หลักของพัฒนาการ


อย่าให้เด็กทำอะไรที่ยากเกินความสามารถมากเกินไป

พัฒนาการก็มีหลักการ มีแบบแผนเหมือนกันนะคะ

    1. พัฒนาการเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปฏิสนธิ จนถึงวุฒิภาวะ และตลอดชีวิต นั่นคือ เริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่กันเลยล่ะค่ะ แต่ถ้าเราจะส่งเสริมพัฒนาการเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ก็อาจจะไม่ง่ายเหมือนตอนที่ลูกคลอดออกมาจากท้องแม่แล้วนะคะ

    2. ลำดับขั้นตอนของพัฒนาการของแต่ละคนจะมีลักษณะเดียวกัน คือ ตั้งแต่เกิดมาเราทุกคนก็ต้องผ่านขั้นตอน ชันคอ คว่ำหงาย นั่ง คลาน ยืน เดิน กันทั้งนั้น มีแต่องค์พระพุทธเจ้าที่ตามพุทธประวัตินั้นประสูติแล้วเดินได้เลย  แม้กระนั้นเราก็ยังอาจจะพบเห็นเด็กบางคนที่นั่งได้แล้ว แต่ไม่คลาน ข้ามไปยืนได้เลย ถือเป็นความแตกต่างที่พอยอมรับได้ในทางพัฒนาการ  แต่อย่างไรก็ตามอัตราและระยะเวลาในการผ่านขั้นตอนต่างๆของคนเราก็อาจจะแตกต่างกันได้ เช่น เด็กบางคนเดินเร็ว บางคนเดินช้า เป็นต้น

    3. พัฒนาการเป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านพันธุกรรมกับปัจจัยด้านภาวะแวดล้อมในแต่ละช่วงของชีวิต เด็กจะมีพัฒนาการช้าเร็วเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ เด็กบางคนเดินเร็ว บางทีพ่อแม่บอกว่า 10-11 เดือน ก็เดินได้แล้ว บางคน 13 เดือนถึงจะเดินได้ ถ้าไปถามปู่ย่า หรือตายายก็จะได้ประวัติว่า พ่อหรือแม่ก็เดินประมาณนั้น อันพันธุกรรมนั้นในปัจจุบันเรายังปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่ในอนาคตอันใกล้นั้น...ไม่แน่ ส่วนปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมก็มีหลายอย่าง ส่วนใหญ่เราก็ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น เด็กที่ได้รับสารอาหารที่ดี มีประโยชน์ ย่อมทำให้ร่างกายโดยเฉพาะสมอง เจริญเติบโตดีกว่า พัฒนาการและการเรียนรู้ก็ย่อมดีกว่าเด็กที่ขาดสารอาหาร เด็กต่างจังหวัดหรือชนบทมีสถานที่ให้วิ่งเล่น ปีนป่ายมากกว่า พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อก็ย่อมดี ร่างกายแข็งแรงกว่าเด็กในกรุงหรือเด็กในเมือง ลองให้ ปีนตาข่าย เดินทรงตัวบนไม้กระดานแคบๆ หรือวิ่งแข่งกันก็รู้ อันปัจจัยทางด้านภาวะแวดล้อมนั้น เราสามารถจัดหาหรือปรับเปลี่ยนให้เด็กได้ ดังนั้น ถ้าจะพัฒนาเด็กก็ต้องมาช่วยกันทำตรงนี้ให้ตัวเขาพร้อม มีโอกาสและมีประสบการณ์

    4. ระดับพัฒนาการขึ้นกับวุฒิภาวะของสมองและระบบประสาท อย่าให้เด็กทำอะไรที่ยากเกินความสามารถมากเกินไป การจะฝึกพัฒนาการของเด็กสักอย่างหนึ่ง เราต้องมั่นใจว่าสมองและระบบประสาทที่ควบคุมทักษะนั้นทำงานดีแล้ว เช่น นำเด็ก 3 4 เดือน ไปนั่งกระโถน เด็กก็จะนั่งตัวงอ เพราะเขายังควบคุมกล้ามเนื้อหลังเพื่อใช้นั่งได้ไม่ดีนัก       

    หลักของพัฒนาการยังมีอีกหลายข้อ แต่ละข้อที่กล่าวมาลองนำไปประยุกต์ใช้ดูก่อนนะคะ ใช้ได้ทั้งคนที่กำลังจะมีลูก (ตั้งครรภ์) เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจ ใช้กับคนที่มีลูกแล้ว (และลูกยังเล็ก) เพื่อใช้กับลูก หรือกระทั่งใช้ในคนที่ไม่มีลูก หรือลูกโตแล้วเพื่อบอกต่อคนอื่นต่อไป

หมายเลขบันทึก: 159770เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2008 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท