากศัพท์บาลีที่ได้ค้นคว้ามานั้น คำว่า "สวัสดิ หรือ สวัสดี " มาจากคำว่า "โสตถิ" ซึ่งเป็นคำผสมมาจาก 2 คำคือ สุ แปลว่า "ดี" และ อตฺถิ แปลว่า "มีอยู่ ย่อมมี จะมี" แปลรวมความได้ความหมายว่า "ความมีสิ่งดี ๆ / จะมีแต่สิ่งดี ๆ ในชีวิต"

ข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้จากการกราบถามพระอาจารย์ ท่านเมตตาอธิบายขยายความว่า เวลาที่เรารับพรพระ จะมีประโยคที่ว่า "สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต....ฯ " สทา แปลว่า "ในกาลทุกเมื่อ" โสตฺถิ แปลว่า "ความสวัสดีทั้งหลาย" ภวนฺตุ แปลว่า "จงมี" และสำหรับคำว่า เต แปลว่า "แก่ท่าน"  

ดังนั้น พระจึงให้พรพวกเราว่า "ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านในกาลทุกเมื่อ เทอญ"

สวัสดิการ จึงหมายความถึง "ความมีสิ่งดี ๆ (ในชีวิต)" นั่นเอง

โจทย์ก็คือ แล้วเราให้ความหมายของคำว่า "ดี"  อย่างไร???

ผู้คนในสังคม "เข้าใจ" และ "เข้าถึง" คำว่า "ดี " นี้อย่างไร???

ตัวเองคิดว่าสื่งที่ท่านอาจารย์ป๋วยกล่าวอ้างคือ คำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า  เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เรื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำเร็จอินทรีย์ และความเสียสละ เป็นสิ่งจริงแท้ ซึ่งก็มีคำถามตามมาคือ แล้วเราจะสร้างขบวนการทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนเรื่องของ "ปัญญา ตรัสรู้ ความเพียร ความสำเร็จอินทรีย์ และความเสียสละ" กันได้อย่างไร???

ถือว่าเป็นคำถามที่ "ชวนคิดชวนคุย" ตามประสาคนขับเคลื่อนงานทางสังคมด้วยกันนะคะ

 

 

ไม่แน่ใจว่า ณ ปัจจุบัน "สวัสดิการ" เป็นวาทกรรมหรือไม่   แต่การให้ความหมายเป็นไปตามสิ่งที่ผู้ให้ความหมาย "อยากเห็น  อยากให้เป็น"

ในความเป็นจริง  ในหลายสังคม มนุษย์แสวงหาสิ่งที่ตัวเองเห็นว่า "ดี" กับตนเอง  ที่เผื่อแผ่หน่อยก็จะมองหาสิ่งที่ "คิดว่าดี" กับสังคมและคนอื่น ส่วนคนอื่นๆจะ "เห็นดี"  "เห็นความสำคัญ" ด้วยหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อาจารย์ป๋วยมีความฝัน  สิ่งที่อาจารย์ป๋วยเขียนไว้บรรทัดสุดท้ายซึ่งอ้างถึงคำสอน (ปรารภ?) ของพระพุทธเจ้านั้น  มักไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงและจะถูกตัดทิ้งไปในการอ้างอิงด้วย  แม้แต่ตัวบทความอาจารย์ป๋วยที่นักเศรษฐศาสตร์พยายามหยิบจับมาพูดถึง แท้จริงแล้วก็ยังได้รับความสนใจน้อยมากจากผู้กำหนดนโยบาย.. จนเร็วๆนี้ที่เริ่มมี "กระแส" ด้านนี้เพิ่มขึ้น 

โดยส่วนตัวนั้น มองเห็นนัยยะของสวัสดิการตั้งแต่เริ่มทำเรื่อง "ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน" ที่ผู้คนช่วยเหลือกันโดยไม่ต้องผ่านเงินตรา

การนำแนวคิดเรื่องสวัสดิการ (อย่างที่ควรจะเป็นตามความฝันของหลายๆท่าน) ไปสู่การปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเพราะแทบจะหมายถึงการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมด้วยซ้ำ

นักพัฒนาอาจทำได้เพียงสร้าง "กิจกรรมและกระบวนการ" ภายใต้วิธีคิดและโครงสร้างใหญ่ที่ครอบอยู่    แต่หากสร้างวาทกรรมได้จริง ก็คงจะแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดได้ไม่มากก็น้อย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท