6. เดินทางไปเมืองปอนดิเชอรี รัฐ ทมิฬ นาดู อินเดียใต้ (ตอน 4)


ปอนดิเชอรี-ชื่อฝรั่งเศสแต่อยู่ที่อินเดียใต้

                              

                            

       เช้าวันที่สองฉันตื่นพร้อมเจ้าของบ้านราวตีห้าเศษ เจ้าของบ้านยังใส่สาหรีชุดเดิม คนอินเดียไม่อาบน้ำตอนเย็น อาบตอนเช้าเหมือนฝรั่ง แกเตรียมชานมร้อนให้ทาน วันนี้พรรคพวกบอกให้เตรียมตัวแต่เช้า จะมารับราว 6.30 น. ฉันอาบน้ำแล้วเอาผ้าออกมาแขวนตากที่ระเบียงซึ่งเป็นมุมตากผ้าโดยเฉพาะ ทานชาเสร็จ เจ้าของบ้านเปิดทีวีดูข่าวภาษาทมิฬ เสร็จแล้วฟังเพลงภาษาทมิฬจากทีวี แกมีทีวีเป็นเพื่อน นั่งคุยกันจนคุณ K มารับ เดินออกไปสัก 300 เมตรรถตรวจการของเพื่อนมารับ ฉันพบเพื่อนๆ 2 คน คือ Dr. R และ Dr. C ซึ่งเคยมาประชุมนานาชาติที่สถาบันฯ มีเพื่อนร่วมงาน Dr. R อีกท่านมาด้วย เราทักทายกันแล้วขึ้นรถ คุณ K และเพื่อนของ Dr. R นั่งด้านหลัง ฉันนั่งหน้าเพื่อดูวิวและถ่ายรูป

               

      “ปอนดิเชอรี  ชื่อนี้คุ้นหูท่านไหม?  ฉันคุ้นๆ เพราะเหมือนเคยเรียนมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แต่จำไม่ได้แล้วว่าคืออะไร ดีใจที่เพื่อนๆ ช่วยพาไปชมเมืองนี้ นั่งรถออกไปยามเช้าจากเมืองเจนไนไปทางใต้ รถรายังไม่มาก อากาศสดใส ในเมืองมีป้ายโฆษณาทั้งหาเสียง ทั้งขายสินค้าติดเต็มไปหมด มีสีสันดี ถนนเส้นที่ไปปอนดิเชอรีนี้เรียบดี วิ่งเลียบชายฝั่งทะเลคืออ่าวเบงกอลไปตลอด เห็นทะเลบ้าง ไม่เห็นบ้าง สองข้างทางมีทั้งพืชพรรณต้นไม้บ้าง ที่ว่างบ้าง ทะเลบ้างสลับกันไป ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตรใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ พอเข้าตัวเมืองรถราเริ่มขวักไขว่เพราะได้เวลานักเรียนไปเรียน คนไปทำงาน ทั้งเดิน ทั้งขี่รถจักรยาน มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ รวมทั้งเกวียนเทียมวัวด้วย รถเราวิ่งผ่านเมืองออกไปสถานีรถไฟของเมืองนี้ ฉันก็งงๆ ว่าทำไมต้องมาหยุดพักที่นี่ มีคนมารอรับด้วย พวกเราส่วนหนึ่งไปเข้าห้องน้ำของห้องพักสถานี ฉันเสร็จภารกิจก็ออกมาคุยกับ Dr. C เธอบอกว่า Dr. R เป็นผู้ว่าการรถไฟ รัฐทมิฬ นาดูซึ่งท่านแสนจะธรรมดามาก ไม่บอกฉันจะรู้ไหมนี่ว่าฉันมีเพื่อนเป็นผู้ว่าการรถไฟเพราะตอนท่านมาประชุมนานาชาติที่สถาบันวิจัยภาษาฯ มหิดล ท่านไม่ได้ให้ยศฐาบรรดาศักดิ์มาด้วยเลย ฉันไม่เคยมีประสบการณ์ในประเทศไทยเลยว่าผู้ว่าการหน่วยงานอะไรก็ช่างคงไม่เป็นทั้งผู้ว่าการและนักวิชาการด้านศาสนา ภาษาสันสกฤต และวัฒนธรรมอีกทางหนึ่งด้วยและไปเสนอผลงานวิชาการในระดับนานาชาติที่นอกเหนือจากงานหลักของตนอยู่เสมอ ฉันทั้งอึ้งและทึ่งมาก

นี่เป็นสัจธรรมที่ได้เรียนรู้จากเพื่อนชาวอินเดียทั้งหลายว่าเขาไม่ได้วัดคนที่ท่าที ท่าทาง หรือเครื่องแต่งกายใดๆ เลย หากเราจะตัดสินคนโดยดูจากบุคลิก ท่าทางจากเพียงภายนอกเราจะต้องเสียใจเพราะเท่าที่สัมผัสในระยะเวลาไม่นาน เพื่อนๆ กลุ่มนี้ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ คนขับรถก็ร่วมโต๊ะกินอาหารกับเราตลอดเวลา เพื่อนที่เป็นผู้ว่าการนี้ยิ่งดูแสนจะเรียบง่าย ธรรมดามาก แต่ในความธรรมดาคือความไม่ธรรมดา คนไทยจำนวนไม่น้อยถูกหลอกหรือดูคนผิดเพราะไปตัดสินคนแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่จะใช้ไม่ได้กับชาวอินเดีย เพราะชาวอินเดียเน้นวิถีชีวิตแบบพอเพียง เรียบง่าย สมถะ ไม่ฟุ่มเฟือย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ภูมิใจในความเป็นตัวตน ยิ่งที่เมืองเจนไนหรือรัฐทมิฬ นาดูนี้ยิ่งเห็นคนแต่งกายแบบท้องถิ่นชัดเจนโดยเฉพาะผู้ชายนุ่งโสร่งเดินไปมา ทั้งแบบยาว และแบบสั้นโดยพับครึ่งเหน็บชายโสร่งด้านล่างขึ้นมาทบที่เอว ความยาวจะเหลือประมาณเข่า เห็นแล้วหวาดเสียว แต่เขาแต่งเป็นเรื่องปกติ ออกนอกบ้านไปมา แม้กระทั่งขึ้นเครื่องบินมาเมืองไทยก็ยังมีให้เห็น มิใช่เป็นเพียงชุดใส่อยู่บ้านเท่านั้น

                          

แม้การรับประทานอาหารด้วยมือก็ตาม เดิมคนไทยก็เปิบอาหารโดยใช้มือ ต่อมาเราก็ปรับมาใช้ช้อนส้อมในการทานอาหาร บางงานใช้ทั้งมีดด้วย จนแม้กระทั่งข้าวเหนียวเราก็ใช้ส้อมจิ้มข้าวเหนียวทาน ยังมีบ้างที่บางคนยังใช้มือ (แต่มักจะทานที่บ้านมากกว่าทานนอกบ้าน) แต่ชาวอินเดียใต้ยังทานอาหารด้วยมือเป็นหลักอย่างคล่องแคล่ว เวลาเขาทานอาหารด้วยช้อนก็เพียงใช้ตักแกงราดข้าวบ้าง หรือใช้ทานขนม หรือทานนมเปรี้ยวในตอนท้าย แต่ส่วนใหญ่กับข้าวของเขาจะใส่ในถ้วยเล็กๆ เทอาหารจากถ้วยราดลงในข้าวแล้วคลุกด้วยมือเปิบด้วยมือเลย ไม่จำเป็นต้องใช้ช้อนก็ได้ แต่เขาล้างมือก่อนและหลังทานอาหารทุกครั้ง (เท่าที่เห็นจากเพื่อนๆ) ถ้าท่านไปที่สิงคโปร์ ย่าน Little India ซึ่งเป็นชาวอินเดียใต้ ในร้านอาหารก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ อินเดียไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็น "อินเดีย" ไว้อย่างมั่นคง มั่นใจและภูมิใจ ถามว่าคนไทยทำได้อย่างเขาไหม

หากเราไม่เข้าใจวัฒนธรรมของเขาแล้ว เราจะตัดสินเขาด้วยสายตาของเรา ด้วยวิถีปฏิบัติของเรา (ที่นำเข้าและเลียนแบบมาจากตะวันตก) ซึ่งเป็นคนนอกแบบมีอคติได้ การเรียนรู้ ทำความเข้าใจเพื่อยอมรับในความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนภายนอก  ความจริงเราควรต้องมองด้วยความชื่นชมที่เขาไม่วิ่งตามฝรั่ง ทั้งๆ ที่ถูกฝรั่งปกครองนานมาก ความเป็นชาตินิยมที่ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง และรักษาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นน่าจะเป็นส่วนดี ที่เราควรเรียนรู้มิใช่หรือ?

หมายเลขบันทึก: 160302เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2008 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

ติดตามอ่านครับ เพลินดีจัง

ชอบใจครับ

อินเดียไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็น "อินเดีย" ไว้อย่างมั่นคง

เห็นด้วยครับที่ว่าคนอินเดียติดดินและ  เขาไม่ได้วัดคนที่ท่าที ท่าทาง หรือเครื่องแต่งกายใดๆ เลย

เขาวัดกันที่สมองครับ

คนที่เก่งจึงเก่งจริงๆ

ขอบคุณครับ

 

เรียน คุณพลเดชที่เคารพ

      ขอบพระคุณค่ะสำหรับแฟนพันธุ์แท้ (ท่านเดียว) ดิฉันก็ชอบใจตรงที่ "เขาวัดกันที่สมอง" ค่ะ ทำอย่างไรคนไทยจึงจะรู้จักตนเอง หาตัวเองให้เจอ เพื่อให้เข้าใจตัวเองก่อน ต่อไปหากเข้าใจคนอื่นด้วยก็ควรเข้าใจอย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราเป็นนะคะ

ด้วยความเคารพ

โสภนา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท