28 มกราคม 2551


วิชาการพัฒนาชนบท

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 สอนโดย อาจารย์จิรัฐินาฏ ถังเงิน ต้นชั่วโมง ดูวีดิทัศน์เรื่อง  “ท่องวังอ้อจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ชาวบ้านร่วมกับนักวิจัยในการหาว่าในชุมชนของตนเองมีอะไรบ้าง ซึ่งที่นั่นมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีการจัดการท่องเที่ยวระบบเชิงนิเวศน์โดยปลูกจิตสำนึกให้แก่คนในชุมชนและเยาวชนรวามถึงนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวให้รู้จักรักป่า หวงแหนป่าเป็นต้น       เรียนเกี่่ยวกับเรื่องฐานทรัพยากรการพัฒนาชนบท และแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานทรัพยากรของชุมชน ท้ายชั่งโมง

จุดเด่นของเรื่อง

ชุมชนบ้านวังอ้อ เป็นชุมชนชาวอีสานที่พลิกบทบาทจากชุมชนเผาถ่านมาเป็นนักอนุรักษ์ผืนป่าดงใหญ่ เนื่องจากรับรู้ได้ถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการบุกรุกทำลายป่าของพวกเขาเอง ทำให้เกิดสำนึกถึงบุญคุณของป่า ธรรมชาติ และสายน้ำ จึงหันกลับมาร่วมใจกันดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าดงใหญ่เพียงผืนเดียวของชุมชนให้กลับคืนมา จนเกิดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านวังอ้อขึ้น เพื่อถ่ายทอดบทเรียนและประสบการณ์การพลิกฟื้นผืนป่าดงใหญ่ให้คนทั่วไปมีจิตสำนึกและเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ธรรมชาติ

เนื้อหาสาระ

“ชุมชนชาวอีสานที่พลิกบทบาทจากชุมชนเผาถ่านเลื่องชื่อมาเป็นนักอนุรักษ์ผืนป่า เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และสรุปบทเรียนมาฟื้นฟูธรรมชาติ ด้วยสำนึกในบุญคุณของป่าเขาและสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตจนประสบความสำเร็จ ผ่านการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่เป็นรูปธรรม”

เลื่องลือเรื่องเผาถ่าน
ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต เมื่อใดก็ตามที่หากินไม่พอ มนุษย์ย่อมต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบเสาะแสวงหาหนทางให้ชีวิตรอดจนได้ หมู่บ้านวังอ้อและวังถ้ำเกิดขึ้นก็ด้วยผลเดียวกันนี้ เดิมทั้งสองหมู่บ้านเป็นประชากรส่วนหนึ่งของบ้านแขม แต่เนื่องจากชุมชนขยายขึ้น ชาวบ้านจึงออกสำรวจหาที่ทำมาหากินและล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อพบทำเลอันเหมาะสมจึงอพยพบ้านเรือนจากบ้านแขมมาตั้งหมู่บ้านใหม่บนที่ราบลุ่มติดลำน้ำเซบาย ลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำมูล โดยใช้ชื่อว่า บ้านวังอ้อ และบ้านวังถ้ำ

แต่เดิมชาวบ้านเข้าไปเก็บผักล่าสัตว์ในป่าดงใหญ่ซึ่งเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชพันธุ์หลากหลาย รวมถึงสมุนไพรหลายร้อยชนิด ชาวบ้านจำนวนมากประกอบอาชีพเผาถ่านโดยตัดไม้ในป่าดงใหญ่ และขุดหลุมทำเป็นเตาเผาถ่านอยู่ในป่า อาชีพนี้ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเข้าป่าไปจะเห็นควันเต็มป่าไปหมด มีเตาเผาถ่านกว่า 200 เตา ชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วอำเภอ ว่าเป็นหมู่บ้านที่เผาถ่านมาก และยังมีชาวบ้านอีกไม่น้อยที่รับจ้างตัดไม้ขนาดเล็กเพื่อใช้สำหรับทำรั้ว ทำเสา ให้กับผู้ที่สั่งซื้อ

ประมาณปี 2502 เริ่มมีกลุ่มนายทุนเข้ามาตัดไม้ขนาดใหญ่ออกไปจากป่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจอะไร เพราะคิดว่าป่าเป็นของหลวงและคงให้สัมปทานให้กับนายทุนไปแล้วทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชนต่างบริโภคของจากป่าอย่างไม่คำนึงถึงอนาคต

ความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นกับป่าดงใหญ่อย่างมหาศาล ความอุดมสมบูรณ์เริ่มไม่มีให้เห็นสัตว์ป่าหลายชนิดเริ่มสูญพันธุ์ ในขณะเดียวกัน สายน้ำจากลำเซบายที่อยู่ติดป่าเริ่มเหือดแห้งส่งผลต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ย่อมส่งผลต่อพืชผลทางเกษตรและผู้ที่ประกอบอาชีพเผาถ่าน ตัดไม้ เก็บของป่า ล่าสัตว์ ปัญหาเรื่องปากท้องเริ่มกลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง จะอพยพไปอยู่ที่อื่นก็คงไกลเกินไปและคงมีคนจับจองไปหมดแล้ว

พื้นที่ป่าดงใหญ่
สิ่งที่เกิดขึ้นกับป่าดงใหญ่เป็นการกระทำที่ชุมชนร่วมกันก่อ ผลกระทบที่เกิดขึ้นชาววังอ้อรับรู้และสัมผัสได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นแรงกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความสำนึกถึงบุญคุณของป่าเขา ธรรมชาติ และสายน้ำ

ด้วยเหตุนี้ ชุมชนจึงเริ่มต้นดูแลรักษาป่าดงใหญ่ การดูแลรักษาฟื้นฟูให้ป่ากลับคืนมานั้นต้องอาศัยระยะเวลาและความอดทน เพราะผืนป่ามีเพียงผืนเดียว แต่คนที่เข้ามาใช้ป่ากลับมีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่หวังดี และกลุ่มที่กอบโกย การรักษาป่าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ในปี 2522 ผู้ใหญ่ชม บุญประสิทธิ์ ได้ประกาศห้ามบุคคลทั้งหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาตัดไม้ในป่าดงใหญ่โดยเด็ดขาด แต่คำประกาศดังกล่าวก็ไม่เป็นผล เนื่องจากขาดองค์กรรับผิดชอบ ขาดกฎ และการดูแลที่ชัดเจน การบุกรุกจึงยังมีอยู่

ความพยายามรักษาป่ายังไม่สิ้นสุด ได้มีการนำกำลังตำรวจและชาวบ้านบางส่วนขึ้นไปทำลายเตาเผาถ่านที่อยู่ในป่า ตั้งแต่นั้นมา เป็นช่วงเวลาที่ป่าดงใหญ่เริ่มฟื้นตัว ชุมชนให้ความสำคัญในการดูแลรักษาป่ามากขึ้น แม้ว่าจะยังมีผู้ลักลอบทำลายป่าและล่าสัตว์อยู่บ้าง

ธงพระราชทานปลุกพลังมวลชน
ครั้งหนึ่ง ชุมชนบ้านวังอ้อได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเสด็จเยือนจังหวัดอุบลราชธานี ในคราวนั้น ชาววังอ้อไม่ได้รับเสด็จอย่างใกล้ชิด ต้องอยู่ด้านหลังเพราะว่าด้านหน้ามีไว้สำหรับชุมชนที่ได้รับพระราชทานธง “พิทักษ์ป่ารักษาชีวิต” เป็นรางวัลสำหรับชุมชนที่รักษาป่าได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี

จากประสบการณ์ครั้งนั้น ชาววังอ้อเกิดแรงบันดาลใจ มุ่งมั่นที่จะรักษาป่าอย่างจริงจัง เพื่อเข้ารับพระราชทานธงจากพระหัตถ์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถให้ได้สักวันหนึ่ง

ปี 2540 กองทัพภาคที่ 2 อำเภอเขื่องใน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้จัดอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ให้แก่ชุมชนบ้านวังอ้อและบ้านวังถ้ำ เป็นจุดกระตุ้นให้เกิดการตั้งคณะกรรมการดูแลป่าชุมชนขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นที่ปรึกษา ส่งเสริมความรู้ทำการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกลับมาเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์
และแล้วในที่สุด สิ่งที่มุ่งหวังก็เป็นจริงสมกับที่รอคอย…

ชุมชนบ้านวังอ้อได้รับพระราชทานธง “พิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต” ในปี 2541 ในฐานะที่เป็นชุมชนที่ดูแลรักษาป่าได้ดีจนเป็นที่ยอมรับของชุมชนอื่น ๆ คำปฏิญาณตนที่ให้ไว้ต่อหน้าพระพักตร์ในวันนั้นที่ว่า “เราจะไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป” เป็นเสมือนวาจาสัตย์ที่ตอกย้ำลงไปในจิตใจชาวดงอ้อ

ความปลาบปลื้มปีติแผ่ซ่านในจิตวิญญาณของชาวบ้านทุกคน เมื่อถึงบ้านวังอ้อจึงจัดงานฉลอง ต่างพากันแห่ธงพระราชทานร่วมกับพระบรมฉายาลักษณ์ ประกาศเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับมา หลายคนน้ำตาคลอเบ้าด้วยความดีใจและภาคภูมิใจ นายอำเภอทราบข่าวจึงได้เดินทางมาร่วมงานด้วย
นี่คือพลังใจอันยิ่งใหญ่ที่ผลักดันให้ชาวดงอ้อเดินหน้ารักษาป่าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

กลยุทธ์การจัดการ
ทางเข้าป่าดงใหญ่จะต้องเดินหรือนั่งรถไถนา (รถแต๊ก) เข้าไป ต้นไม้ในป่าระหว่างทางที่ปล่อยให้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ แผ่กิ่งก้านออกมาระเกะระกะ คนที่นั่งรถแต๊กเดินทางเข้าไปต้องคอยก้มหัวลงต่ำลอดใต้กิ่งไม้ เปรียบเสมือนการโค้งคำนับ แสดงความนอบน้อมต่อป่า ชาวบ้านมีความเชื่อว่าก่อนเข้าป่าจะต้องขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในป่า

ป่าดงใหญ่จัดเขตอนุรักษ์แบบยั่งยืนไว้ในใจกลางของป่า 1,510 ไร่ เป็นเขตป่าอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูป่าเป็นระยะเวลา 10 ปี (ปี 2539 - 2549) ห้ามเข้าไปตัดไม้และใช้ประโยชน์นอกเหนือจากการเก็บพืชผัก ผลไม้ เห็ด และแบ่งพื้นที่ใช้สอยล้อมรอบป่าอนุรักษ์ 300 ไร่ โดยมีลำเซบาย เป็นแนวเขตธรรมชาติอยู่รอบนอก

คณะกรรมการป่าชุมชนดงใหญ่จัดประชุมกันเป็นประจำทุกเดือน มีการแบ่งบทบาทกันอย่างชัดเจน และมีการตั้งกฎระเบียบในการดูแลป่าเป็นลายลักษณ์อักษร ทำจดหมายแจ้งไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อให้รับทราบและไม่ฝ่าฝืนกฎที่ตั้งขึ้นขยายเครือข่ายป่า ชาวบ้านร่วมกันทำแนวกันแนวไฟ และจัดเวรยามดูแลไฟป่า

“เมื่อถึงช่วงฤดูไฟป่า ประมาณ ธ.ค. – เม.ย. ของทุกปี จะมีการจัดเวรมาทำแนวกันไฟและดูแลป่ากันเป็นคุ้มบ้าน มี 9 คุ้มบ้าน ซึ่งหมุนเวียนกันมา เมื่อถึงเวร พาลูกเต้ามาด้วย มันสนุก อีกอย่างหนึ่งเป็นวันพักผ่อนของเรา คือเราเหนื่อยจากการทำงาน มาตรงนี้ก็ได้พักผ่อน ได้ทำประโยชน์กับชุมชนของเรา แทนที่เราจะทำแต่ประโยชน์ส่วนตัว ได้เสียสละมาทำงานของกลุ่มในหมู่บ้านเราตรงนี้” สาวชาวบ้านคนหนึ่งเล่าถึงความรู้สึกในการดูแลป่าด้วยความภาคภูมิใจ

ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลป่าด้วยความเต็มใจ เกิดความผูกพันในกิจกรรมที่เข้าร่วมราวกับเป็นกิจวัตรในชีวิตที่ขาดไม่ได้ จิตสำนึกในการพิทักษ์ป่าหยั่งรากลึกลงในใจชาวดงอ้ออย่างแข็งแกร่ง

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านวังอ้อ
ความเข้มแข็งของชุมชนบ้านวังอ้อเป็นที่กล่าวขาน คนภายนอกเริ่มให้ความสนใจ และเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมป่าชุมชนดงใหญ่มากขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนเล็งเห็นถึงประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว อยากถ่ายทอดบทเรียนและประสบการณ์การพลิกฟื้นผืนป่าดงใหญ่ ด้วยหวังว่าจะเป็นตัวจุดประกายให้คนในสังคมเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้ก่อตั้ง “โครงการวิจัยรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวังอ้อ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อสำรวจและเตรียมความพร้อมในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนบ้านวังอ้อ

ทีมงานวิจัยประกอบด้วย นักวิชาการ ชาวบ้านที่ถูกคัดเลือกมาจากบุคคลหมายกลุ่มในชุมชน และดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำวิจัย ชาวบ้านบอกว่า กลุ่มเยาวชนในชุมชนเป็นแกนหลักที่จะสืบทอดการทำงานและอนุรักษ์ต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่

การทำงานอยู่บนพื้นฐานการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน คือ การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับประโยชน์ เริ่มต้นตั้งแต่การค้นหาข้อมูลบริบทชุมชนรวมถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน สำรวจจุดเด่นของชุมชน ค้นหาแนวทางการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนผ่านบทเรียนการศึกษาดูงานที่บ้านโคกโก่งจังหวัดกาฬสินธุ์ และอุทยานแก่งตะนะ จังหวัดอุบลราชธานี

หลังจากนั้น ทีมวิจัยและชุมชนจึงได้ร่วมกันกำหนดรูปแบบกิจกรรมและการจัดการการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับป่าชุมชนดงใหญ่ โดยเริ่มจากการต้อนรับ แสดงลำกลอนพื้นบ้านเล่าประวัติหมู่บ้านและป่าดงใหญ่ จากนั้นพานักท่องเที่ยวเดินเข้าป่า โดยมีคณะทำงานนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปตามฐานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ มีวิทยากรให้ความรู้ประจำแต่ละฐานและมีวิทยากรสันทนาการจากชุมชน
ฐานที่ 1 ฐานแผนที่ เป็นฐานแรกที่จะบอกเส้นทางเดินป่าให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าเขาจะพบกับฐานอะไรบ้าง โดยมีแผนที่ขนาดใหญ่แสดงที่ตั้งของฐานต่าง ๆ
ฐานที่ 2 ฐานอนุรักษ์ไก่ป่า ให้ความรู้เรื่องไก่ป่า เป็นบริเวณที่มีไก่ป่าอาศัยอยู่ มีที่ให้อาหารไกป่า และมีมูลไก่ปรากฏให้เห็น
ฐานที่ 3 ฐานสมุนไพร เป็นแหล่งของสมุนไพรนานาชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีสรรพคุณในการรักษาโรค
ฐานที่ 4 ฐานทำลาย มีจุดเด่นอยู่ที่เตาหลุมเผาถ่านขนาดใหญ่ เป็นฐานที่ชี้ให้เห็นว่าการเผาถ่านเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าเสื่อมโทรมลง และส่งผลกระทบกับชุมชนอย่างใหญ่หลวง
ฐานที่ 5 ฐานอนุรักษ์ป่าชุมชนและการใช้ประโยชน์จากป่า จุดเด่นอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ และป้ายกฎระเบียบของป่าดงใหญ่
ฐานที่ 6 ฐานเถาวัลย์ มีเถาวัลย์ให้ศึกษาหลากหลายชนิด ความสวยงามแปลกตาของเถาวัลย์จำนวนมาก สร้างความงดงามให้กับผืนป่าได้อย่างน่าอัศจรรย์
ฐานที่ 7 ฐานลำเซบาย เป็นจุดชมวิวและล่องเรือตามลำน้ำเซบาย ลำน้ำที่งดงามและมีคุณประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของคนวังอ้อ

ปัจจุบันชุมชนได้ร่วมกันจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และเปิดตัวชุมชนให้เป็นที่รู้จักกับสาธารณะซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีกลุ่มนักท่องเที่ยวติดต่อเข้ามามากขึ้น โดยมีชาวบ้านและเยาวชนในชุมชนเป็นกำลังสำคัญใยการดำเนินการ

จากชุมชนที่มีชื่อเสียงในการตัดไม้เผาถ่าน ผ่ากระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ประสบ พลิกผันมาเป็นนักอนุรักษ์ผืนป่าที่ประสบความสำเร็จ ถ่ายทอดประสบการณ์เรียนรู้ผ่านการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชน สานงานต่อให้เยาวชนรุ่นหลังพิทักษ์ป่าดงใหญ่ให้อยู่คู่ชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน


 อาจารย์สั่งการบ้าน 2 ข้อ 1.        ให้นิสิตสรุปประเด็นเกี่ยวกับมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้ไปเรียนรู้ว่ามีการจัดการฐานทรัพยากรอย่างไรบ้าง(ยกตัวอย่าง 1 ข้อ)2.      ถ้านิสิตได้เป็นเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนิสิตคิดว่าจะพัฒนาจังหวัดตนเองให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไรบ้างบนฐานทรัพยากรของชุมชนที่มีอยู่ ( 3 หน้า พิมพ์)

 
หมายเลขบันทึก: 164129เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2008 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท