นพลักษณ์ช่วยอะไรในการบริหารองค์กร


การศึกษานพลักษณ์ให้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจตนเองทั้งในด้านพฤติกรรมที่ฉาบอยู่ข้างหน้า กับสิ่งที่อยู่ลึกภายในกลไกจิตใจของเรา

 

 มีบทความเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ "นพลักษณ์" ในองค์กรมาฝากค่ะ เขียนโดย

พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองกับการเรียนรู้ และนายกสมาคมนพลักษณ์ไทย

  เรารู้ตัวไหมว่า วันหนึ่งเราหายใจกี่ครั้ง

ทำไมเรากินขาหมู ทั้งที่เราก็รู้ว่ามันจะทำให้เราอ้วน และเจ็บป่วยตามมา

ทำไมเราสูบบุหรี่ ทั้งที่รู้ว่าทำให้เกิดโรค               

ท่านจะแปลกใจว่า กว่าร้อยละ 80 ของพฤติกรรมของเราเกิดจากจิตใต้สำนึกเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งนักจิตวิทยาทั่วโลกก็พบความจริงข้อนี้จากการเฝ้าสังเกต

ตัวอย่างเช่น หัวหน้าที่มีบุคลิกภาพแบบ คนเนี้ยบ ตอนเข้าทำงานใหม่ ๆ ในตำแหน่งพนักงานบัญชี ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะความละเอียดรอบคอบ ทำงานตามมาตรฐาน ลงรายละเอียดถี่ยิบ ซึ่งถือเป็นข้อดีหรือจุดเด่นของตน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความละเอียดถี่ถ้วนกลับทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับผู้ร่วมงาน เพราะมักจะมองเห็นและตำหนิเพื่อน ๆ จนถูกหาว่า ชอบจับผิด และมักทำงานล่าช้ากว่ากำหนด เพราะเฝ้าแต่ตรวจแล้วตรวจอีกไม่ยอมส่งงานเสียที ยิ่งได้ตำแหน่งสูงขึ้น ก็ยิ่งเครียดมากขึ้น ตัวเองก็เครียด ลูกน้องก็เครียด เพราะหัวหน้าตรวจงานถี่ยิบ ไม่ให้พลาดแม้แต่นิดเดียว ดูเผิน ๆ ก็เหมือนจะดี แต่ทำไมจึงทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ถึงกับทำให้ประธานบริษัทหงุดหงิดอยู่บ่อย ๆ ทำไม พฤติกรรมแบบเดียวกันตอนเข้างานใหม่ ๆ จึงเกิดผลดี แต่เมื่อตำแหน่งสูงขึ้นกลับก่อให้เกิดปัญหา เรื่องนี้ นพลักษณ์ มีคำตอบ

 การศึกษานพลักษณ์ให้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจตนเองทั้งในด้านพฤติกรรมที่ฉาบอยู่ข้างหน้า กับสิ่งที่อยู่ลึกภายในกลไกจิตใจของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเข้าใจโลกทัศน์ กิเลส  ความคิดยึดติด อคติ และกลไกป้องกันตนเองของเรา  จึงทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจเบื้องหลังของพฤติกรรมประจำตัว จะเห็นทางที่จะพัฒนาศักยภาพและลดข้อจำกัดภายในตนเอง อันจะเป็นหนทางเปิดประตูสู่ความเป็นผู้นำที่มีศักยภาพสูงสุดเท่าที่แต่ละคนจะพึงมี  

 

นพลักษณ์ช่วยอะไรในการบริหารองค์กร

1.     ศึกษานพลักษณ์เพื่อรู้จักตนเอง  ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดในการจัดการองค์กรก็คือ การที่ผู้นำต้องรู้จักตนเอง เพราะทุกคนมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป แม้เป็นคนลักษณ์เดียวกันก็มีความแตกต่างกัน และแม้มีพื้นฐานกิเลสเหมือน ๆ กัน แต่การแสดงออกหรือการทำงานของกิเลสของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไปตามสภาพการพัฒนาเติบโต  หากผู้นำไม่รู้จักตนเองดีพอ ก็จะขาดสติระลึกรู้ในพฤติกรรมต่าง ๆ ของตน เราก็จะถูกผลักดันให้ทำพฤติกรรมตามจิตใต้สำนึก ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนในการจัดการ  เราคงเห็นตัวอย่างมากมายในสังคมที่ผู้นำเอาแต่จัดการกับคนอื่น โดยไม่สามารถแม้แต่จัดการกับปัญหาของตนเอง หรือจัดการปัญหาภายในครอบครัวของตัวเอง  หากผู้นำรู้จักตนเองและฝึกการมีสติอยู่กับตนเอง ปัญญาจะเกิด และสามารถใช้ศักยภาพและลดข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

2.     ศึกษานพลักษณ์เพื่อสร้างทีม การศึกษานพลักษณ์ร่วมกันกับบุคลากรในทีม นอกจากทำให้ผู้นำรู้จักตนเองได้ดีแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เราทำความเข้าใจสมาชิกในทีมอย่างถึงแก่นทีเดียว และสมาชิกในทีมก็จะเข้าใจมองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของผู้นำด้วย (ซึ่งผู้นำจำนวนมาก อาจรู้สึกกลัว จึงพยายามปิดบัง แต่ยิ่งปิดบังก็ยิ่งเป็นจุดอ่อนให้คนอื่นโจมตี) ทั้งนี้การทำความรู้จักซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง เบื้องต้นก็เกิดผลดีอย่างยิ่งในการสร้างความยอมรับซึ่งกันและกัน และสมาชิกแต่ละคนก็มีความระมัดระวังในการติดต่อกับคนอื่น ขณะเดียวกันก็มีความเอื้ออาทร เมตตากรุณากันมากขึ้น เพราะเห็นชัดเจนว่าแต่ละคนก็ตกอยู่ในสภาพเหมือน ๆ กัน ไม่มีใครดีกว่าใคร ล้วนเป็นเหยื่อของกิเลส ความหลงผิดต่าง ๆ กันไป ความเป็นมิตรอย่างแท้ก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อย

 3.     ศึกษานพลักษณ์เพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์  เมื่อคนจำนวนมากมาทำงานร่วมกัน ต่างคนต่างก็สื่อสารกันภายใต้ข้อจำกัดยึดมั่นของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็คาดหวังและเรียกร้องให้คนอื่นสื่อสารกับเราอย่างมีประสิทธิภาพ  (เข้าตำรา ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง) การศึกษานพลักษณ์จะช่วยทำให้เราเข้าใจวิธีการสื่อสารของเรา ผู้นำรู้ว่าตนเองมีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร ชอบสื่อสารแบบไหน และเพื่อนร่วมทีมมีลักษณะเฉพาะอย่างไร สื่อสารแบบไหน ด้วยความรู้เท่าทันนี้ จะทำให้ผู้นำสามารถกำหนดกลวิธีที่เหมาะสมในการสื่อสารระหว่างสมาชิกในทีม และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น (ซึ่งแน่ละ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะแต่ละคนก็ยังมีกิเลสพื้นฐานติดตัวอยู่ จึงคาดเดาได้แล้วว่า แม้จะวางกลวิธีไว้แล้วก็ยังจะต้องเกิดปัญหาขึ้นแน่ ๆ แต่ปัญหาต่างๆ อาจจะน้อยลงหรือไม่ขยายตัวเป็นเรื่องใหญ่โต) ก็สามารถหาวิธีคลี่คลายได้ง่ายขึ้นและทันท่วงที

4.     ศึกษานพลักษณ์เพื่อสร้างวิสัยทัศน์  ผู้นำที่มีสติรู้เท่าทันตนเอง เข้าใจตนเองพอสมควรโดยเฉพาะในส่วนลึกของกลไกทางจิต จะมีส่วนช่วยให้ผู้นำสร้างและพัฒนาวิสัยทัศน์อันจะสามารถดึงความผูกพันและความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น  ผู้นำที่มีอคติน้อยที่สุด จะสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรได้บนพื้นฐานของ ธรรมะและ ปัญญาได้มากขึ้น เพราะไม่ถูกบดบังโดยอคติที่เกิดจากกิเลสหรือแรงจูงใจส่วนบุคคล

5.     ศึกษานพลักษณ์เพื่อจัดการข้อขัดแย้ง ระหว่างกิเลสส่วนบุคคล กับ เป้าหมายขององค์กร  ย่อมเกิดข้อขัดแย้งเป็นระยะ ๆ หากผู้นำและสมาชิกในองค์กรมีความเข้าใจจุดยึดติด โลกทัศน์ สิ่งชอบ/ไม่ชอบ อารมณ์ และกลไกการทำงานของจิตที่ผลักดันพฤติกรรมต่าง ๆ ก็จะสามารถทำความเข้าใจข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในองค์กรได้อย่างใช้ ปัญญาและมีอคติน้อย (เพราะแต่ละคนมีสติระลึกรู้ตนเองพอสมควร) การจัดการข้อขัดแย้งจะง่ายขึ้น เพราะสมาชิกในองค์กรทำความเข้าใจข้อขัดแย้ง แยกแยะว่าส่วนใดเป็นอคติของแต่ละคน ส่วนใดเป็นปัญหาเรื่องปัจจัยภายนอก ก็จะพิจารณาแก้ไขปัญหาอย่างมีอคติน้อย ข้อขัดแย้งก็แก้ไขได้ง่าย และดียิ่งกว่านั้นก็คือ องค์กรสามารถคาดหมายข้อขัดแย้งอันเกิดขึ้นบนพื้นฐาน ความต่างของคนแต่ละประเภท ก็จะสามารถกำหนดระบบภายในองค์กรให้เกิดข้อขัดแย้งน้อย และเสริมแรงกันมาก สมาชิกในองค์กรก็จะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข

 นพลักษณ์เป็นศาสตร์และเครื่องมือที่ดี ซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณอายุกว่า 2000 ปี เริ่มต้นที่เอเชียกลาง แพร่หลายผ่านกระบวนการตรวจสอบ การเผยแพร่ และใช้ประโยชน์ในแวดวง ต่าง ๆ มากมาย จุดเด่นและเสน่ห์ของ นพลักษณ์ก็คือ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึง กับดักบุคลิกภาพ ที่ก่อให้เกิด ความทุกข์ ความไม่สงบสุขภายในจิต และสิ่งที่ควบคุมพฤติกรรมของเรา ที่แสดงออกสู่ภายนอก แผ่ขยายไปถึงครอบครัว ชุมชน และสังคมโลก ซึ่งทุกคนและทุกวงการสามารถศึกษาและใช้ประโยชน์ได้ไม่มีข้อจำกัด 

 

สำหรับท่านที่สนใจศึกษานพลักษณ์ ร่วมกับสมาคมนพลักษณ์ไทย สมาคมฯ จัดหลักสูตรฝึกอบรมทั้งแบบไปกลับ และ แบบค้างคืน ทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่  โทรศัพท์สอบถามได้ที่สำนักงานสมาคมฯ 02-224 5 999 หรือ 081 -922 9161

หมายเลขบันทึก: 160417เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2008 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท