26. กุศโลบายของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของชาวอินเดีย


ภูมิปัญญาทางด้านศิลปะที่แฝงการเรียนรู้คณิตศาสตร์อย่างแยบยล

           

ท่านคงได้ยินข่าวคราวของไข้หวัดนกในประเทศอินเดียน้อยกว่าประเทศเรา เพื่อนบ้าน

ของอินเดียและเพื่อนบ้านของไทย ทั้งนี้เพราะชาวฮินดูส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับประทาน

เนื้อสัตว์ ดังนั้นประเทศอินเดียจึงมีปัญหาเรื่องไข้หวัดนกน้อยกว่าแถบบ้านเรา

               

สัตว์ที่อยู่คู่อินเดียที่เราจะเห็นอยู่บ่อยๆ คือ กา กับลิง เราจะเห็นกาและได้ยินเสียงกา

ร้องเป็นเรื่องปกติ (แทนนกพิราบแถวชานเมืองกรุงเทพฯ) คนอินเดียมีกุศโลบายที่

อยู่กลมกลืนกับธรรมชาติอย่างมีศิลปะ หากท่านผ่านหน้าบ้านของชาวฮินดูที่

เจนไนไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว  หรือ อพาร์ตเมนท์ท่านจะเห็นลวดลายศิลปะสีขาวๆ

(เป็นส่วนใหญ่) ที่ตกแต่งไว้หน้าประตูบ้านซึ่งเปลี่ยนลวดลายไปทุกวัน ศิลปะนี้เรียกว่า

โกลัม เดิมทำจากข้าวสารบดเป็นผง แล้วนำมาโรยเป็นลวดลายสวยงาม

แทนที่จะโยนๆ โปรยๆ ให้สัตว์กินไปตามธรรมชาติ แต่การทำให้เป็นลวดลายไว้

หน้าบ้านนอกจากเพื่อประดับประดาให้หน้าบ้านเกิดความสวยงามแล้วยังเป็นการ

ให้ทานสัตว์ทั้งหลายทั้งสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลานจะได้มากินข้าวป่นเป็นอาหาร มากิน

เมื่อไรก็ได้เพราะเตรียมไว้ให้แล้วตั้งแต่เช้า         กุศโลบายที่แฝงไว้ในศิลปะนี้แสดง

ถึงความเมตตาอารีที่ศาสนิกชาวฮินดูมีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต่อมาผงที่โรยนี้ทำจาก

หินบ้าง ใส่สีสันเข้าไปบ้าง กลายเป็นศิลปะการประดับประดาสถานที่ไปแต่เพียง

อย่างเดียว

ส่วนคุณจ๋อ (หนุมานน้อย) มีให้เห็นในสวนสาธารณะทั่วไป ลิงกับคนอยู่ร่วมกันอย่าง

กลมกลืน ลิงนอกจากหาอาหารกินตามป่าหรือสวนที่อยู่แล้ว คนยังซื้อผลไม้ให้ลิงกินด้วย

ดิฉันเคยเห็นคนอินเดียไปเดินออกกำลังกายตอนเช้าถือไม้สั้นๆ คล้ายคทาไปด้วย

พวกเราก็งงว่าเขาถือไปทำไม ถามเขาๆ บอกไว้ไล่ลิงที่อยู่ในสวน (หากมากวน) 

แต่เขาไม่ทุบตีหรือทำร้ายสัตว์

จากกุศโลบายของศิลปะโกลัมที่กล่าวมาข้างต้นมีส่วนช่วยในการเรียนคณิตศาสตร์ของ

เด็กๆ ที่เมืองเจนไนให้มีประสิทธิภาพมากทีเดียว เพราะการโปรยผงข้าวบดหรือผงแป้ง

ให้เป็นลวดลายจะต้องทำให้ได้สัดส่วน เกิดความสมดุลของลวดลาย ต้องมีการคิดวาง

แผนล่วงหน้าว่าจะทำลวดลายอะไร ทำอย่างไรจึงจะเกิดความสวยงามที่ได้สมดุล

ดังนั้นเด็กหญิงที่ได้รับการฝึกจากญาติผู้ใหญ่ที่เป็นสตรีจะเกิดทักษะ และความชำนาญ

ในการคิดคำนวณโดยไม่รู้ตัว เมื่อนำมาประยุกต์กับการเรียนคณิตศาสตร์ก็ช่วยให้เขา

เรียนได้ดีขึ้น

เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้ของชาวอินเดียมีความล้ำลึกและแยบยลเป็นอย่างยิ่ง

จากศิลปะความงามที่ปฏิบัติกันมาเนิ่นนานกลับแฝงกระบวนการเรียนรู้คณิตศาสตร์อย่าง

ลึกซึ้ง ค่อยๆ ซึมลึกจากการปฏิบัติ โดยไม่ต้องบังคับและทำให้เกิดความเบื่อหน่าย

-------------------------------------

ขณะนี้สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท และบัณฑิตวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษารอบสอง ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์-

8 มีนาคม 2551 เรามีหลักสูตรปริญญาโท เอกอินเดียศึกษา ให้ท่านได้พิจารณาเพื่อมา

ร่วมค้นหาความเป็น "เอก" ในงานศึกษา วิจัยของท่านในมิติต่างๆ ที่ท่านสนใจ

เกี่ยวกับ "อินเดีย"  เพื่อประโยชน์ในการทำงานกับประเทศชาติและกับชาวอินเดียต่อไป

สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3101, 3308 www.lc.mahidol.ac.th

หากท่านมีผลการศึกษาในระดับปริญญาโทดี ท่านอาจมีสิทธิได้รับทุนไปศึกษา

ในระดับปริญญาเอกที่อินเดีย

หมายเลขบันทึก: 164487เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2008 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์โสภนาครับ

ใช่เลยครับ ความคิดนี้ ผมเห็นเหมือนกัน และเชื่อมั่นว่ามีผลดีต่อเด็ก

ได้นำไปใช้สอนลูกๆ แล้ว

ทุกวันนี้ลูกเก่งคณิตศาสตร์และเก่งศิลปะ

จริงๆแล้ว ผมเริ่มสอนลูกๆ ในเรื่องศิลปะ การวาดเส้นต่างๆ ตั้งแต่อยู่ที่สวิส ที่สวิสมีแนวทางการสอนเด็กที่คล้ายๆ กัน คือให้เด็กเล็กพัฒนาสมองให้เต็มที่ก่อนที่จะเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  

การทำโกลัมนี้ ในงานมงคลต่างๆ ทุกระดับ ก็ยังใช้กันอยู่ครับ ไม่เว้นแม้แต่ในโรงแรมหรู่ 5 ดาว ก็ทำโกลัมด้วยความภาคภูมิใจครับ

ขอบคุณที่นำเรื่องนี้มาบอกกล่าวกัน

ศิลปะอินเดียน่าสนใจมาก อยากจะเรียนรู้เหมือนกันครับ แต่ค่อนข้างจะหาเวลายาก จึงคงต้องใช้การหาหนังสือมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

อาจารย์โสภนาครับ

มีข้อมูลเพิ่มเติมครับ

หลังจากอ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว พอมีเวลาว่างผมก็ถามเจ้าหน้าทีทท้องถิ่นถึงเรื่องดังกล่าว ได้ข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้ครับ

ที่เดลี เรียกการทำศิลปะแบบนี้ว่า Rangoli (รัง-โก-รี) และบอกว่าทางใต้ของอินเดีย เรียกว่า Onam

ซึ่งคนอินเดียฮินดูทุกคนรู้จักการทำศิลปะแบบนี้ครับ เมื่อถามว่าใครสอนให้ทำ ก็บอกว่าไม่มีใครสอนแต่เรียนรู้เองมาตั้งแต่เด็กจากในครอบครัวและทุกวันนี้ ในโอกาสพิเศษหรือเทศกาลต่างๆ ก็จะทำที่บ้าน

เมื่อถามว่าใช้อะไรทำได้บ้าง ก็ได้รับคำตอบว่า ทำด้วยข้าวบด ผงสีหรือดอกไม้ก็ได้ ซึ่งจะมีขายตามตลาดทั่วไป  

น่าสนใจครับ วันหน้า ผมคงทดลองไปซื้อเอามาหัดทำบ้าง

ขอบคุณครับ 

เรียน คุณพลเดชที่นับถือ

     ค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม ดิฉันก็อยากหัดทำเหมือนกันเพราะเคยเห็นชาวอินเดียทำ แต่ยังไม่เคยลองและยังไม่มีเวลา โอกาส ส่วนวัตถุดิบอย่างที่ท่านว่าถูกแล้วค่ะ ศิลปะอินเดียมีความลึกซึ้งน่าศึกษานะคะ  งานต่างๆ ของชาวอินเดียที่อยู่ในเมืองไทยก็มักทำโกลัมไว้ สีสันสวยงามค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท