ภาคประชาชนและชุมชน ควรมีส่วนร่วมอย่างสำคัญและต่อเนื่องในการวางแผนและพัฒนา “สุวรรณภูมิมหานคร”


            (15 ก.พ. 49) เข้าร่วม “งานสัมมนาเชิงวิชาการ โอเว่น จี คีนัน ประจำปี 2549 สถาบันคีนันแห่งเอเชีย” ในหัวข้อ “Development around Suvarnabhumi Airport  - Planning to get it right”
            ภาคเช้า มีการนำเสนอโดย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สมชาย สุนทรวัฒน์ ซึ่งกล่าวว่ากระทรวงมหาดไทย กำลังดำเนินแผนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะจัดตั้ง “สุวรรณภูมิมหานคร” ขึ้น ประกอบด้วยพื้นที่ 2 เขตของกทม. (เขตลาดกระบัง และเขตประเวศ) และ 2 อำเภอของจังหวัดสมุทรปราการ (อำเภอบางพลี และกึ่งอำเภอบางเสาธง) โดยในระยะแรกจะมีฐานะเป็นจังหวัด ภายใต้การดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ในระยะต่อไปจึงจะมีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีผู้บริหารจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในพื้นที่
            ผู้นำเสนออื่นๆล้วนให้สาระที่น่าสนใจ ได้แก่
            คุณสุรชัย สวัสดีผล (ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) เรื่อง “ศักยภาพและขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย”
            ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร (ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) เรื่อง “แผนแม่บทในการพัฒนาและยกระดับพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ”
            Dr.John Kasarda (กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันคีนันแห่งสหรัฐอเมริกา) เรื่อง “โอกาสมหาศาลในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ”
            Mr.Willem Trommels (ผู้อำนวยการ The Berlin Airport Area Development Corporation และอดีตผู้อำนวยการ The Schipol Area Development Company) เรื่อง “การวางแผนและการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรอบสนามบิน Schipol ในประเทศเนเธอร์แลนด์และสนามบินเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน”
            ภาคบ่ายเป็นการเสวนาหัวข้อ การผสมผสานการพัฒนา สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ และชุมชน ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
            คุณสมหะทัย พานิชชีวะ (กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะโฮลดิ้ง จำกัด) พูดประเด็น “การสร้างเมืองที่สมบูรณ์แบบ”
            คุณปราโมทย์ ไม้กลัด (สมาชิกวุฒิสภา) พูดประเด็น “การวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำของพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ”
            คุณชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว (ประธานกรรมการบริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) พูดประเด็น “พื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคต”
            ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (ประธานที่ปรึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) พูดประเด็น “ความต้องการจากภาคชุมชน”
            ผมได้นำเสนอว่า คำว่า “ชุมชน” น่าจะหมายถึง “ประชาชน” ซึ่งอยู่อยู่แล้วในพื้นที่ที่จะเป็น “สุวรรณภูมิมหานคร และผู้ที่จะย้ายเข้าไปอยู่เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากเมื่อมีการพัฒนามากขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ประชาชนเหล่านี้ รวมทั้ง “ผู้มีส่วนได้เสีย” (Stakeholders) อื่นๆ ควรมีส่วนร่วมอย่างสำคัญและอย่างต่อเนื่องในการวางแผนและการพัฒนา “สุวรรณภูมิมหานคร”
            “การมีส่วนร่วม” นี้ ควรรวมถึง  (1) การมีส่วนร่วมในการวางแผน (รวมถึงการพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้อง)  (2) การมีส่วนในการดำเนินการ (ในบางเรื่อง)  (3) การมีส่วนร่วมในการติดตามผล (รวมถึงการตรวจสอบประเมินผลในบางส่วน)  และ (4) การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง (ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาดำเนินการในรอบต่อๆไป)
            นั่นคือ ควรเป็นการมีส่วนร่วมให้ครบตาม “วัฏจักรแห่งการพัฒนา” หรือ “วงจรการพัฒนา” นั่นเอง
            ผมได้อ้างด้วยว่า “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” นั้น เป็นหลักการสำคัญที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยเฉพาะ มาตรา 59 และ 76 นอกจากนั้น ยังเป็นการปฏิบัติตามหลักการ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Democracy) และหลักการ “ประชาธิปไตยแบบไตร่ตรองร่วมกัน” (Deliberative Democracy) ซึ่งถือเป็นระบบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าทันสมัยอีกด้วย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
20 ก.พ. 49

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16138เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท