27 : พบระบบสุริยะ ไกลจากโลกเรา๙๐ปีแสง



สุตตะ
 ข่าว
 

http://www.google.co.th/search?q=cache:cel5nZA-7HIJ:web1.dara.ac.th/
daraspace/galaxy/90ly/90ly.htm+%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%
81%E0%B8%AA%E0%B8%87+&hl=th

                
 กว่า 7 ปี ในความพยายามค้นหาระบบสุริยะอื่นในแกแลคซีทางช้างเผือกของนักดาราศาสตร์
หลายทีม ฝันของพวกเขาอาจจะเป็นจริงในเวลาอันใกล้นี้ เมื่อทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดยด็อกเตอร์ ฮิว โจนส์ [
Hugh Jones] แห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จอห์น มอส์ ประกาศการค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่คล้ายระบบดาวเคราะห์ของระบบสุริยะของเรา ที่ดาวฤกษ์ HD 70642 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2003
      นักดาราศาสตร์เริ่มสนใจว่า จะมีระบบสุริยะอื่นเหมือนระบบสุริยะของเรา รวมทั้งมีสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาสูงอย่างมนุษย์หรือไม่ในเอกภพ ภายหลังจากที่ แฟรง เดรก [Frank Drake] นักดาราศาสตร์ผู้ริเริ่มการค้นหาสัญญาณวิทยุจากต่างดาว เสนอสมการความเป็นไปได้ที่จะมี E.T.ในแกแลคชีทางช้างเผือก เมื่อปี 1960 เดรกประมาณว่า มีดาวเคราะห์ราว 10,000 ดวง ที่เป็นที่อยู่ของ E.T. หลังจากนั้นก็เป็นยุคของการค้นหาสัญญาณวิทยุจากต่างดาวโดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ
การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโดยใช้กล้องโทรทรรศน์แสง เริ่มขึ้นในราวปี 1995 แต่วิธีการค้นหาไม่สามารถส่องเห็นได้โดยตรง เพราะแสงอันเจิดจ้าของดาวฤกษ์ นักดาราศาสตร์จึงต้องค้นหาโดยทางอ้อมแทน เทคนิคที่นิยมใช้มากที่สุดคือ Radial Velocity Method ซึ่งพัฒนาโดย พอล บัตเลอร์ [Paul Butler] และจีออฟ มาร์ซี[Geoff Marcy] เทคนิคนี้คือการดูเปลี่ยนแปลงของคลื่นแสงในสเปกตรัม นักดาราศาสตร์จะส่องกล้องไปที่ดาวฤกษ์เป้าหมาย หากมีดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ แรงดึงดูดของมัน จะทำให้ดาวฤกษ์ถอยหลังและเดินหน้าซึ่ง เรียกว่าปรากฎการณ์ Wobbles ผลของมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นแสงในสเปกตรัมซึ่งเรียกว่า Doppler Shifting นักดาราศาสตร์สามารถหาตำแหน่งและรู้มวลของดาวเคราะห์ได้ แต่เทคนิคนี้ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถค้นหาดาวเคราะห์ขนาดเล็กเท่าโลกได้

 
     ในการค้นหานักดาราศาสตร์ได้สร้างแบบจำลองระบบสุริยะอื่นขึ้นมาเป็นเสมือน
พิมพ์เขียวแบบจำลองนี้กำหนดตำแหน่งดาวเคราะห์ก๊าชอย่างดาวพฤหัสบดีอยู่
ที่ระยะทางประมาณ
4 AU [ 1 AU เท่ากับระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์] และมีวงโคจรรอบดาวแม่ค่อนข้างกลม ถัดเข้ามาด้านในเป็นดาวเคราะห์หินอย่างโลก

     การค้นพบตลอดช่วงเวลากว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดของดาวก๊าซยักษ์กว่า 100 ดวง ซึ่งเรียกกันExtrasolar Planets ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งตามแบบจำลอง พวกมันกลับอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก และยังโคจรเป็นวงรี เป็นผลทำให้โคจรรอบดาวฤกษ์เพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น และนั่นก็เท่ากับว่า โอกาสที่จะมีดาวเคราะห์หินอย่างโลกตามแบบจำลองหรือเหมือนกับระบบสุริยะ
ของเราหมดไปด้วย
ระบบดาวเคราะห์ของระบบสุริยะมีดาวเคราะห์วงนอกเป็น
ดาวเคราะห์ก๊าซคือ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
[ไม่นับพลูโตซึ่งนักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่นับเป็นดาวเคราะห์] ทั้งหมดอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก คือ 5.2 AU 9.5 AU 19.1 AU และ 30 AU ตามลำดับ และมีดาวเคราะห์วงในเป็นดาวเคราะห์หินอย่างโลก และ ดาวอังคารอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์
อย่างไรก็ดีนักดาราศาสตร์ก็ยังมีความหวังการค้นพบครั้งสำคัญสองครั้ง ทำให้มีความมั่นใจว่ามีความเป็นไปได้ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเกือบสองปีก่อน นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์สองดวงโคจรรอบดาว 47Ursae Majoris [47Ume] ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ อยู่ห่างจากดาวแม่ 2.09 AU และ3.73 AU ตามลำดับ ครั้งที่สองเมื่อเดือนมิถุนายน 2002 ค้นพบดาวก๊าชขนาดเท่าดาวพฤหัสบดี โคจรรอบดาว 55 Cancri ในกลุ่มดาวปู [Constellation Cancer] อยู่ห่างจากดาวแม่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดีและมีวงโคจรค่อนข้างกลม นักดาราศาสตร์บางคนถึงกับกล่าวด้วยความมั่นใจว่าเราได้เข้าใกล้ระบบสุริยะอื่น
มากแล้ว


     การค้นพบล่าสุดนำความตื่นเต้นให้กับวงการดาราศาสตร์ยิ่งกว่า ดาว HD 70642 เป็นดาวฤกษ์ที่คล้ายดวงอาทิตย์ของเรา อยู่ในกลุ่มดาวท้ายเรือ [Constellation Puppis] ไกลจากโลกเรา 90 ปีแสง เราสามารถมองเห็นได้ทางทิศใต้โดยใช้กล้องสองตา ทีมนักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด3.9 เมตรของหอดูดาว แองโกล ออสเตรเลียน รัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ค้นหาดาวเคราะห์ที่ดาวฤกษ์ดวงนี้ โดยใช้เทคนิค Radial Velocity Method
พวกเขาค้นพบดาวเคราะห์ก๊าชมีมวลเป็นสองเท่าของดาวพฤหัสบดี มันอยู่ห่างจากดาวแม่ 467 ล้านกิโลเมตรหรือ 3.3 AU [ประมาณครึ่งทางระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีในระบบสุริยะ] โคจรรอบดาวแม่ 6 ปีและมีวงโคจรค่อนข้างกลมคล้ายดาวพฤหัสบดี
นอกจากนั้น มันยังมีบรรยากาศที่คล้ายคลึงกับดาวพฤหัสบดีคือมีจุดด่างและ
ริ้วลายอันเกิดจากลมพายุ


       นักดาราศาสตร์คิดว่าตำแหน่งของมันไม่ได้แตกต่างกับตำแหน่งของดาว
พฤหัสบดีซึ่งห่างจากดวงอาทิตย์
5.2 AU มากนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันมีวงโคจรที่เกือบกลม และไม่มีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อยู่ด้านในอีก ทำให้คาดหมายว่าเป็นไปได้ที่จะมีดาวเคราะห์หินขนาดเท่าโลกอยู่ด้านใน หรืออาจจะมีดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ดวงนี้ ด๊อกเตอร์ ฮิว โจนส์บอกว่า มันเป็นการค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่คล้ายคลึงกับระบบสุริยะมากที่สุด ในขณะที่ ด๊อกเตอร์อลัน เพนนี [Alan Penny] แห่งห้องปฎิบัติการรัตเตอฟอร์ด แอ็บพลีตัน ย้ำความแน่นอนของการค้นพบว่า วิธีการวัดมีความแน่นอนอย่างน่าปลื้ม และเชื่อว่าบางทีดาวฤกษ์ส่วนใหญ่มีระบบดาวเคราะห์เหมือนระบบสุริยะของเรา
การค้นหาระบบสุริยะอื่นในแกแลคซีทางช้างเผือกยังคงดำเนินต่อไป ในปี 2005 องค์การอวกาศยุโรปจะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ คารอท และ ปี 2007 องค์การนาซ่าส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ขึ้นไปตรวจหาดาวเคราะห์ที่ดาวฤกษ์หลายหมื่นดวง กล้องทั้งสองสามารถค้นหาดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกได้ โดยการวิธีการตรวจหาในขณะที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ที่เรียกว่า Transit และในราวต้นทศวรรษหน้า องค์การอวกาศยุโรปจะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศดาร์วิน และองการค์นาซ่าจะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Terrestrial Planet Finder[TPF] ขึ้นไปค้นหาดาวเคราะห์ที่ดาวฤกษ์หลายแสนดวง กล้องทั้งสองสามารถมองเห็นดาวเคราะห์ได้โดยใช้เทคนิคลบแสงดาวฤกษ์
แต่ก่อนที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้งสองจะถูกส่งขึ้นไปยังอวกาศ มนุษย์ก็รู้แน่นอนแล้วว่า มีระบบสุริยะอย่างระบบสุริยะของเราหรือไม่ และมากน้อยเพียงใดจากผลงานของกล้องคารอทและกล้องเคปเลอร์

 
27 ก.ย. 2004

หมายเลขบันทึก: 159875เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2008 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 12:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท