โลกร้อนลดคุณภาพอาหารโลก


โลกร้อนลดคุณภาพอาหารโลก

กินผักผลไม้อะไรก็ไม่มีคุณภาพ สู้สมัยก่อนไม่ได้

ความรู้สึกนี้เป็นจริงแน่ๆ ไม่ใช่อุปทานแต่อย่างใด ถ้าเรามีโอกาสกินผักผลไม้เปรียบเทียบกันระหว่างปัจจุบันกับอีกประมาณ 90 ปีข้างหน้า...

ถึงตอนนั้นก็หง่อมยิ่งกว่าหง่อมแล้วหลานเอ๊ย

นายแม็กซ์ ท็อบ จากเซาธ์เวสเทิร์น ยูนิเวอร์ซิตี้ เมืองเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ทำการวิเคราะห์ผลการทดลองของนักวิจัยอื่นๆ กว่า 200 ชิ้น เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศกับคุณค่าทางอาหารในพืชผลการเกษตร

ผลปรากฏว่า ยิ่งก๊าซเรือนกระจกสะสมในบรรยากาศมากเท่าใด คุณค่าทางอาหารของพืชผลการเกษตรหลายชนิดจะลดลง

ท็อบ ดูผลของก๊าซเรือนกระจกกับจำนวนโปรตีนในข้าวบาร์เลย์ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ถั่วเหลืองและมันฝรั่ง พบว่า เมื่อก๊าซเรือนกระจกสูง โปรตีนในมันฝรั่งลดลงเกือบ 14% โปรตีนในข้าวสาลีและข้าวเจ้าลดลงเกือบ 10% โปรตีนจากถั่วเหลืองลดลงน้อยที่สุดคือ 1.4%

ถ้าโปรตีนลดมากๆ อย่างนี้ ประเทศยากจนที่พึ่งพาการบริโภคโปรตีนจากพืชต้องแย่แน่ๆ

ท็อบอธิบายว่า พืชสะสมก๊าซคาร์บอนในเนื้อเยื่อ ยิ่งสะสมมากเท่าใดก็จะลดประมาณการสะสมของสารอื่น เช่น ไนโตรเจน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีน

และแม้ว่าเกษตรกรจะแก้เกม ด้วยการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนไปเยอะๆ แต่วิธีนี้ก่อให้เกิดปัญหาแน่นอน เพราะปุ๋ยจะไหลเข้าไปในแหล่งน้ำ ทำให้น้ำปนเปื้อน

ทางที่ดีก็คือ นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามปรับปรุงสายพันธุ์พืช ให้สะสมโปรตีนมากๆ แม้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในบรรยากาศมาก

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6269 ข่าวสดรายวัน

หมายเลขบันทึก: 162943เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2008 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท