องค์กรพยาบาล-ศูนย์8
กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8

ก้าวที่ 2ของKMB องค์กรพยาบาล


   เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้มีค้นหาเวลาที่พอมีอย่างน้อยนิดประชุมกันตอน 11.00 น.เพราะพี่แหม่ม... รองหัวหน้ากลุ่มการพยาบาลฝ่ายวิชาการอยากให้น้องๆทีม KMB รุ่นใหม่ที่ปะปนอยู่กับรุ่นเก่าที่นำมาโฮ๊ะรวมกัน มาคุยแนวทางการเดินหน้างาน KM เพื่อให้งานเดินได้คล่องตัวขึ้น ลดจำนวนลงเหลือแค่ 12 คน     ปีนี้พ.ก้องและทีมงานจะเน้นการลงฝึกทักษะการเป็น note taker,FA โดยพากันไปเรียนรู้ที่เขาใหญ่ 3 วัน 2 คืน และกำหนดการบ้านให้คือ

  • เมื่อแต่ละคนกลับมาควรจะได้ KM คนละ 1 เรื่อง โดยรวบรวมหาสมาชิกที่สนใจในเรื่องเดียวกัน...เราเลยตกลงกันว่าเราจะทำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพในโครงการไร้พุง เพราะเรามีแกนนำอยู่แล้ว และเราทำกันอยู่เป็นประจำ มีหลายคนที่เห็นความสำเร็จชัดเจน
  • และอีกการบ้าน คือในกลุ่ม 12 คนให้รวมกลุ่มกัน ไม่เกินกลุ่มละ 5 คน ทำ KM 1เรื่อง/กลุ่ม ในกลุ่มการพยาบาลเราก็จะได้เป็น 3กลุ่มๆละ 4 คน ก็พอดีกับกิจกรรมพัฒนาคุณภาพบริการเดิมของเราที่มีอยู่ 3 ราก...รากพัฒนาพฤติกรรมบริการ,รากพัฒนาระบบบริการและรากพัฒนาสิ่งแวดล้อม

" สรุปปีนี้เป้าหมายต่ำสุดของเราในกิจกรรมKM คือ 15 เรื่อง"

     แต่พอกลุ่มเราทำ AAR แบบเปิดใจแล้วพบว่าอดีตเรายังไม่เข้าใจ KMอย่างลึกซึ้งมากนัก ทั้งๆที่พอคุยกัน เราก็ทำกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งในกิจกรรมทบทวนของ HA  ทั้งการประชุมตึก การส่งเวร การพูดคุยกันเฮฮาฯลฯ  แต่เราส่วนหนึ่งยังมอง KM เป็นการเพิ่มภาระงาน และนอกจากนี้เรายังขาดทักษะการเป็น  note taker,FA ที่ดี ก็ได้นำ power point ของดร.ประพนธ์ที่เผยแพร่ไว้ใน gotoknow ไปทบทวนและเล่าให้สมาชิกรุ่นใหม่ฟังว่า ..KM คืออะไร? ทำทำไม? ทำอย่างไร? ...จนถึงการกำหนด KV, KS, KA...แล้วรอไปตักตวงทักษะ 18-20 กพ.นี้จากคุณหมอก้องคะ

         ในวันนี้เราได้สรุปกันเรื่อง KM ว่า

  • KM คือการพูดคุยในเรื่องเดียวกัน เรื่องที่สนใจเหมือนกัน แต่อาจมีประสบการณ์แตกต่างกัน
  • KM คือ การนำประสบการณ์ดีๆที่แตกต่างกัน มาเล่าสู่กันฟัง ทั้งจากตำรา ทั้งจากการพบเห็น หรือเจอด้วยตัวเอง
  • KM คือการพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา เพราะถ้าคุย ถ้าพูดแล้วไม่มีคนฟัง ไม่มีใครสนใจ ต่อไปคนๆนั้นก็จะไม่พูด ไม่บอก
  • KM คือ กิจกรรมที่ลดการเป็นหัวหน้าแบบเผด็จการ เพราะเราต้องฟังทุกคนตั้งแต่แม่บ้าน ผู้รับบริการ จนถึงผู้บริหาร
  • KM คือ กิจกรรมที่จะทำคนเกิดความภาคภูมิใจ เพราะความคิดเห็นเขามีคนฟัง มีคนนำมาใช้
  • KM ไม่จำเป็นต้องมีการประชุมอย่างเป็นรูปแบบ แต่ใช้การพูดคุยตามปกติ เพียงแต่เพิ่มการบันทึกให้มากขึ้น แต่เราก็ไม่ค่อยชอบบันทึกกันเลย..ก็ปรับนิสัยใหม่
  • ต่อไปเราจะนำKA ที่เราได้มาเผยแพร่ให้สมาชิก gotoknow ช่วยเสนอความคิดเห็นกับเราด้วยนะคะ
หมายเลขบันทึก: 161622เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2008 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
ขอบคุณมากเลยค่ะ ที่ช่วยสรุปคำว่า KM ให้เข้าใจง่ายๆ และเห็นภาพที่ไม่ว่าที่ไหนก็จะพบเหตุการณ์นี้เช่นกันค่ะ  โดยเฉพาะเรื่องการบันทึก ทำอย่างไรให้คนอยากเขียน หรือกล้าเขียนคะ หรือคนที่ชอบเขียน ชอบเล่ามีที่มาจากอะไร น่าสนใจค่ะ
  • ลองเอา KM ภาคปฏิบัติ ของ อ.วิจารณ์ มาประกอบ นำเสนอให้กลุ่ม เพื่อศึกษาเพิ่มเติมค่ะ
  • ..... ยังไม่หมดแค่นี้นะคะ KM ภาคปฏิบัติ ของ อ.วิจารณ์ มีแล้ว 484 ข้อละค่ะ
  • KM คือการพูดคุยในเรื่องเดียวกัน เรื่องที่สนใจเหมือนกัน แต่อาจมีประสบการณ์แตกต่างกัน  ... สร้าง (และใช้) ความรู้โดยไม่รู้ตัว
  • KM คือ การนำประสบการณ์ดีๆที่แตกต่างกัน มาเล่าสู่กันฟัง ทั้งจากตำรา ทั้งจากการพบเห็น หรือเจอด้วยตัวเอง ... แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (24 กพ.49)
  • KM คือ การพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา เพราะถ้าคุย ถ้าพูดแล้วไม่มีคนฟัง ไม่มีใครสนใจ ต่อไปคนๆนั้นก็จะไม่พูด ไม่บอก ... เปิดใจ ใจเปิด ... ทำอย่างไรคนจึงจะเปิดใจ ...
  • KM คือ กิจกรรมที่ลดการเป็นหัวหน้าแบบเผด็จการ เพราะเราต้องฟังทุกคนตั้งแต่แม่บ้าน ผู้รับบริการ จนถึงผู้บริหาร ... ผู้บริหาร  (17 กพ.49)
  • KM คือ กิจกรรมที่จะทำคนเกิดความภาคภูมิใจ เพราะความคิดเห็นเขามีคนฟัง มีคนนำมาใช้ ... การฟัง  (6 กพ.49)
  • KM ไม่จำเป็นต้องมีการประชุมอย่างเป็นรูปแบบ แต่ใช้การพูดคุยตามปกติ เพียงแต่เพิ่มการบันทึกให้มากขึ้น แต่เราก็ไม่ค่อยชอบบันทึกกันเลย..ก็ปรับนิสัยใหม่ ... จดบันทึก (7 กพ.49)
  • ค่ะ KM ไม่ลองไม่รู้ค่ะ ไม่ต้องรีรอ "ลองไปเลยค่ะ แล้วก็จะรู้มากขึ้น มากขึ้น" ...
  • ตื่นเต้นมากเลย จะได้เรื่องเล่า KM ของกรมอนามัย มาเผยแพร่จาก G2K จะรออ่านเรื่องราวนะคะ ขอบคุณค่ะ

ขอเก็บข้อมูลตามคำแนะนำคะ

KM (ภาคปฏิบัติ) วันละคำ : 2. จดบันทึก 

วิจารณ์  พานิช

• เป็นหนึ่งใน หัวใจนักปราชญ์  สุ จิ ปุ ลิ    ลิ = ลิขิต
• จดบันทึกสิ่งที่สังเกตเห็น / นับ / วัด จากการปฏิบัติ    จากการ ลปรร.    จากการใคร่ครวญของตนเอง    จากการอ่าน    จากการค้นคว้า    จากการไปดูงาน    จากการไปทำกิจกรรม “เพื่อนช่วยเพื่อน”  จากการทำ AAR  ฯลฯ
• จดบันทึกความรู้สึก  และ จินตนาการของตนเอง
• จดบันทึกความประทับใจ ในเรื่องต่างๆ
• จดบันทึก ความดี ความงาม ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน   และในการทำงาน
• ฝึกทักษะการจดบันทึกในสถานการณ์ที่หลากหลาย    เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างหนึ่ง
• ฝึกทักษะการจดบันทึกโดยใช้เครื่องมือช่วย หลากหลายชนิด : Flip Chart, คอมพิวเตอร์, พีดีเอ, กระดาษ, เครื่องบันทึกเสียง, MindMap,  ตาราง, วาดรูป, ถ่ายภาพ  ฯลฯ
• อย่าเข้าใจผิด ว่าการจดบันทึกหมายถึงการเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือเท่านั้น
• ใช้เทคโนโลยีช่วยอย่างเหมาะสม    อย่าปฏิเสธเทคโนโลยี   อย่าหลงหรือยึดติดเทคโนโลยี    ผมมีเครื่องมือจดบันทึกติดตัวตลอดเวลา ๖ อย่าง คือ  (๑) notebook, (๒) PDA, (๓) เครื่องบันทึกเสียง  (๔) กล้องถ่ายภาพดิจิตอล  (๕) กระดาษ ดินสอ ปากกา  และที่สำคัญที่สุดคือ (๖) ร่างกายที่สดชื่น และจิตใจที่เตรียมดูดซับความรู้อยู่ตลอดเวลา    
• ฝึกทักษะการจดบันทึกในเวลาจำกัด 
• นำบันทึกของตน ออก ลปรร. ผ่านสื่อต่างๆ เช่น บล็อก gotoknow.org 
• นำบันทึก มา ย่อย/สังเคราะห์ ต่อ ด้วยตนเอง ยกระดับความรู้ความเข้าใจ
• นำบันทึกมา AAR ร่วมกับเพื่อนร่วมกระบวนการ/เหตุการณ์    เพื่อให้เห็นภาพที่ครบถ้วนมากขึ้น   เชื่อมโยงมากขึ้น   ลุ่มลึกมากขึ้น
• โครงสร้างของการจดบันทึก 
           1. การเตรียมตัวก่อนการบันทึก : ศึกษาข้อมูล เรื่องราว ของการประชุม/กิจกรรม ที่จะเป็นผู้บันทึก    การเตรียมความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และสมาธิ (เช่นนอนให้เพียงพอ   ทำใจให้เบิกบาน เห็นคุณค่าของกิจกรรมที่ตนจะบันทึก) 
           2. ระหว่างบันทึก : คุณภาพ  ความครบถ้วน  เสร็จในเวลา 
           3. หลังการบันทึก : นำบันทึกออกใช้ประโยชน์   และยกระดับบันทึกให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น

 

 

สวัสดีค่ะ

เข้ามาเก็บความรู้เรื่องของ KM ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 197. สร้าง (และใช้) ความรู้โดยไม่รู้ตัว

        ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน เราสร้างและใช้ความรู้ขึ้นตลอดเวลาโดยมักไม่รู้ตัว      เป็น unconscious knowledge generation และ unconscious knowledge application

        KM ช่วยให้กระบวนการที่ unconscious มีส่วนที่เป็น conscious มากขึ้น     ที่สำคัญ KM ใช้กระบวนการเชิงบวกในการ ลปรร. กระตุ้น unconscious knowledge process ให้กลายเป็น conscious knowledge process     หรือทำให้ความรู้ที่จับต้องไม่ได้ ไม่รู้ตัว กลายเป็นความรู้ที่จับต้องได้     เขียนออกมาได้  จัดหมวดหมู่ได้

        เครื่องมือสำคัญในการทำให้ความรู้ที่ไม่ชัด ชัดเจนขึ้น    ทำให้ความรู้ที่จับต้องไม่ได้ กลายเป็นความรู้ที่จับต้องได้ คือ การเล่าเรื่อง (storytelling)      เรื่องเล่า คือ "หม้อต้มยำความรู้"     ความรู้ปฏิบัติไม่ได้อยู่แยกกันเป็นชิ้นๆ     แต่อยู่รวมกันเป็นเสมือนต้มยำ บางส่วนประกอบของความรู้ปฏิบัติไม่มีวันสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสตามปกติ     เหมือนกรณีที่เราไม่สามารถสัมผัสมะนาวในต้มยำได้จากจักษุสัมผัส และกายสัมผัส     แต่สัมผัสได้จากชิวหาสัมผัส (การลิ้มรส)     ถ้าความรู้อยู่แยกกันเป็นส่วนๆ ก็ใช้การไม่ได้  เหมือนอย่างส่วนประกอบของต้มยำแต่ละอย่างกินไม่ได้     แต่เมื่อเอามาผสมกันและปรุงเป็นต้มยำแล้วกินได้และอร่อย 

        การ "สร้างและใช้" ความรู้ปฏิบัติ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว คือทำตามสถานการณ์ในขณะนั้น ตามใจและทักษะที่มีในขณะนั้น     โดยอาจปรับตามสถานการณ์แบบคิดมากบ้าง คิดน้อยบ้าง หรือแทบไม่คิดเลยบ้าง     ซึ่งเป็น "การทดลองโดยปฏิบัติจริง" และจะมีการกระทำหรือปฏิบัติบางแบบที่ได้ผลดีมากอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน     นำเอาเรื่องราวของความสำเร็จเช่นนั้นแหละมาเล่าเรื่อง และชื่นชมกัน     จะทำให้ความรู้ที่เกิดขึ้นแบบ unconscious กลายเป็น conscious knowledge

        ในกระบวนการ KM ที่ดี กิจกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นแบบที่ไม่มีพิธีรีตอง     ไม่ต้องมีการจัดการประชุมใดๆ ก็ได้      เพราะคนที่ค้นพบวิธีทำงานได้ผลดีอย่างน่าพิศวงจะรู้สึกประหลาดใจ     และอยากหาคำอธิบายว่ามีเหตุผลอะไรจึงเกิดผลดีเช่นนั้น     ก็จะไปเล่าให้เพื่อนฟัง     เพื่อนไม่เชื่อ เอาไปลองทำ     ถ้าได้ผลดีจริงก็กลับมาเล่า และช่วยกันตีความหาเหตุผล     หรืออาจต้องเล่าให้หัวหน้าฟัง เพื่อให้หัวหน้า ซึ่งตามปกติมีความรู้เชิงทฤษฎีมากกว่า ช่วยคิดหาเหตุผล     ซึ่งก็คือช่วยกัน "ถอด" ความรู้นั่นเอง

        ผู้ที่อยู่ในทีม KM ลองสังเกตดูเถิด ว่าเกิดกระบวนการเช่นนี้บ้างหรือไม่     ถ้าเกิด และไม่เป็นความลับของหน่วยงาน     โปรดนำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง

วิจารณ์ พานิช
๒๗ ตค. ๔๙
ระหว่างนั่งรถยนต์ไปชุมพร

• KM แท้ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.)   ไม่ใช่เรียนรู้เฉยๆ  
• คือต้องเป็นการเรียนรู้ ๒ ทาง     เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน
• ไม่มีใครตั้งตัวเป็นผู้ให้ (ความรู้/วิธีการ) อยู่ฝ่ายเดียว    ต้องมุ่งรับ (เรียนรู้) จากฝ่ายผู้มาขอ ลปรร. ด้วย
• ไม่มีใครตั้งตัว หรือมุ่ง เป็นผู้รับ เพียงถ่ายเดียว    ต้องมุ่งให้ แก่ฝ่ายผู้มี best practice ด้วย     อย่างน้อยก็ให้คำถามที่ดี   ที่กระตุ้นให้คิด    กระตุ้นให้มีการนำไปทดลองปฏิบัติต่อ   
• คำถามว่าตนทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ได้ผลน้อย หรือไม่ได้ผล     ขอคำแนะนำว่าที่ไม่ได้ผลเป็นเพราะอะไร    และวิธีการที่อีกฝ่ายหนึ่งใช้ได้ผลดีมากต่างจากวิธีการของตนอย่างไรบ้าง     ถือเป็นการ “ให้” อย่างหนึ่ง
• ใน KM ทุกคน/ทุกฝ่าย ต้องเป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ    ต้องมี mentality / ทักษะ ของทั้งผู้ให้และผู้รับ     เห็นคุณค่าของการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน    เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน  
• กิจกรรมที่มี “ผู้รู้” มาถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้มาเรียนรู้ ไม่ใช่ KM  
• ใน KM ไม่มี “ผู้รู้”   ไม่มี “ผู้ไม่รู้”    แต่มี “ผู้ที่ทั้งรู้และไม่รู้”
• ผู้ขอเรียนรู้จากผู้มี best practice ต้องไม่มาด้วยสมองว่างเปล่า     แต่มาพร้อมกับประสบการณ์การดำเนินการของตน    หรืออย่างน้อย พร้อมกับแผน/วิธีดำเนินการที่ตนคิดไว้    สำหรับนำมาแลกเปลี่ยน
• การแลกเปลี่ยนคำถาม (question)  มีคุณค่าไม่น้อยกว่าแลกเปลี่ยนคำตอบ (solution)
• แม้จะเน้นคำตอบเชิงปฏิบัติ   แต่คำตอบเชิงทฤษฎี ก็มีคุณค่าด้วย
• แม้จะเน้นคำถามเชิงปฏิบัติ   แต่คำถามเชิงทฤษฎี ก็มีคุณค่าด้วย 
• สิ่งที่ “ให้” ไม่ได้มีแค่ ความรู้ แต่การ “ให้” ความชื่นชม / เห็นคุณค่า   ให้กำลังใจ    ให้คำถามสำหรับเอาไปทดลองปฏิบัติ หรือคิดต่อ    ถือเป็นการ “ให้” ที่มีคุณค่า 
• “ให้” ความเป็นกัลยาณมิตร  ความเป็นเครือข่าย  
• ลปรร. ได้ทั้งในสภาพ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์” (F2F)  และทั้งใน “พื้นที่เสมือน” (B2B)

วิจารณ์ พานิช
๑๓ กพ. ๔๙
วันมาฆบูชา 
ปรับปรุง ๑๙ กพ. ๔๙

 ... เปิดใจ ใจเปิด 

• การทำ KM เริ่มด้วยการทำให้พนักงาน (“คุณกิจ”)มี “ใจเปิด”   มีทักษะในการทำให้ใจเปิด  
• ทั้งทักษะในการเปิดใจของตนเอง   และการสร้างบรรยากาศในการทำให้เพื่อนร่วมงานเปิดใจ
• ตัวกระตุ้นให้ใจเปิดได้ง่ายคือการเล่าเรื่องราวของความสำเร็จ
• การทำ AAR และ BAR เป็นแบบฝึกหัดของการเปิดใจ
• การเปิดใจมีความหมาย ๒ อย่าง  (๑) เปิดให้สิ่งที่อยู่ในใจออกมา   (๒) เปิดรับความคิด ความรู้สึกของผู้อื่น
• ใจที่เปิด จึงเป็นใจที่มีสติอยู่ตลอดเวลา    การทำ KM จึงเท่ากับเป็นการเจริญสติแบบหนึ่ง
• สุนทรียสนทนา (dialogue) เป็นเครื่องมือเปิดใจ   และเมื่อใจเปิด จะทำสุนทรียสนทนาได้ผลดี
• การทำ KM แบบจับความรู้ใส่ตุ่ม (ICT) โดยใจยังไม่เปิด   จะทำให้ KM นั้นล้มเหลว
• ที่ต้องเปิดใจก่อน ก็เพราะคุณค่าของ KM ร้อยละ ๘๐ อยู่ที่ “ความรู้ฝังลึก”    ถ้าใจไม่เปิด ความรู้ฝังลึก เข้า-ออกไม่ได้

วิจารณ์ พานิช
๑๕ เมย. ๔๙

..KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 117. ทำอย่างไรคนจึงจะเปิดใจ
ใจเปิด หมายความว่า เปิดรับ และเปิดให้ รับด้วยใจ และให้ด้วยใจ

            สภาพที่สมาชิกของทีมงานมีใจที่เปิด    หรือมีทักษะ มีจริต ในการเปิดใจ เป็นหัวใจในการทำ KM

                       เปิดรับ หมายความว่า รับทั้งเรื่องราวหรือแนวคิดที่ไม่ตรงกับความเชื่อของตน   และเรื่องราวหรือแนวคิดที่ตรงกับความเชื่อของตน    จะตรงหรือไม่ตรงก็รับไว้ก่อน ยังไม่ตัดสิน

           เปิดให้ หมายความว่า ไม่หวง  มีจิตแบ่งปัน  เห็นคุณค่าของการให้แบบเปิดใจ    เพราะการให้อย่างบริสุทธิ์เช่นนี้ยิ่งกระตุ้นปัญญาของผู้ให้    และช่วยสร้างบรรยากาศแห่งกัลยาณมิตร     นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันที่ยิ่งใหญ่

           วิธีเปิดใจคน ทำได้หลากหลายวิธี ตามจริตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน    แต่ที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือเปิดด้วยเรื่องราวของความสำเร็จที่ตนเองภาคภูมิใจ

           storytelling จึงเป็นเครื่องมือของการเปิดใจ     ให้ตนเองเปิดใจตนเอง

          การฟังเรื่องเล่าอย่างตั้งใจ   ฟังอย่างลึก (deep listening) เป็นเครื่องมือเปิดใจเพื่อนร่วมงาน

          การฟังแล้วตั้งคำถามที่เคล้าความชื่นชม (Appreciative Inquiry) เป็นเครื่องมือเปิดใจเพื่อน

          การฟังแล้วจด แสดงความตั้งใจฟัง และเห็นคุณค่าของเรื่องราวที่กำลังฟัง  เป็นเครื่องมือเปิดใจเพื่อน

วิจารณ์ พานิช
๔ กค. ๔๙ 

KM (ภาคปฏิบัติ) วันละคำ : 9. ผู้บริหาร

• บทบาทของผู้บริหาร ไม่ใช่เน้นบริหารกระดาษ  เอกสาร  กฎระเบียบ
• แต่เน้นบริหารความสัมพันธ์ระหว่างคน   เน้นบริหารความสำเร็จเล็ก-ใหญ่ ที่จะสร้างการขับเคลื่อน สู่วิสัยทัศน์  ปณิธาน  เป้าหมาย  ขององค์กร
• เน้นการแสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จน้อย-ใหญ่
• เน้นเฉลิมฉลองความสำเร็จ   และวางกุศโลบายขยายผลให้กว้างขวาง และลุ่มลึกยิ่งขึ้น
• จัดระบบการบริหาร KM    จัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานประจำ    ให้เนียนอยู่ในเนื้องาน    ให้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนคุณภาพงาน ผลสัมฤทธิ์ของงาน และประสิทธิภาพของงาน    ไม่ใช่เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งหรืออีกโครงการหนึ่ง
• ผู้บริหารทุกระดับต้องมีบทบาทในระบบ KM ที่เนียนอยู่ในเนื้องาน
• ผู้บริหารคอย ตรวจจับ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่หน้างาน    และนำมาตีความทำความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้น    เพิ่มคุณค่า

วิจารณ์  พานิช

ขอบพระคุณค่ะ

แวะมาเก็บเกี่ยวเลยนะเนี่ย...

KM (ภาคปฏิบัติ) วันละคำ : 1. การฟัง

 - ทักษะการฟังเป็นหัวใจของการทำ KM
 - คนบางกลุ่มไม่มีทักษะในการฟัง   ไม่มีวัฒนธรรมการฟัง
 - ทุกคนควรติดอาวุธการเรียนรู้ให้แก่ตนเอง   โดยการพัฒนาทักษะการฟัง   ฝึกตนเองให้ฟังเป็น   ฝึกตนเองให้ฟังเชิงบวก   ฟังด้วยวิญญาณสร้างสรรค์ (active/productive listener)


 - ฟังให้ได้
       - สาระสำคัญ  และสิ่งที่ "อยู่ระหว่างถ้อยคำ"
       - เห็นตัวตนของผู้พูด   เข้าใจลึกเข้าไปถึงจิตวิญญาณของผู้พูด
       - เห็นบริบท (สภาพแวดล้อม) ของเรื่องราว
       - ความดีที่อยู่ในเรื่องราว
       - วิธีการพูด/เล่าเรื่องที่ควรซึมซับไว้เป็นแบบอย่าง

 - ฟังให้เปล่งประกาย
       - ความชื่นชมยินดีในความสำเร็จ/เรื่องราวดี ๆ ของผู้พูด
       - ซักถามแบบ appreciative inquiry
       - ความสนใจ  เอาใจใส่ในเรื่องราวนั้น

 - การฟังแบบ active listener เป็นจาคะอย่างหนึ่ง
 - การฟังด้วยความเคารพผู้พูดและผู้ร่วมฟัง   เป็นการปฏิบัติธรรม
 - deep listening,  active listening เป็นบทเรียนตลอดชีวิต

วิจารณ์  พานิช
 2 ก.พ.49

สวัสดีค่ะ

ตามมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยอีกคนค่ะ

เปิดใจ สร้างสรรค์

  • เหลือก็แค่ลงมือปฏิบัติแล้วล่ะคะ..เริ่มได้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท