ดื่มกาแฟให้ปลอดภัย


ดื่มกาแฟให้ปลอดภัย โดย ดร.วินัย ดะห์ลัน
โลกของคนติดกาแฟ
ร้านกาแฟดูจะเป็นร้านคู่บ้านเรามานานมากแล้ว สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กมีหน้าที่ประจำอยู่อย่างหนึ่งคือ คอยวิ่งซื้อกาแฟใส่ขวดให้คุณพ่อ บ้านของผู้เขียนอยู่ในซอยใหญ่ กลางกรุงเทพฯ แถวบ้านมีร้านกาแฟหลายร้านแต่ร้านเจ้าประจำคือ ร้านเฮียไช้ ซึ่งคุณพ่อผู้เขียนบอกว่าเจ้านี้ชงกาแฟได้อร่อย มีมะขามคั่วปนอยู่น้อยกว่าเจ้าอื่น
กาแฟจากร้านกาแฟยุคก่อนเป็นกาแฟเม็ด บดและชงด้วย ถุงผ้าที่มีห่วงกลมคล้ายสวิง เห็นถุงแล้วนึกถึงนมยานของคุณยาย เทคนิคการชงกาแฟยุคก่อนค่อนข้างน่าดู คือ ใส่ผงกาแฟลงในถุงผ้า แล้วแช่ลงในน้ำเดือดยกขึ้นยกลง จากนั้นก็กดถุงให้น้ำกาแฟไหลลงไป ในกระป๋องทองเหลือง น่าเสียดายที่ตั้งแต่มีกาแฟผงหรือกาแฟสำเร็จรูป ออกมาวางขายเป็นขวดแล้ว วิธีชงกาแฟด้วยถุงยานๆ อย่างนี้ก็แทบหาดูไม่ได้อีก
มีหลายคนบอกว่า กาแฟคนสมัยก่อนนั้น บางร้านแอบปน เม็ดมะขามคั่วบดเข้าไปด้วย ชงแล้วให้สีดำเหมือนกาแฟแต่รสชาติ อาจจะเฝื่อนไปบ้าง อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครอยากจะบ่นว่าอะไรมากนัก เพราะยังต้องใช้บริการร้านกาแฟเป็นที่พบปะสังสรรค์กัน คือ นอกจากจะติดกาแฟแล้วยังติดบรรยากาศเฮฮาในร้านด้วย

 

มีคนกล่าวว่า การดื่มกาแฟเป็นวิถีชีวิตแบบคนอเมริกัน ขณะที่คนอังกฤษจะดื่มชา จะจริงหรือไม่จริงคงไม่สำคัญนัก ที่สำคัญกว่านั้นคือ มีแพทย์และนักวิจัยทางการแพทย์หลายคนออกมาบอกว่า การดื่มกาแฟเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถ้ารักตัวเองก็ต้องเลิกดื่มกาแฟหรือชา เหตุที่กาแฟสร้างปัญหาก็เพราะในกาแฟมีสารคาเฟอีน (caffeine) ซึ่งถือกันว่าเป็นสารเสพย์ติดชนิดหนึ่งอยู่ด้วย
ข้อเท็จจริงในเรื่องกาแฟกับคาเฟอีนมันเป็นอย่างไรกันแน่ ผู้เขียงเองยังไม่อยากแนะนำถึงขั้นให้เลิกดื่มกาแฟกันไปเลย เพราะมันอาจจะทำให้ชีวิตของพวกเราหลายคนอับเฉาจนเกินไป เอาเป็นว่าเรามาหาเทคนิคการดื่มกาแฟให้ปลอดภัยกันดีกว่า แต่ก่อนอื่น ก็ต้องเรียนรู้เสียก่อนว่า ปัญหาของคาเฟอีนจริง ๆ แล้วเป็นย่างไร
ปัญหาทางจิตประสาทจากคาเฟอีน

 

มีคนมากมายดื่มกาแฟทุกวัน วันละหลายๆ แก้ว หลายคนยืนยันว่ากาแฟไม่เคยสร้างปัญหาให้เลยสักครั้ง ดื่มแล้วก็สดชื่น หูตาสว่าง ความคิดแจ่มใส ไม่ดื่มกาแฟ แล้วดูเหมือนมันขาดอะไรไปสักอย่าง วันเวลามันคล้ายจะยังไม่เริ่มต้น หากได้ดื่มกาแฟสักแก้วทุกอย่างจะสดใสปิ๊งปั๊งขึ้นในทันทีทันใด
เมื่อได้ฟังอย่างนั้น ขออย่าเพิ่งรีบสรุปเลยว่า คาเฟอีนในกาแฟนั้น ปลอดภัยไม่มีปัญหา เพราะอันที่จริงยังมีอีกหลายคนเหมือนกัน ที่มีปัญหาจากสารคาเฟอีน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแต่ละคน มีประสาทสัมผัสไวต่อสารแต่ละตัวไม่เหมือนกัน มีคำคำหนึ่ง ของสมาคมจิตเวชอเมริกันที่กล่าวถึงพิษของคาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟ คำนั้นก็คือ caffeine intoxication หมายถึง พิษจากกาแฟ

 

ปัญหาที่เกิดจากพิษของคาเฟอีนในกาแฟคือ การเกิดความผิดปกติทางจิตประสาท อันได้แก่ ตื่นเต้นง่าย ตกใจง่าย ขี้กังวล ขี้กลัว ขี้ตื่น ขาดการพักผ่อน ใจสั่น มือไม้สั่น นอนไม่หลับ ความคิดติดขัด พูดจาติดขัด อาการรวมๆ กันอย่างนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น นายแพทย์จอห์น เกรเดน (John F.Greden) อดีตผู้อำนายการแพทย์วอลเตอร์รีดกองทัพบกอเมริกันเรียกว่า การติดคาเฟอีนหรือคาเฟอีนนิซึม (caffeinism)
มีรายงานทางการแพทย์ที่ค่อนข้างน่าสนใจเกี่ยวกับ คนไข้ทางจิตประสาทที่มีอาการดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน เมื่อลองซักประวัติแล้วก็พบว่า หลายคนติดกาแฟ ดื่มกันวันละหลายๆ แก้ว บางคนดื่มถึง 14 แก้วทุกวัน ภายหลังเมื่อเลิกกาแฟได้สำเร็จแล้ว อาการทางพวกนั้นหายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสรุปได้ว่า อาการทั้งหมดเกิดจากการติดกาแฟนั่นเอง
ปวดท้องถึงปวดหัวจากคาเฟอีน

 

มีปัญหาทางสุขภาพอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับ การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มอื่นที่มีคาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็นชา โกโก้ร้อน หรือน้ำอัดลมประเภทโคล่าหรือประเภทเมาเทนดิว ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่รู้กันทั่วไปก็คือ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ แพทย์จะแนะนำทันทีว่า ให้งดชาหรือกาแฟเพราะมันทำให้ น้ำย่อยในกระเพาะที่เป็นกรดหลั่งออกมามากขึ้น ทำให้อาการโรคกระเพาะเลวร้ายลง

 

ผู้ที่มีปัญหานอนหลับยาก (insomnia) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาผู้สูงอายุทั้งหลายที่นอนได้ไม่นานหลับๆ ตื่นๆ อย่างนี้ ขอให้ละเว้นกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า คาเฟอีนทำให้ประสาทตื่นตัว หากลองได้ดื่มตอนเย็นหรือกลางคืนแล้ว คืนนั้นทั้งคืนอาจจะนอนไม่ได้เลย มีปัญหาอย่างนี้หากเลี่ยงกาแฟได้ขอให้เลี่ยง

 

ผู้ที่มักปวดศรีษะตอนเช้า ๆ ตื่นขึ้นมาแล้วยังมึนงง พอได้ดื่มกาแฟสักแก้วแล้วอาการจะค่อยๆ หายไป หากเป็นอย่างนี้คงต้องหาทาง ลดกาแฟแล้วเพราะนั่นคือ อาการที่แสดงว่ากำลังติดกาแฟ และอาการ อาจจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่หาทางลดกาแฟก็อาจติดกาแฟจนเลิกไม่ได้

 

ใครที่มีอาการปวดหัวตอนเช้าๆ อย่างที่กล่าวถึง ทั้งยังติดบุหรี่อีกด้วย แล้วบังเอิญเกิดความรู้สึกด้านดีว่าอยากเลิกบุหรี่เสียที หากคิดได้อย่างนั้นก็ขอเตือนว่าหากจะเลิกบุหรี่ควรเลิกกาแฟไปด้วยพร้อมๆ กัน
การสูบบุหรี่ทำให้สารคาเฟอีนในร่างกายถูกขจัดออกจากร่างกาย รวดเร็วขึ้น การเลิกบุหรี่กะทันหันจึงทำให้สารคาเฟอีน ถูกขจัดช้าลงและตกค้างในร่างกายมากขึ้น สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นในร่างกาย
เทคนิคการดื่มกาแฟ

 

กาแฟใช่ว่าจะมีแต่โทษ อันที่จริงก็มีประโยชน์เหมือนกัน อย่างแรกก็ได้แก่ทำให้สมองโปร่ง รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทั้งยังช่วยระงับการเจ็บปวดได้บ้าง ทั้งนี้ ก็เพราะโครงสร้างทางเคมี ของคาเฟอีนเหมือนกับสารแอดีโนซีน (adenosine) ซึ่งเป็นสารตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งกระแสความเจ็บปวด โดยคาเฟอีนจะเข้าไปสกัดการส่งกระแสนี้ได้ ทำให้ความเจ็บปวด บรรเทาลง
กาแฟอาจจะให้ประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดได้ด้วย ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น เรื่องนี้มีรายงานสนับสนุน ทางการแพทย์อยู่บ้างโดยพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟจะมีอาการหอบหืดน้อยลง กว่าแต่ก่อน

 

ในเมื่อกาแฟมีทั้งโทษทั้งประโยชน์ คงต้องรู้จักใช้ประโยชน์ จากกาแฟให้ได้ ประการแรก หากคิดว่าจะไม่ดื่มกาแฟ ก็อย่าได้ไปเริ่มดื่มกาแฟเลย เพราะจะไม่รู้ว่าร่างกายของเรา มีปฏิกิริยาไวต่อคาเฟอีนเพียงใด มันอาจสร้างปัญหาขึ้นมาในภายหลังได้
หากดื่มกาแฟอยู่แล้วและไม่อยากจะเลิก จะดื่มอย่างไรจึงจะปลอดภัย ดร.ลีเบอร์มันน์ (Harris R. Liebermann) นักจิตวิทยา แห่งสถาบันวิจัยกองทัพอเมริกัน แนะนำว่า กาแฟสักหนึ่งถึงสองแก้วต่อวัน จะช่วยให้สมองปลอดโปร่งได้ แต่การดื่มกาแฟมากขึ้น ไม่ช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น กลับจะเป็นผลร้ายดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

 

เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า หากต้องการจะดื่มกาแฟควรจะดื่มตอนไหน คำตอบของผู้เชี่ยวชาญคือ ดื่มตอนเช้าสักหนึ่งแก้ว และหลังเวลาอาหารกลางวันอีกสักหนึ่งแก้ว กาแฟจะช่วยทำให้สมองโล่งไปได้ทั้งวัน แต่อย่าดื่มมากไปกว่านี้อย่างเด็ดขาด บางคนชอบพักดื่มกาแฟตอนสิบโมงเช้าและบ่ายสามโมง เรียกว่า หากทางเพิ่มกาแฟอีกสองรอบ อย่างนี้จะต้องหาทางลด
ขอเน้นไว้อีกในเรื่องแก้วกาแฟที่บอกว่า 1-2 แก้ว ผู้เขียนหมายถึงแก้วกาแฟปกติขนาด 140 มิลลิลิตร ที่ให้คาเฟอีนขนาด 50-80 มิลลิกรัมเท่านั้น ไม่ใช่แก้วกาแฟใบเบ้อเริ่ม อย่างที่หลายคนชอบใช้ อย่างนั้นเขาเรียกว่า เหยือกไม่ใช่แก้ว

ที่มา : http://www.elib-online.com/doctors/food_cafein3.html

ดร.วินัย ดะห์ลัน

คำสำคัญ (Tags): #กาแฟ
หมายเลขบันทึก: 161426เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2008 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท