ต้อนรับ สพท.สุพรรณบุรี เขต ๒ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการความรู้...สู่สถานศึกษา


ผอ.อนุสรณ์ ฟูเจริญ ผอ.สพท.สุพรรณบุรี เขต ๒ นำคณะผู้บริหารสถานศึกษา ๑๗๐ คน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการความรู้

บอกเล่าเก้าสิบ
บรรยากาศที่สดใสเช้าวันใหม่ของวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ กลิ่นอายของความรักความผูกพันของบ้านพี่เมืองน้อง "อยุธยา-สุพรรณบุรี" ยังมีอยู่ไม่เสื่อมคลายนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันนี้

ผมรู้สึกยินดีและดีใจที่ทราบว่าท่าน ผอ.อนุสรณ์  ฟูเจริญ (รุ่นพี่บริหารการศึกษา จุฬาฯ) ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต ๒ จะนำคณะผู้บริหารและศึกษานิเทศก์ในเขตพื้นที่ของท่าน ประมาณ ๑๗๐ คน มาเยี่ยมชมศึกษา-ดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการความรู้ KM: Knowledge Management ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของบรรดานักการศึกษาและแวดวงของบรรดานักจัดการความรู้ของไทยในทุกวันนี้

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วคณะผู้บริหารและอาจารย์จากเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต ๑ จำนวน ๗๐ คนก็ได้มาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะเดียวกันนี้  และวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ศกนี้ผมเองก็ได้รับเทียบเชิญจากท่าน ผอ.สันทัด  สินธุพันธ์ประทุม  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา หรือชื่อเดิมคือสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา(วัดไร่ขิง) ให้ไปบอกเล่าเก้าสิบถึงแนวทางการจัดการความรู้ในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา

กล่าวต้อนรับแนะนำโรงเรียน
วันนี้
เวลาประมาณ ๙.๓๐ น. อาจารย์จิระพันธุ์  พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแนะนำคณะผู้บริหาร ครูอาจารย์โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาที่เป็นตัวแทนมาต้อนรับ จากนั้นได้เรียนเชิญท่านผอ.เขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต ๒ แนะนำคณะที่มาวันนี้ ซึ่งนำโดยท่านผอ.อนุสรณ์  ฟูเจริญ ท่านรองฯ จันทบูรณ์  เขตการณ์ ท่านรองฯ ธรรมรงค์  เกรอด และคณะผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมทั้งศึกษานิเทศก์ ทั้งหมด ๑๗๐ ท่าน (ไม่รวมพนักงานขับรถอีก ๑๐ คน)

ผอ.จิระพันธุ์  พิมพ์พันธุ์ ได้บอกกล่าวเรื่องราวการจัดการความรู้ในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา พร้อมทั้งได้ให้ตัวแทนครู พนักงาน ชาย-หญิงของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา มาเล่าประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อการทำงานในโรงเรียนแห่งนี้ ท้ายที่สุดได้เสนอ "บัญญัติ ๑๐ ประการ" สำหรับนักจัดการความรู้ ควรดำเนินการ ดังนี้
๑. สร้างวัฒนธรรมองค์กร
๒. สร้างวิสัยทัศน์ร่วม
๓. สร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
๔. ฝึกการเรียนรู้ทางลัด
๕. สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์
๖. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในและนอกโรงเรียน
๗. พัฒนาคนให้เข้าใจงาน
๘. ระบบการให้คุณให้โทษ
๙. หาเพื่อนร่วมทางเพื่อทำงานร่วมกัน (สร้างพันธมิตร)
๑๐. จัดขุมความรู้ให้มีประสิทธิภาพ

จัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "เรื่องเล่าจากคุณกิจ"
สำหรับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "แนวทางการจัดการความรู้ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา" ในวันนี้ ได้มีคณะผู้บริหาร ครูอาจารย์โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาเป็นตัวแทนชุมชนนักปฏิบัติ หรือ"คุณกิจ" ตัวจริงมาร่วมเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับคณะผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์จากสุพรรณบุรีทั้ง ๑๘๐ คน โดยในช่วงแรกจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวการจัดการความรู้ในโรงเรียน ผ่านสไลด์       วีดิทัศน์ และจากนั้นจะเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น ๘ กลุ่มๆละประมาณ ๑๕- ๑๘ คน  ประกอบด้วย
- กลุ่มที่ ๑ การส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูป
- กลุ่มที่ ๒ กลยุทธ์การติดตามงานครูให้สำเร็จตามแผนงาน/โครงการ
- กลุ่มที่ ๓ การใช้ ICT ส่งเสริมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา
- กลุ่มที่ ๔ หลากหลายเทคนิควิธีการดึงชุมชนสู่สถานศึกษา
- กลุ่มที่ ๕ การส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ภายใน/ภายนอกสถานศึกษา
- กลุ่มที่ ๖ การดำเนินงานระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียน
- กลุ่มที่ ๗ การพัฒนาครูมุ่งสู่ความก้าวหน้าทางวิชาชีพครู
- กลุ่มที่ ๘ การบริหารงานงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share &Learn)
ในการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดเป็นโต๊ะกลมภายในห้องประชุมประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มจากโรงเรียนต่างๆในเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต ๒ ซึ่งมี"คุณกิจ"จากโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เป็นคนเล่าเรื่อง ส่วน"คุณอำนวย"และ"คุณลิขิต"ได้แก่ผู้บริหารที่มาจากสุพรรณบุรีเป็นผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐- ๑๔.๓๐ น. บรรยากาศเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพทั้งผู้ให้และผู้รับ (Give & take)ด้วยความเป็นกันเอง ซึ่งมีการรายงานผลการจัดกิจกรรมในภาคบ่าย เวลา ตั้งแต่เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๕.๓๐ น. สรุปได้ดังต่อไปนี้

กลุ่ม ๑ การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูป
๑. ครูทุกคนในโรงเรียนมีความสำคัญเท่ากัน ทุกคนมีบทบาทหน้าที่ ครูต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง
๒.มีการสอบถามครูว่าต้องการพัฒนาส่วนใด เรื่องอะไร ต้องการให้ผู้บริหารทำอะไร
๓. ครูวิจารณ์ผู้บริหารได้ ครูและผู้บริหารมีการประเมินตนเอง เพื่อหาจุดพัฒนาร่วมกัน
๔. โรงเรียนสร้างกรอบกติกาการอยู่ร่วมกัน เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติงาน
๕. มีการกำกับติดตามงานอย่างสม่ำเสมอโดยหัวหน้าสายชั้น
๖. ครูทุกคนได้รับความรู้/ พัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน เมื่ออบรมแล้วจะมีการขยายผลเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางาน
๗. การวางแผนพัฒนางานด้านวิชาการจะให้ตัวแทนแต่ละสายชั้นวางแผนร่วมกัน
๘. การจัดการเรียนการสอน ใช้โมเดลจิระศาสตร์ (JIRASART’s Teaching Model)
๙. การนิเทศภายในเน้นกัลยาณมิตรนิเทศ  ครูทุกคนจะได้รับการนิเทศอย่างน้อยภาคเรียนละ ๔ ครั้ง (จากหัวหน้าสายชั้น, เพื่อนครู, ที่ปรึกษา และผู้บริหาร)
๑๐. เรื่องที่นิเทศ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ การใช้สื่อ/แหล่งเรียนรู้, พฤติกรรมของผู้เรียน, พฤติกรรมการสอนของครูและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
๑๑. เกณฑ์การประเมินผลการนิเทศ มี ๔ ระดับ ได้แก่ ดีมาก , ดี, พอใช้, ต้องปรับปรุง
๑๒. การนิเทศแต่ละสายชั้นเมื่อครบถ้วนแล้วจะมีการสรุปเป็นภาพรวมในสายชั้น ถ้าพบข้อบกพร่องจะมีการเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์
๑๓. สิ้นปีการศึกษามีการจัดแสดงผลงาน Teacher Show
๑๔. ใช้วิธีการให้ครูสังเกตการสอนครูที่สอนเก่งๆ เพื่อดูเทคนิคการสอน
๑๕. ครูจัดทำกำหนดการสอนเป็นรายสัปดาห์ ส่งให้ผู้ปกครองนักเรียนซึ่งสามารถติดตามผลการเรียนของบุตรหลานได้
๑๖. มีการบันทึกการทำงานทุกอย่าง เพื่อติดตามงานได้ เช่น บันทึกการสอนซ่อมเสริม บันทึกผลการปฏิบัติงาน ฯลฯ

กลุ่ม ๒  กลยุทธ์การติดตามงาน
๑. มีการจัดประชุมใหญ่และประชุมย่อย
๒. แจ้งให้ครูทุกคนทราบล่วงหน้า โดยส่งรายละเอียดของการติดตามงานไปให้ครูทุกคนที่เกี่ยวข้อง
๓. ใช้การนิเทศแบบกัลยาณมิตร ให้คำแนะนำช่วยเหลือ และเก็บข้อมูล

กลุ่มที่ ๓ การใช้ ICT ส่งเสริมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา
๑. การห้องเรียนคอมพิวเตอร์/อินเตอร์เน็ตสืบค้นข้อมูลอย่างเพียงพอกับความต้องการของนักเรียน
๒. การใช้คอมพิวเตอร์ในระบบการบริหารจัดการภายในโรงเรียน เช่น ทะเบียนนักเรียน บุคลากร
งานการเงิน การติดต่อสื่อสาร การประมวลผลข้อมูล/ ผลการเรียน ฯลฯ
๓. การใช้สื่อ ICT ในการประชาสัมพันธ์โรงเรียน เช่น จัดทำ เว็บไซต์ Jirasart.com เป็นต้น

กลุ่มที่ ๔  เทคนิควิธีการดึงชุมชนเข้าสู่สถานศึกษา
โรงเรียนสามารถสร้างศรัทธาให้ชุมชน ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
๑. เยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อศึกษาข้อมูลนักเรียนและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง เน้นระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
๒. ให้บริการชุมชน โดยบริการด้านอาคาร-สถานที่ วัสดุ-อุปกรณ์ นำนักเรียนไปช่วยงานด้านการพัฒนา หรือด้านการแสดงต่างๆ
๓. สร้างเครือข่ายผู้ปกครอง เชื่อมโยงชุมชนให้เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน โดยเชิญผู้แทนชุมชน ผู้ปกครองให้การสนับสนุนและร่วมกิจกรรมต่างๆ
๔. ขอความช่วยเหลือเรื่องการระดมทุนจากชุมชนในการสนับสนุนโรงเรียนด้านต่างๆ
 สโลแกน “เยี่ยมบ้านประชา  อาสารับใช้  สื่อสารชักใย  เอากำไรกลับคืน”

กลุ่ม ๕ การใช้แหล่งเรียนรู้ใน / นอกโรงเรียน 
“ ห้องเรียนในโลกกว้าง ”
การดำเนินงาน
                ๑. สำรวจแหล่งเรียนรู้  ภูมิปัญญาท้องถิ่น
                ๒. จัดทำทะเบียน หรือทำเนียบแหล่งการเรียนรู้ / ภูมิปัญญาท้องถิ่น
                ๓. คณะครูประชุมพิจารณาใช้แหล่งการเรียนรู้ ทั้งใน / นอกโรงเรียน
                ๔. จัดทำตารางการไปศึกษา
                ๕. ครูสร้างแผนการสอน  ( เฉพาะแต่ละชั้น )
                ๖. พานักเรียนไปศึกษา ณ แหล่งการเรียนรู้
                ๗. นักเรียนสรุปผลการศึกษา  นำมานำเสนอ
                ๘.ประเมินผลการใช้แหล่งเรียนรู้และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพต่อไป

กลุ่ม ๖ การดูแลช่วยเหลือนักเรียน
๑. การจัดกิจกรรมโฮมรูมโดยครูประจำชั้นและครูพิเศษติดตามช่วงเช้า
๒. การดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่นกิจกรรมยามเช้า - กลางวัน และเวลาว่าง
๓. ส่งเสริมด้านวิชาการ การสอนซ่อมเสริมตามศักยภาพของนักเรียน
๔. กำหนดแนวทางในการแก้ไขพฤติกรรมนักเรียน
๕. ติดตามประสานงานผู้ปกครองเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
๖. ออกเยี่ยมบ้านนักเรียน

กลุ่มที่ ๗ การพัฒนาวิชาชีพครู
๑. การจัดครูปฏิบัติงานมี ๒ หน้าที่ คือ
๑.๑ สอนตามความถนัด ความรู้
๑.๒ เป็นกรรมการตามงานฝ่ายต่าง ๆ ๖ ฝ่าย หรือ ๖งาน
๒. กิจกรรมหล่อหลอม "ร้อยดวงใจในจิระศาสตร์"  ครู  เจ้าหน้าที่ทุกคน จะพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ทุกคนคือจิระศาสตร์
๓. ประชุมพัฒนาบุคคลากรให้ครูแต่ละคน แต่ละสาย  ไปศึกษาหาความรู้เทคนิคใหม่มาเล่าสู่กันฟังในที่ประชุม ใครมีจุดเด่นอะไร ใครสอนเก่งวิชาอะไร ก็จะสาธิตการสอนให้คนอื่นนำไปเป็นแบบอย่าง
๔. จัดครูคู่มิตร กล่าวคือ เมื่อมีการบรรจุครูใหม่เข้ามาก็จะให้ครูเก่ามาช่วยแนะนำชี้แนะเป็นที่ปรึกษาเพื่อสามารถปรับตัว สอนนักเรียนได้ (ประมาณ ๒ เดือน)
๕. การจูงใจให้รักโรงเรียน
- สวัสดิการดี ขึ้นรถฟรี  ลูกเรียนฟรี  ทานอาหารฟรี ฯลฯ
- เงินเดือนขึ้นทุกปี
- ความภาคภูมิใจเช่น เป็นกรรมการ  เป็นหัวหน้า  เป็นต้น  
๖. ให้โอกาสไปทัศนศึกษาทุกปี ส่งครูศึกษาอบรมให้มีวุฒิสูงขึ้น ตั้งแต่ป.ตรี  ถึงป.เอก 
๗. อบรมวิชาการให้  เช่น อบรมคอมพิวเตอร์ให้ครูทุกคน

กลุ่ม ๘ การบริหารงบประมาณ
๑.รายได้
- ค่าธรรมเนียมการเรียน
- ค่าอาหาร
- ค่ารถ
- เงินอุดหนุน
- รายได้อื่น ๆ
๒.รายจ่าย
- ด้านบุคลากร 60%
- งบดำเนินการ 30%
- งบลงทุน 10%

สู่กิจกรรม AAR (After Action Review)

สุดท้ายก่อนจบรายการในวันนี้ได้มีกิจกรรมสำคัญเป็นการสะท้อนความคิดและองค์ความรู้ที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
๑. ทำอย่างไรจึงจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น "องค์กรแห่งการเรียนรู้"
๒. การจัดการความรู้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริม ได้แก่ ผู้บริหารต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมมงานมีส่วนร่วม มีการกระจายอำนาจในการบริหารงาน ผู้บริหารมีความทุ่มเท จริงจัง จริงใจ ให้โอกาส ให้เกียรติผู้ร่วมงานทุกระดับ
๓. การจัดการความรู้ในองค์กรนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดปัญญา
๔. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและผู้บริหารโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นภาคีเครือข่ายการจัดการความรู้ร่วมกัน

ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
  ๒๒ ก.พ.๔๙

หมายเลขบันทึก: 16339เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
รู้สึกชื่นชมการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ KM ระหว่าง สพท.สุพรรณบุรีเขต 2 ร่วมกับจิระศาสตร์จัดขึ้น  ทำอย่างไรผู้บริหาร ครู อาจารย์ในเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆจะมีโอกาสเช่นนี้บ้าง
สนใจกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะ "ตลาดนัดความรู้" จะขอดูหรือเข้ารวมกิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้ได้ที่ไหน โอกาสใดบ้างคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท