พาน้องฟ้าไปปฏิบัติธรรม (2)


หรือว่าเวลานี้ภายในวัด เริ่มรกรุงรังเกินไป ไม่สงบ ไม่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ตามแนวพุทธในแบบของเราแล้วกระมัง คนจึงต้อง “หนี” เข้าไปหาพระในป่า

ข้ามธารน้ำไกลออกไป เป็นบริเวณลานปฏิบัติธรรม มุมหนึ่งบนยอดเนิน เป็นที่อยู่ของหมูป่าสองตัว (ซึ่งตอนนี้ ใกล้จะเป็นหมูบ้านเข้าไปทุกทีแล้ว เพราะเลี้ยงในคอก) และเต๊นท์พักแรมของผู้มาปฏิบัติธรรมตั้งเป็นหย่อม ๆ

เจ้าของสถานที่คุณสุจินดาหรือ “คุณเหมียว” ทราบมาว่าเธอมีรีสอร์ทอยู่ที่เกาะเสม็ดด้วย เข้าใจเอาว่าเธอคงได้นำแนวคิดการจัดการพื้นที่แบบรีสอร์ทเข้ามาประยุกต์ใช้ด้วย ทำให้บรรยากาศโปร่งโล่งและครึ้มเย็นในเวลาเดียวกัน

ดูสบาย ๆ ถูกอัธยาศัยของคนที่มาจากในเมือง...

ณ ลานปฏิบัติธรรมใต้ต้นขนุนใหญ่ที่ร่มรื่น มีแคร่ขนาดพอเหมาะตั้งอยู่ พร้อมทั้งพระพุทธรูปแบบสุโขทัยตั้งอยู่หนึ่งองค์ ทอดสายตาไปทั่วบริเวณลาน คล้าย ๆ บรรยากาศของสวนโมกข์ ที่อำเภอไชยา

ช่วงที่เราไปมีพระสงฆ์หนุ่มจำวัดอยู่รูปเดียว นามว่าหลวงพ่อประพันธ์ ปฏิภาโน ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระมหาดิเรก พุทธยานันโท ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่เทียนอีกทีหนึ่ง หลวงพ่อประพันธ์ท่านบวชมาได้ 5 พรรษาแล้ว ท่านไม่รู้หนังสือ แต่ศึกษาจากการฟัง คิด และฝึกฝน

ส่วนหลวงปู่เทียน ย่อมเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วของผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป แต่ขอเล่าย้อนคร่าว ๆ ถึงท่านไว้ตรงนี้..

ท่านเป็นรุ่นปรมาจารย์ ไล่ ๆ กับท่านพุทธทาส เดิมเป็นเด็กบ้านนอกที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ได้เพียรศึกษาด้วยตนเอง และพัฒนาวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ทึ่อิงหลัก “ใช้กายสั่งใจ” ส่วนพระมหาดิเรก เป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่เทียน เวลานี้เป็นประธานสงฆ์วัดแพร่แสงเทียน ที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ บังเอิญช่วงนี้ท่านไปเทศนาธรรมที่ต่างประเทศ

เราพา “มารตัวน้อย” เมื่อคืนนี้มากราบหลวงพ่อประพันธ์ ซึ่งมารตัวน้อยก็ดูเหมือนสำนึกผิด ก้มลงกราบโดยง่าย...

หลวงพ่อประพันธ์ ได้กรุณาชี้แนะหลักการปฏิบัติธรรม ให้ฆราวาสเข้าใจอย่างง่าย หลักการของท่านมีอยู่ว่า “กายเคลื่อนไหว ใจรู้สึก” หมายความว่า จิตของเรามักฟุ้งซ่าน เคลื่อนไปมาเร็ว มันมีวิสัยเป็นเช่นนั้นเอง ท่านให้หาอุบายทำให้จิตสงบนิ่ง และระงับการเคลื่อนไหวไปมา กลับมาอยู่ร่วมกับ “กาย” ให้ได้

เราจะทำได้สำเร็จ ก็ต้องตั้งสติให้รู้สึกตัวในทุกขณะจิต ที่มีสิ่งเร้ามากระทบกาย เพราะการรู้สึกนั้นก็ต้องยอมรับว่าเป็นของจริง (เมื่อเทียบกับจิตที่เป็นของลวง และพาให้เราฟุ้งซ่าน)

เวลาเดินจงกรม ท่านก็ให้เดินด้วยก้าวย่างที่ค่อนข้างเร็ว ท่านแนะว่าอย่าเดินเป็นวงกลม เพราะจะซ้ำเดิมและพาให้ตกอยู่ในห้วงภวังค์ได้ง่าย ให้หาทางเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ

เหยียบกิ่งไม้ก็ให้รู้สึกว่าเป็นกิ่งไม้... ดินร้อนก็ให้นึกรู้ว่าร้อน... ลมเย็นก็ให้รู้ว่าเย็น... สิ่งเร้าไหนที่รู้สึกได้ชัดแจ้งในเวลานั้น ก็ให้กำกับจิตไว้ที่สิ่งนั้น

แต่อย่าไปบังคับจิต

ทำเช่นนี้อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน ก็คือเป็นการปฏิบัติธรรมนั่นเอง

ที่นี่ในฤดูหนาว เริ่มปฏิบัติธรรมกันตั้งแต่ตีสี่ รับประทานอาหารหนักมื้อเดียว คือตอนเช้าเวลาเก้านาฬิกา จากนั้นก็ปฏิบัติธรรมตลอดบ่าย กับตอนค่ำ ถึงราวสองทุ่มเศษ เข้านอนตอนสามทุ่ม

ขอพูดถึงอาหารหน่อยครับ คนที่เตรียมสำรับกับข้าว และเป็นพ่อครัว คือพี่ปูคนที่ไปรับเราเมื่อตอนกลางคืน เขาหนุ่มใหญ่ท่าทางคล่องแคล่ว พูดเสียงดังฟังชัด ชอบช่วยเหลือคนอื่น สนใจการบ้านการเมือง และยังชอบทำอาหารด้วย

ทุกคนติดใจฝีมือทำอาหารของพี่ปู เพราะว่าอร่อยจนอยากเลิกปฏิบัติธรรม เขาจึงเป็นคนขายดอกบัว ที่มือหนึ่งกลับถือผลแอปเปิ้ลด้วย...

ข้าง ๆ โรงครัว มีที่ถมเตรียมเอาไว้ คุณเหมียวคิดว่า (อาจจะ) ใช้เป็นที่สร้างศาลาปฏิบัติธรรมตรงนี้ เพราะที่นี่ยังไม่มีศาลาใด ๆ เลย เรื่องสร้างนั้นสร้างแน่ ๆ แต่ยังต้องรอเวลาหาทุนให้เพียงพอเสียก่อน เวลานี้คนที่มาปฏิบัติธรรมที่นี่ค่อนข้างน้อย ซึ่งพวกเรากลับชอบมาก เพราะว่าได้ความสงบ (ก่อนที่พวกเราจะพามารตัวน้อยมาถึง)

คุณยายของน้องฟ้า ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่เมื่อเดือนก่อน คงได้อากาศดี ประกอบกับการปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ และได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น ช่วยทำอาหาร ดูแลพระสงฆ์ ทำให้แกดูสดใสขึ้นมาก ตาเป็นประกายอย่างกับสาว ๆ

มาสั้น ๆ เที่ยวนี้ ไม่อยากคุยเลยว่า ไม่ได้ปฏิบัติธรรมมากนัก (อ้างกับแม่น้องฟ้าว่าต้องดูแลลูก) แต่ก็มีเวลาได้สนทนากับหลวงพ่อประพันธ์ ได้ความรู้ ความกระจ่างขึ้นอีกหลายเรื่องจากท่าน

ผมนึกถึงเรื่องราวของคุณหมอวิจารณ์ และอีกหลาย ๆ ท่านในที่นี้ ที่เคยเล่าประสบการณ์ ตอนไปเยี่ยมมูลนิธิฉือจี้ ที่เน้นจิตสำนึกในการบริการสาธารณะแบบมหายาน

สงสัยเหมือนกันว่า เหตุใดคนไทยสมัยนี้ (ส่วนหนึ่ง) จึงชอบไปปฏิบัติธรรมตามป่าเขา แทนที่จะเข้าวัด หรือว่าเวลานี้ภายในวัด เริ่มรกรุงรังเกินไป ไม่สงบ ไม่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ตามแนวพุทธในแบบของเราแล้วกระมัง คนจึงต้อง “หนี” เข้าไปหาพระในป่า ทั้ง ๆ ที่พื้นที่นั้นก็ไม่ได้เรียกว่า “วัด” แต่อย่างใด เพราะวัดไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

ในขณะนี้คนเหล่านี้มุ่งปลีกหนีความทุกข์ ก็มีผู้ที่พร้อมที่จะให้บริการช่วยเหลือโดยการนำทาง และก็มีฆราวาสผู้ที่ช่วยจัดเตรียมพื้นที่ สำหรับผู้ปลีกหนีเหล่านี้ บทบาทของท่านฆราวาสผู้มีศรัทธานี้ คงจะพอเทียบเคียงได้กับ “การบริการสาธารณะ” กระมัง

ส่วนตอนนี้ ต้องขอตัวไปบริการมารตัวน้อยก่อนครับ มาปีนป่ายรออยู่นานแล้ว...

 

 

หมายเลขบันทึก: 160325เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2008 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"สงสัยเหมือนกันว่า เหตุใดคนไทยสมัยนี้ (ส่วนหนึ่ง) จึงชอบไปปฏิบัติธรรมตามป่าเขา แทนที่จะเข้าวัด หรือว่าเวลานี้ภายในวัด เริ่มรกรุงรังเกินไป ไม่สงบ ไม่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ตามแนวพุทธในแบบของเราแล้วกระมัง คนจึงต้อง “หนี” เข้าไปหาพระในป่า ทั้ง ๆ ที่พื้นที่นั้นก็ไม่ได้เรียกว่า “วัด” แต่อย่างใด"

น่าจะจริงนะคะ เพราะชอบชวนครอบครัวไปที่สงบๆ เพื่อสงบจิตใจเหมือนกัน จุดประสงค์จริงๆ คืออยากไปวัด แต่วัดหลายแห่งไปแล้วกลับรู้สึกร้อนรุ่มใจ วุ่นวายใจ มากกว่าสถานที่บางแห่ง


ที่จริงการปฏิบัติธรรม สำหรับมนุษย์ทำงานอย่างเราๆ ในระหว่างวัน ก็ทำได้อย่างที่ ดร.นเรศเขียนเอาไว้ข้างบน ทำได้แล้วก็จะรู้สึกว่าทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นอีกนะคะ

  • คุณโอ๋ครับ ขอบคุณที่สละเวลามาแลกเปลี่ยน
  • เวลาไปวัด ผมชอบไปดูภาพเขียนฝาผนังครับ โดยเฉพาะที่เก่า ๆ และเริ่มเลือน ผุพังไปตามกาลเวลา อยากไปดูก่อนที่ภาพมีค่าพวกนั้น จะสูญหายไปตลอดกาล
  • ผิดวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติธรรม แต่คิดว่าเป็นสิ่งจรรโลงจิตใจ ที่วัดหลายแห่ง ยังพอมีให้ 
  • เคยลาพักนาน ๆ ไปตระเวณดูวัดน้อยใหญ่ตามบ้านนอก ทางเหนือ แถบเชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง ประทับใจไม่รู้ลืมเลยครับ
  • ศิลปินของเขาจะไม่เหมือนกับแนวจิตรกรหลวง ที่วาดภาพแบบที่วัดพระแก้ว แต่จะมีความเป็นท้องถิ่นสูง เห็นชีวิตชาวบ้าน ๆ อยู่ในภาพด้วย
  • แต่แบบนั้นต้องไปคนเดียว หรือไปกับคนที่ชอบแนวเดียวกันครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท