Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๓๓)_๒


ดร. ปฐมพงษ์   ศุภเลิศ :
        ท่านต่อไปเชิญอาจารย์จีรัฐกาล

อาจารย์จีรัฐกาล  พงศ์ภคเธียร : 
         จากการที่ได้เข้ามาในวันนี้ทำให้เข้าใจมากขึ้น คงเหมือนกับทุกท่านว่า KM คืออะไร แต่หลังจากที่ผ่านมาจนกระทั่งวันนี้ได้ทราบว่าชีวิตการทำงาน มีกระบวนการ KM อยู่ตลอดเวลาจากที่ตัวเองฐานเดิมไม่ใช่ด้านการศึกษา แต่พอมาทำงานด้านการศึกษาแล้วก็ต้องสร้างความรู้จากงานจากชีวิต  แล้วเรียนลัดผ่านวิธีเลิศ จากคำกล่าวที่ว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงต้องเอาความรู้เป็นตัวตั้ง  ไม่ใช่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ชีวิตคืออะไร ชีวิตก็คือ การกิน  การอยู่การทำงานนี้เอง เพราะฉะนั้น ชีวิตของทุกคนต้องอยู่การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ที่เราเรียกว่า ชีวิตคือการเรียนรู้นั่นเอง เราต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา  ต้องรู้เป้าหมายของชีวิต คือหัวปลานั้นเอง ต้องมี vision ว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไร ระหว่างทางเราต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนร่วมทางของเรา  ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน ผู้ปกครอง ลูกศิษย์ ผู้บริหาร  หรือใครต่อใครที่เราทำงานและต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเราและวัฒนธรรมนี้ก็ต้องเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นกัลยาณมิตร  การที่เราจะทำให้ KM เข้าไปอยู่ในชีวิตของเด็ก  ของครู  ขยายไปสู่ผู้ปกครองของชุมชนได้ เราก็จะต้องเริ่มจากตัวของเราก่อน   เราต้องเริ่มจากตัวของเราว่าใช้ KM ให้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต  เพราะ KM คือ การเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็คือ  KM  นั่นเอง 

ดร. ปฐมพงษ์   ศุภเลิศ :
         ต่อไปเชิญอาจารย์สมควรครับ

อาจารย์สมควร   พรอยู่ศรี : 
         ขอบคุณค่ะที่ได้เชิญเป็นวิทยากรในวันนี้ รู้สึกดีใจ  จริงแล้วการจัดตลาดนัดความรู้ที่โรงเรียนทำแล้วสองครั้ง แต่การจัดแต่ละครั้งทำให้เราได้ความรู้ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับการจัดแต่ละครั้ง ในวันนี้ได้มา      แลกเปลี่ยนความรู้ในสิ่งที่ทำ อีกประการหนึ่งได้รับรู้จากสิ่งที่มาแชร์กัน จากวิทยากรที่มา จากผู้ทรงคุณวุฒิ  ความรู้ที่มาตรงนี้จะได้นำไปแชร์ในองค์กรของเราได้ในส่วนหนึ่ง โรงเรียนของดิฉันเป็นโรงเรียนเอกชน ความรู้ที่ได้ครั้งนี้นับว่าได้มหาศาล สิ่งนี้จะได้นำไปพัฒนาอย่างหลากหลาย อยากฝากกับผู้ที่เข้ามาตรงนี้ว่า  สิ่งที่เราทำตรงนี้จะนำไปปฏิบัติกับใคร  ถ้าในโรงเรียนก็นักเรียน นักเรียนทุกคนของเรา นักเรียนคนเก่งของเราว่าจะมีวิธีการอย่างไร  ขอฝากไว้เท่านี้ค่ะ

ดร. ปฐมพงษ์   ศุภเลิศ :
          ขอบพระคุณครับ  ท่านสุดท้ายอาจารย์วิมลศรี    เชิญครับ

อาจารย์วิมลศิริ  ศุษิลวรณ์:  
         ขอบพระคุณค่ะ ความตั้งใจในวันนี้อยากมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  อะไรบ้างที่ได้จากการคาดหวัง ประการที่หนึ่งคือ ความคิดคมๆ จากคุณหมอชาตรี  เป็นสิ่งที่เร้าพลังอย่างมาก  สิ่งที่ได้ต่อมาคือจากอาจารย์ไกรเดชค่ะ ถ้าถามว่าออกไปจากห้องนี้แล้วจะทำอะไร  ยังไม่ทันออกเลย จะรีบไปถามอาจารย์ไกรเดช เรื่องที่อาจารย์พูดเกี่ยวกับการจัดระบบของขององค์กรจะทำอย่างไร จึงจะเกิดความยั่งยืน สิ่งที่ยังไม่ได้จากที่คาดหวัง คือขุมความรู้จากท่านอาจารย์ชาตรี  หวังว่าจะได้อะไรใส่กระเป๋ากลับไปบ้าน เพราะมันเป็นแผนที่ดีที่ได้จากการปฏิบัติคะ คงจะมีแค่นี้ก่อนนะคะ 

ดร. ปฐมพงษ์   ศุภเลิศ :
        จากท่านสมาชิกที่เข้าร่วมสัมมนาไม่ทราบว่าท่านได้เขียนส่งแล้วหรือยัง  จะได้รวบรวมมานำเสนอในพรุ่งนี้ต่อไปนะครับ  ทราบว่า ดร.สมาน ท่านไปแล้ว  เพราะท่านจะต้องเดินทางกลับอุบล  ขอเรียนเชิญ ดร.วิโรจน์ครับ

ดร.วิโรจน์  ศรีโภคา:
        จากการที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้นำที่เป็นผู้ที่มีความสามารถในการจัดความรู้ได้ และบุคลากรท่านอื่นก็เห็นว่าเป็นประโยชน์  AAR  ที่เราได้จัดทำขึ้นมากจะเป็นประโยชน์มาก  ก็คือสุภาพสตรีเป็นผู้ที่ได้ทบทวน เป็นผู้ที่มีการวัดการประเมินได้ยอดเยี่ยมมากกว่าสุภาพบุรุษ  เช่นว่า  ในชีวิตประจำวันสุภาพสตรีมีการวัดและประเมินผลอย่างดีเยี่ยม ตั้งแต่เช้าจนเย็นออกจากบ้านก็ส่องกระจก เขียนคิ้วก็วัด ก่อนนอนก็ทำอีก  นับว่าสุดยอดของคนที่ใฝ่รู้   จะเห็นว่าสุภาพสตรีก่อนทำอะไรก็ถามแฟน  เช่นก่อนทำอะไรก็ว่าพ่อจะทำอะไร  สุภาพสตรีก็ไปซื้อเครื่องแกงส้มมา   สุภาพสตรีก็มีการปรุง  ในขณะที่ปรุงก็มีการชิมสุภาพสตรีก็มีการชิม   ตรงนี้  AAR  โดยเฉพาะถ้ามันเปรี้ยวไป ใส่น้ำตาลน้ำปลาให้ดีขึ้นไป ก็ปรับปรุง  ปรับเปลี่ยนแก้ไขจนกระทั่งสุดท้ายวางตอนเย็นในโต๊ะ ก็ถามว่า พ่ออร่อยหรือไม่  นี่วัดความพึงพอใจ ไม่อร่อยก็บอกว่าอร่อย ในใจก็บอกว่าสาบานได้ไหมเอามือทำ เห็นได้ว่าสุภาพสตรีได้นำ AAR ไปใช้ในการไปใช้ในชีวิต ประจำวันตลอด  ผมว่าในการจัดการความรู้มีผู้ทำก็สุดยอดแล้ว มีผู้ถามว่าการจัดการความรู้จะนำไปปฏิรูปการศึกษาให้เร็วต่อไปได้อย่างไร  ที่เราคุยกันการพัฒนาสถานศึกษาทั้งระบบ ทำอย่างไรที่ตัว process ของเราที่จะขับเคลื่อน ผมเห็นด้วยกับตัว Whole School เป็นตัวที่สำคัญ เพราะตัวกระบวนการบริหารต้องใช้กระบวนการจัดการความรู้เข้าไป ทำอย่างไรเราจะเน้นบุคลากรทุกฝ่าย ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย จาก bottom up ขึ้นมา จาก top down ลงมาเป็นวัตถุประสงค์ขององค์กร อันนี้การมีส่วนร่วมเป็นสุดยอดของการบริหาร กระบวนการที่สองที่เราคุยกันวันนี้มากใช้การจัดการความรู้ การพัฒนาบุคลากรของเรา ทรัพยากรมนุษย์ เราก็ใช้การจัดการความรู้นี่เป็นตัวพัฒนา การประกันคุณภาพซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสถานศึกษาทั้งระบบ ให้แข็งแกร่ง เพราะว่ากระทรวงศึกษาไม่ต้องทำอะไร ลงทุนอย่างเดียวทำอย่างไรให้ครูทุกท่านได้จัดการความรู้ โดยสรุปว่าวันนี้คิดว่าได้ประโยชน์กับเรามาก จะเป็นอาหารสมองที่ดี อาหารที่เราทำวันนี้ทานออกไปก็ออกจากร่างกาย  แต่ผมคิดว่าที่ สคส.ให้อาหารที่มีคุณค่าคือ อาหารสมอง  คือการจัดการความรู้ ขอบคุณครับ

ดร. ปฐมพงษ์   ศุภเลิศ :
         เรียกได้ว่าท่านสรุปครบถ้วนทุกกระบวนการ ที่พวกเราคาดหวัง อยากจะให้ฟังคุณหมอชาตรี ท่านเฝ้ามองเราอยู่ และการสะท้อนมุมมองของพวกเราทั้ง 10 ท่านนี้ ขอเรียนเชิญครับ

นพ.ชาตรี  เจริญศิริ : 
         ก่อนที่จะจากกันวันนี้ ผมกำลังจินตนาการว่าแล้วเย็นนี้เราจะกลับไปทำอะไร พรุ่งนี้เราจะทำอะไรต่อ  แล้วเมื่อเรากลับไปที่โรงเรียน เราจะทำอะไรได้บ้าง  เรามักจะพูดถึงขุมความรู้  ผมมีนักศึกษาปริญญาโทที่ต้องดูแลอยู่ หน้าที่ต้องทำคือต้องตรวจ field note ทุกวัน เหมือนกับอ่านไดอารี่ที่ท่านที่ได้ทำอยู่  ผมอยากจะตั้งคำถามว่ารูปที่ท่านถ่ายทุกภาพนี้ เราจะเอาไปเก็บอย่างไร   ปัญหาไม่ใช่เราไม่มีขุมความรู้แต่เรามีขุมใหญ่   แต่ว่าเราเลือกรูปแบบไหนที่จะเก็บ ให้คิดนะครับว่าถ้ามีรูปอยู่ในกล้องโซนี่ ที่ขึ้นต้นว่า DFC แล้วมีเลข 6 หลักแล้วจัดทำอย่างไร    ถ้าท่านออกไปข้างนอกจะเห็นได้ว่า มีหนังสือเรื่องประชาคมน่านกับการจัดการความรู้ที่ผมเขียนไว้   เรื่องการจัดการกับ  index    ถ้าเราตั้งชื่อภาพว่า  KM ครั้งที่ 2 แล้วเรียงลำดับ  001  002  และเวลาที่ต้องการท่านสามารถ search ได้  เวลามีรูปหลายๆคน ท่านสามารถจะทำได้    กล้องตัวนี้ซื้อมา 13,800 บาท ซื้อมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถ่ายไปแล้ว  30,000 กว่ารูป ผมทำ index ทุกครั้ง  ก่อนที่จะเอารูปเข้าไปใน hard disk และคนอื่นก็เอาไปใช้ได้  นี่เป็นเรื่องง่ายที่ทำได้ง่ายกว่าการไปแคะความรู้ที่มาจากตัวเอง จากหัวใจของใครต่อใคร แค่ถามง่ายว่า ภาพที่ได้จะแลกอย่างไร   แม้แต่ใน note book  ที่กางกันอยู่จะแลกอย่างไร  นี่เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่ง   เพราะทุกวันนี้จะเป็นเลขฐานสอง   แต่ภาพส่วนใหญ่จะเป็น format เดียว  ใช้สกุล jpg ใช้โปรแกรมง่ายเช่น โปรแกรม ACDSee  ดูรูปสามารถจะตั้งรูปเป็น series ได้   เรื่องที่สอง เราไม่ค่อยมีเวลา  มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จหรือไม่  เราไม่ค่อยมีเวลา  ผมมีประสบการณ์อยากแลก  ว่าที่เราทำงานอยู่นั้นสักวันหนึ่งจะต้องมีคนทำงานแทนเรา หน้าที่ของเราคือสร้างบ้านให้คนอื่นมาแลก  มีอะไรมาแลกก็แลก  ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ การพูดภาษาอังกฤษ  ผมแลกกับเพื่อนร่วมงานทุกสัปดาห์ วันละครึ่งชั่วโมง  เมื่อตะกี้นี้ก็มีโทรศัพท์ เข้ามาสองสามสาย  ผมก็ผ่องให้เลขาผมเรียบร้อย  Peter Senge ได้เขียนหนังสือไว้เมื่อ ปี 2000 ชื่อ  The Dance  of Change  ชื่อการเต้นรำกับการเปลี่ยนแปลง เล่มนี้ได้พูดถึงว่ามีสูตรสำเร็จอย่างหนึ่งสำหรับคนที่ไม่มีเวลา ต้องหาเลขาที่เก่ง หรือทำให้เขาเก่งขึ้น บังเอิญผมเห็นกลุ่มของเลขา JSN  มีกี่คน คือใคร  น้องๆ เหล่านี้เป็นเลขาหรือผู้ประสานงานอยู่ที่ สกว. หรือ node  เมื่อ 4 ปีที่แล้วมีอยู่ 24 คนมีหลายคนที่เกาะกลุ่มกันอยู่  แต่ยังเกาะกลุ่มกันอยู่ เมื่อ 4 ปีที่แล้วถ้าเลขามีเพื่อนเขาจะสนิทเมื่อปีที่แล้วจัดไปสัมมนาที่แม่กำปอง  และอีกสองสามที่  ตอนนี้เขาปึ้กกัน  พอเลขาเขาเก่งขึ้น เขาก็มีหน้าที่ใช้ผมนะครับ  และเป็นเรื่องที่แปลกที่เราต้องคิดว่าใครจะมาผ่องงานจากเรา  เลขาแต่ละคนจะมีเบอร์โทรศัพท์ผู้เกี่ยวข้องแล้วเอาหลายเล่มมาเชื่อมกัน  ซึ่งเขาเองก็มีวิธีการของเขา วิธีแบบนี้ทราบว่าทาง สคส.ก็นำมาทำด้วยครับ นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ท่านสามารถจะทำได้ ถ้าไม่ทำแบบนี้ผมก็ไม่สามารถที่จะมาได้ ผู้บริหารก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเลขาส่วนตัวทำหน้าที่เป็นเลขาด้วย  อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นขุมความรู้  จะขอแนะนำหนังสือเรื่อง วิธีคิดกระบวนระบบ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช เขียนคำนิยมว่าสิ่งที่บอดที่สุดคือคน การเข้าใจเชิงกระบวนระบบก็บอดจริงๆ    หนังสือเล่มนี้มีขายอยู่ที่บันไดชั้นที่  2   คนเขียนเรื่องนี้ก็ใช้ได้ คือคุณชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เขียนถึงน้ำผึ้งหยดเดียวคือเรื่องดาราภาพยนตร์ไปพูดผิดหูนิดหนึ่ง การเผาสถานทูตที่พนมเปญ  ที่มีการพูดกัน เพราะอะไร  โดยใช้ systems  thinking  เป็นตัววิเคราะห์   เกือบจะรบกันอยู่แล้วแล้วเราไปถอดสลักได้อย่างไร  ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนได้ดี คนที่เขียนคนแรกคือ Peter Senge แต่เล่มนี้เขียนได้ดีกว่า อีกเล่มหนึ่ง การจัดการความรู้สำหรับมือใหม่หัดขับ เป็นของ สคส. ผมมีกับตัวกี่เล่มก็มีคนหยิบไปหมด    ไม่ใช่มือใหม่หัดเขียนด้วย ถ้าท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะเห็นว่าตัวความรู้เรายังได้ตัว ลีลา และstyle สิ่งที่ครูต่างกับหมอคือ ลีลา หมอนั้นขอให้โรคหายคนไข้จะเจ็บหรือไม่เจ็บ เมื่อคุณตัดไส้ติ่งแล้วคุณหาย  ไม่ตายแน่ จบเลย  แต่ครูเป็นคนที่ซอยตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงความสำเร็จ มีการซอยเป็นขั้น หนังสือเล่มนี้คุณสมบัติของความเป็นครูครบ  ลองไปพลิกดู นะครับ คนที่เขียนคือ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ท่านเป็นวิศวกรจบปริญญาเอกที่แคนซัส และเป็นบริษัทที่ปรึกษา ISO ด้วย ตอนนี้เลิกทำ มาทำ KM ที่ว่าจบปริญญาเอกแล้วเขียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ลองไปอ่านดู ผมว่าจบประถมศึกษาก็อ่านรู้เรื่อง สิ่งที่เราทำนั้น ทำอย่างไรประชาชนส่วนใหญ่ในแผ่นดินจึงจะเข้าใจ ไม่ได้ถือเป็นข้ออ้างของนักการเมืองที่ว่าต้องฟังเสียงประชาชนเป็นส่วนใหญ่ หรือที่มีคนค่อนขอดว่าประชาธิปไตย 4 นาที  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการจัดการความรู้ทั้งสิ้น   การจัดการความรู้ขุมทรัพย์ที่ อ.วิมลศรีอยากจะได้ ผมอายเหมือนกันคงไม่ใช่ขุมทรัพย์มันเป็นวิธีการ note อย่างหนึ่งของผมที่จะทำให้เก็บสีสันของห้องทั้งหมด แต่ถ้าจะให้ดีเหมือนที่มีการถ่ายรูปครั้งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้วในโลกที่ฝรั่งเศส ที่ดาแก กล้องถ่ายรูปมีหน้าที่บอกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นมาในวินาทีนี้ในโลก  ตั้งแต่มีรูปถ่ายเมื่อ 150 ปีคนยังพอใจที่ได้เห็นรูปตัวเอง เห็นได้ว่ารูปถ่ายสามารถเล่าเรื่องได้    ผมขออนุญาตพูดถึงกล้อง digital นิดหนึ่ง กล้องนี้เป็นเทคโนโลยีซึ่งรุ่งเรืองมากที่ประเทศญี่ปุ่น ประมาณ ปี 2526, 2527  ครูโรงเรียนอนุบาลให้เด็กไปถ่ายรูปแล้วต่อกับกล้องโทรทัศน์  แล้วให้เด็กเล่าว่าทำไมจึงถ่ายรูป  ผมเชื่อว่าครูทุกคนมีกล้องดิจิตอล แล้วให้นักเรียนถ่ายรูปได้  ผมทำลึกซึ้งกว่านั้น คือ ให้กล้องถ่ายรูปยืม  ให้คนในชุมชนเมืองน่านไปถ่ายรูปบ้านเก่า ไปถ่ายรูปต้นไม้เก่าแก่ที่มีผ้าเหลืองหุ้มอยู่  รูปศาลเก่า  รูปหอผี เรียกว่าหอบรรพบุรุษ  สถานที่สำคัญแล้วผมเอารูปเหล่านั้นมาทำ atlas มาบรรยายในเล่มขนาดใหญ่  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่านให้เงินมา 1 ล้านบาท เพราะพิสูจน์ได้ว่าทำให้บ้านไม่ถูกรื้อ เพราะเขาเป็นคนให้คุณค่าเอง และหนังสือนี้ทูลเกล้าถวายพระองค์ท่านสมเด็จพระเทพไปแล้ว ท่านมีตำหนักอยู่ที่น่านด้วย  พระองค์ท่านเปิดดูทันที  มันเกิดจากการใช้กล้องดิจิตอล จากการที่คนอยากเล่าเรื่อง ตอนนี้ไม่มีจำหน่าย  คือให้เป็นอภินันทนาการแก่เจ้าของบ้านเก่า มันเคลื่อนสังคมได้ เกิดจากเทคโนโลยี ก็คือกล้องตัวนี้ของผมเอง  ตรงนี้ที่สำคัญมากสิ่งที่ตัวหนังสือไม่สามารถบรรยายได้คือสีหน้าและแววตา   ซึ่งถ้าหากเราสามารถจับได้คือ คนที่อยากมาเรียนในวันนี้ คือสีหน้าแววตา และใจที่อยากมาดู ผมว่าเทคโนโลยีนี้มีอยู่ในตัวท่านด้วย ถ้าเราทำอาจจะได้ภาพหนึ่ง  เราจะเกิดพื้นที่พื้นที่หนึ่ง  อย่างเช่นคอนโดมิเนียมกองขี้ควาย  ทำให้เห็นในส่วนที่เรายังไม่เห็น ทั้งนี้เป็นส่วนน้อย  น้องหลายคนถามว่าทำไมผมสดชื่น  ไม่อยากบอกว่าผมทำ KM  ครับ

ดร. ปฐมพงษ์   ศุภเลิศ : 
         มาถึงช่วงสุดท้ายของวันนี้ ก่อนจะจบใคร่ขอขอบพระคุณท่านที่มีส่วนร่วม ขอขอบคุณคุณกิจทั้งสิบท่าน ขอเสียงปรบมือด้วยครับ ท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน ขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ของ สคส. ที่กรุณาอำนวยความสะดวกทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ทำให้การดำเนินงานของเราเป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายภาพ ฝ่ายเสียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ด้วย  และที่สำคัญคือผู้ที่เข้าร่วมเวทีวันนี้ตั้งแต่เช้าที่ไม่หนีหายไปไหน ผมก็ขอฝากความคิดเป็นคำกลอนสั้น ว่า
การจัดการความรู้ในวันนี้ ใช่อยู่หน่วยงานในสถานศึกษา
หากเกิดจากหน่วยงานระดมภูมิปัญญา  นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน     
ขอขอบคุณที่ท่านมาในวันนี้ ร่วมวิถีแนวทางการสร้างสรรค์ 
หวังไว้ในวันหน้าคงพบกัน  ขอท่านจงโชคดีมีชัยเอย 
ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16359เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 08:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท