(2548-8-28) : เมื่อใครสักคนบอกคุณว่า "การถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนบ้าน นั้น ..ไม่สำคัญ"


อาจเป็นเรื่องที่ยากต่อความเข้าใจของคนทั่วไปพอสมควรว่า การถูกเพิกถอนชื่อออกจาก "ทะเบียนบ้าน" นั้น มันสร้างผลกระทบอะไรหนักหนาต่อบุคคลที่ถูกถอนชื่อ.. เผยแพร่ครั้งแรก มติชนรายวัน 28 สิงหาคม 2548 หน้า 9.

เมื่อใครสักคนบอกคุณว่า "การถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนบ้านนั้น ไม่สำคัญ"

โครงการเด็กไร้รัฐ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์รายวันมติชน 28 สิงหาคม 2548 หน้า 9

อาจเป็นเรื่องที่ยากต่อความเข้าใจของคนทั่วไปพอสมควรว่า การถูกเพิกถอนชื่อออกจาก "ทะเบียนบ้าน" นั้น มันสร้างผลกระทบอะไรหนักหนาต่อบุคคลที่ถูกถอนชื่อ..

"ทะเบียนบ้าน" หากพิจารณาเพียงแต่คำนิยามที่ปรากฏในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ผู้พลิกอ่านก็จะพบข้อความหมายเพียงว่า หมายถึง "ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้าน ซึ่งแสดงเลขประจำบ้านและรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน"

แต่ถ้าหากย้อนไปดูถึงประวัติความเป็นของมันผ่านกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรฉบับต่างๆ จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่า "ทะเบียนบ้าน" นั้น มีความหมายและความสำคัญในฐานะที่มันเป็นเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (Identification Paper) อย่างหนึ่งที่รัฐไทยดำเนินการขึ้น เพื่อใช้ยืนยันและรับรองถึงถิ่นที่อยู่และสถานะบุคคลตามกฎหมายของบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนบ้าน โดยถือว่าเป็น "งาน" หรือ "หน้าที่" ของรัฐไทยที่จักต้องดำเนินการบันทึก "ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร" ลงในเอกสารที่รัฐไทยเรียกมันว่า "ทะเบียนบ้าน"

โดยข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรที่ปรากฏผ่าน "ทะเบียนบ้าน" นี้จะเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้พิสูจน์ ตรวจสอบหรือยืนยันตัวบุคคลแต่ละคนที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในด้านข้อมูลสถิติประชากร การวางแผนพัฒนา การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ ฯลฯ

นอกจาก "ทะเบียนบ้าน" จะมีความสำคัญต่อภาครัฐไทย ในฐานะที่เป็นพยานเอกสารที่ยืนยันหรือพิสูจน์ทราบตัวบุคคล และเป็นฐานข้อมูลประชากรของรัฐไทยแล้ว "ทะเบียนบ้าน" ยังมีความสำคัญต่อแต่ละบุคคลในความหมายที่ไม่แตกต่างกัน เพราะมันถูกบุคคลหนึ่งๆ ใช้เป็นพยานเอกสารยืนยันหรือพิสูจน์ทราบตัวบุคคลต่อทั้งภาครัฐและเอกชนว่า นอกจากการมีตัวตนอยู่จริงในทางข้อเท็จจริงแล้ว เขายังมีตัวตนในทางกฎหมายอีกด้วย เพราะ "ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร" ที่ปรากฏผ่าน "ทะเบียนบ้าน" นั้น ได้ยืนยันถึงถิ่นที่อยู่และสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ในกรณีที่ทะเบียนบ้านนั้นเป็นประเภท ท.ร.14 หรือเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

ในกรณีที่ทะเบียนบ้านนั้นเป็นประเภท ท.ร.13 รัฐที่กำลังเดินอยู่บนระหว่างทางของการพัฒนาการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ รวมถึงสิทธิพลเมืองอย่างรัฐไทย ความสำคัญและความจำเป็นของเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล อย่าง "ทะเบียนบ้าน" จึงมีความสำคัญและจำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในแต่ละจังหวะของการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของคนๆ หนึ่งไม่ว่าจะเป็น การเข้าโรงเรียน การไปหาหมอ การสมัครงาน การทำสัญญากู้ยืมเงิน การทำบัตรเครดิต การแต่งงาน การรับบุตรบุญธรรม ไปจนถึงสิทธิพลเมืองอย่างการไปเลือกตั้ง ฯลฯ ล้วนแต่เรียกร้องให้บุคคลต้องแสดง "ทะเบียนบ้าน" ของตนทั้งสิ้น

ดังนั้น บุคคลใดที่ถูกรัฐไทยออกคำสั่งทางปกครองเพิกถอนชื่อและรายการออกจากทะเบียนบ้าน ประเภท ท.ร.14 โดยเฉพาะกรณีผู้มีสัญชาติไทย ผลกระทบจากการถูกเพิกถอนชื่อที่บุคคลจะต้องเผชิญนั้น ต้องกล่าวว่าไม่แตกต่างไปจากการถูกเพิกถอนสัญชาติไทยเลยทีเดียว (ทั้งที่ไม่น่าจะเกี่ยวกันเลย!) ด้วยเพราะสถานะบุคคลของผู้ถูกเพิกถอนชื่อนั้นย่อมมิใช่ผู้มีสัญชาติไทยอีกต่อไป

ยังไม่ต้องไปพูดถึงการใช้สิทธิในฐานะพลเมืองอย่างการไปเลือกตั้ง แค่สิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่จะไปสมัครเรียน ไปหาหมอ สมัครงาน ทำสัญญากู้ยืมเงิน ฯลฯ ก็ต้องพบกับอุปสรรค ปัญหาในการเข้าถึงและการใช้สิทธิ ไปจนถึงระดับที่ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้สักอย่าง

ด้วยเหตุนี้ สิทธิในเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลของแต่ละบุคคลอย่าง "ทะเบียนบ้าน" จึงจำเป็นจักต้องได้รับการคุ้มครองและปกป้อง เพราะการออกคำสั่งเพื่อเพิกถอนชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้าน มิได้มีความหมายเพียงแค่การดึงเอกสารสักใบจากมือคนๆ หนึ่งกลับคืนไป แต่มันหมายถึงการดึง (หรือกระชาก) สิทธิในการเข้าถึงสิทธิ และการใช้สิทธิต่างๆ ที่กฎหมายได้รับรองให้ไว้แก่บุคคลไปจากมือ

..ซึ่งในทางกฎหมายปกครองแล้ว การออกคำสั่งฯ ดังกล่าวจึงเป็นการออกคำสั่งที่ "อาจกระทบถึงสิทธิ" ของบุคคลที่กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินการเปิดโอกาสให้บุคคลที่จะถูกเพิกถอนชื่อมาชี้แจง โต้แย้งโดยนำพยานหลักฐานมาแสดง(มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539)

การหมดโอกาสในการเข้าเรียน สมัครงาน ไม่สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินหรือถูกยกเลิกสัญญากลางทาง ฯลฯ เพียงเพราะขาดเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล อย่าง "ทะเบียนบ้าน" เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ชวนให้คิดต่อว่า เมื่อการเข้าถึงสิทธิ/การใช้สิทธิดังกล่าวถูกกระทบแล้ว การเยียวยาในรูปแบบใดกันที่จะสามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดไปแล้วได้อย่างเหมาะสมและยุติธรรม

ดังนั้น การเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ชี้แจงหรือการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน จึงเป็นขั้นตอนที่จำเป็นและได้รับการรับรองโดยกฎหมายเพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากจะเยียวยาและชดเชยที่ว่า

ใครก็ตามที่คิดว่า "การถูกเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนบ้าน" ไม่มีความสำคัญใดหรือไม่เป็นการสร้างผลกระทบต่อสิทธิใดๆ ของคนๆ หนึ่งเลย ..คงไม่มีหนทางใดยืนยันถึงความสำคัญของมันได้ดีไปกว่า การทดลองเพิกถอนชื่อตัวเองออกไป "ทะเบียนบ้าน" สักระยะ.

หมายเลขบันทึก: 160327เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2008 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท