การระดมสมอง


IdeaFactory เครื่องสร้างนวัตกรรมจากคนหมู่มาก (Swiss made!)

คุณเคยไปงานประชุมขนาดใหญ่ที่ผู้จัดได้ระดมสมองจากผู้ร่วมงานนับร้อยพันคนไหม ? ซึ่งคุณก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่พอประชุมจบ ข้อสรุปที่ได้จากความเห็นของผู้ร่วมประชุมก็มั่วไปหมด ไอเดียที่เอามาสรุปก็เลือกเอาที่ผู้ใหญ่ในงานชอบ สุดท้ายก็ไม่ค่อยได้อะไร นอกจากผู้จัดสามารถเหมาได้ว่าการประชุมนั้นๆมีข้อสรุปตามที่พวกเขาต้องการได้ ส่วนคุณก็นั่งบื้อๆรู้สึกเซ็งๆ

แต่คุณเชื่อไหมว่ามันเป็นไปได้ที่จะระดมสมอง ระดมไอเดียเป็นพันๆ แล้วผ่านกระบวนการคัดสรร หลอมรวม เชื่อมโยงอย่่างเป็นระบบ จนกลายเป็นสุดยอดไอเดียนวัตกรรมในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาโอกาสในประเด็นที่เราสนใจกันอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์  เหมือนกระบวนการผลิตของเครื่องจักรในโรงงานทำช็อกโกแล็ตที่รวมเอาวัตถุดิบต่างๆที่แตกต่างและหลากหลายมาผสมผสานกันเป็นช็อคโกแล็ตที่กลมกล่อมหลากรูปแบบและรสชาติอันสุดจะต้านทาน ….


(From Charlie and the Chocolate Factory)

จะดีไหมถ้ามีเครื่องสร้างนวัตกรรมจากคนหมู่มากอย่างที่ว่า  และในทุกๆสัมมนาหรือการประชุมต่างๆ สามารถดึงเอาความคิดความเห็นความรู้ ที่เกิดจากความเชัี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละคนที่ไปงานนั้นๆ แล้วสามารถหลอมรวมกันเป็นไอเดียนวัตกรรมคุณภาพสูงที่เราสามารถร่วมกันลงทุนได้เพื่ออนาคตที่สร้างสรรค์ได้ ?  ไม่ใช่เป็นการจัดการความรู้แนวระดมสมองคุณภาพต่ำแต่บ้าเคลมแบบที่เราพบเจอกันบ่อยๆ

ข่าวร้ายคือ โดราเอมอนไม่มีเครื่องที่ว่านี้

ข่าวดีคือ ผมพึ่งกลับมาจาก Swiss และได้เข้าร่วมกับกระบวนการที่ทำให้พบว่าเครื่องที่ว่านั้นมีอยู่จริงๆ เดินเครื่องมาสิบกว่าปีแล้ว

ภาพด้านบนคือสิ่งที่เรียกว่า IdeaMachine ซึ่งอธิบายกระบวนการ IdeaFactory ซึ่งมีบริษัทที่ Switzerland ชื่อ BrainStore เป็นผู้คิดขึ้นและเดินเครื่องเปิดบริการจัดกระบวนการสร้างนวัตกรรมจากคนหมู่มาก ซึ่งมีลูกค้ามากมายในหลายลักษณะงาน ตั้งแต่บริษัทอย่าง BMW ไปจนถึงองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเช่น Swiss Agency for Development and Cooperation  โลโก้เขาเป็นรูปสมองอย่างเท่ครับ

แนวคิดของเขาก็คือว่าไอเดียต่างๆที่จะนำไปสู่นวัตกรรมที่เยี่ยมยอดนั้นอยู่ในคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆทุกๆคน ไม่ใช่แค่อยู่กับผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาเท่านั้น  โจทย์จึงเกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถรวบรวมไอเดียต่างๆ คัดกรองและสังเคราะห์ขึ้นเป็นไอเดียสุดยอดเพียงไม่กี่ไอเดียที่มีคุณภาพในเชิงนวัตกรรมที่นำไปใช้จริงให้เกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้แนวคิดดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องใหม่ (ผมเคยเขียนแนวทางของอีกบริษัทหนึ่งที่ชื่อ Strategoz ไว้ อ่านได้นี่ที่) แต่ความพิเศษของเขาคือความเชื่อที่ว่าเราสามารถที่จะจัดกระบวนการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถที่จะสร้างไอเดียคุณภาพดีได้ในเวลาและทรัพยากรที่จำกัด เป็นการสร้างไอเดียในระดับอุตสาหะกรรม (Industrial IdeaProduction) คล้ายกับเป็นโรงงานที่มีวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และผลลัพธ์ (input - process - output) ที่สามารถวัดผลได้ ตั้งเป้าได้ และควบคุมได้ในระดับที่ดี   ซึ่งการคิดและจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบและสร้างสรรค์ไปพร้อมๆกันนั้นเป็นธรรมชาติของคนสวิสหรืออุตสาหะกรรมในสวิสเลยทีเดียว

ที่สำคัญโรงงานไอเดียนี้ตั้งมาได้ 18 ปีแล้ว สามารถมีลูกค้าและขยายกิจการได้ในระดับที่ดีอีกด้วย   แน่นอนว่าโลกซึ่งนวัตกรรมกลายเป็นปัจจัยหลักแห่งการสร้างความสามารถในการแข่งขันนั้น บริการของBrainStore ย่อมจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ  เป็นการจัดการความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมโดยคนหมู่มาก


(Idea Sand-box, reception air-port style)

โรงงานนี้มี office ที่น่ารัก น่าสนุก และน่าทำงานมาก  คือมีที่ให้ทำงาน มีที่ให้นั่งคิด มีที่ให้ประชุม ในบรรยากาศสบายๆเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ แม้แต่ห้องน้ำนอกจากมีสัญลักษณะหญิง ชาย แล้วก็ยังมีสัญลักษณะ Bisexual อีกต่างหาก


(toilet female,male, anythingelse) (Stairs to second floor)

มีระเบียงและพื้นที่โล่งให้ออกไปสูดอากาศคิดไอเดียได้ข้างนอก เรียกว่าเป็นสวรรค์ของคนรุ่นใหม่กันเลยทีเดียว

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นว่ากระบวนการในการสร้างไอเดียนวัตกรรม อย่างมีส่วนร่วมจากคนจำนวนมากๆนั้นทำอย่างไร เราจะมาขยายรูป IdeaMachine ด้านบนให้ชัดขึ้นดังต่อไปนี้


(IdeaMachine)

กระบวนการที่เรียกว่า IdeaMachine นี้จะมีส่วนประกอบย่อยอยู่สี่ส่วนเสมอ คือ การรวบรวมไอเดียในเชิงรุก (IdeaBoosting)  การบีบอัดไอเดีย (Compression) การคัดเลือก (Selection) และการสนับสนุนการใช้ไอเดียให้เกิดผลจริง (Implementation support)

ก่อนที่จะเปิดเครื่องเริ่มกระบวนนั้น จะมีขั้นตอนสำคัญอีกหนึ่งขั้นก็คือการกำหนดเป้าหมายกว้างๆและเงื่อนไขต่างๆของไอเดียที่จะเกิดขึ้น (Idea Conditions & Criteria) เพื่อให้กระบวนการมีเอกภาพและมีจุด focus ไม่หลุดออกไปจนไร้ประโยชน์  เช่นอาจจะกำหนดว่าเป้าหมายคือ 20 ไอเดียที่จะทำให้โลกกลายเป็นโลกของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่รับผิดชอบต่อสังคม  และวางกรอบเงื่อนไขว่าไอเดียนั้นจะต้องเน้นไอเดียที่สามารถขับเคลื่อนภาพรวมในประเด็นดังกล่าวได้ เน้นการระดมและจัดการทรัพยากรในพื้นที่ มุ่งสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ได้ และต้องทำได้ภายใน 10 ปีเป็นต้น

1. การรวบรวมไอเดียเชิงรุก (IdeaBoosting) 
มีเป้าหมายในการรวบรวมไอเดียหรือแรงบรรดาลใจนับพันที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เราสนใจอยู่  จากคนที่หลากหลายที่สุด โดยมีเทคนิคที่หลากหลาย เช่น

NetScouting คือไปดูข้อมูลเกี่ยวกับไอเดียที่เกี่ยวข้องจากอินเทอร์เน็ต
TrendScouting คือการนำกระแสสังคมเศรษฐกิจ แฟชั่น ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆเพื่อมาเป็นฐานให้คิดไอเดียต่างๆจาก trends ที่เกิดขึ้น
IdeaInterviews คือการสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องหรือสนใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะคนจากลูกค้าเอง ในหลากหลายรูปแบบตั้งแต่โทรศัพท์จนถึงการนัดเจอจริงๆ  อาจจะตั้งแต่ 30 คนไปจนถึงเป็นร้อยๆคน
ExpertInterviews คือการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในประเด็นนั้นๆ เพื่อให้ได้ความเห็นเชิงวิชาการ และเชิงลึกเป็นหลัก


(Idea boosting)

ซึ่งข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานของกิจกรรมหลักของ IdeaBoosting ที่เราเรียกว่า….
CreativeTeam ซึ่งเป็นการรวบรวมคนที่หลากหลายทั้งคนทั่วไปที่สนใจ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คนรุ่นใหม่ ฯลฯ มารวมกันเพื่อสร้างไอเดียใหม่ๆขึ้นมานับพันๆไอเดียในเวลาไม่นาน โดยไอเดียที่เกิดขึ้นมักจะเกิดจากการต่อยอดไอเดียหรือข้อมูลพื้นฐานที่ได้อย่างการใช้เครื่องมือที่กล่่าวมาแล้วด้านบน  และไอเดียในขั้นนี้เรียกว่าเป็นไอเดียดิบคือยังไม่สุก ไม่ชัดเจน แต่พอใช้ได้ จะบ้าบอแค่ไหนก็ได้ขอให้อยู่ในกรอบคร่าวๆของ project ซึ่งได้กำหนดเงิื่อนไขกว้างๆมาแล้ว

 2. การบีบอัดไอเดีย (Compression) 

มีเป้าหมายที่จะบีบอัด คัดกรอง และหลอมรวมไอเดียต่างๆที่ได้จากขั้นแรกเข้าด้วยกัน โดยมี process ย่อยๆดังนี้

IdeaCity เป็นการจัดแสดง Exhibition ของแรงบรรดาลใจ ไอเดีย และข้อมูลต่างๆที่ได้จากกระบวนการแรก ให้ผู้เข้าชม และจัดกระบวนการคัดเลือก และหลอมรวมไอเดียต่างๆเข้าด้วยกันให้เกิดความชัดเจนและคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

ThinkTank  นำเอาผู้เชี่ยวชาญจากสาขาที่เกี่ยวข้องมาประเมินและพัฒนาคุณภาพของไอเดียที่เหลืออยู่จากกระบวนการ IdeaCity โดยเฉพาะการมองว่าไอเดียที่ได้นั้นตรงกับเงื่อนไขที่วางไว้ตั้งแต่ต้นอย่างไร โดยทัวไปก็อาจจะมีไอเดียประมาณ 20 ไอเดียที่เข้าสู่รอบนี้

DesignDesign นำเอาไอเดียที่คัดเลือกและพัฒนาจาก ThinkTank มาออกแบบให้เป็นภาพเข้าใจง่าย อธิบายให้คนทั่วไปฟังแล้วรู้เรื่องอย่างรวดเร็ว และสามารถใช้ภาพเปรียบเทียบกับไอเดียใกล้เคียงได้อย่างง่ายดาย

3. การเลือกไอเดีย (Selection)

เป็นการเลือกไอเดียโดยคนจำนวนมาก เช่นผ่านการจัดสัมมนา หรือการประชุม แล้วมีการนำเสนอไอเดียต่างๆที่ได้ออกมาจากกระบวนการ แล้วให้คนโหวตว่าชอบไม่ชอบอันไหน เท่าใด แล้วรวบรวมผลที่ได้แบบเกือบ Real-time สามารถบอกคนที่เข้าร่วมได้ว่าสรุปแล้วไอเดียไหนที่คนเลือกมาก เลือกน้อยและยังมีการแยกประเภทไอเดียที่เกิดการแบ่งขั้วของผู้เลือกอย่างรุนแรง (polarity) คือเป็นไอเดียที่มีทั้งคนชอบและเกลียดมากเท่าๆกัน ซึ่งจากประสบการณ์ของ IdeaFactory มักจะเป็นไอเดียที่น่าสนใจและมีโอกาสสูงที่จะเกิดเป็นนวัตกรรมที่สำคัญได้ในอนาคต

4. การสนับสนุนให้เกิดการใช้ไอเดียได้จริง (Implementation support)
ในขั้นนี้จะได้มีการรวบรวมคนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการดำเนินงานตามไอเดียที่มี  แล้วมาช่วยกันทำ Roadmap ว่าควรจะแบ่งกลุ่มหรือควบรวมไอเดียต่างๆอย่างไร แล้วควรจะทำไอเดียอะไรก่อน อะไรหลัง เมื่อไหร่ ใครทำ ใครจะเป็นผู้สนับสนุน


(Road-mapping)

เมื่อได้ Roadmap แล้วก็ยังจะต้องทำงานเพิ่มว่าไอเดียใน Roadmap นั้นจะขายหรือทำให้มีผู้สนใจเอาไปใช้จริงๆได้อย่างไร มีการคิดถึงทั้งความน่าสนใจเชิงเหตุผลและอารมณ์ของไอเดียนั้นๆ เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงโดยมีผู้ปฏิบัติรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม  และสุดท้ายก็มีการทำสรุปว่าแต่ละไอเดียใน Roadmap จะทำอย่างไรในภาคปฏิบัติโดยใครบ้าง  ก็เป็นอันจบกระบวนการ IdeaMachine  หากสนใจเทคนิควิธีการเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆที่สามารถนำมาใช้ได้ตลอดกระบวนการก็ลองคลิกดูที่นี่ครับ

หรือจะอ่านหนังสือของ BrainStore ที่แนะนำกระบวนการไว้โดยละเอียดก็ คลิกที่นี่เลยครับ  


(SDC chairman Walter Fust with our final roadmap)

ผมค่อนข้างประทับใจและเห็นประโยชน์ของกระบวนการดังกล่าวมาก  หัวข้อที่ผมเข้าไปร่วมกับการใช้ IdeaMachine นี้ก็คือเรื่อง The World Of Sustainable Entrepreneurs by 2020  ซึ่งพยายามหาไอเดียที่ดีที่สุดที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใส่ใจดูแลและแก้ปัญหาสังคมให้ได้ในวงกว้างในระดับโลก  ซึ่งผลที่ได้ออกมาก็ค่อนข้างน่าพอใจ  คือสามารถดึงเอาความสามารถของคนที่เข้าร่วมงาน Global Knowledge Conference 3 นับพันคนให้สามารถเกิดการพัฒนา คัดกรอง และหลอมรวมไอเดียได้อย่างดี  ซึ่งไอเดียก็มีตั้งแต่ของชัวร์เช่นการสร้างตลาดทุนสำหรับผู้ประกอบการพันธู์ใหม่นี้ ไปจนถึงต้องมีเครื่องบินพับได้ (Foldable plane) เพื่อแก้ปัญหา logistics ซึ่งแม้จะเหมือนบ้าแต่ก็มีผู้กำลังพัฒนาอยู่จริง!

ข้อที่น่าสนใจที่สุดก็คือเจ้าของเขาบอกว่าเราเริ่มธุรกิจนี้ตอนอายุ 21 ก็คือ drop จากมหาวิทยาลัยมาทำเลย โดยตอนแรกก็เป็นแนวคิดง่ายๆว่าจะให้คนรุ่นใหม่วัยรุ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมของบริษัททั่วๆไปอย่างไร ทำไปทำมาก็กลายเป็นเครื่อง IdeaMachine อย่างที่เล่ามา  ที่ office มีคนรุ่นใหม่ทำงานเป็นหลักรวมๆ 60 คนเห็นจะได้ อายุก็เฉลี่ยไม่น่่าเกิน 22 - 35 แต่ก็มี staff ในระดับ manager ที่มีประสบการณ์มากกว่าช่วยดูแลอีกที

พอประชุมเสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นเจ้าของ BrainStore ก็ชวนไปเดินข้ามเขาสูงประมาณ 1600 เมตร ก็ไปกับเขา หิมะหนามาก ด้วยความอ้วนทำให้ผมแทบตาย หมดแรงกันเลยทีเดียว เพราะเดินรวดเดียว 6 ชม.ไม่หยุดเลย


(รูปที่ยอดเขา)

ประชุมจบเราก็เลยตกลงกันว่าจะพยายามนำ process นี้มาลองดูในเมืองไทย อาจจะเป็นเรื่องโลกร้อน web2.0 หรือสุขภาวะ หรืออะไรซักอย่างที่จะมีคนอยากร่วมและมีคนจ่ายตังค์ :)

หวังว่าเรื่องการจัดการความรู้ด้วยเทคนิคใหม่ๆที่เน้นนวัตกรรมแบบนี้จะมีประโยชน์บ้างครับ

สุนิตย์ 8-2-08

หมายเลขบันทึก: 164268เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2008 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สวัสดีคะ
    ที่ประเทศไทยของเราก็น่าจะมีนะคะ อย่างเช่นในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีการนำระบบการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
มีการดำเนินการมาเป็นกระบวนการ นับตั้งแต่ให้ความรู้ความเข้าใจ การระดมทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันจัดทำหลักสูตร แนวทางการขับเคลื่อน การวัดประเมินผล พร้อมมอบหมายกระจายแนวคิด การพัฒนาลงสู่ระดับต่างๆ  ซึ่งกระบวนการคัดสรรระดมแนวคิดจากคนหมู่มากจะเห็นได้จากการที่ที่ประชุมนำ Best Practice ของตนเองมานำเสนอ (400คนขึ้นไป) ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา คัดแยกผลงานให้ข้อคิด เติมเต็มผลงาน ก่อนร่วมกันพิจารณาคัดเลือก Best of the Best  ซึ่งถือผลโหวตของที่ประชุมใหญ่เป็นหลัก เพื่อนำผลงานเด่นนี้ไปขยายผลในระดับกรม และระดับประเทศโดยใช้วิธีการเดียวกัน
      น่าจะถือเป็นการคัดแยกแนวคิดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และไม่เซ็งอย่างที่คิด รูปแบบหนึ่งก็ว่าได้นะคะ

พี่ชาญ

บทความนี้ ผมชอบมากครับ

ยินดีที่พี่หาข้อมูลผมเจอ

 

และยินดี ที่ได้เจอพี่ที่นี่

 

ไม่ได้เจอกันนานแล้ว เจอกันบ้างมั้ยครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท