5. วันและคืนแรกที่เจนไน รัฐทมิฬ นาดู (ตอน 3)


ห้อง "บรอนซ์" โบราณวัตถุลำค่าของเชนไน

 

         

คุณ K หารถอินเดียยี่ห้อ Ambassador หางปลาที่ฉันชอบมารับ เดินทางจากที่พักไปพิพิธภัณฑ์เจนไนก็ไกลทีเดียว ผ่านใจกลางเมือง เมืองนี้กระจายตัวออกไปในแนวกว้างมากกว่าแนวสูง จึงไม่ค่อยมีตึกสูงนัก พิพิธภัณฑ์เป็นอาคารสร้างสมัยอังกฤษกว่าร้อยปี สวยงามดี ตั้งอยู่ในบริเวณกว้างที่มีต้นไม้ร่มรื่น แกพาไปภาควิชาโบราณคดีซึ่งภรรยาแก Dr. V ทำงานอยู่ ไปพบผู้อำนวยการก่อน ฉันเรียนท่านไปว่าฉันอยากเรียนรู้วัฒนธรรม Tamil ในช่วงที่มาอย่างสั้นๆ นี้ แกก็สรุปให้ฟังคร่าวๆ ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ แล้วให้คุณ V  และเพื่อนพาไปชมจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์เพราะใกล้เวลาที่จะปิดแล้ว พวกเราไปห้องบรอนซ์เก็บวัตถุมีค่าที่ทำจากบรอนซ์ที่ดีที่สุดของอินเดียไว้ สวยงามมาก แอร์เย็นฉ่ำ มีตำรวจเฝ้าอย่างเข้มงวด ฉันมีเจ้าบ้านพาไปจึงสะดวกไม่เสียเงิน ประหยัดไป 250 รูปี เสร็จแล้วแวะไปซื้อหนังสือราวพันกว่ารูปี กลับออกมารอข้างหน้าพิพิธภัณฑ์อยู่นาน กว่า Dr. V จะเสร็จ มืดแล้ว สองสามีภรรยาพาไปร้านอาหารร้านหนึ่งที่มีชื่อมากของเมือง สวยงาม แกให้สั่งของว่าง ฉันก็สั่งตามคุณ K ผู้เป็นสามีของคุณ V คือ idly (อิดลี) อย่างเดียว ชาไม่รับ idly คล้ายขนมถ้วยฟูของไทยที่ไม่ใส่น้ำตาล และกะทิ ทำจากข้าวสารที่แช่สักสองสามชั่วโมง บดหรือโม่ด้วยเครื่องจนละเอียดเป็นแป้งที่เปียกๆ เทใส่พิมพ์ขนาดขนมตาลแล้วนำไปนึ่ง เสริฟมาพร้อมเครื่องจิ้ม 3-4 อย่างที่รสไม่จัดมาก สีเครื่องจิ้มสวยงาม ฉันกะทานเป็นอาหารเย็นเลยเพราะยังรู้สึกอิ่มอยู่มาก ทานเสร็จออกมาซื้อดอกไม้เตรียมไปวัดที่อยู่ติดกัน

            รถไปจอดหน้าวัด มืดแล้ว แสงสีของไฟฟ้าสว่างไสว มีคนเดินไปวัดพอสมควร เจ้าบ้านบอกให้ฉันถอดรองเท้าไว้ในรถ ฉันใส่ถุงเท้าเดินไป ชาวอินเดียเดินเท้าเปล่าเป็นเรื่องธรรมดา ฉันไม่คุ้นเคยเพราะอยู่ในบ้านยังต้องใส่รองเท้าแตะ ทำให้รู้สึกชีวิตเราห่างไกลจากธรรมชาติมากไปหน่อย

            วัดนี้ชื่อติรุมายิลัย Tirumayilai (Mylapore) เป็นวัดใหญ่ กำลังซ่อมแซม วัดทุกวัดในเจนไนสวยมากแบบเดียวกับวัดแขกที่ถนนปั้น หรือที่ย่าน Little India ที่สิงคโปร์ ก่อนเข้าไปมีคนนั่งเฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (sacred sanctum) คุณ V ขออนุญาตคนนั่งเฝ้าให้กับฉันโดยบอกว่าฉันเป็นฮินดูมาจากเมืองไทย ขออนุญาตเข้าไป เขาให้เข้าไปทุกที่ ในวัดบริเวณกว้างมาก มีsacred sanctum (คล้ายๆ วิหารสำหรับเทพเจ้าแต่ละองค์ประดิษฐาน) กระจายอยู่หลายหลังทั่วบริเวณวัด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของเทพต่างๆ  เช่น พระศิวะ พระวิษณุ เจ้าแม่ลักษมี เจ้าแม่ทุรคา พระพิฆเณศ เป็นต้น มีผู้ทำพิธีเรียกว่า กูรูกัล (Gurukal) จะถือถาดทำพิธีบูชาเทพ ด้วยการสั่นกระดิ่งพร้อมกับเวียนถาดที่มีไฟหน้าเทพองค์นั้นๆ สักครู่ท่านจึงนำถาดที่บรรจุดอกไม้ ไฟ และผงเถ้าสีเทาหอมหรือสีแดงเดินออกมาให้ผู้ศรัทธาบูชาไฟ (นำมืออังไฟ) ส่วนใหญ่จะทำบุญโดยนำเงินวางใส่ถาด และแบมือขวารับดอกไม้และผงหอมจากท่าน เมื่อได้รับแล้ว ทุกคนจะใช้นิ้วชี้แต้มผงมาแตะหน้าผากตนเอง ผงที่เหลือจะเทใส่กระดาษหนังสือพิมพ์ที่เขาตัดใส่กล่องไว้ ให้คนเทผงกับไปบ้าน ฉันได้ผงหอมและดอกไม้มาเต็มถุงเพราะเข้าไปทุกหลัง คนแน่นมาก ออกไปด้านข้างวัด พบกับญาติคุณ K ขายของบูชาอยู่ข้างวัด แกให้ที่ใส่น้ำมันบูชาเป็นรูปพิฆเณศหนึ่งคู่มาเป็นที่ระลึก ตรงข้ามร้านนี้เป็นสระน้ำที่มองอะไรไม่เห็นเพราะมืดมาก แต่วัดฮินดูทางใต้ส่วนใหญ่จะมีสระน้ำในวัด ฉันขอบคุณสามีภรรยาญาติคุณ K แล้วพวกเราก็อำลา เดินกลับไปข้างในลานวัด คุณ V พาไปดูต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีปลูกไว้ในแต่ละวัด เรียกต้นไม้นี้ว่า ทาลาวริกชา (Thalavriksha ‘ต้นไม้ของวัด’) ที่มีคนเอาของมาแก้บนเป็นโครงไม้ไผ่สี่เหลี่ยมคล้ายเปลน้อยๆ ซึ่งห้อยไว้จำนวนหนึ่งที่ต้นไม้นี้ เพื่อบนบานขอให้มีลูก เดินออกจากวัดมา หน้าวัดแสงสีจากร้านขายของบูชาต่างๆ สวยงาม เห็นรถเก๋งเปิดประทุนสีแดง เป็นรถที่นำเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาไหว้พระที่วัดนี้ พวกเราเดินกลับไปขึ้นรถ

           รถขับผ่านย่านตลาดแต่ไม่มีที่จอดรถ เห็นฝรั่งลูกเล็กๆ กับกล้วยหอมเยอะมาก คุณ K ให้รถส่งฉันที่ร้าน Minimart เพื่อซื้อผลไม้ ไม่มีของมากเพราะดูเหมือนจะดึกแล้ว ฉันซื้อส้มไปราวสิบกว่าลูก ส้มที่นี่เปลือกหนา ภรรยาแกซื้อผักสองสามแพ็ค ฉันจ่ายให้แปดสิบรูปีเศษ แบ่งส้มให้แกไปทานด้วย ออกมาแกแวะซื้อกล้วยหอมให้ภรรยา และให้ฉันอีกหนึ่งถุงในนั้นมีกล้วยสองลูก ทับทิม 1 ลูก ฝรั่ง 3 ลูก (เขาแยกขายตามที่ลูกค้าต้องการด้วย) เสร็จแล้วกลับบ้าน ฉันบอกเจ้าของบ้านว่าทานอาหารเย็นมาแล้วไม่ต้องห่วง แกเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มให้ใหม่ สะอาดสะอ้านมาก ฉันขออนุญาตไปอาบน้ำ ปรากฎว่าไม่ได้ติดผ้าเช็ดตัวมาด้วย จึงขอยืมผืนเล็กจากเจ้าของบ้าน แกให้สบู่ก้อนใหม่ด้วย ฉันไม่ได้แกะใช้ เพราะอยู่ในห้องน้ำก็ยังมีอยู่ เจ้าของบ้านไปบ้านพี่สาวที่อยู่ใกล้ๆ ฉันเดินถอดรองเท้ารู้สึกสากเท้ามากเพราะมีเศษผงที่พื้น เลยแอบกวาดบ้านให้เจ้าของบ้าน ไม้กวาดที่นี่ไม่เหมือนของเรา คล้ายพู่กันอันใหญ่ๆ กวาดยาก เหมือนจะไม่สะอาด กวาดได้แค่นิดหน่อยเจ้าของบ้านกลับมาโวยวายไม่ให้ฉันทำ ฉันบอกว่าอยากออกกำลัง แกก็ไม่ยอม ฉันอาบน้ำ ซักผ้าตากในห้องน้ำ เสร็จขออนุญาตใส่รองเท้าฟองน้ำที่เอาไปด้วยอยู่ในบ้าน บอกแกว่ารองเท้าสะอาด แกก็ไม่ว่าอะไร นั่งทานผลไม้ด้วยกันสักพัก แกถามว่าจะส่งเมล์ไหมแกจะต่อinternet ให้ (น่ารักจริงๆ) ฉันบอกว่าส่ง ขอบคุณมาก ฉันส่งถึงลูกสาวบอกว่าแม่ถึงเชนไนเรียบร้อยแล้วไม่ต้องห่วง เสร็จแล้วเก็บถอดปลั๊ก ชาร์ตแบตเตอรีกล้องถ่ายรูป แล้วขอเข้านอน หลับๆ ตื่นๆ นาฬิกาฉันไม่ได้เปลี่ยนเวลา งงกับการดูเวลาตอนตื่นมากลางดึกเพราะเวลาเมืองไทยเร็วกว่า 1.30 ชั่วโมงต้องกลับไปนอนใหม่ อากาศเย็นๆ ตอนใกล้สว่าง แต่ไม่หนาวเลย

หมายเลขบันทึก: 160193เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2008 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

ขอเป็นแฟนพันธ์แท้นะครับ

ได้ข้อคิดหลายอย่างครับ

ครอบครัวของคุณ K นั้นน่าสนใจ เป็นครอบครัวของคนที่มีการศึกษา

ผมเห็นด้วยอีกว่าวัดแขกนั้นสวยงามทุกแห่งและเราชาวพุทธจะรู้สึกดีๆ เวลาเข้าวัดแขกเพราะได้บูชาเทพที่เราเคารพนับถือ

เรื่องวรรณะในอินเดียยังแข็งแรงอยู่ครับ

จะรออ่านตอนต่อไป ขอบคุณครับ

 

เรียน คุณพลเดช ที่เคารพ

     ขอบพระคุณค่ะที่กรุณาอ่าน

    ใช่ค่ะ ครอบครัวคุณ K เป็นนักวิชาการ แม้คุณ K จะมิใช่ (ทำกิจการส่วนตัว) แต่ด้วยพื้นฐานการศึกษาของชาวอินเดียใต้หรืออย่างไรไม่ทราบ ดิฉันว่าเขามีฐานคิดเรื่องศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์อยู่พอสมควร สังเกตว่าไม่ว่าจะมีอาชีพอะไร เขาสามารถพูดคุยอธิบายได้ในเรื่องเหล่านี้ มีความสนใจ ไม่เบื่อแม้ว่าจะไม่ใช่วิชาชีพของเขาโดยตรง

    ครอบครัวคุณ K น่ารักมากค่ะ สามีกับภรรยาสลับกันพาดิฉันไปเรียนรู้ (เที่ยว) เท่าที่ทั้งสองพอจะจัดสรรเวลาได้ เพื่อไปชมแหล่งโบราณสถานเด่นๆ ของเชนไนค่ะ

   แต่ส่วนหนึ่งไมตรีจิตที่ดิฉันได้รับในครั้งนี้ คงเป็นเพราะเรามีไมตรีให้กับเขาก่อน คือพวกเราต้อนรับและช่วยเหลือให้เพิ่อนๆ เหล่านี้ได้มาร่วมประชุมวิชาการนานาชาติที่สถาบันฯ ซึ่งจัดเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้น เพื่อนๆ กลุ่มนี้ไปเที่ยวเขมรกับเราอีก จึงคุ้นเคยกันมาก เพื่อนๆ ประทับใจในความเป็น "อินเดีย" ของนครธม นครวัด มากๆ

    ถ้าเราเป็น "ผู้ให้" ก่อน ดิฉันเชื่อว่าเราอยู่ที่ไหน ไปไหนก็คงพบแต่เพื่อนๆ ดีๆ ค่ะ

ด้วยความเคารพ

โสภนา

   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท