Online learning: more cheering, less conversation เรียนออนไลน์ อย่าชมกันมากนัก


เพื่อนผมส่งบทความของคุณ Susan Lowes มาให้อ่านก่อนปิดเทอมปลายปีที่แล้วครับ บทความนี้วิเคราะห์บทสนทนาในชั้นเรียนออนไลน์โดยใช้สี่เทคนิควิธี คือดูจาก
(1) จำนวนการเข้าชมหน้าต่างๆ ของชั้นเรียนออนไลน์  พบว่าโดยรวมผู้เรียนเข้าใช้บอร์ดสนทนามากที่สุด เมื่อเทียบกับการเข้าดูหน้าอื่นๆ เช่นเนื้อหาบทเรียน หรือหน้าประกาศ
(2) วิเคราะห์จากโครงสร้างเครือข่ายการใช้งาน (network analysis) ร่วมกับโปรแกรม NETDRAW พบว่าในชั้นเรียนออนไลน์วิชาเดียวกันซึ่งน่าจะมีโครงสร้างการสนทนาที่คล้ายกัน กลับมีความต่างกันอย่างมาก คือบางชั้นการสนทนาของผู้เรียนด้วยกันมีมาก บางชั้นมีผู้สอนเป็นศูนย์กลางการสนทนา
(3) วิเคราะห์เนื้อหาร่วมกับมิติด้านเวลา โดยแบ่งเนื้อหาเป็นสามประเภท คือ a. เห็นด้วย สนับสนุน  b. ให้ข้อมูลใหม่ c. โต้แย้ง ท้าทาย เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาในบอร์ดสนทนาพบว่า บอร์ดไหนมีบทสนทนาแบบสนับสนุน เห็นด้วย ชื่นชม กันมาก บอร์ดนั้นจบเร็วครับ คือไม่ไปไหน คนหนึ่งมาโพสต์ อีกคนชม เป็นอันจบ ในขณะที่บอร์ดที่มีคนมาโพสต์ อีกคนมาให้ข้อมูลใหม่ อีกคนมาแย้ง มันมีเนื้อหามากกว่า คือสนทนากันได้ยาวกว่า
(4) วิเคราะห์เนื้อหาแบบ sequential analysis ซึ่งเป็นการต่อยอดจากวิธีที่สาม ก็พบว่าความน่าจะเป็นในการได้รับคำตอบของการโพสต์ (response probability rates) ของการโพสต์แบบชื่นชมกันนั้นมีน้อยที่สุดครับ

ผมว่าน่าสนใจดี เพราะจากประสบการณ์ของผม มีทั้งเหมือนและต่าง ใน gotoknow เวลามีใครโพสต์อะไรดีๆ มีคนเข้ามาชื่นชม มีคนเข้ามาเชียร์กันเยอะ ในขณะที่ผมเขียนบล็อกในมุมมองที่เชียร์ยาก มันไม่ค่อยจะมีใครมาตอบ หรือถ้ามีคนมาตอบ (แบบไม่เห็นด้วย) ก็ไม่ค่อยจะเปิดเผยตัว

ตรงนี้ผมนึกถึงเรื่องที่เพิ่งคุยกับเพื่อนเมื่อไม่นานนี้ เขาลงเรียนออนไลน์แล้วก็มาเล่าให้ผมฟังว่าสองอาทิตย์แรกที่เขาเรียน ต้องมีการโพสต์กระทู้ในชั้นเรียน ซึ่งแต่ละคนต้องตั้งหนึ่งกระทู้และตอบสองกระทู้ (one post/two reply) อันนี้ถือเป็น pattern ปกติของหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเลยครับ เขารู้สึกว่ามีแต่คนพูดกันดีๆ เห็นด้วยกัน เขารู้สึกสงสัยว่ามีใครไม่เห็นด้วยกันกับคนอื่นในบอร์ดหรือเปล่า เขาก็ลองค้นหาคำว่า “disagree” “not agree” ก็ไม่ค่อยพบ แต่พอค้นด้วยคำว่า “agree” แล้วเจอเยอะมาก แม้จะเป็นการค้นคำแบบง่ายๆ แต่เขาสรุปว่าน่าจะเป็นเพราะ (1) ชั้นเรียนออนไลน์ทุกคนต้องเปิดเผยตัวตน แสดงชื่อ นามสกุลจริง (2) ถ้าไม่โพสต์อะไรเสียเลย ก็ไม่มีใครรู้ว่าไม่เห็นด้วย ต่างกับการสัมมนาในชั้น ถ้าเงียบ หรือแสดงสีหน้า ก็จะรู้ว่าเออ เราไม่เห็นด้วยนะ เออ เราลำบากใจจะแสดงความเห็น แต่พอเป็นการเรียนออนไลน์ แต่ละคนก็มีโอกาสเลือกอ่านกระทู้ไปจนกว่าจะเจอกระทู้ที่ตัวรู้สึกว่าตอบแบบเห็นด้วยได้ ถึงตอบ อันไหนไม่เห็นด้วยก็ข้ามไป

ผมว่ามีสองปัจจัยสำคัญจากเรื่องนี้คือตัวตนและทัศนคติ ซึ่งสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ปัจจัยที่หนึ่งคือ “ตัวตน” ของผู้ร่วมบทสนทนา ในขณะที่การเปิดเผยตัวในโลกออนไลน์ เพิ่มความระมัดระวัง และเพิ่มระยะเวลาในการเตรียมตัวคิดคำตอบได้ (เป็นข้อดี) การไม่เปิดเผยตัวกลับทำให้สามารถโต้แย้ง และแสดงออกในแบบที่ไม่สามารถทำได้ต่อหน้า คือจะด่าว่าอะไร ใช้คำแรงๆ ยังไง ก็ไม่กลัว เพราะไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน (อันนี้เป็นข้อเสีย)

อีกปัจจัยหนึ่งที่ผมว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ “ทัศนคติ” ของชุมชนนั้นๆ หลายๆ ครั้งที่ผมเห็นการปะทะทางความคิดใน gotoknow นั้น ผมพบว่าเราเปิดเผยตัวและคุยกันเปิดอก ชอบหรือไม่ชอบ ก็พูดกันตรงๆ ในขณะที่ประสบการณ์ของผมกับบอร์ดอื่นๆ ในบ้านเรานั้น ไม่ใช่อย่างนี้ เวลาใครแย้งอะไรก็มักจะโดนโจมตีแบบรุนแรง ใช้คำไม่สุภาพ และที่สำคัญ ไม่ค่อยจะเปิดเผยตัวตนกัน

ผมคิดเอาเองว่าวัตถุประสงค์ของ gotoknow ที่ชัดเจนว่ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้คนที่เข้ามามีทัศนคติในทางบวก ในขณะที่บอร์ดอื่นๆ ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดแจ้ง ส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล คนก็เลยไม่มีทัศนคติติดตัวเข้ามา เลยไม่พยายามจะประพฤติตัวดีกันเท่าไหร่

สรุปก็คือ ยิ่งมีการเปิดเผยตัวตนมากเท่าไหร่ เราก็(น่า)จะเห็นการสนทนาเป็นไปในทางบวกมากเท่านั้น คำว่า “บวก” นี้ผมหมายถึง มีการเชียร์กัน หรือถ้ามีการโต้แย้ง ก็แย้งกันด้วยท่าทีที่ดี ไม่ด่าทอกัน

ใครคิดเห็นอย่างไร มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

อ้างอิง
Susan Lowes, Peiyi Lin, Yan Wang (Winter 2007). Studying the Effectiveness of the Discussion Forum in Online Professional Development Courses. Journal of Interactive Online Learning. Volume 6, Number 3

หมายเลขบันทึก: 162689เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2008 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่    มีการใช้กันแพร่หลายในหมู่วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ขณะนี้คือ บล็อก (Blog)

เราสามารถเข้ามาตั้งกระทู้ และออกความเห็นในประเด็นต่างๆได้

บางทีเห็นด้วย ชม เชียร์ หรือ ออกความเห็น และอภิปรายในประเด็นต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง

ที่โกทูโน นี้ มีความเป็นผู้ใหญ่และมีความสุภาพ มากกว่าที่อื่นค่ะ

สังเกตดูว่า ถ้าไม่เห็นด้วยจะผ่านไป เห็นด้วยจะเข้ามาสนับสนุนบ้าง ถ้าเรื่องนั้น อยู่ในความสนใจ

การที่เรารู้จักกันหมด ทำให้มีความระมัดระวังกันมากขึ้น ในทุกๆด้าน ซึ่งก็ดีนะคะ

พี่เองก็ระวัง เช่นกันค่ะ บางทีออกความเห็นอะไร โพสไปแล้ว ก้ คิดว่า ไม่น่าเลยก็มี เพราะมาอ่านดูตอนหลัง เกรงจะมีการเข้าใจผิดกัน ซึ่งไม่น่าจะดี  เพราะเราไม่ได้เห็นกันตัวเป็นๆ จะวิ่งไปแก้ตัวอะไรก็ยากแล้ว

ส่วนตัวก็คิดว่า วัฒนธรรมความเกรงใจนี้ ยังดีอยู่มาก ในเรื่องของการเขียนในบล็อกค่ะ

สวัสดีครับคุณพี่ศศินันท์

เห็นด้วยครับ ว่าที่โกทูโนมีความเป็นผู้ใหญ่ (thai professional blog) ถึงจะมีคนมากมายหลายวัย แต่ด้วยท่าทีของคนส่วนใหญ่จะระมัดระวังกัน ผมเข้าใจว่าอารมณ์แบบวัยรุ่นใจร้อนก็เลยลดน้อยถอยลงไป

การโพสต์ตอบบล็อก สำหรับผมเองก็จะมีจังหวะสุดท้ายก่อนจะกดบันทึก ส่งข้อความไป บางครั้งต้องกลับมาทวนอีกหนเหมือนกันครับ เพราะเป็นอย่างที่คุณพี่พูดจริงๆ ว่ามันบันทึกแล้วก็บันทึกเลย จะมาแก้นั้นไม่ได้แล้ว

เรื่องความเกรงใจนี้ถือเป็นข้อเด่นของบ้านเราเลยครับ ผมใช้คำว่าเด่น เพราะรู้สึกว่าความเด่นนี้บางครั้งก็ดี บางครั้งก็ไม่ดี บางครั้งการสงวนท่าทีนั้นเป็นผลดี แต่บางครั้งส่งผลเสีย เวลาเราเป็นเด็ก ไม่ได้ออกความคิดเห็น ต้องฟังผู้ใหญ่ตลอด ทำให้เราแสดงความคิดเห็นกันไม่ค่อยจะเก่ง นานๆ เข้าก็รอโอกาสที่ตัวจะเป็นผู้ใหญ่ จะได้ไม่ต้องฟังความคิดเห็น

ถ้าผู้ใหญ่ฟังเด็ก และใช้เหตุผลในการสนทนากัน ก็น่าจะช่วยให้ลดข้อเด่นในเรื่องความเกรงใจ และเพิ่มข้อไม่เด่น เรื่องที่เราแสดงความคิดเห็นแบบอ่อนน้อมกันได้ดีขึ้น

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

สวัสดีค่ะ

คิดว่าเข้าใจที่คุณพูดค่ะ

เกรงใจ ในเรื่อง ไม่ควรจะทำร้ายจิตใจใคร ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเกรงใจกัน จนไม่กล้าออกความเห้นอะไรเลย

ก็ไม่น่าจะดีนักค่ะ

ที่คุณเข้าไปให้ความเห็นในบันทึกพี่ๆชอบมากนะคะ ขอบอก เลยตามมาอ่านเพิ่มที่นี่ค่ะ

 

 

  • ผมคิดว่า สิ่งที่ได้จากโกทูโนว์คือการทบทวนตัวเองนะครับ คือการเขียนทำให้ความคิดของผู้เขียนรัดกุม เป็นระบบ เป็นการแปรความคิดให้มีพลัง อันนี้เป็นสิ่งแรกที่ผู้เขียนได้  

 

  • ต่อมา ก็อาจจะทำให้ตัวเอง มองเห็นว่าสิ่งที่ทำก็ดี ตัวตนของผู้เขียนก็ดี มีที่ทางอย่างไรในสังคม คือเป็นการหยั่งเสียงแบบหนึ่งได้เหมือนกัน เป็นกระจกสะท้อนมาถึงตัวผู้เขียนเองเหมือนกันนะครับ

 

  • ผมเคยคาดหวังเรื่องการแลกเปลี่ยนกับผู้ใช้งานโกทูโนว แต่พบว่า มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไหนๆที่คุณแว้บเขียนมาก็แพลมๆออกมาแล้ว ถ้าเขียนออกมาให้ชัดๆอีกนิดก็เยี่ยม (ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโกทูโนวสักเท่าไร แต่ผมเสนอว่า น่าจะมีการคุยเพื่อทำให้มันดีขึ้นอีกนะครับ เป็นแบบ ติเพื่อก่อ)

 

  • ถ้าจะให้คะแนนในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมคิดว่า โกทูโนว ยังไม่ชัดนะครับ เพราะผมพบว่า มีนักจัดกระบวนการเรียนรู้มือฉมังหลายคน ก็ยังไม่สนใจโกทูโนวสักเท่าไร ก็น่าแปลกใจเหมือนกัน ว่าทำไม ก็น่าค้นหาอยู่

 

  • แต่ถ้าจะให้คะแนนในประเด็นการเรียนรู้ตัวเองแล้ว ผมว่าอันนี้มีตัวแปรน้อย ค่อนข้างเฟิร์มกว่า และสำคัญไม่น้อยไปกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นนะครับ

 

 

สวัสดีครับ พี่วิสุทธิ์

ผมเข้าใจเหมือนที่พี่ว่า การเขียนคือการทบทวน และเพิ่มความรัดกุมให้ความคิดของผู้เขียนเอง เพราะทักษะการเขียนนั้นต่างจากทักษะการพูด อันนี้ผมเปรียบเทียบการพูดในชีวิตประจำวัน กับการเขียนให้รู้เรื่องนะครับ ไม่ได้หมายถึงนักพูดเก่งๆ การที่เรามานั่งเขียน นั่งขัดเกลาความคิดตัวเอง ก็เป็นประโยชน์หนึ่ง และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ตรงนี้โกทูโนวก็เป็นสถานที่เผยแพร่ที่ดี เพราะน่าจะเป็น Professional Blog แห่งเดียวในเมืองไทยหรือเปล่า? ผมไม่แน่ใจ แต่เห็นว่า Blog ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบวัยรุ่นเสียมาก ผมเคยเป็นสมาชิก Bloggang อยู่พักหนึ่งก็ต้องย้ายมาที่นี่

ผมไม่แน่ใจว่า "ข้อจำกัด" ที่พี่พูดถึงนั้นหมายถึงข้อจำกัดทั่วๆ ไปของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต หรือข้อจำกัดในแง่ข้อตกลงของชุมชน ถ้าเป็นประเด็นแรกก็พอจะคุยต่อได้ครับ เพราะผมเองเชื่อในโอกาสที่เปิดกว้างของอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่คิดว่ามันจะทดแทนการพบพูดคุยกันจริงๆ ได้ทุกอย่าง

ส่วนถ้าเป็นในแง่ของการตกลงของชุมชนนั้น ผมรู้สึกว่าบรรยากาศที่นี่ก็ดีแล้ว เพราะผมคิดว่า "ท่าที" และ "เจตนา" สำคัญมากๆ สำหรับการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด เรามีท่าทีและเจตนาที่ดีที่นี่ ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีนะครับ

ไม่แน่ใจว่าผมพูดตรงประเด็นหรือเปล่า

คิดเห็นอย่างไร แลกเปลี่ยนได้เลยครับ

ข้อจำกัด อาจจะแบ่งหยาบๆได้สองเรื่องนะครับ

  • หนึ่งคือเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี

- โกทูโนว รวมทั้งเครือข่ายออนไลน์ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีที่สูงขึ้นๆ ราคาค่างวด รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ ค่าอำนวยการกว่าจะเข้าถึงมัน คิดดูดีๆแล้วก็ไม่ได้ถูกลงแต่อย่างใด ถ้าผมไม่ได้เข้ามาใช้โกทูโนวสามเดือน ก็เป็นที่รู้กันได้เลยครับว่าสามเดือนนั้นกระเป๋าแบน

  • สอง คือเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม

- โลกออนไลน์ เป็น "ชุมชนเสมือนจริง" ที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นชุมชนจริงๆก็ย่อมได้ แต่ต้องใช้เวลานานเป็นสิบปีนะครับ หากเราเทียบกับชุมชนท้องถิ่นที่ตั้งกันมา บางที่ก็นับร้อยปีที่คนมีความผูกพันกันหลายชั่วอายุคน แน่นอนครับ มันไม่แฟร์ที่เราจะเอาสองสังคมนี่มาเทียบกัน เพราะที่มาที่ไปของการเกิดของชุมชนมันต่างกันมหาศาล ทั้งในแง่เหตุผลและมิติเวลา อย่างไรก็ตาม ผมเห็นความสำคัญของโกทูโนว ในฐานะที่มันเป็นเครือข่ายของชนชั้นกลางที่มีอำนาจทางความรู้ (หากความรู้คืออำนาจ) อันนี้เป็นเรื่องข้อจำกัดทางเวลาในการสร้างความสัมพันธ์ให้มากพอที่จะตั้งเป็น "ชุมชน" เข้มแข็งนะครับ บางคนก็แก้ปัญหาโดยการ หาเวลาไปเจอกันนอกรอบ อันนี้ใครมีเงิน มีเวลาก็ทำได้ แต่ถ้าเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ก็คงลำบาก แต่ถ้าทำได้ก็ดีนะครับ

 

- ผมอยากจะเรียกโกทูโนวว่าเป็น "กลุ่มสุภาพชนออนไลน์" แต่บ่อยครั้ง ที่ความสุภาพก็เอาชนะใจคนไม่ได้ เท่าความดิบๆที่จริงใจ  อันนี้แต่ละคน อาจจะชอบแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าจะให้ดี ผมคิดว่า มันต้องมีบรรยากาศของฝูงชนที่หลากหลายด้วยครับ ทั้งนุ่ม ทั้งแข็ง แต่ไม่ถึงต้องรุนแรงกันนะครับ

 

- ความหลากหลาย ในโกทูโนว น่าจะได้คุยกับ "ตัวจริง เสียงจริง" ของคนหลายระดับ โดยเฉพาะ คนป่วยโรคร้ายแรงต่างๆ , เสียงจากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทางสังคม, คนพิการ , เขาเหล่านี้น่าจะมีโอกาสในการเข้าถึงโกทูโนวไม่น้อยกว่าพวกเรา เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเราเองก็ต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย

 

  • ทั้งหมดก็เป็นข้อจำกัด ที่สามารถกำจัดได้ อย่างไรก็ตาม อีกด้านของข้อจำกัดก็อาจจะเป็นโอกาสได้เช่นกันครับ

 

ขอบคุณพี่วิสุทธิ์ที่ขยายความนะครับ
เรื่องแรก - การเข้าถึงเทคโนโลยีนี่ ผมเห็นด้วยมากๆ เลยครับ เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับความพร้อมของผู้ใช้ด้วยครับ อย่างที่พี่บอกว่าพี่กระเป๋าแบนนั้น บอกเป็นนัยว่าตัวพี่นั้นพร้อมในด้านทักษะและความเข้าใจในเทคโนโลยี รวมไปถึงมุมมองและแนวคิดที่มีอยู่ และพร้อมจะแลกเปลี่ยน แต่กระเป๋าไม่พร้อม ก็เลยต้องเว้นไปบ้าง ผมถึงไม่เข้าใจว่าทำไมนักวิชาการบ้านเราหลายๆ ท่านถึงได้ออกมาสนับสนุนโครงการคอมพิวเตอร์ต่างๆ เหมือนว่าถ้าไม่ได้โครงการเหล่านี้แล้ว ประเทศจะล้าหลัง ชาติจะล่มจม ทั้งๆ ที่ในกรุงเทพเอง พยายามจะให้เกิดการเรียนออนไลน์ก็ลำบากยากแสนเข็ญ เพราะผู้สอนไม่พร้อม เรื่องนี้ผมต้องขึ้นบล็อกใหม่เพื่อพูดแบบยาว ๆ อีกทีครับ
เรื่องที่สอง - พี่พูดถึงความสัมพันธ์ชุมชนเสมือนจริง ผมนึกถึงบทความ ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในมติชนสุดฯ เกี่ยวกับ จส 100 ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนเสมือนจริงเช่นกัน คือก่อตัวจากคลื่นวิทยุ แล้วค่อยๆ ขยายความเสมือน ให้กลายเป็นจริงได้ แต่แน่นอนครับ ทุกชุมชนมีคนดีคนไม่ดี เราเห็นตัวอย่างมากมายใน จส 100 แต่ก็นับว่าเป็นช่องวิทยุที่คนเมืองมักหมุนไปเวลารถติด ผมคิดว่าไม่ว่าจะคลื่นวิทยุ และอินเตอร์เน็ตนั้น ล้วนเปิดโอกาส ซึ่งอาจไม่เคยมีให้เกิดขึ้น แต่ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังโหยหา (ใช้คำนี้เกินไปไหมเนี่ย) ความจริง ตัวจริงที่สัมผัสได้ อย่างถ้าผมกลับเมืองไทย สักวันต้องหาโอกาสขึ้นเหนือไปเยี่ยมพี่ให้ได้ อยากจะไปดูพระธาตุดอยกองมูลอยค้างบนทะเลหมอกอีกสักหนในชีวิต
เรื่องการให้มีการแลกเปลี่ยนในตัวจริงเสียงจริงของคนหลายระดับ (ไอเดียนี้โดนจริงๆ ครับ) อันนี้ผมต้องขอโยงเข้ากับข้อแรกและข้อสองนะครับ คือความพร้อมในการเข้าถึงเทคโนโลยี และความพร้อมด้านจิตใจซึ่งผมว่าสำคัญมาก ผมเห็นบันทึกของคุณดอกแก้ว เป็นแบบอย่างที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึก และเพิ่มความเข้าใจให้กับคนอ่านได้ดีมาก
สุดท้ายที่พี่กล่าวถึงโกทูโนวว่าเป็น "สุภาพชนออนไลน์" นั้นตรงทีเดียวครับ มีหลายๆ ครั้งที่มีการปะลองความคิดกัน แต่ก็ไม่ค่อยจะพูดกันแบบไม่รับฟังความเห็น หรือด่ากันหยาบคาย ผมว่าตรงนี้เป็นจุดเริ่มที่ดีมากเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท