เครือข่ายการเงิน 3 ตำบล (1)


หลังจากหารือกับหน่วยงานต่าง ๆจนร่วมกันดำเนินโครงการจัดการความรู้กลุ่มการเงิน 3 กลุ่มใน 3 ตำบลของอ.เมืองจ.นครศรีธรรมราช และของบบูรณาการขยายผลครอบคลุมกลุ่มการเงินทั้ง 3 ตำบลโดยตั้งต้นที่กองทุนหมู่บ้านแล้ว ได้จัดโครงสร้างการทำงานเป็น 2 ส่วนคือ 1)ส่วนอำนวยการ(CKO)จากตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2)คณะทำงาน(คุณอำนวย)จำนวน 9 คนรับผิดชอบตำบลละ 3 คน

วันที่ 25 หารือแนวทางการดำเนินงานในวงคุณอำนวย 9 คน มีผู้เข้าประชุม 10 คน จากหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ม.วลัยลักษณ์ 3 คน กศน. 3 คน พอช. 3 คน จนท.พช.อบต. 1 คน เริ่มโดยสรุปวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานให้สมาชิกใหม่รับทราบ โดยเห็นว่าคำว่า การจัดการความรู้ ควรใช้ภายในเฉพาะวงคุณอำนวย แต่ในกลุ่มเป้าหมายนั้นจะใช้ "การพัฒนากลุ่มการเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็ง" จะเข้าใจง่ายกว่า เริ่มต้นได้กำหนดบทบาทของคุณอำนวย โดยแบ่งหน้าที่หลัก 3 หน้าที่คือ 1)คนประสานงานภายในคุณอำนวยและชุมชน 2)คนนำกระบวนการ 3)คนบันทึก โดยมีคนประสานงานกลาง บันทึกสรุปและจัดทำบัญชีการเงิน 3 คน (2คนจากคุณอำนวยและ 1คนจากสนง.พช.ซึ่งเป็นคนเบิกจ่ายงบประมาณ) โดยที่ทีมงานของหน่วยจัดการความรู้ทำหน้าที่สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ในวงคุณอำนวยและคุณกิจแยกออกมาอย่างอิสระ ซึ่งเป็น เป้าหมายที่ผมอยากให้คุณอำนวยเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และเกิดขึ้นจากข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประชุมอย่างสอดคล้อง พวกเรากำหนดเป้าหมายการลงพื้นที่ว่า จะหารือการดำเนินงานกับ 3 กลุ่มเป้าหมายในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนว่าจะดำเนินการขยายผลครอบคลุมทั้งตำบลอย่างไร

  

วันที่ 26 ทีมงานคุณอำนวยทั้งหมดลงพื้นที่ตามนัดหมาย เวลา 9.00 น.ที่วัดบางหลวง ต.ท่าไร่ อ.เมือง มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจำนวน 37 คน จากทีมคุณอำนวย 11 คน

ผมเป็นผู้ชี้แจง การดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเชื่อมโยงกับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัด จากนั้นได้แบ่งกลุ่มหารือแยกแต่ละตำบล

ก)ต.ท่าไร่ เจ้าของพื้นที่มีอยู่ 6 หมู่บ้าน กลุ่มเรียนรู้เดิมคือ กลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งเป็นกรรมการคนละชุดกับกองทุนหมู่บ้านและไม่ค่อยลงรอยกันจากสาเหตุหลายประการ แต่คุณอำนวยพุ่งประเด็นไปที่ความร่วมมือเพื่อพัฒนาชุมชนทำให้แต่ละคนช่วยกันคิดค้นวิธีการสร้างความร่วมมือ สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า1)ควรเชิญผู้นำปกครอง(กำนัน/ผญบ.)ผู้นำพัฒนา(อบต.)และผู้อาวุโสในหมู่บ้านมาหารือก่อน จากนั้น 2)เชิญผู้นำกลุ่มการเงินทั้ง 6 หมู่บ้านซึ่งมีทั้งกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนหมู่บ้านกลุ่มละ 4 คนและผู้นำชุมชนมาหารือร่วมกัน ครั้งแรกวันที่ 15 ส.ค. ครั้งที่ 2 วันที่ 6 ก.ย. ที่วัดบางหลวง

ข)ต.บางจาก มีด้วยกัน 11 หมู่บ้าน กลุ่มเรียนรู้เดิมคือ กองทุนหมู่บ้าน ค่อนข้างมีเอกภาพ นัดหมายกรรมการกองทุนทุกหมู่บ้านกลุ่มละ 10 คนหารือโครงการร่วมกัน วันที่ 14 ส.ค.ที่วัดบางสะพาน

ค)ต.มะม่วง 2 ต้น มีด้วยกัน 6 หมู่บ้าน กลุ่มเรียนรู้เดิมคือ กลุ่มออมทรัพย์ แต่มีกรรมการปนกับ กองทุนหมู่บ้าน นัดกรรมการกองทุนหมู่บ้านทุกกองทุนที่มัสยิดหมู่ 6 วันที่ 17 ส.ค.

ง)ทีมคุณอำนวยได้นัดหารือเตรียมการกันวันที่ 8 ส.ค.ที่สนง.พัฒนาชุมชน

มีข้อคิดจากแกนนำกลุ่มการเงิน ปัจจัย 3 ของความสำเร็จคือ กรรมการ สมาชิก และการบริหารจัดการ โดยที่กรรมการต้องซื่อสัตย์ มีคุณธรรม การบริหารจัดการต้องโปร่งใส
ปัญหาหลักคือ การไม่ส่งคืนเงินกู้

หลังจากรับฟังข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานของแต่ละตำบลแล้ว ก็ได้เวลาอาหารเที่ยง มีแกงไก่กับหยวกกล้วย แกงไตปลา และต้มกะทิผักรวมมิตร อาหารอร่อยมาก พวกเรากินข้าว คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างสนุกสนาน ก่อนจะแยกย้ายกันกลับอย่างมีความหวังและพลัง
  

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1646เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2005 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท