ประชุมวิชาการ รพ.บ้านตาก


กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการดูแลและป้องกันโรคเรื้อรังน่าจะอยู่ที่พยาบาลและบุคลากรสาขาวิชาชีพอื่น

ดิฉันนั่งเขียนบันทึกวันนี้ที่ห้องผู้อำนวยการ รพ.บ้านตาก เพราะ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ นำทีมที่ประกอบด้วย ดิฉัน อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช ผศ.สมนึก กุลสถิตพร คุณชนิกา สุระสิงห์ชัยเดช คุณยอดขวัญ เศวตรักต มาเป็นวิทยากรในการประชุมวิชาการของ รพ.บ้านตาก ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

เมื่อคืนเราเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงพิษณุโลก ๓ ทุ่มกว่า แล้วนั่งรถตู้ที่คุณเกศราภรณ์ ภักดีวงศ์ไปรับอีกประมาณ ๒ ชั่วโมง กว่าจะถึงโรงแรมที่พักก็เกือบ ๒๓.๓๐ น. ระหว่างทางที่นั่งรถมาบ้านตาก ดิฉันนึกเห็นใจคุณหมอพิเชฐ บัญญัติ ผอ.รพ.บ้านตาก ที่ท่านต้องเดินสายขึ้น-ล่องไปเป็นวิทยากรในที่ต่างๆ ท่านต้องใช้เวลาในการเดินทางอย่างยาวนาน ต้องขอชื่นชมใน spirit ของท่านมากๆ

เช้าวันนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก (นพ.ปัจจุบัน เหมหงษา) ได้กรุณามาเปิดการประชุม หลังจากนั้นเป็นการบรรยายของ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ อาจารย์เริ่มการบรรยายด้วยเนื้อหาที่ว่า "เมื่อคิดถึงเบาหวาน อย่าคิดถึงแต่น้ำตาล เบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคเดียวกัน เรารักษาเบาหวาน ไม่ใช่เพื่อควบคุมน้ำตาล แต่เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด...เบาหวานคือความเสี่ยง" เนื้อหาการบรรยายได้กล่าวถึงกระบวนการเกิดเบาหวาน ความดื้อต่ออินซูลิน Metabolic Syndrome เชื่อมโยงไปสู่กระบวนการคัดกรองและการป้องกันโรคเบาหวาน

อาจารย์เทพกล่าวว่าสาเหตุของเบาหวานมาจาก ๒ อย่างคือความดื้อต่ออินซูลินและมีการตายของเบต้าเซลล์ อธิบายกระบวนการเกิดโรคเพื่อให้ผู้ฟังตระหนักว่าวิธีการคัดกรองที่เราใช้กันอยู่นั้น detect คนที่ผิดปกติได้ช้าเกินไป เน้นเรื่องการใช้น้ำตาลหลังอาหารแทนการใช้ fasting BG เพียงอย่างเดียว รวมทั้งกล่าวถึงอันตรายของไขมัน triglyceride และประโยชน์ของการตรวจระดับ triglyceride หลังอาหารด้วย 

การป้องกันโรคเบาหวานต้องเริ่มตั้งแต่การดูแลทารกในครรภ์ไม่ให้เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดูแลด้านโภชนาการไม่ให้เด็กอ้วน อาจารย์บอกว่า "ต้องฉลาดในการกินและออกกำลังกายให้ดี" ภาพต่างๆ ที่อาจารย์เทพนำเสนอใน PowerPoint ช่วยทำให้เนื้อหาเข้าใจได้ง่าย ดิฉันฟังอาจารย์บรรยายหลายต่อหลายครั้งก็ยังได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นเสมอ คราวนี้ได้เห็น "ปิรามิดของ consumption ที่เลวร้าย" ซึ่งที่ร้ายที่สุดคือทีวี (ที่มีรีโมต) และโซฟา ต่อไปคือรถยนต์ snack, fast food, จนถึงบุหรี่ 

อาจารย์เทพปิดท้ายด้วยเรื่องของยุทธศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ต่างๆ ดังนี้คือการสร้างต้นแบบ การสร้างบุคลากร การสร้างความตระหนัก การสร้างหน่วยบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง การสร้างองค์กรบริหารท้องถิ่นที่เข้มแข็ง พร้อมๆ กับเล่าว่าในแต่ละยุทธศาสตร์นั้น รพ.เทพธารินทร์ได้ทำอะไรไปแล้วบ้างและจะทำอะไรต่อไป รวมทั้งการเชื่อมโยงไปสู่ผู้วางนโยบายระดับชาติ

เนื้อหาที่อาจารย์เทพบรรยายได้จุดประเด็นความคิดในการปรับเปลี่ยนการทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานหลายเรื่อง จะมีอะไรบ้างนั้นขอให้ติดตามจากบันทึกของคุณหมอพิเชฐที่ http://practicallykm.gotoknow.org นะคะ เสียดายที่วันนี้ในห้องประชุมมีแพทย์อยู่เพียง ๒ คนเท่านั้นคืออาจารย์เทพและคุณหมอพิเชฐ ดิฉันมองเห็นว่ากำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการดูแลและป้องกันโรคเรื้อรังน่าจะอยู่ที่พยาบาลและบุคลากรสาขาวิชาชีพอื่นๆ เสียมากกว่า

อาจารย์เทพบรรยายถึงเกือบ ๑๒.๐๐ น. หลังจากนั้นมีคำถามจากผู้ฟัง ๒-๓ คำถาม เราหยุดพักรับประทานอาหารกลางวันเกือบ ๑๒.๓๐ น.แล้ว ให้เวลารับประทานอาหารเพียง ๓๐ นาที ช่วงบ่ายเป็นการบรรยายของอาจารย์ศัลยาและคุณชนิกาในเรื่องของอาหาร ทีมวิทยากรที่เหลือใช้เวลาช่วงนี้เดินเยี่ยมชม รพ.พวกเราประทับใจสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก รพ.ที่สะอาดจริงๆ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย บรรยากาศสงบ ไม่พลุกพล่าน ผู้เจ็บป่วยและญาติที่ได้เข้ามาใช้บริการของ รพ.แห่งนี้คงเกิดความรู้สึกดีๆ แน่นอน

ระหว่างเดินผ่านหน้าหอผู้ป่วยหญิง เราพบผู้ป่วยเบาหวานหญิงรายหนึ่งที่มีอายุเพียง ๔๐ ปี (ย้ายมาจากเขตอื่นเพราะติดใจ รพ.นี้) รู้ว่าเป็นเบาหวานมา ๗-๘ ปี มีอาการของไตวายเรื้อรังแล้ว ผู้ป่วยไม่ค่อยมีกำลังใจ เพราะมารดาเพิ่งเสียชีวิตไปด้วยเบาหวานและโรคไต จึงคิดว่าตนเองต้องตายเช่นกัน พี่-น้องของผู้ป่วยรายนี้ที่ตรวจแล้วพบว่าเป็นเบาหวานทุกคน เหลืออีก ๒ คนที่ยังไม่ได้มาตรวจ สามีบอกว่ามีลูกชายอายุ ๑๗ ปี ที่อ้วนด้วย เราพยายามพูดให้กำลังใจว่าเบาหวานป้องกันและรักษาได้

คุณเกศราภรณ์มีแผนงานที่จะทำต่อในเรื่องของเบาหวาน และมีงานวิจัยที่จะเจาะลึกด้าน KM อีกด้วย เครือข่ายฯ ของเราจะคอยให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนในสิ่งที่ทำได้ และคอยติดตามความก้าวหน้าของทีมงาน รพ.บ้านตากค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 16528เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2006 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท