ขบวนรถไฟสายนี้ ชื่อ “แรงงานข้ามชาติ”


ผมคิดในใจกับตัวเองว่า หากสักวันผมต้องนั่งรถไฟสายนี้ในฐานะของผู้โดยสาร ผมขอให้ตัวเองมีที่นั่งที่ดี ๆ มีเงินค่าโดยสารให้ถึงปลายทาง เจอนายตรวจใจดียิ้มแย้มแจ่มใส เจอคนขายข้าวใจดีไม่รังเกียจและไม่โกงผม ผมเชื่อว่าผู้โดยสารรถไฟสายนี้ทุกคนก็คงคิดคล้าย ๆ กับผมเหมือนกัน

ขบวนรถไฟสายนี้ ชื่อ “แรงงานข้ามชาติ”

สายธาร สาละวิน-ผู้อยากนั่งรถไฟชั้นหนึ่ง

          เมื่อไม่กี่วัน ก่อนที่ผมจะลงมือเขียนเรื่องนี้ ผมได้รับ E-mail จากเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่ต้องระเหเร่ร่อนพาตัวเองไปแสวงหาความรู้ ณ แดนไกล รัฐฮาวาย ประเทศอเมริกาโน่น ขณะเดียวกันก็มี Message ถูกส่งมาตามโทรศัพท์มือถือของผมจากบ..หนังสือเล่มนี้จากเชียงใหม่ถึงผมที่กรุงเทพฯ เพื่อทวงต้นฉบับที่รับปากเอาไว้นานมาแล้ว และไม่มีวี่แววจะเป็นรูปเป็นร่างเสียที 
สิ่งที่ผมนึกขึ้นมาจากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ ผมตกอยู่ในกระแสของการสื่อสารที่รวดเร็วอย่างไม่รู้ตัวและถอนตัวไม่ขึ้นอีกคนแล้วหรือนี่ หากเป็นเมื่อก่อนคงยากที่ผมจะได้รับข่าวคราวจากเมืองไกลถึงฮาวาย โปสการ์ดสักแผ่นกว่าจะถึงผมก็คงปาไปเกือบเดือน หรือแม้แต่ท่านบ..จะตามทวงต้นฉบับผมจากเชียงใหม่ทีคงต้องหอบสังขารอันเริ่มร่วงโรยของท่านไปส่งโทรเลข และใช้เวลาอีกเป็นวันที่ผมจะได้รับข้อความนั้น หรือใช้โทรศัพท์ทางไกล ที่อาจได้พูดคุยกันไม่กี่คำ ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าโทรศัพท์ค่าข้าวมื้อหนึ่งเสียอีก ถ้าผมไม่อยู่ก็เป็นอันอดคุยหรือส่งข้อความให้ได้  ความทันสมัยของเทคโนโลยีโทรคมนาคมทำให้เรารู้สึกเหมือนใกล้กันมากขึ้น
          ขณะเดียวกันก็มีอีกเรื่องก็แวบขึ้นมา ที่จริงแล้วเราสามคน (ซึ่งหมายถึง ผม เพื่อนรุ่นน้องคนนั้น และท่าน บ.. ) เราสามคนต่างเกี่ยวพันกับเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นจนดูปกติสำหรับโลกและสังคมไทย และเปลี่ยแปลงอย่างรวดเร็วตามกระแสของการสื่อสารคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วขึ้น นั่นคือเรื่อง  “แรงงานข้ามชาติ” (เอาเถอะครับหลายคนจะเรียกว่าต่างด้าว หรืออะไรก็ตามแต่ ผมขอเรียกตามถนัดแบบนี้แล้วกันนะครับ) โดยที่เราต่างทำหน้าที่ในจุดที่ต้องกลายเป็นผู้สังเกตการณ์และเกี่ยวพันกับประเด็นดังกล่าวโดยหน้าที่การงานของแต่ละคน ที่สำคัญเนื้อหาทางอีเมล์ที่เพื่อนรุ่นน้องคนนี้ส่งให้ผมก็ยังไม่วายจะหนีพ้นเรื่องนี้ เพราะเขาต้องไปเรียนโดยหาเงินเรียนเองระดับหนึ่ง ดังนั้นเขาจึงต้องหางานทำขณะเรียนไปด้วย การมีสถานะเป็นนักศึกษาของเขานั้นทำให้การทำงานของเขาเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนักตามกฎหมายประกอบกับวีซ่าของเขาก็เพิ่งหมดอายุ และต้องรีบหาเงินมาต่ออายุ เขาจึงต้องทำงานไปหลบตำรวจไป จนเขาต้องบ่นผ่านข่ายใยอีเล็คทอร์นิคว่า ตัวเขาในตอนนี้ช่างเหมือนกับแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในประเทศไทย และเข้าใจความรู้สึกของคนเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น
          จากการที่ต้องนั่งมอง วิ่งไล่ตาม หรือกระโดดลงไปพัวพันกับเรื่องแรงงานข้ามชาติ ผมจินตนาการภาพของตนเองที่มองเข้าไปในขบวนรถไฟสาย “แรงงานข้ามชาติและการย้ายถิ่นข้ามชาติ” ของบริษัทโลกาภิวัฒน์จำกัด (มหาชน) ผมเห็นผู้คนมากมายเดินขึ้นเดินลง นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บนรถไฟขบวนนี้ รับรู้ความสุขทุกข์ ร้อนหนาวของพวกเขาเหล่านั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เห็นทั้งแต่ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง (ตู้นอนแอร์) ไปจนถึงชั้นสาม ที่นั่งไม้หรือเบาะแข็งโป๊ก จะนอนแต่ละทีก็ลำบากเหลือแสน และยังแออัดยัดเยียดอีกต่างหาก (ขอให้นึกถึงรถไฟตอนช่วงสงกรานต์ หรือปีใหม่ของบ้านเราประกอบ) แต่อย่างไรก็ดีทุกคนต่างมีเป้าหมายที่ตัวเองอยากจะไปให้ถึง และมีเหตุผลของตนเองที่ต้องกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนี้กันทุกคน ซึ่งหลายคนก็แอบหวังว่า สถานีปลายทางน่าจะดีกว่าสถานีที่เขาจากมาที่ต้นทาง แต่นั่นแหละครับใช่ว่าทุกคนจะสมหวังหมด หลายคนอาจจะไปไม่ถึงปลายทาง เพราะต้องหนีความแออัดยัดเยียดขึ้นไปบนหลังคา หรือนั่งตรงบันไดทำให้พลัดตกลงไป หลายคนถูกนายตรวจ “รัฐชาติ” จับได้ว่าไม่มีตั๋ว และไล่ลงข้างทางไปก็มาก(อันที่จริงผมก็แอบเห็นชั้นหนึ่งบางคนตีตั๋วไปแค่ครึ่งทางแต่นั่งไปสุดสายก็เยอะแยะนะครับ แต่นายตรวจก็ไม่ค่อยเจอ แปลกดี) หลายคนแอบหนีไปหลบในห้องน้ำ หรือที่อื่นเมื่อนายตรวจเดินมา ก็รอดบ้างไม่รอดบ้าง แต่เชื่อไหมครับว่า คนที่นั่งชั้นสามสร้างรายได้ให้เครือญาตินายตรวจที่เป็นคนขายข้าว ขายขนม ขายน้ำดื่ม ที่เดินขายไปมาตามตู้รถไฟมากที่สุด เพราะจะว่าไปแล้วผู้โดยสารชั้นหนึ่งเขานิยมไปกินตู้เสบียงของบริษัทรถไฟกันทั้งนั้นแหละครับ ส่วนคนที่ทำให้นายตรวจและญาติพี่น้องทั้งหลายมีกินมีใช้ มีเสื้อผ้าสวย ๆ ใส่มีทองเส้นโต ๆ ใส่ หรือมีเงินให้ลูกได้เรียนหนังสือก็ได้มาจากคนที่นั่งชั้นสามทั้งนั้น แต่ดูเหมือนว่าเขาก็ไม่ชอบผู้โดยสารชั้นสามนี้เอาเสียเลย บางครั้งก็บ่นว่า พวกนี้สกปรกไม่ได้อาบน้ำ กินข้าวหกเลอเทอะ ชอบต่อรองค่าข้าวเมื่อเห็นว่าไม่สมราคา บางคนก็หน้าตาน่ากลัว หรือบางทีก็รู้สึกว่าผู้โดยสารชั้นสามเหล่านี้ เป็นพวกนักเลง เด็กเหลือขอ พวกขอทานไปเสียแทบทุกคน นอกจากนั้นแล้วพ่อค้าหลายคนที่มีมักจะหลอกขายข้าวของที่ทิ้งไว้นานจนเริ่มเสียเพื่อลดรายจ่ายของตนเอง เมื่อผู้โดยสารโวยวายพวกเขาก็จะไปฟ้องนายตรวจ หลายครั้งที่เขามักจะยุยงให้นายตรวจไล่คนเหล่านี้ลงจากขบวนเสียดื้อ ๆ
          ผู้โดยสารหลายคนเล่าให้ผมฟังว่า ตัวเขาโดยสารรถไฟสายนี้มาหลายครั้งแล้ว จริงแล้วชีวิตบนรถไฟ กับชีวิตเมื่อถึงสถานีปลายทางก็มีสภาพไม่ต่างกัน  หลายคนพบว่าเมื่อถึงปลายทางแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขานั่งฝันนอนฝันมาตลอดการเดินทางเลย ส่วนคนที่แอบขึ้นรถไฟส่วนใหญ่ก็มักจะบ่นว่าตอนที่จะขึ้นรถไฟพวกเขาเตรียมเงินซื้อค่าตั๋วมาแล้วทั้งนั้น แต่พอถึงสถานีรถไฟ ก็โดนโจรจี้บ้าง โดนล้วงกระเป๋าบ้าง โดนนักเลงขู่กรรโชกเอาเงินบ้าง เหลือนิดหน่อยก็เป็นค่าข้าวที่พอจะเลี้ยงชีวิต แต่ก็หวังว่าสถานีปลายทางจะมีงานมีเงินที่เขาจะหาเลี้ยงชีวิตและเป็นค่าโดยสารขากลับได้บ้างเท่านั้นเอง ที่สำคัญเขาไม่เคยเห็นทางบริษัทจะจัดการอะไรกับพวกโจร พวกนักเลงที่สถานีต้นทางเสียที
          วันนี้รุ่นน้องผมคนนี้เขาก็กระโดดขึ้นรถไฟ เพียงตอนขึ้นเขาขึ้นชั้นสอง แต่ซื้อตั๋วได้ไม่ถึงปลายทางเท่านั้นแหละครับ เลยจำเป็นต้องหลบนายตรวจนิดหน่อย แค่สถานีสองสถานีก่อนถึงปลายทางเท่านั้นเอง
          ผมคิดในใจกับตัวเองว่า หากสักวันผมต้องนั่งรถไฟสายนี้ในฐานะของผู้โดยสาร ผมขอให้ตัวเองมีที่นั่งที่ดี ๆ มีเงินค่าโดยสารให้ถึงปลายทาง เจอนายตรวจใจดียิ้มแย้มแจ่มใส เจอคนขายข้าวใจดีไม่รังเกียจและไม่โกงผม ผมเชื่อว่าผู้โดยสารรถไฟสายนี้ทุกคนก็คงคิดคล้าย ๆ กับผมเหมือนกัน

“”“”“”

(ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเพื่อนไร้พรมแดน)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16265เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท