เรื่องของเทศบาลตำบลแม่พริก (จบ)


จะทำอย่างไรที่จะทำให้ทางเทศบาลเห็นความสำคัญและเข้ามาร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ครอบคลุมทั้งหมดได้ ไม่ใช่ทำเฉพาะหน้า หรือทำเป็นรายๆไป

      จากการศึกษา เอกสารยุทธศาสตร์การพัฒนาของเทศบาลตำบลแม่พริก  อำเภอ      แม่พริก  จังหวัดลำปาง  ทั้งหมด  (รายละเอียดได้เล่าให้ฟังเป็นตอนๆแล้วค่ะ)  ผู้วิจัยเห็นว่า  ทางเทศบาลให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างมาก  ในขณะที่ด้านเศรษฐกิจเน้นในเรื่องการสร้างอาชีพ  ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดแล้วก็จะพบว่า  เป็นการส่งเสริมอาชีพโดยการจัดหาเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้เป็นส่วนใหญ่  ส่วนด้านการพัฒนาสังคมนั้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกับด้านเศรษฐกิจและด้านโครงสร้างพื้นฐาน  คือ  มุ่งเน้นไปที่การจัดหา  สร้าง  สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  เพื่อให้ชุมชนมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น 

      หากจะว่ากันไปแล้วก็คงจะไม่แปลกแต่อย่างใดที่แผนยุทธศาสตร์จะออกมาเช่นนี้  ทั้งนี้เนื่องจากผู้วิจัยเห็นว่าในปัจจุบันสังคมของเราถูกหล่อหลอมด้วยความเป็นวัตถุนิยมค่อนข้างมาก  เราวัดผลกันที่ด้านปริมาณมากกว่าด้านคุณภาพ  อะไรที่มีลักษณะเป็นนามธรรมคนมักจะไม่ค่อยให้ความสนใจ  แต่จะสนใจสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่า  เพราะ  สัมผัสได้  ในกรณีของแผนยุทธศาสตร์นี้ก็เช่นกัน  เนื่องจาก  เมื่อมีการวางยุทธศาสตร์แล้ว  ต้องมีโครงการ  ตัวชี้วัด  รวมทั้งเป้าหมายกำหนดไว้ด้วย  ซึ่งตัวชี้วัดและเป้าหมายนั้นเกือบทั้งหมดถูกกำหนดออกมาในลักษณะของรูปธรรม  ส่งผลให้การพัฒนาที่เน้นด้านนามธรรมไม่ได้รับความสนใจหรือกล่าวถึงมากนัก

      สิ่งที่น่าสนใจและผู้วิจัยคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิจัยจัดการความรู้ครั้งนี้ก็คือ  จะทำอย่างไรที่จะทำให้ทางเทศบาลเห็นความสำคัญและเข้ามาร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ครอบคลุมทั้งหมดได้  ไม่ใช่ทำเฉพาะหน้า  หรือทำเป็นรายๆไป  เช่น  ในกรณีของการให้การสงเคราะห์นั้น  จะเห็นได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทางเทศบาลให้ความสำคัญและได้รับการบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของเทศบาลด้วย  แต่เมื่อพิจารณาเข้าไปในรายละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า  ในการสงเคราะห์นั้นยังมีลักษณะให้ความสำคัญกับคนบางกลุ่ม  เช่น  คนชรา  เด็ก  เป็นต้น  นอกจากนี้แล้วยังจำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ที่ได้รับการพิจารณาจากเทศบาลจริงๆ  รูปการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป  หน่วยงานราชการ  เช่น  กรมประชาสงเคราะห์ก็ปฏิบัติมาเช่นนี้  ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ  แท้ที่จริงแล้วคนที่ได้รับสวัสดิการมีเพียงน้อยนิด  ขณะนี้คนเดือดร้อนหรือประชากรในชุมชนซึ่งสมควรที่จะได้รับสวัสดิการด้วยเหมือนกันในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศคนหนึ่งกลับได้รับการยกเว้น 

      ดังนั้น  การทำงานร่วมกับองค์กรชุมชนน่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง  ในกรณีของเทศบาลตำบลแม่พริกนั้น  หากทางเทศบาลได้ทำงานร่วมกับองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านแม่พริก  ผู้วิจัยเชื่อว่าจะสามารถเสริมการทำงานและผลงานของเทศบาลได้แน่นอน  โดยที่เทศบาลไม่ต้องลงทุน  ลงแรงมาก  เพราะ  กลุ่มมีอยู่แล้ว  การบริหารจัดการก็ค่อนข้างชัดเจน  โปร่งใส  เป็นที่ยอมรับ  เงินของกลุ่มก็มี  หากมีการวางแผนทำงานกันอย่างจริงจัง  ประชากรในเทศบาลตำบลแม่พริกคงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ได้รับสวัสดิการที่ครอบคลุมขึ้น  นี่คือหัวใจของการทำงานพัฒนาอย่างยั่งยืน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16411เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 01:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท